ThaiPublica > คนในข่าว > ฝันที่เป็นจริง..”ซันนี่” นักสนุกเกอร์แชมป์เอเชีย ปั้นเด็กโฮมสคูลสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ

ฝันที่เป็นจริง..”ซันนี่” นักสนุกเกอร์แชมป์เอเชีย ปั้นเด็กโฮมสคูลสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ

7 พฤษภาคม 2015


“อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือซันนี่” หนุ่มน้อยวัย 20 ปี ซึ่งมีผลงานโดดเด่นด้านกีฬาสนุกเกอร์ โดยคว้าแชมป์กีฬานักเรียนตั้งแต่วัยเพียง 10 ปี และต่อมาคว้าแชมป์อีกมากมาย ทั้งแชมป์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ แชมป์ประเทศไทย จนกลายเป็นเยาวชนทีมชาติไทย และก้าวสู่การแข่งขันระดับโลก โดยล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมาคว้าแชมป์รายการสนุกเกอร์เยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และทำให้ได้สิทธิ์ร่วมการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพโลก

การเป็นนักกีฬาอาชีพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาฝึกซ้อมอย่างหนัก ในขณะที่ก็ต้องมีวุฒิรับรองผลการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น ซึ่งความสำเร็จของซันนี่ในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะครอบครัวที่เล็งเห็นศักยภาพของลูกและใช้โอกาสของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 ที่เปิดช่องให้ประชาชนคนไทยมีทางเลือกในการจัดการศึกษาให้ลูกได้ เพราะพ่อแม่คือคนที่ใกล้ชิดลูกที่สุด เห็นศักยภาพที่ส่งเสริมให้เขาเติบโตในสิ่งที่เขาถนัด การศึกษาทางเลือกจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของครอบครัว นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการเรียนแบบโฮมสคูล ที่ปั้นเด็กสู่ฝันที่เป็นจริงได้

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ามีโอกาสสัมภาษณ์ “ซันนี่” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลจนสู่ความสำเร็จในอาชีพนักสนุกเกอร์

อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือซันนี่
อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือซันนี่

ไทยพับลิก้า: ชีวิตการเรียนโฮมสคูลที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ผมเรียนโฮมสคูลมาตั้งแต่อนุบาล พ่อกับแม่จะสอนทุกๆ วิชาให้ ทั้งบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วน ทศนิยม ภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยซื้อหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการมาสอนควบคู่กับสื่อการสอนอื่นๆ ทั้งหนังสือและซีดี เช่น ซีดีภาษาต่างประเทศ เพื่อนำมาเปิดให้ฟัง อ่านให้ฟัง ฯลฯ ในช่วงอนุบาล พอต่อมาเมื่อขึ้นชั้นประถมพ่อแม่จะสอนเศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ตามหนังสือเรียนที่หาซื้อมา

“ตอนขึ้น ป. 1 เคยไปโรงเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ก็รู้สึกเบื่อโรงเรียน เพราะว่าต้องเรียนเหมือนเดิมทุกวันในเรื่องที่เรารู้และเข้าใจแล้ว เช่น ฝึกอ่าน ก-ฮ ในขณะที่เราอยากจะเรียนอย่างอื่นเพิ่มในเรื่องที่เรายังไม่รู้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะต้องเรียนตามตารางสอนที่โรงเรียนกำหนดซึ่งจะซ้ำๆ กันทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ยังไม่ชอบความวุ่นวายของโรงเรียนที่มีคนเยอะ เลยบอกพ่อว่าอยากกลับไปเรียนโฮมสคูลเหมือนเดิม”

ข้อดีของการเรียนโฮมสคูลคือ เมื่อเราอยากเรียนรู้สาขาวิชาอะไรก็สามารถจดจ่อและหมกมุ่น ยุ่งกับมันตรงนั้นได้นานเท่าที่เราต้องการ อย่างตอนผม 7 ขวบผมก็สามารถทำโจทย์เกี่ยวกับทศนิยม เศษส่วน ได้คล่องแล้ว รวมถึงสามารถถอดสแควร์รูทได้ ไม่เหมือนกับในโรงเรียนที่ต้องเรียนวิชาต่างๆ ตามชั่วโมงเรียนที่กำหนดไว้ ซึ่งโฮมสคูลทำให้เราสามารถจัดการการเรียนรู้ของตัวเองได้ด้วย ไม่ใช่แค่รอครอบครัวจัดการเรียนให้

แม้ว่าการเรียนโฮมสคูลจะยืดหยุ่นให้เราเรียนในเรื่องที่สนใจเฉพาะด้านได้ แต่ก็ต้องเรียนให้ครบวิชาตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดด้วย

สำหรับครอบครัวที่จะสอนลูกแบบโฮมสคูลได้นั้น ข้อจำกัดคือ พ่อแม่ต้องมีเวลาอยู่กับบ้านและมีอาชีพอิสระ ซึ่งคงไม่เหมาะกับพ่อแม่ที่ทำงานออฟฟิศ แต่สำหรับบ้านผมเปิดร้านขนมเค้ก เบเกอรี่ ซึ่งผมเองก็ช่วยที่บ้านขายของมาตลอดเช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่ายการเรียนโฮมสคูลก็มีพวกหนังสือ สื่อการสอน แต่ปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์ต่างๆ อีกทั้งพ่อแม่ที่สอนโฮมสคูลได้ก็ต้องเก่งพอสมควร ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเกณฑ์ไว้เบื้องต้นว่าผู้จัดการเรียนแบบโฮมสคูลได้อย่างน้อยต้องจบปริญญาตรี

ด้านอุปสรรคในการเรียนรู้แบบโฮมสคูลไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะมีปัญหาเรื่องการขออนุญาตจัดการศึกษา ส่วนการสอบวัดผลการศึกษานั้นจะสอบทุกๆ 3 ปีตามช่วงชั้นการเรียน ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยทำข้อสอบเพียงครั้งเดียวในช่วงประถมต้น และการสอบในครั้งต่อๆ มามีเพียงการสอบสัมภาษณ์ประกอบกับดูประวัติและร่องรอยทางการศึกษา

“ช่วงเวลาการสอบครั้งแรกคือนั่งทำข้อสอบทุกวิชาให้เสร็จภายใน 1 วัน แต่ระยะหลังจะสอบสัมภาษณ์ โดยอาจารย์ศึกษานิเทศประมาณ 6-7 คน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเข้ามาที่บ้านเพื่อดูร่องรอยทางการศึกษา เช่น ประวัติการเรียน สมุดการบ้าน ประวัติการแข่งขันกีฬา ฯลฯ แล้วประเมินผลการเรียนตามกลุ่มประสบการณ์ ได้แก่ ความถนัดเฉพาะด้านของผู้เรียนอย่างผม ก็คือด้านกีฬา และตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ หลังจากนั้นอาจารย์จะสอบสัมภาษณ์ผู้เรียนแล้วประเมินผล”

ปัญหาการเรียนโฮมสคูลเคยมีครั้งหนึ่งในปี 2553 ซึ่งตอนนั้นคุณพ่อส่งแผนขออนุญาตจัดการศึกษาไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว แต่เขตฯ ยังไม่ได้เซ็นลงรับ ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับว่าการเรียนโฮมสคูลของผมยังไม่ได้เริ่มต้น แต่ในตอนนั้นผมก็ยังไม่ทราบระเบียบตรงนี้ แล้วเรื่องขออนุญาตจัดการศึกษาก็เงียบไป ตัวผมเองก็ยุ่งกับการซ้อมแข่งขัน จนกระทั่งมานึกขึ้นได้เมื่อผ่านไปเกือบปีแล้ว จึงมาตามเรื่องเพราะต้องใช้วุฒิ ป.6 ไปแข่งขันต่อ แต่ผมมีวุฒิรับรองการศึกษาแค่ ป.3 เท่านั้นขณะที่อายุ 14 ปีแล้ว จึงยื่นเรื่องฟ้องร้องสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลให้เจรจาไกล่เกลี่ย โดยให้คุณพ่อส่งแผนจัดการศึกษาไปใหม่ แล้วให้เขตฯ เร่งดำเนินการให้

“แผนขออนุญาตการศึกษาจะต้องส่งทุก ๆ ช่วงชั้นก่อนเริ่มเรียน คือ จบ ป.3 ก็ต้องส่งแผนช่วงชั้นที่ 2 คือขึ้น ป.4 ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาจะตรวจแผนว่าผ่านหรือไม่ ซึ่งปกติต้องลงวันที่รับภายใน 30 วัน แต่ครั้งนั้นเขตไม่ได้ลงวันที่รับ แล้วเราก็ไม่ทราบ เพราะมีแข่งเยอะ จนเวลาล่วงเลยไปนานปีกว่า จึงเหมือนกับว่าเรายังไม่เริ่มเรียนทั้งๆ ที่เราเรียนอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางกฎหมายคือยังไม่ได้เริ่มเรียน”

ไทยพับลิก้า: เข้าสู่วงการกีฬาสนุกเกอร์ได้อย่างไร

พออายุ 8 ปี พ่อก็อยากให้เล่นกีฬาด้วยนอกจากเรียนหนังสือ พ่อให้เลือกกีฬา 3 ชนิด คือ สนุกเกอร์ กอล์ฟ และยิงปืน เพราะว่าตอนหนุ่มๆ พ่อเล่นกีฬาทุกประเภท ทั้งบาสเกตบอล เทนนิส ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฯลฯ แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็มีปัญหาเรื่องข้อ กระดูก เพราะเป็นกีฬาที่กระทบกระทั่งสูง ผมเองก็ชอบฟุตบอลแต่เนื่องจากมีการปะทะและกระทบกระเทือนมาก พ่อจึงไม่อยากให้เล่น ในขณะที่กีฬาทั้ง 3 ชนิดนั้นสามารถเล่นได้นานๆ และร่างกายไม่บาดเจ็บ แต่สำหรับยิงปืนก็อันตรายเกินไปสำหรับเด็ก 8 ปี และแม่กลัวว่าเล่นกอล์ฟแล้วจะตากแดดมาก จึงอยากให้เล่นสนุกเกอร์ดีกว่า

ตอนนั้นพ่อจึงพาไปดูทั้งสนุกเกอร์และกอล์ฟ เพื่อให้เลือกว่าจะเล่นกีฬาใด ซึ่งผมก็รู้สึกชอบสนุกเกอร์มากกว่า จึงตัดสินใจเลือกสนุกเกอร์และเล่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพ่อเป็นโค้ชคนเดียว

สำหรับการฝึกซ้อมตอนแรกก็เริ่มจากเล่นตามโต๊ะสนุกเกอร์แถวๆ บ้าน ต่อมาคุณแม่ท้อง พ่อเลยซื้อโต๊ะมาไว้ให้ที่บ้านเลย แต่พ่อก็จะถามก่อนว่าเราจะเล่นจริงจังหรือไม่ เพราะถ้าซื้อโต๊ะมาแล้วต้องซ้อมจริงจังนะ จะทิ้งขว้างไม่ได้ ผมก็ตัดสินใจว่าจะเล่นสนุกเกอร์อย่างจริงจัง

ระหว่างที่เล่นสนุกเกอร์มาเรื่อยๆ พ่อก็จะพาไปแข่งขันในรายการต่างๆ เช่น เยาวชนแห่งชาติ รายการดิวิชั่น 2 แรงกิ้งประเทศไทย จนกระทั่งผมได้ไปแข่งชิงแชมป์สมัครเล่นโลกที่นครราชสีมาตอนอายุ 11 ปี พออายุ 12 ปีก็ได้แข่ง 6 แดงชิงแชมป์โลก ซึ่งจัดที่ประเทศไทยโดยเป็นการแข่งขันของมืออาชีพโลก และในตอนนั้นผมแข่งชนะมือโปรได้ 1 คน พออายุ 15 ปี ก็เป็นเยาวชนทีมชาติหลังได้แชมป์เยาวชนแห่งประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี จึงได้สิทธิ์ไปแข่งเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย เยาวชนชิงแชมป์โลกครั้งแรก ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ได้ไปแข่งต่างประเทศ

ไทยพับลิก้า: พอเริ่มเป็นนักกีฬาแล้วแบ่งเวลาเรียนกับซ้อมกีฬาอย่างไร หรือเล่นกีฬาไปพร้อมกับการเรียนโฮมสคูลได้

พอเป็นนักกีฬาอาชีพแล้วเวลาเรียนก็น้อยลงและไปฝึกซ้อมมากขึ้น เพราะเราตัดสินใจว่าจะเล่นสนุกเกอร์เป็นอาชีพ แต่โฮมสคูลดีตรงที่สามารถปรับเวลาเรียนได้ ซึ่งถ้าผมเรียนอยู่ในโรงเรียนตอนนี้ก็คงไม่สามารถเล่นสนุกเกอร์ได้เพราะว่าไม่มีเวลาฝึกซ้อม โดยผมจะฝึกซ้อมทุกวัน วันละ 7-8 ชั่วโมง มาประมาณ 2 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ยังสามารถช่วยที่บ้านขายของด้วยและฝึกซ้อมยังไม่หนักเท่า 2 ปีหลังที่ผ่านมา ส่วนนักกีฬาคนอื่นๆ เมื่อเล่นกีฬาเป็นอาชีพแล้วก็ต้องออกจากโรงเรียนมาเรียนการศึกษานอกโรงเรียนหรือ กศน. เพราะว่าไม่มีเวลาเรียน

ไทยพับลิก้า: ความยากของการเรียนโฮมสคูลคืออะไร

การเรียนโฮมสคูลจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เด็กมีแรงกระตุ้นในตัวเองมากน้อยแค่ไหน ถ้าเด็กมีแรงกระตุ้นในตัวเอง อยากจะเรียนเรื่องอะไร เด็กก็สามารถค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องที่ต้องการได้ แต่ถ้าเด็กที่ไม่มีแรงกระตุ้นในตัวเองก็อาจจะเรียนรู้ยาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่าจะจัดการเรียนรู้ให้ลูกอย่างไร

“การเรียนโฮมสคูลดีตรงที่ว่า ทำให้เรารู้จักจัดเวลาเรียนเอง มีความรับผิดชอบเอง โดยการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิต เช่น ตอนเด็กๆ ผมชอบดูสารคดี เพราะมีทั้งภาพและคำอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ผมเข้าใจได้ทันที ซึ่งเมื่อผมเปิดดูเนื้อหาในหนังสือเรียนก็พบว่าเหมือนกับในสารคดี แต่หนังสือไม่เห็นภาพและเราต้องใช้จินตนาการคนเดียว”

ไทยพับลิก้า: การเรียนโฮมสคูลทำให้ขาดทักษะอะไรหรือไม่

ผมคิดว่าผมก็ไม่ได้ขาดทักษะอะไร อย่างทักษะการเข้าสังคมหรือประสบการณ์การทะเลาะกับเพื่อนปกติก็ไม่ได้ทะเลาะกับใครอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ผมมักจะเจอกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เนื่องจากตามพ่อไปทำธุระบ่อยๆ หรืออย่างในวงการสนุกเกอร์ก็เจอแต่รุ่นพี่ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงได้พูดคุยกับผู้ใหญ่มากกว่า แต่เพื่อนนักกีฬารุ่นเดียวกันก็มี หรืออย่างภาษาอังกฤษผมก็พูดได้ตั้งแต่ 11 ปี เนื่องจากบ้านตรงข้ามเป็นครูสอนภาษาอังกฤษชาวต่างชาติ และในตอนเย็นเด็กๆ ก็ออกไปเล่นด้วยกันจึงมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษ

ไทยพับลิก้า: อุปสรรคของการศึกษาแบบโฮมสคูลกับกฎเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ

ในช่วงที่ผมอายุ 15-16 ปี ตอนนั้นถ้าใครได้แชมป์รายการเยาวชนชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี หรือเยาวชนชิงแชมป์เอเชียก็จะได้สิทธิ์ไปแข่งอาชีพโลกหรือเทิร์นโปร พอจะเทิร์นโปรก็จะมีข้อกำจัดว่าคุณต้องจบ ป.6 เสียก่อน ซึ่งตอนนั้นผมมีปัญหาคือส่งเรื่องขออนุญาตจัดการศึกษาและแผนการศึกษาช่วงชั้นที่ 2 คือ ป.4-6 ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาแล้วแต่เขตฯ ยังไม่ได้ดำเนินการให้ แล้วผมก็ไม่ได้ตามเรื่องจนผ่านไปปีกว่า ทำให้ตอนนั้นผมยังไม่มีวุฒิการศึกษาป. 6

ดังนั้นจึงต้องไปฟ้องร้องศาลปกครองในปี 2553 ซึ่งศาลเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผมทำเรื่องไปยังเขตฯ ใหม่ และทางเขตฯ ก็เร่งดำเนินการให้วุฒิการศึกษา แล้วผมก็สามารถไปแข่งเทิร์นโปรได้ แต่ว่าตอนนั้นก็ยังไม่ได้แชมป์ เพิ่งจะมาได้แชมป์ในปีนี้ แล้วอีกประมาณ 2-3 เดือนก็จะไปอังกฤษเพื่อเล่นเทิร์นโปรมืออาชีพ

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องการเรียนต่อไหมหลังจากที่เรียนโฮมสคูลมาโดยตลอด และยังเป็นนักกีฬาอาชีพด้วย

ไม่มีปัญหาเรื่องเรียนต่อ เพราะผมเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต หรือ RBAC ส่วนใหญ่รุ่นพี่ที่เป็นนักกีฬาทีมชาติกีฬาประเภทต่างๆ มักจะเรียนที่นี่ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเข้าใจผู้เรียน สามารถยืดหยุ่นเวลาเรียนได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเข้าเรียนทุกวัน เพราะทราบว่าเราต้องไปแข่งกีฬาอยู่เสมอ ทำให้เรายืดหยุ่นเวลาเรียนได้ นักกีฬาทีมชาติจะได้ทุนเรียนฟรีด้วย

ไทยพับลิก้า: มองว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องรับมือการศึกษาแบบโฮมสคูลอย่างไร

อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือซันนี่
อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือซันนี่

คนเราถ้ามีอคติเขาก็จะหาทางขัดขวางทุกวิถีทาง อะไรที่ทำได้ก็ไม่ได้ทำ อย่างเรื่องไม่เซ็นลงรับแผนจัดการศึกษาของผมนั้น ต่อมาผมและพ่อต้องจัดการเองทุกอย่างเพื่อให้เขตฯ เซ็นลงวันที่ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา จนเหมือนกับว่าไว้ใจกันไม่ได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่เขตฯ ไม่ยอมรับการเรียนโฮมสคูล โดยจะถามอยู่เสมอว่าเมื่อไรจะไปโรงเรียน

“ปัจจุบันมีอาชีพเกิดขึ้นมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนในโรงเรียนแล้วจบมาทำงานในบริษัทกันทุกคน ซึ่งบางคนก็อาจจะเป็นนักดนตรี นักกีฬา ฯลฯ โดยอาชีพเหล่านี้ถ้าต้องเรียนอยู่ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามชั่วโมงเรียนที่โรงเรียนกำหนด เขาก็จะเป็นนักดนตรี นักกีฬาไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันนักกีฬาอาชีพเกือบทั้งหมดเลือกเรียน กศน. เพราะไม่สามารถเรียนในระบบได้ แล้วเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่ให้ทุนเรียนฟรีและยืดหยุ่นเวลาเรียนได้ เพื่อที่จะได้มีเวลาฝึกซ้อมกีฬา แต่ก็ยังสามารถเรียนวิชาการได้โดยไม่ต้องเข้าเรียนให้เต็มเวลา อย่างผมมีแข่งตลอดทั้งปี และใช้ชีวิตนอกประเทศไทยปีละประมาณ 9 เดือน ดังนั้น การกำหนดเวลาเรียนจึงเป็นไปไม่ได้”

ประเทศไทยน่าจะมีช่องทางการศึกษาให้กับเด็กออทิสติกที่เรียนรู้ช้าและเด็กมีพรสวรรค์ที่เรียนรู้เร็วมากขึ้น เพราะรุ่นพี่หรือญาติพี่น้องที่เรียนจบมาแล้วหลายคนบ่นว่า สมัยเด็กเขาชอบเรียนวิชานั่นนี่มากเลย แต่ทำไม่ได้เพราะเรียนไปก็ไม่ได้คะแนน จึงทำให้ไม่อยากเรียนในวิชาที่ชอบหรือถนัดจนกลายเป็นความไม่สนใจ และสุดท้ายทำให้ความถนัดนั้นของเขาโดนทิ้งไป แต่โฮมสคูลสามารถปรับเวลาและเนื้อหาการเรียนได้ แล้วอาจทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นเด็กที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ

ส่วนเด็กคนไหนที่ต้องการเรียนให้ครบทุกวิชาก็อาจจะเหมาะกับการศึกษาในโรงเรียน

ด้านนายสรายุทธ ส่งเสริมสวัสดิ์ บิดาของซันนี่ กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่เลือกให้ลูกเรียนโฮมสคูลเพราะสมัยที่ตัวเองเรียนในโรงเรียนมีหลายๆ อย่างที่ทำให้ไม่มีความสุข ซึ่งเป็นเรื่องจุกจิก และบางอย่างก็คิดว่าสอนได้สั้นกว่าในโรงเรียน ดังนั้นพอมี”ซันนี่”ก็ตั้งใจไว้เลยว่าไม่อยากให้ลูกเจอแบบที่เราเจอ

“โฮมสคูลดีนะ เพราะให้อิสระเรา ซึ่งถ้าใครต้องการเนื้อหาสาระก็ไปเรียนในโรงเรียนเถอะ แต่ว่าซันนี่เลือกที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพ ได้แชมป์เอเชียแล้ว ดังนั้น ระบบการศึกษาในโรงเรียนจึงไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จในชีวิตเขา โฮมสคูลเหมาะกับเด็กที่ต้องการจะเรียนรู้ไปในทางเดียวเลย” นายสรายุทธกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ตอนลูกเด็กๆ ก็ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่เมื่อไปยื่นจัดการศึกษาโฮมสคูลที่เขตฯ โดยบอกเป้าหมายไปคนที่เขตฯ หัวเราะ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนไม่มีใครในสังคมเห็นด้วยกับโฮมสคูล ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการอย่าดูถูกพ่อแม่ที่ทำโฮมสคูล เพราะคนที่ทำได้ก็มี และพ่อแม่ที่ทำไม่ได้ก็ต้องมีเช่นกัน เพราะตำแหน่งแชมป์มีแค่ตำแหน่งเดียว แต่คุณไม่มีสิทธิขัดขวาง คุณต้องทำทุกอย่างที่คุณทำได้ ไม่ใช่ว่าขัดขวางทุกทางที่คุณทำได้

“โฮมสคูลจะดีหรือไม่อยู่ที่พ่อแม่ และอุปสรรคที่ผ่านมาผมพึ่งศาลปกครองอย่างเดียวเลย เพราะว่ารวดเร็วและเป็นทางออกเดียว อีกทั้งผมไม่มีทางไปพูดกับคนที่ไม่ศรัทธาในสิ่งที่เราทำและดูถูกเราด้วย” นายสรายุทธกล่าว