ThaiPublica > เกาะกระแส > สสค. – สสส.หนุนการศึกษาทางเลือก ถอดกระบวนการเรียนรู้ ใช้วิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง – ทำคู่มือ “บ้านเรียน-ศูนย์การเรียน”

สสค. – สสส.หนุนการศึกษาทางเลือก ถอดกระบวนการเรียนรู้ ใช้วิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง – ทำคู่มือ “บ้านเรียน-ศูนย์การเรียน”

19 พฤศจิกายน 2015


สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา หนุนสร้างการศึกษาทางเลือกใหม่ในรูปแบบศูนย์การเรียนกระจายทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ผ่านการประชุมเครือข่ายบ้านเรียนและศูนย์การเรียน 4 ภูมิภาค ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขณะที่สสส.ทำคู่มือสำหรับผู้จัดการศึกษาทางเลือกมือใหม่

จากปัญหาการศึกษาทางเลือกที่จัดตั้งไม่ได้จนดูเหมือนว่ารัฐจะไม่ให้ความสำคัญ เพราะแม้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดให้มีการศึกษาทางเลือกโดยบุคคล ครอบครัว เอกชน สถานประกอบการ สถานวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้ว แต่เพิ่งมีกฎกระทรวงที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในปี 2547 และมีแนวปฏิบัติเรื่องการศึกษาครอบครัวปี 2549 ปัจจุบันเมื่อมีผู้ปกครองต้องการจดทะเบียนบ้านเรียนหรือศูนย์การเรียนก็มีปัญหาเนื่องจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความการศึกษาทางเลือกต่างกัน เข้าใจต่างกัน และยังมองว่าการศึกษาในระบบดีกว่าการศึกษาทางเลือก

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 สสค. จัดการประชุม “เครือข่ายบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 2: ภาคกลาง” ที่จังหวัดปทุมธานี หลังจากจัดประชุมครั้งที่ 1: ภาคใต้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 เพื่อให้บ้านเรียนและศูนย์การเรียนต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็น ระดมความคิด และร่วมกันทำหนังสือคู่มือว่าด้วยการศึกษาทางเลือกที่ทำให้สาธารณชนเรียนรู้ เข้าใจ การศึกษาทางเลือกมากขึ้น ซึ่งการจัดทำคู่มือการศึกษามาตรา12(การศึกษาทางเลือก)ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

นางสิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ เครือข่ายพลเมืองเด็กเมืองพระชนกจักรี กล่าวว่า การทำประชุมนี้เป็นการค้นหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบ้านเรียนและศูนย์บ้านเรียนแต่ละแห่งถึงปัญหา กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนป้องกันปัญหา รวมถึงกระบวนการสร้างการเรียนรู้และเพิ่มทักษะเพื่อค้นหาศักยภาพของเด็ก โดยใช้การกระบวนการคิดเห็นเป็นภาพ (visual thinking) หลังจากระดมความคิดกันได้เลือกทักษะการสอนที่คิดว่าเด็กเรียนแล้วมีความสุข และความรู้ในการเรียนรู้เพื่อแชร์ให้กลุ่มอื่นๆ เช่น สิ่งที่ได้จากการพาลูกไปทำนา สิ่งที่ได้จากพาลูกไปดูธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการให้ความรู้ว่าลูกได้ทักษะใดบ้างจากการเรียนแบบต่างๆ หลังจากนั้นก็ร่วมกันทำหนังสือคู่มือสำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่เริ่มทำบ้านเรียน (home school) เพื่อเป็นแนวทางการเรียนการสอนแบบต่างๆ ของการศึกษาทางเลือก

นอกจากนี้ยังกล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมคือ วิธีการทำการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละครอบครัว อาทิ บางครอบครัวสอนลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้สอนฟิสิกส์หรือวิชาการคำนวณ แต่สอนธรรมชาติของการสร้างบ้าน สิ่งที่เหมือนกันของบ้านเรียนคือ การสอนลูกด้วยบริบทของสิ่งแวดล้อมรอบตัวในการนำการศึกษาให้ลูก แต่ลูกจะเหมือนกับพ่อแม่ไหมไม่สามารถตอบได้ เพราะเด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง

นางสิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ เครือข่ายพลเมืองเด็กเมืองพระชนกจักรี
นางสิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ เครือข่ายพลเมืองเด็กเมืองพระชนกจักรี

“พี่ไม่ได้ทำบ้านเรียน แต่ใช้กระบวนการทางศึกษาทางเลือกเข้าไปเป็นคู่ขนานกับการศึกษาในระบบ เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่ในระบบจึงสามารถรู้จักตัวเองได้ รู้จักชุมชนได้ และจุดมุ่งหมายร่วมกันของการศึกษาทางเลือกคือ ต้องการให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เพราะทุกคนมีความรักต่อลูกหรือเด็กที่ตนสอน ส่วนความแตกต่างคือวิธีการสอน” นางสิริวรรณกล่าว

นางสิริวรรณกล่าวต่อว่า การเรียนในระบบเป็นฐานของการเรียนรู้ เพียงแต่เราต้องใช้ฐานให้เป็น ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องเสริมให้กับลูกเพื่อให้ลูกได้พัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ เช่น เด็กไปเรียนในโรงเรียน ครูก็จะมีวิธีการสอนที่ต่างจากเราและบางอย่างพร่องไป เราก็ต้องมาเสริมให้เต็ม เช่น การอ่านที่ถูกต้อง หรือการจับประเด็น ซึ่งโรงเรียนเน้นให้เด็กลอกหรือท่องจำ ทำให้เด็กขาดความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความวางใจของผู้ปกครองต่อโรงเรียน และความต้องการของเด็กด้วย เพราะเด็กบางคนเมื่อโตแล้วความคิดโตขึ้นก็อยากจะมีเพื่อนวัยเดียวกัน

“การปรับตัวของเด็กที่เปลี่ยนที่เรียนระหว่างบ้านเรียนกับโรงเรียนจะไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยซึ่งผู้ปกครองต้องให้ความมั่นใจกับเด็ก บอกเล่าสังคมอีกแบบให้เด็กรับรู้และตัดสินใจว่ารับได้หรือไม่ เช่น ลูกพี่ตอนอยู่ ป.1 ซึ่งเพิ่งย้ายจากบ้านเรียนไปโรงเรียน เจอปัญหาว่าต้องกินเป็นเวลา จึงอัดอึดเพราะเดิมอยู่บ้านจะกินเวลาไหนก็ได้จึงขอพบผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อขอให้เขาสามารถกินเวลาไหนก็ได้ ซึ่ง ผอ. ดีมากที่อนุญาตเพราะอยากให้เด็กได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข เด็กต้องการเจรจาเพื่อให้ได้สิทธิ์ที่ต้องการ เรื่องนี้เราไม่เคยสอนลูกแต่เป็นเรื่องที่เด็กต้องการและแก้ไขปัญหาเอง และการเจรจาเช่นข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นหากเด็กก้าวข้ามความกลัวไม่ได้”

บ้านเรียนใช้วิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง การศึกษาที่แท้จริงคือการศึกษาจากรากของชีวิต

ด้านนางสุชาดา พัชพันธ์ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า บ้านเรียนมีกระบวนการเรียนการสอนไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวว่ามีวิถีอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะสอนลูกตามวิถีหรือบริบทนั้นๆ เช่น ครับครัวที่อยู่บนแพจะสอนวิถีการจับปลาและการใช้ชีวิตบนแพให้ลูก โดยบูรณาการศาสตร์ของวิชาต่างๆ ไว้ในการสอนทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ศาสตร์เหล่านี้ล้วนมีอยู่ในธรรมชาติ เพียงแต่ไม่ได้แยกอธิบายออกมาให้ชัดเจนเป็นเรื่องเหมือนในโรงเรียน

“พี่ทำเกษตรอินทรีย์ก็จะใช้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์เป็นตัวตั้งในการสอนลูก เช่น การทำนาพี่ก็จะบอกลูกว่าต้องทำอย่างไร ดูแลดินอย่างไร แล้วทำไมเราถึงไม่ใช้สารเคมี ฯลฯ ซึ่งเด็กจะซึมซับวิถีการเกื้อกูลกันระหว่างตัวเองกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่จะส่งให้ลูกมีความรัก ความนอบน้อม ความเอื้อเฟื้อ มากกว่าการไปบอกลูกว่าในดินมีอะไรบ้าง เพราะการบอกให้ฟังไม่ได้เกิดความผูกพัน เพราะไม่ได้ทำจริง ไม่เห็นภาพจริง” นางสุชาดากล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การทำบ้านเรียนที่ใช้วิถีชีวิตเป็นตัวตั้งมีข้อดีคือ ทำให้เด็กเอาตัวรอดได้ และไม่ถูกกดดันเรื่องการเรียนจากภายนอก เพราะเด็กต้องใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งๆ นั้น จนทำให้เห็นความเกื้อกูลกัน เห็นความรักความอบอุ่นต่อสรรพสิ่งรอบตัว เสมือนการให้เขาได้ปลูกต้นไม้และคอยรดน้ำดูแลต้นไม้ทุกวันจนเติบโตเป็นไม้ใหญ่ อีกทั้งการสอนแบบนี้ไม่ทำให้เด็กกลัวไปโรงเรียน ไม่มีวันจันทร์หรือวันศุกร์ เพราะทุกๆ วันเหมือนกันหมด เช่น เมื่อตนไปขายของลูกก็จะไปด้วย ซึ่งสิ่งที่ลูกซึมซับไปโดยปริยายคือ การเห็นวิธีการเจรจากับผู้รับซื้อที่ต้องปิดการขายให้เร็วที่สุด หรือเห็นวิธีการนำเสนอสินค้ากับลูกค้า โดยที่ลูกไม่ต้องไปเรียนวิชาการตลาด ทั้งนี้ เมื่อลูกโตแล้วสนใจวิชาการตลาดเราก็ต้องปล่อยเขาให้เป็นในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งในฐานะพ่อแม่ก็ต้องคอยสนับสนุนให้ลูกไปในทางที่ลูกสนใจ

“การศึกษาเกิดขึ้นก่อนที่จะมีตัวหนังสือด้วยซ้ำ เหมือนการสร้างบ้านที่ในอดีตช่างก่อสร้างสร้างบ้านได้โดยไม่ต้องเรียนวิศวกร ดังนั้น การศึกษาที่แท้จริงคือการศึกษาจากรากของชีวิต แล้วศาสตร์ความรู้ต่างๆ จะวิ่งเข้ามาหาเด็กเองเมื่อเด็กมีความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น เด็กสนใจสร้างเครื่องบิน เด็กก็ต้องทำทุกวิธีทางเพื่อที่จะสร้างเครื่องบินให้ไห้ด้วยตัวเอง ศาสตร์ต่างๆ ไม่ได้ถูกดึงมาใช้ขณะที่เราเรียน แต่จะถูกนำมาใช้เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหานั้นให้ได้” นางสุชาดากล่าว

นางสุชาดา พัชพันธ์ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี
นางสุชาดา พัชพันธ์ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี

นางสุชาดากล่าวต่อว่า การศึกษามาจากพื้นฐานการทำโครงการ (project base) ถึงจะตอบโจทย์ได้ทั้งหมดในเรื่องนั้น ไม่ใช่การเรียนรู้แบ่งแยกเป็นวิชาเหมือนในโรงเรียน เพราะเด็กไม่ได้อยากรู้แต่ถูกบังคับให้เรียนจนทำให้ความสนใจที่แท้จริงของเด็กถูกตัดขาดไป แต่การศึกษาที่เริ่มจากความสนใจของเด็กจะทำให้สร้างเด็กได้จริงในแบบที่เด็กต้องการบนพื้นฐานชีวิตของเขา ไม่ใช่สร้างจากหลักสูตรหรือความต้องการของครู ในขณะที่ทางครองครัวไม่รู้หรอกว่า ลูกชอบสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่สนหรือไม่ แต่สิ่งที่ทำได้คือ พาลูกไปในทุกๆ ที่ที่เราไปเพื่อให้เขาเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อที่อนาคตเขาจะได้มีทางเลือกที่ตัวเองสนใจ บนพื้นฐานของการใช้ชีวิตจริงๆ เพราะเมื่อลูกโตมาแล้วก็ต้องเจอกับโลกความจริงที่อยู่นอกโรงเรียน ซึ่งเด็กบ้านเรียนจะได้เปรียบตรงจุดนี้ ในขณะที่เด็กในโรงเรียนจะเสมือนว่าถูกตัดขาดจากสภาพจริงของสังคมที่มีทั้งความดีและความเลวปนกันอยู่

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัญหาของบ้านเรียนที่เจอเหมือนๆ กันคือ ภาครัฐไม่สนับสนุนการศึกษาทางเลือก ทำให้บ้านเรียนหรือศูนย์การเรียนหลายๆ แห่งต้องต่อสู้เพื่อขอจดทะเบียน เสมือนว่าภาครัฐรู้ว่าสามารถจัดการศึกษาทางเลือกได้ แต่ไม่สนับสนุนเพราะติดอยู่กับการศึกษาในระบบจึงไม่เข้าใจการประเมินการศึกษาทางเลือก อีกทั้งภาระงานจากโรงเรียนในระบบก็มีมากอยู่แล้ว ถ้ามีโรงเรียนการศึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องมีภาระงานเพิ่มในการไปประเมินผลการศึกษา

“พี่ผ่านการศึกษาในระบบมาเยอะมาก และเป็นคนตั้งใจเรียน แต่สุดท้ายชีวิตไม่ได้ใช้การศึกษานั้นเลย ยกเว้นศิลปะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ดังนั้นจึงคิดว่า ถ้าลูกเข้าเรียนในโรงเรียนจะทำให้ศักยภาพของลูกลดลงหรือไม่ เพราะเด็กแต่ละคนมีความอัจฉริยะไม่เท่ากัน โดยทุกวันนี้พอเรียนโฮมสคูลได้จนถึง ม.6 ก็ต้องกลับเข้าระบบการศึกษา คือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ใช้การสอบวัดเหมือนกันทั้งประเทศ เพราะเราไม่มีทางศึกษาทางเลือกที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ หากเรียนในระบบผู้ปกครองต้องสอนเด็กคู่ขนานไปด้วย เพื่อไม่ให้เด็กถูกกลืนไปกับการศึกษาและไม่รู้จักธรรมชาติรอบตัวเอง เช่น หุงข้าวไม่เป็น ทั้งๆ ที่การศึกษาที่แท้จริงคือการศึกษาจากรากเหง้าของชีวิต ฉะนั้น ถ้าฝึกให้ลูกรู้จักรากของชีวิตได้เมื่อลูกไปเรียนต่อที่ไหนก็แข็งแรงพอที่ใช้ชีวิตได้อย่างรู้ผิดชอบชั่วดีบนรากฐานของชีวิต” นางสุชาดากล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองบางครอบครัวไม่ได้อยากให้ลูกอยู่บ้านเรียน แต่สังคมในโรงเรียนทำร้ายเด็กจนเด็กไม่อยากไปเรียน เช่น ครูชอบลงโทษเด็กทุกวัน จนไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งเด็กไม่กล้าต่อต้านครูเพราะครูมีอำนาจเหนือกว่า จึงทำให้กลัวครู อีกทั้งเด็กยังไม่กล้าบอกพ่อแม่ว่าไม่อยากไปโรงเรียนเพราะอะไร ในขณะที่พ่อแม่ก็พยายามให้ลูกไปโรงเรียน จนเด็กอึดอัด เครียดและเก็บตัวอยู่ในห้องเรียน หรือโดดเรียน นั่นและพ่อแม่ถึงรู้ปัญหา

ทั้งนี้ก็เข้าใจเหมือนกันว่าครูต้องดูแลเด็กหลายคน จึงต้องมีกฎระเบียบบางอย่างเข้ามาควบคุม ซึ่งเด็กคนไหนที่อยู่ในกรอบไม่ได้ก็จะกลายเป็นเด็กมีปัญหาในห้อง ดังนั้น ครูต้องมีความเป็นครูมากกว่านี้ เสมือนว่าเด็กเป็นลูกของตัวเอง และการอบรมเด็กจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่อบรมครูหรือคุยกับครูให้เข้าใจ เพราะปัญหาส่วนใหญ่มาจากครูไม่ใช่เด็ก

ต้องดูผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา

ด้านนางอรอำไพ ณะกัณฑ์ ผู้จัดการบ้านเรียนจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จัดการศึกษาบ้านเรียนให้ลูกตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเริ่มต้นเป็นบ้านแรกในจังหวัดชลบุรี โดยศึกษากฎหมายและระเบียบต่างๆ ด้วยตนเองและยื่นขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา เพราะต้องการให้ลูกเรียนโฮมสคูลตั้งแต่แรก โดยช่วงอนุบาลไม่ได้ส่งลูกไปโรงเรียน จนกระทั่งลูกอยู่ประถมศึกษาจึงพาลูกเข้าไปเรียนในโรงเรียนประมาณ 2 ปีเพราะไม่รู้ว่ากฎหมายการศึกษาไทยสามารถจดทะเบียนการศึกษาทางเลือกได้หรือไม่ หลังจากที่ศึกษาข้อมูลและได้ทราบว่ากฎหมายไทยอนุญาตให้เปิดโฮมสคูลได้ จึงพาลูกออกจากโรงเรียนแล้วมาสอนแบบบ้านเรียนเอง ทั้งนี้ปัจจุบันมีลูกรวม 4 คน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ความคิดของบ้านเรียนเริ่มต้นหลังจากที่เป็นครูพิเศษในโรงเรียนประมาณ 2 ปี แล้วเห็นปัญหาหลายๆ อย่างในระบบ จึงเกิดความคิดว่าอยากให้ลูกในสิ่งที่เขาควรจะได้ และเรามีค่านิยมที่โรงเรียนให้ไม่ได้ เพราะเป็นครอบครัวคริสเตียนที่ใช้ถ้อยคำของพระเจ้าเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต และต้องการให้ลูกมีส่วนนี้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการดำเนินชีวิต เพราะเรารู้ว่าไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าวจนะของพระเจ้าแล้ว ไม่ว่าลูกจะตัดสินใจอะไรก็ตาม ถ้ามีวจนะของพระเจ้าแล้วเขาจะตัดสินใจไม่ผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โรงเรียนไม่มี รวมถึงวิถีพอเพียงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่อยากจะมอบให้ลูก ซึ่งถ้าอยู่โรงเรียนในระบบก็คงจะเกิดความพอเพียงยาก

นายสมชาย - นางอรอำไพ ณะกัณฑ์ ผู้จัดการบ้านเรียนจังหวัดชลบุรี
นายสมชาย – นางอรอำไพ ณะกัณฑ์ ผู้จัดการบ้านเรียนจังหวัดชลบุรี

นางอรอำไพกล่าวต่อว่า การขอจดทะเบียนบ้านเรียน หรือศูนย์การเรียนนั้นไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษาที่ไปยื่นขอจดทะเบียนด้วยว่า เข้าใจและเปิดรับการศึกษาทางเลือกมากน้อยแค่ไหน เพราะจากประสบการณ์บางเขตพื้นที่การศึกษาจะปฏิเสธการศึกษาทางเลือกเกือบทุกราย โดยในช่วงแรกที่เราให้ลูกเรียนบ้านเรียนก็เกิดกระแสต่อต้านมากทั้งจากครอบครัว คนรอบข้าง รัฐบาล ฯลฯ เรียกว่าเกือบทุกที่ไม่มีใครเข้าใจเลย เสมือนเป็นปลาตัวเดียวที่ว่ายทวนกระแสในเวลานั้น แต่หลังจากที่เราทำสำเร็จ ก็มีคนยอมรับมากขึ้น

นางอรอำไพกล่าวต่อว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รู้จักเพื่อนซึ่งทำมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าที่ดูแลเด็ก 8 คน ต้องการที่จะเปิดบ้านเรียนเพราะคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก จึงให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเพื่อการจัดตั้งศูนย์การเรียนมาโดยตลอด โดยเบื้องต้นช่วยเหลือเรื่องการขอจดทะเบียนบ้านเรียนแต่ปัจจุบันกระบวนการนี้ยังไม่สำเร็จเพราะผู้ปกครองเป็นชาวต่างชาติจึงไม่มีสิทธิ์ยื่นขอจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย และแม้ว่าจะเปลี่ยนให้คนไทยยื่นขอจดทะเบียนยแล้วก็ยังไม่สามารถจดได้ เพราะไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิชาการ แต่จบปริญญาตรีด้านศาสนา อย่างไรก็ตาม ทางเขตพื้นที่การศึกษาไม่เคยตอบรับการจดทะเบียนให้มูลนิธิแห่งนี้เลยทั้งๆ ที่เคยมาดูศูนย์การเรียนที่มูลนิธิแล้ว ปัจจุบันมูลนิธิได้ย้ายที่อยู่ใหม่ไปอยู่คนละเขตพื้นที่การศึกษา เริ่มต้นดำเนินการขอจดทะเบียนบ้านเรียนใหม่อีกครั้ง

“ช่วงเวลาที่ล่วงเลยมายาวนานที่ผู้จัดการศึกษาคนหนึ่งไม่สามารถจดทะเบียนการศึกษาทางเลือกได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันหาทางออกซึ่งอาจจะต้องมีการฟ้องร้อง ทั้งนี้ สาเหตุที่มูลนิธิต้องการจัดตั้งศูนย์การเรียนส่วนหนึ่งเป็นเรื่องภาระค่าใช้จ่าย แต่สาเหตุหลักคือ สภาพแวดล้อมของโรงเรียนในพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเรียนเลย” นางอรอำไพกล่าว

เช่นเดียวกันนายสมชาย ณะกัณฑ์ ผู้จัดการบ้านเรียนจากจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การเรียนบ้านเรียนไม่ได้ทำให้ลูกมีปัญหาการเข้าสังคม เนื่องจากครอบครัวมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ต้องพบปะและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเป็นประจำ เช่น เป็นผู้ช่วยแปลภาษาอังกฤษให้ในกิจกรรมเข้าค่าย ทั้งนี้ ในปัจจุบันลูกคนโตอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว ดังนั้นจึงทำเรื่องกับพื้นที่การศึกษาในการเขียนโครงการส่ง ต่อไปในอนาคตไม่ได้วางแผนการศึกษาระดับปริญญาตรีว่าลูกต้องเรียนอะไร แต่เรามีธุรกิจฟาร์มเป็นของตัวเอง ลูกจึงมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ที่เรียนปริญญาตรีเผื่อไปทำงาน แต่ลูกของเราได้เรียนในฟาร์มเพื่อนำความรู้มาใช้ในกิจการของตนเอง เช่น การประดิษฐ์เครื่องฟักไข่อัตโนมัติซึ่งมีผู้สนใจมาติดต่อขอซื้อบ้างแล้ว การทำกังหันลมสูบน้ำ การผลิตเครื่องบดหญ้าให้แกะ ม้า วัว ฯลฯ ในอนาคตลูกจะกลายเป็นผู้อบรมหรือผู้ให้ความรู้ เพราะมีความชำนาญจากการเรียนและการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

“ผู้ปกครองที่เข้าไปติดต่อขอจดทะเบียนการศึกษานั้นต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องและมีท่าทีที่เป็นมิตรด้วย เพราะถ้าหากเจ้าหน้าที่มีทัศคติลบกับบ้านเรียนแล้วการจดทะเบียนก็จะยากลำบาก สิ่งที่เป็นห่วงคือนักวิชาการการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประเมินตามระบบที่จัดตั้งมา โดยไม่ได้ดูว่าผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาคืออะไร ไม่สนใจกระบวนการการศึกษาก่อนที่จะมาสู่ความสำเร็จ เรียกง่ายๆ คือสนใจแต่วิธีการสอนเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาหนึ่งของบ้านเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเราไม่ได้สอนตามระบบแต่เด็กอาจจะทำชิ้นงานหรือผลผลิตออกมาได้” นายสมชายกล่าว