ThaiPublica > เกาะกระแส > โฮมสคูล”บ้านเรียน” การศึกษาทางเลือก ว่าด้วยวิชาใช้ชีวิตให้มีความสุข เด็กไม่ใช่สินค้าที่จะปั๊มด้วยหลักสูตรโรงงาน “คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน”

โฮมสคูล”บ้านเรียน” การศึกษาทางเลือก ว่าด้วยวิชาใช้ชีวิตให้มีความสุข เด็กไม่ใช่สินค้าที่จะปั๊มด้วยหลักสูตรโรงงาน “คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน”

1 ธันวาคม 2014


ด้วยความผิดหวังต่อ “การศึกษาในระบบ” ที่แยกส่วนกระบวนการเรียนรู้ออกไปจากวิชาชีวิต ทำให้เด็กต้องอยู่ในระบบตามชื่อ ระบบจึงเป็นศูนย์กลางแทนที่ “เด็ก” เป็นศูนย์กลางอย่างที่ต้องเป็น กลุ่มเครือข่ายโฮมสคูลหรือบ้านเรียนได้จัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกให้เป็นทางเลือกจริงๆ สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการทวงคืนการศึกษาให้ลูกๆ ของตนได้เรียนตามศักยภาพของเด็ก เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ว่าด้วยวิชาใช้ชีวิตให้มีความสุข

หัวข้อการพูดคุยที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ให้ชื่อว่า “นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก” โดยมีโจน จันได พ่อผู้เลี้ยงลูกด้วยระบบโฮมสคูล เจ้าของแนวคิดชีวิตต้องง่าย และอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมสนทนา ดำเนินรายการโดย จิรา บุญประสพ อดีตคนเขียนบทรายการคนค้นฅน

เสวนา“นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก” โดยมีโจน จันได(กลาง) พ่อผู้เลี้ยงลูกด้วยระบบโฮมสคูล เจ้าของแนวคิดชีวิตต้องง่าย และอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง(ขวาสุด) ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมสนทนา ดำเนินรายการโดย จิรา บุญประสพ อดีตคนเขียนบทรายการคนค้นฅน
เสวนา“นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก” โดยมีโจน จันได(กลาง) พ่อผู้เลี้ยงลูกด้วยระบบโฮมสคูล เจ้าของแนวคิดชีวิตต้องง่าย และอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง(ขวาสุด) ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมสนทนา ดำเนินรายการโดย จิรา บุญประสพ อดีตคนเขียนบทรายการคนค้นฅน

โจนเริ่มต้นเล่าว่า “โดยส่วนตัวที่ผมไม่เอาลูกเข้าโรงเรียน ผมเห็นว่าระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมันไม่เป็นประโยชน์ ประโยชน์มันน้อยมาก แต่ราคาแพง เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่น่าเกลียดที่สุด ที่ผมเห็นว่าประโยชน์น้อยเพราะสิ่งที่เราเรียนเราแทบไม่ได้ใช้เลยในชีวิต ใช้น้อยมาก ผมจบมาตั้งหลายปี ผมยังไม่เคยถอดสแควร์รูทในชีวิตเลย ไม่เคยใช้เลย ผมเห็นว่าหลายๆ อย่างที่เราท่องจำแทบตายมันไม่ได้ใช้จริงในชีวิต”

“ฉะนั้น สิ่งที่มองเห็นก็คือ ระบบการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือของระบบเพื่อที่จะฝึกคนให้เป็นทาสที่ดี พูดง่ายๆ คือ สถาบันการศึกษาคือโรงงานฝึกทาสเพื่อให้เป็นทาสที่ดี คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ออกไปรับใช้ระบบ และระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันเขากลัวที่สุดคือกลัวคนที่คิดเอง ทำเอง กลัวคนที่ฉลาด กลัวคนที่มีความสุข กลัวคนที่มีความรัก กลัวคนที่มีอิสรภาพ ฉะนั้น การศึกษาออกแบบมาเพื่อกีดกันไม่ให้คนรู้จักสิ่งเหล่านี้เลย มันเป็นภาพที่ผมมองเห็นว่าระบบการศึกษาออกแบบมาเพื่อรับใช้ระบบทุนนิยม เพื่อให้คนไปเป็นทาสทุนที่ดี”

“มันทำให้ผมรู้สึกว่า มันเหมือนโรงงาน แต่ลูกผมไม่ใช่สินค้านะ ผมไม่อยากให้ลูกผมเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ถูกปั๊มมาจากโรงงาน ที่จะต้องคิดเหมือนคนอื่น ทำเหมือนคนอื่น อันนี้ทำให้ผมมองว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุด ทำไมเราไม่ออกแบบชีวิตให้มันง่ายขึ้น”

“ระบบการศึกษาทุกวันนี้ออกแบบให้มันยากขึ้นเรื่อยๆ ตอนผมเป็นเด็ก ชีวิตผมไม่มีการบ้านเลย ไปโรงเรียน ไม่ต้องเขียนหนังสือด้วยซ้ำไป เรียนก็ไม่ถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน เดี๋ยวครูก็บอกว่าพวกเอ็งไปยิงกิ้งก่ามาให้ครู เดี๋ยวเจอที่บ้านครู ไปได้เลย นี่แทบจะไม่ได้เรียน”

“ระบบการศึกษาปัจจุบัน ทำให้ผมได้เห็นว่ามันทำลายศักยภาพของคน ยิ่งเรียนมากยิ่งมีศักยภาพน้อยลงๆ ยิ่งทำอะไรไม่ได้มาก ทำให้ผมอยากให้ลูกเป็นคนธรรมดา อยากให้ลูกเหมือนสัตว์ตัวหนึ่งที่สามารถทำอะไรช่วยเหลือตัวเองได้ นกตัวหนึ่งทำรังเองได้ หากินหาอยู่ได้ บินเองได้ โดยที่พ่อแม่สอนไม่กี่วัน บินได้เลย ทำอะไรได้หมด เป็นอิสระ แต่ลูกของคน อายุ 30-40 ปี มีครอบครัวแล้ว บางทียังมาขูดจากพ่อแม่ มันน่าเศร้าขนาดไหน ระบบการศึกษามันไม่ได้ทำให้เราพึ่งตนเองได้ อันนี้ทำให้ผมผิดหวังกับระบบที่มีอยู่ เราเรียนมาก แต่สิ่งที่เราเรียนมากไม่ได้นำมาใช้กับชีวิตจริง สิ่งที่เราใช้ในชีวิตจริงกลับเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เรียน”

“และที่แย่ที่สุดที่ระบบการศึกษาบ้านเราทุกวันนี้ เด็กต้องไปติว เราเห็นว่าสถานที่ติวเต็มบ้านเต็มเมือง นี่คือดัชนีชี้บอกว่าระบบการศึกษามันล้มเหลวแล้ว เขาบอกว่าถ้าไม่ติวสอบไม่ผ่าน ถ้างั้นไปเข้าโรงเรียนทำไม เสียเวลา ไปเรียนติวอย่างเดียว จบ ง่ายกว่า ประหยัดเงินกว่า อันนี้มองแบบชาวบ้าน ทำให้ผมตัดสินใจไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน”

คำถาม: คุณโจนพูดเหมือนกับว่ามันทุกข์ทนมากในการเข้าโรงเรียน มองจากอะไร มองด้านเดียวหรือเปล่า

ผมเห็นเด็กจำนวนมากไปโรงเรียน เขามีความสุขกับการได้เล่น แต่ไม่มีความสุขกับการเรียน หลายๆ คนมีความสุขกับการได้เจอเพื่อน พอเวลาเรียนทุกคนเครียด เพราะว่าในโรงเรียนเป็นระบบบังคับ เป้าหมายสถานศึกษามีอยู่ 2 อย่าง คือฝึกให้คนเชื่อฟังและทำตาม ฉะนั้นฝึกให้เด็กทำเดิมๆ ซ้ำๆ ให้เชื่อฟังและทำตาม เด็กไปโรงเรียนจะทำเหมือนๆ กันทุกคน ฉะนั้นเวลาไปนั่งเรียนจะเบื่อ เด็กทุกวันนี้เริ่มปฏิเสธการศึกษาแล้ว เพราะเด็กเบื่อ เรียนคณิตศาสตร์เสร็จไปเรียนภาษาอังกฤษต่อ ไปเรียนภาษาไทยต่อ มันเครียด มันไม่อยากเรียน มันอยากเล่น เด็กคือวัยที่ต้องเล่น วัยที่หาความสุข สนุกสนาน ความสนุกคือการเรียน แต่เราบังคับให้เด็กจำ ไม่มีใครอยากจำ ความจำไม่สนุกนะ

ผมเห็นว่าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์มาจำแทนเรา ทำไมเราต้องบังคับให้ลูกเราไปจำแทนคอมพิวเตอร์ มันซ้ำซ้อน ผมเห็นเด็กจำนวนมากเครียด ไม่อยากไปโรงเรียน ตื่นขึ้นมา หลายคนแกล้งไม่สบาย หลายๆ คนเจ็บปวดที่สุดคือเอาลูกไปโรงเรียนวันแรกลูกไม่อยากไปโรงเรียน ลูกอยากอยู่กับพ่อแม่ อยากอยู่กับอ้อมกอดของพ่อแม่ วันแรกลูกร้องไห้ ทำให้ผมคิดถึงลูก ผมจะไม่ทำอย่างนี้กับลูก

คำถาม: อาจารย์คมกฤช ในฐานะเป็นเด็กในระบบและสอนเด็กในระบบ สิ่งที่คุณโจนพูดจริงไหม

ผมเห็นด้วยกับพี่โจน แต่ผมสอนในระดับอุดมศึกษา ระดับการศึกษามีสองระดับ ระดับก่อนอุดมศึกษาและอุดมศึกษา ในระดับก่อนอุดมศึกษาผมเข้าใจว่ามีปัญหาอย่างที่พี่โจนพูด เราจะเห็นว่ามันมีปัญหาในระบบบางอย่าง แต่พอมาถึงในระดับอุดมศึกษามันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด

ส่วนระดับก่อนอุดมศึกษา ปัญหาถูกสร้างภายใต้กรอบคิดบางอย่าง ทุกวันนี้เราเห็นปรากฏการณ์นี้ชัด คือต้องเชื่อฟัง มีระเบียบวินัยเรียบร้อย ปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่าง

ผมเพิ่งเห็นแท็กในเฟซบุ๊ก เรื่องคุณครูไพลิน น่ากลัวมากที่พูดเรื่องความเป็นไทย บอกว่าถ้าคุณทำ 1-2-3-4 นี่คุณเป็นไทยนะ แม้ว่าคุณเป็นเด็กคุณก็ทำได้ ใครไม่ทำไม่ใช่คนไทย มันอยู่ในแบบเรียนของเด็กประถม ผมเห็นแล้วก็คิดเลยว่าถ้ามีลูกไม่อยากให้เรียนในตำรา

แต่ในทางกลับกัน ปัญหาในระบบ เราจะออกจากระบบมันคล้ายๆ มีทางเลือกอยู่ แต่ทางเลือกมีราคาที่ต้องจ่าย ผมมีครูอาจารย์ที่เลี้ยงลูกแบบโฮมสคูล ก็มีราคาที่ต้องจ่าย เราต้องเอาจริงเอาจัง ขะมักเขม้น รวมทั้งการออกแบบการศึกษาของลูกเอง มันมีราคาทุกแบบ เพียงแต่ในระบบมันมีปัญหามาก

ในเมื่อระบบมีปัญหา แต่ระบบก็ผลิตคนที่ไม่มีปัญหา ได้ เอ๊ะ มันมีปัจจัยอะไรบางอย่างไหม แม้กระทั่งอยู่ในระบบเองก็ตาม สามารถมีผลผลิตอะไรออกมาได้ หรือจริงๆ พวกผมเป็นขบถ คล้ายๆ ว่าในระบบเราอาจจะมองมันสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง หรือมันยังพอมีหวังได้ อย่างระบบอุดมศึกษาที่ผมทำอยู่

สมัยผมเรียนหนังสือ ผมเคยตั้งคำถาม จะให้ผมถอดสแควร์รูททำไม บางวิชาจะฝึกเราไปทำไม ในใจเราก็คิดว่าต้องสอบให้ผ่าน คิดแค่นี้ ชีวิตมีแค่นี้ คือสอบให้ผ่าน พอเรียนจบ แล้วสอบเอ็นทรานซ์ได้ เด็กส่วนใหญ่จะมีความกดดัน เวลาเปลี่ยนชั้น มันกดดันมาก เวลามองกลับไป เดี๋ยวนี้สยองกว่ารุ่นผมเยอะ เดี๋ยวนี้มันต้องสอบเข้าอนุบาล สอบเข้า ป.1 ต้องส่งลูกไปติวอนุบาล ติว ป.1 ติวสอบ ม.1 จะเห็นว่าชีวิตอนุบาลยันจบเป็นชีวิตที่มีแต่ความกดดัน

ผมถึงมองว่าชีวิตในระบบแบบนั้นเป็นชีวิตแห่งความกลัว ไม่ได้ปลูกสร้างความสร้างสรรค์ แต่เราทำให้เด็กอยู่ในวินัยด้วยระบบของความกลัว กลัวสอบไม่ผ่าน กลัวครูตี ต้องทำการบ้าน เป็นวัฒนธรรมของความกลัว ผมมองว่าส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติ

ปัญหาการศึกษาเป็นการมองจากบนลงล่าง คนคิดออกแบบหลักสูตร มองจากบนลงล่าง ฉันคิดอย่างนี้ ฉันอยากให้เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ระนาบที่เท่ากัน คิดว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่สงบ ราบคาบ ทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ต้องมีคนคิดต่าง เป็นสังคมที่สงบ เขาจึงคิดหาออกแบบทำให้คนออกมาเหมือนกัน ผมต้องมานั่งแก้ตอนอยู่มหาวิทยาลัย นักศึกษาก่อนมาถูกฝึกมาให้เหมือนกัน หน้าที่ผมคือทำให้เขาไม่เหมือนกัน

คำถาม: การท่องค่านิยม 12 ประการ ถ้าใครไม่ท่อง ไม่รักชาติ เด็กๆ มีปัญหา คิดเรื่องนี้อย่างไร

โจน: วันแรกมีคนเอาข่าวมาให้ผมดู เขาบอกว่าท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้เด็กมีคุณลักษณะอย่างนี้ ต่อมาบอกว่าท่านปลัดกระทรวงศึกษาได้เตรียมที่จะสนับสนุน โดยการให้ขึ้นคัตเอาต์และให้เด็กท่องจำ ตรงนี้ทำให้ผมสะอึกเลยครับ ว่าระดับคนที่เป็นผู้บริหารการศึกษาคิดได้แค่นี้หรือ คิดได้แค่ว่าให้เด็กท่องจำเพื่อที่จะได้มีคุณสมบัติที่ดี

จริงๆ แล้วผมเห็นว่านี่คือผลของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ที่สอนให้คนคิดเหมือนกันๆ ไม่ได้คิดต่าง ซึ่งการที่จะทำให้เด็กเป็นคนดีไม่ใช่ให้เด็กไปท่องจำ แต่มันต้องทำให้เด็กเห็นความดี ว่ามันเป็นประโยชน์ จะทำให้เด็กรักชาติ ชาติต้องทำให้เด็กเห็นว่าชาติจำเป็นต่อชีวิตเขาอย่างไร มันถึงจะรักได้ ไม่ใช่ว่าไปท่องจำแล้วรักเลย ฉะนั้น วิธีคิดอย่างนี้ ผมว่าเป็นความล้มเหลวทางระบบการศึกษาที่คนในระดับกระทรวงยังคิดแบบนี้อยู่ ผมรู้สึกสลดใจว่า แล้วเราจะพัฒนาไปอย่างไร

มันเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ มันไม่ใช่ปัญหาของเด็ก เราคิดผิดที่ไปบังคับให้เด็กท่องจำเพื่อแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ มันไม่ใช่ เด็กก็คือเด็ก เขาต้องเติบขึ้นมาในแนวทางที่เขาอยากเติบโต ผู้ใหญ่อยากให้เด็กเป็นอย่างไรผู้ใหญ่ต้องทำตัวอย่างนั้น ไม่ใช่บังคับให้เขาท่องจำแล้วตัวเองทุจริตคดโกงกันอยู่ จะให้เด็กเป็นคนดี มันจะเป็นไปได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่ารับไม่ได้กับความคิดอย่างนี้ ทำให้ผมคิดว่านี่คือความล้มเหลว นี่คือวิกฤติของการศึกษาอย่างสูงสุด แม้แต่เจ้าหน้าที่ระบบกระทรวงยังคิดได้แค่นี้ คิดไกลกว่านี้ไม่ได้

อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการออกมาบอกว่าประเทศไทยเราต้องทำจีเอ็มโอเพื่อจะได้ตามทันประเทศอื่น อันนี้ยิ่งทำให้ผมสลดใจว่า นักวิชาการเรียนมามากมาย ใช้เงินมหาศาล ไปเรียนต่างประเทศมา แต่ไปก็อปปี้ความคิดฝรั่งมาแค่นี้หรือ ทำไมไม่สร้างของใหม่ขึ้นมา ทำไมไม่คิดจะพัฒนาพันธุ์ใหม่ของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่วิ่งไปตามตูดเขา ให้เขาจูงจมูก และตั้งชื่อตัวเองว่าดอกเตอร์ ได้ประโยชน์อะไร ทำให้ผมเห็นว่ามันล้มเหลวมาก คนไม่คิด มีแต่เชื่อฟังและทำตาม บริษัทต่างประเทศเอาเงินมาให้ไปดูงานที่นั่นที่นี่ ไปดูแล้วก็ทำตามเขา ทำได้แค่นี้หรือ ถ้าจะเรียนดอกเตอร์เพื่อทำได้แค่นี้ไปเรียนทำไม ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนเขายังพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาให้หลากหลายสายพันธุ์ที่คุณภาพดี ผลผลิตสูง แข็งแรง ไม่ได้เรียนหนังสือเลยเขายังทำได้ แต่ระดับดอกเตอร์ทำไม่ได้ ได้แต่เดินตามคนอื่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นความล้มเหลว

เด็กบ้านเรียนที่เล่นสนุกสนานระหว่างมีเวทีแสดงกิจกรรมของกลุ่มบ้านเรียน
เด็กบ้านเรียนที่เล่นสนุกสนานระหว่างมีเวทีแสดงกิจกรรมของกลุ่มบ้านเรียน

คำถาม: การศึกษาที่สอนให้เชื่อฟังและทำตาม ถามคุณโจนว่าเวลาคนจะเอาลูกออกนอกระบบ มีความหวาดกลัวว่าจะทำให้ลูกไม่เหมือนคนอื่น ไม่มีสังคม จะเริ่มต้นอย่างไร

จริงๆ มีคนคุยกับผมเยอะมาก คำถามมากที่สุดคือลูกจะเข้าสังคมได้ถ้าเอาลูกมาสอนเองที่บ้าน

คำถามที่สอง ลูกจะเรียนทันคนอื่นไหม เพราะไม่ได้เรียนเหมือนคนอื่น เวลาไปสอบเข้าจะเรียนทันเหมือนคนอื่นไหม

คำถามที่สาม ผิดกฎหมายไหม ลูกจะมีใบประกาศสอบเข้าที่อื่นได้ไหม หากเขาเปลี่ยนใจ

นี่คือคำถามฮิตๆ ที่คนถามเยอะมาก จากประสบการณ์ของผม พบว่าคำถามเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราเอาลูกออกจากโรงเรียน

คำถามที่ว่าลูกเข้าสังคมได้ไหม สิ่งที่พบคือ ลูกเราจะเข้าสังคมได้ดีมาก แต่ส่งลูกไปโรงเรียนลูกเข้าสังคมไม่ได้ เอาลูกเข้าโรงเรียนในระบบลูกจะมีปัญหามาก เพราะห้องเรียนมี 20-30 คน ทุกคนไม่คุยกัน ต่างคนต่างเล่นเฟซบุ๊ก มีกลุ่มมีแก๊ง มีอะไรต่างๆ เด็กๆ ก็จะไม่ค่อยเข้ากัน แต่เด็กบ้านเรียน โฮมสคูลทั้งหลาย ไม่ได้นั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม เรียนเป็นชั่วโมง แต่ละวันเขาจะไปนั่นไปนี่ สนุกสนาน ไปเจอเด็กกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ไปเจอเด็กบนดอย เพื่อนทะล เพื่อนเต็มเลย เพื่อนนี่ไม่ใช่มีแต่เด็ก มีผู้ใหญ่ด้วย

ขณะที่เด็กไปโรงเรียน จะมีอายุรุ่นเดียว เด็กถ้าอายุเท่ากันสุมหัวกันมากเกินไป ไม่ค่อยเกิดการพัฒนา แต่ถ้าเด็กมีเพื่อนหลายอายุ ต่างกัน มีผู้ใหญ่เป็นเพื่อนด้วย การพัฒนาจะเร็วมาก เพราะเห็นความต่าง ฉะนั้นเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา ออกจากห้องเรียนได้ มันจะรู้มาก

ถ้าเราเอาลูกออกจากโรงเรียน เรารู้แล้วว่าลูกไม่ต้องไปนั่ง 6 ชั่วโมง ในห้องตลอดเวลาเหมือนเด็กทั่วๆ ไป มีเวลาไปขี่จักรยาน ไปเดินป่า ไปขึ้นเขา ไปจับตั๊กแตน ไปยิงนก ไปเล่นน้ำ ไปปลูกปะการัง นี่คือการเรียนรู้ของเด็ก

ประเด็นที่สอง เรียนแล้วจะทันคนอื่นไหม มันเรียนมากกว่าคนอื่น เพราะถ้าเรียนในห้องเรียน แค่ไปนั่งเรียน 1+1 เป็น 2 2+2 เป็น 4 หรือไปเรียนวิทยาศาสตร์ พืช มีต้น มีใบ มีรากแก้ว แต่เด็กบ้านเรียนเขาปลูกและเอามากินด้วย เขาผสมพันธุ์เป็ด รู้ว่าผสมอย่างไร ฟักไข่เป็ดฟักอย่างไร ปลูกผัก ปลูกอย่างไร เอามากินได้ เรียนแล้วเข้าใจ และทำเงินได้ด้วย

ทำให้เห็นว่าเด็กพัฒนาต่างกัน ฉะนั้นเวลาไปทำข้อสอบ เด็กไม่ได้กลัวข้อสอบ อีกอย่างหนึ่งพ่อแม่ที่ทำบ้านเรียนไม่ได้สนใจเรื่องสอบเลย เพราะการสอบคือการทำร้ายเด็กอีกอย่างหนึ่ง เป็นการฝึกให้เด็กแข่งขันกัน คนที่ชนะก็หลงระเริง คนที่แพ้ก็เสียใจ เป็นปมด้อย มีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำร้ายลูกเรา หากลูกเรามีความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเอง เขาทำอะไรเขาก็สนุก เมื่อสนุกเรียนอะไรก็จำ ไม่ต้องนั่งสอน ดังนั้น การพาไปทำนั่นทำนี่ เด็กเกิดความเข้าใจ สิ่งที่ลูกได้คือความเข้าใจ

แต่ถ้าลูกไปโรงเรียนในระบบ ลูกจะไม่เข้าใจอะไรเลย ได้แต่ความจำ เราไปโรงเรียน เรียนหนังสือ ได้แต่หนังสือ แต่ถ้าเรียนอยู่ที่บ้าน เราไม่ได้เรียนหนังสือ เราเรียนชีวิต เราก็ได้ชีวิต ปลูกผักก็ได้ เลี้ยงเป็ด ทำขนมก็เป็น ซ่อมนั่นนี่ได้ มันเป็นสารพัดอย่าง นี่คือความเข้าใจที่เกิดขึ้นในใจแล้ว มันจะไม่หายไปไหน แต่ถ้าความจำที่ได้จากการฟังอาจารย์พูด การอ่านหนังสือ การดูหนัง ฟังได้ ดูได้ จำได้ ไปพูดต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้ย้ำบ่อยๆ ก็ลืม

เหมือนกับเวลาเดินออกจากห้องสอบ สมองมันโล่ง มันจำไม่ได้สักอย่าง ที่ทำข้อสอบเสร็จนี่ จำไปทำไม ทำไมต้องจำ ความจำมีประโยชน์น้อยมาก แต่ความเข้าใจเป็นประโยชน์สูงสุดเลย ความเข้าใจจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่เผชิญของจริง ถ้าไม่ได้ทำ ฉะนั้น เด็กโฮมสคูลเขาสร้างอะไรขึ้นมาหลากหลาย พอไปเยี่ยมเด็กบ้านเรียนแต่ละบ้านเราจะเห็นนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ เยอะแยะเลย ตรงนี้ผมเห็นว่า ทำไมเราไม่พัฒนาคนให้เป็นอย่างนี้ จบออกไปเด็กสามารถสร้างงานได้ตลอดเวลา แค่ขนาดเรียนประถม เขายังหาเงินได้ อย่าง “ต้นกล้า จินาจันทร์” เรียนประถม อายุ 11 ปี เลี้ยงเป็ด มีเงินไปเที่ยวอเมริกาได้โดยไม่ขอเงินพ่อแม่เลย มีเด็กอย่างนี้เยอะมาก ถ้าออกมาจากห้องเรียน เด็กจะเก่ง

เรื่องต่อมา เรียนแล้วจะได้รับการรับรองจากภาครัฐไหม ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ไหม เราพบว่า การทำโฮมสคูลก็คือการไปขึ้นทะเบียนกับการศึกษาเขตก่อน ทำหลักหลักสูตรให้เขาดู แล้วมาจัดการเรียนการสอนลูกของเราเอง อยากให้เกรดเท่าไหร่ก็ให้ไป แล้วแต่เราเห็นสมควร จะเอาเกรดไหนเอาไปเลย แล้วกระทรวงศึกษาต้องเห็นตามนั้น เพราะเป็นครู เจ้าหน้าที่เขตไม่ใช่ครู พ่อแม่เป็นคนสอน เรารู้จักลูกเราดีที่สุด อันนี้เราให้เกรดอะไรก็ได้ เวลาไปสอบก็เอาใบประกาศที่กระทรวงศึกษาออกให้ไปสมัครเข้าเรียนอะไรก็ได้ ผมก็ยังไม่เห็นเป็นปัญหาสักคน เข้ามหาวิทยาลัยได้หลากหลาย

โจน จันได  กับ ต้นกล้า จินาจันทร์
โจน จันได กับ ต้นกล้า จินาจันทร์

คำถาม: อาจารย์คมกฤชเห็นความแตกต่างของเด็กในระบบการศึกษาที่อาจารย์สอนอยู่อย่างไรบ้าง

ผมพูดจากสถานการณ์ของคนอยู่ในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยตอนนี้มีปัญหามาก ตอนนี้ทบวงมหาวิทยาลัย หรือสำนักงาน สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา) พยายามมาบีบคั้นเราด้วยประการต่างๆ เช่น ระบบการประเมินเยอะ บางการประเมินมันตลกมาก ผมสอนปรัชญา เราจะรู้ว่าความดีไม่ใช่ของตายตัว ไม่ใช่สิ่งที่จะวัดกันออกมาเป็น 1-2-3-4 มันเป็นเรื่องข้างใน แต่ที่ทบวงบอกว่าไม่ได้ ต้องวัดได้ ทีนี้จะวัดอย่างไร ก็มาบังคับมหาวิทยาลัย ว่าในหนึ่งปี สมมติมีนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจำนวนเท่านั้นเท่านี้ มหาวิทยาลัยก็ได้คะแนนเท่านี้ ผมว่ามันตลกมาก

พอเป็นแบบนี้ สังคมไทยน่ารัก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมฉ้อฉล พอบอกว่าไม่ได้รางวัลก็ไม่ได้คะแนน ก็หาหน่วยงานมาสักหน่วยงานมาให้คะแนน มาให้รางวัล ก็เอื้อกันไป สุดท้ายก็ได้คะแนน ทุกคนก็ยิ้มเบิกบานมีความสุข หลอกกันไปหลอกกันมา น่ารักมาก

จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษา ต้องการเด็กที่เติบโตขึ้นมาภายใต้ความคิดอิสระบางอย่าง ผมคิดว่าพวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบมหาวิทยาลัย ความเข้มแข็งจากที่เขาได้รับการศึกษา จากครอบครัว ทำให้เขากลายเป็นคนสามารถคิดต่างๆ สร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ครูอาจารย์แบบผมหรือเพื่อนร่วมงานอยากได้ ไม่ได้ต้องการเด็กที่เหมือนๆ กัน เราต้องการเด็กที่มีมุมของตัวเอง ถามว่าเด็กในระบบก็มี แต่ไม่ใช่ผลผลิตของระบบ ที่เขาอาจจะเจอจุดเปลี่ยนของเขาเอง

คำถาม: กรณีตัวอย่างของนักเรียนที่ถูกคุณครูให้ออกมาหน้าชั้นและให้สัญญาว่าต้องเรียนให้เก่งขึ้น หากทำไม่ได้ให้ไปตาย มองอย่างไร

โจน: คนไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แม้แต่ครูก็ไม่ได้เก่งทุกอย่าง ครูภาษาอังกฤษพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เต็มเลยทุกวันนี้แล้วยังมีหน้ามาสอนภาษาอังกฤษ ทำไมเราต้องทำให้เด็กเก่งทุกอย่าง คนๆ หนึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเป็น ไม่ใช่เขาต้องเก่งทุกอย่าง ไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น ความรู้บนโลกนี้เยอะมาก แต่ที่จำเป็น ที่แต่ละคนจะใช้ในชีวิต มันไม่มาก แต่ละคนจึงมีสิทธิที่จะพัฒนาตัวเองไปในทางที่ตัวเองชอบตัวเองรักเท่านั้น

ฉะนั้น การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ต้องบังคับ มันต้องปล่อยให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เด็กชอบตัวเองอยากทำ เขาชอบอะไรพัฒนาไป ชอบดนตรี ไปบังคับให้เขาเรียนคณิตศาสตร์ เขาจะจำเป็นต้องใช้คณิตศาสตร์เพื่ออะไร เขาไม่จำเป็นต้องเรียนพายอาร์กำลังสอง เพราะดนตรีไม่ต้องใช้

ผมว่าระบบมันผิดตรงนี้แหละ ผิดตรงที่ว่าเราต้องการให้คนคิดเหมือนกันทำเหมือนกัน เราเลยเอาเวลาในชีวิตของเด็กออกไป เพื่อไม่ให้มีเวลาคิดมาก ถ้ามีเวลาคิด ถ้าคิดมาก ฉลาดมาก ดังนั้น อัดๆๆ ความรู้เข้าไป ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์เข้าไป เพื่อให้มันมึน ไปเรียนเสร็จ กลับมาการบ้านตรึม

เด็กต้องมีเวลาที่เขาสนุก มีความสุขในชีวิตที่มันจะติดในใจตลอดชีวิต หากเขาต้องตื่นตี 4 ตี 5 กว่าจะได้กลับบ้าน ทุ่ม 2 ทุ่ม ถ้าเด็กเริ่มต้นชีวิตอย่างนี้ตั้งแต่อายุ 4 ปี โตขึ้นมา เขาไม่เคยรู้เลยว่าความสุขคืออะไร เพราะไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้เลย

ฉะนั้น พอโตขึ้น ชีวิตจึงเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร มองอะไรไม่เห็น ก็เลยเครียด กลุ้ม นี่คือปัญหา

คมกฤช: ผมว่าครูอาจจะหวังดี แต่เวลาดูแล เขาไม่ใช่ลูกเรา แต่เป็นลูกศิษย์เราที่มีพ่อแม่ ความหวังดีต้องมาพร้อมวิธีการที่ดีด้วย ไม่ใช่หวังดีแล้วจะตีเธอด้วยรัก มันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะแต่ละคนมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน ทีนี้ผมเข้าใจว่าปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงของสังคมไทย และส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดที่มีปากเสียงน้อย เรื่องเหล่านี้จะถูกลืมไป ทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องจริงจัง ที่ครูอาจารย์ที่มีทัศนคติอย่างนั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ปัญหามาจากระบบ ทุกวันนี้ครูจำนวนมาจากสถาบันการศึกษาผลิตครู อย่างที่บอกว่าครูภาษาอังกฤษพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่เรียนครูภาษาอังกฤษมา ก็ไปสอนภาษาอังกฤษ เราจึงได้ครูจำนวนมากที่เข้าไปในระบบการศึกษากระแสหลักโดยที่ไม่มีความรักในวิชาชีพจริงๆ หรือไม่ได้เป็นครูที่เชี่ยวชาญในวิชานั้นจริงๆ แต่จะทำอย่างไร ผมว่ายากมาก ผมว่าสังคมยังมีปัญหานี้อยู่ ที่คิดว่าคนเป็นครูต้องมาจากครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ทั้งที่จริงๆ แล้วในระบบการศึกษาตะวันตก (การศึกษาในระบบ) เปิดโอกาสให้คนที่ไม่จบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ แต่มีความรัก ความรู้ ในเรื่องนั้น โดยผ่านการสอบที่เขาออกแบบมา ผมเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่สะท้อนปัญหาใหญ่ของการศึกษาทั้งหมด ของไทยมันกำลังจะไปผิดทางหรือเปล่า เท่าที่เห็นการแก้ไขอยู่

คำถาม: การที่ทุกคนคิดเหมือนๆ กัน ไม่ดีอย่างไร

โจน : การทำอะไรเหมือนกันๆ เป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายทันที ความคิดทุกความคิดไม่มีอะไรที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้น ความหลากหลายคือความมั่นคง คือความยั่งยืน การที่เรามีความหลากหลายทางความคิด มันจึงเป็นความงดงาม ความยั่งยืน และเราเห็นคนที่คิดต่าง หากคิดเหมือนกัน เป็นการสร้างความทุกข์ให้คนมหาศาล เพราะคนแต่ละคนโดยธรรมชาติไม่คิดเหมือนกันอยู่แล้ว คนต้องคิดต่าง หากคิดเหมือนกันเมื่อไหร่นั่นคือสัญลักษณ์ของความล่มสลาย เราต้องส่งเสริมให้เกิดความต่าง ถ้ามันเหมือนกัน มันเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบกันได้ง่าย ซึ่งวิธีการนี้อยู่ได้ไม่นาน อย่างที่บอกว่าเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย แต่ลักษณะอย่างนั้นมันอยู่ไม่ได้ คนคิดต่างไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาสำหรับคนที่จะเอาเปรียบคน เพราะเขาเอาเปรียบไม่ได้

ครอบครัวที่ทำบ้านเรียน สามารถสร้างคน ทุกคนมีศักยภาพที่จะเติบโต ขอให้มีอิสระที่จะเติบโต แต่ระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้อิสระกับเราเท่าที่ควร ไม่ได้ให้อิสระกับเด็กเท่าที่ควร ขอให้เด็กมีความสุข มีความเพลินเพลินกับชีวิต เขาจะเป็นตัวของตัวเอง เขาจะพัฒนาได้หลายอย่างอย่างน่าทึ่งมาก ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมว่าเราได้ทำร้ายเด็กมายาวนานมากโดยใช้การศึกษาในระบบ

ฉะนั้น หากเราเปิดโอกาส เราจะเห็นการเติบโตที่หลากหลาย

คำถาม: การจะทำโฮมสคูลทำได้เฉพาะครอบครัวพ่อแม่ที่มีการศึกษาหรือไม่ แล้วลูกชาวบ้านทั่วไปเขามีทางเลือกไหม

โจน : จริงๆ ชาวบ้านทั่วๆ ไปเขามีความรู้เยอะมาก ไม่ใช่เป็นชาวไร่ชาวนาแล้วไม่มีความรู้ สอนไม่ได้ อย่างครอบครัวน้องต้นกล้าก็เป็นครอบครัวทำไร่ทำนา ทุกคนมีความสามารถในการสอนลูกได้ ซึ่งการสอนเรามักจะเข้าใจผิดว่าจะต้องเขียนบนกระดานให้ลูก จริงๆ การสอนลูกไม่ใช่การมานั่งเขียน เราทำอะไร ลูกเห็น นั่นคือการเรียน ลูกมาทำด้วย นั่นคือการเรียนของเขา ไม่ว่าจะทำนา ลูกทำนาด้วย เขาได้สังเกตเห็นต้นข้าว การออกรวง การเก็บเกี่ยว เห็นเพลี้ยมากิน เห็นการจัดการเพลี้ย การจัดการแมลงในนาข้าว อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นทุกอย่าง ทุกวิชา แค่เรื่องข้าวเรื่องเดียวเราเรียนรู้เยอะแยะเลย อย่าคิดว่าเราไม่ได้จบสูง สอนลูกไม่ได้ จริงๆ แล้วสิ่งที่เราสอนลูกคือการให้เขาอ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารได้ ผมว่าคนมากกว่า 80% สามารถทำตรงนี้ได้ ที่เหลือเราไม่ต้องสอน เราใช้ชีวิตของเราอย่างที่เราอยากจะเป็น แล้วลูกก็จะเป็นไปตามนั้น

คนที่พยายามสอนลูกด้วยคำพูด ไม่เคยประสบผลสำเร็จ เพราะว่าลูกไม่ตามที่เราสอน แต่ลูกจะตามสิ่งที่เราทำ เพราะฉะนั้น การสอนโดยไม่สอนเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด อย่าสอน เพราะคนเราสอนกันไม่ได้ แต่คนเปลี่ยนตัวเองโดยตัวของเขาเอง ดังนั้น แค่ช่วยให้เขาอ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารได้ หลังจากนั้น เขาสนใจอะไร เรามีหน้าที่ส่งเสริมและเขาฝึกตัวเองได้เก่งกว่าเรา จึงไม่ควรหนักใจว่าไม่มีความรู้จะสอนลูกอย่างไร

หรือถ้าเราอยากให้ลูกเก่งเหมือนเด็กในโรงเรียน เราก็หาครูพิเศษมาสอนได้ เราออกแบบการศึกษาให้ลูกได้ตามที่เราต้องการ อย่างนี้คืออิสรภาพ คือความงดงาม ความหลากหลายจะเกิดขึ้นเพราะแต่ละครอบครัวจะสอนไม่เหมือนกัน

โฮมสคูลจึงไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรมีการสอบ เพราะจะเอามาตรฐานมาวัดความแตกต่างได้อย่างไร พ่อแม่เป็นคนสอบเอง พ่อแม่ตัดสินใจ

คำถาม: แล้วเราจะเอาการศึกษาที่พ่อแม่สอนลูกไปเทียบกับระบบข้างนอกอย่างไร วุฒิที่ได้มาคืออะไร

โจน: เรามีสิทธิเหมือนเด็กที่ไปโรงเรียนในระบบทุกอย่าง ขั้นตอนง่ายๆ คือไปขึ้นทะเบียนกับการศึกษาเขตก่อน การศึกษาเขตให้เรามาเขียนหลักสูตรว่าจะสอนลูกอย่างไร ให้คะแนนอย่างไร ประเมินลูกอย่างไร เราเขียนไป จากนั้นเรามาสอนเอง เราก็ให้คะแนนลูกไป เกรดเอบีซีดี เรารายงานไปที่การศึกษาเขต พอครบ 6 ปี เราให้ลูกผ่านทุกปี ได้เกรด 4 การศึกษาเขตได้รับรายงานของเรา ก็ออกใบประกาศประถม 6 ให้ ใบประกาศนี้เราสามารถเอาไปสอบที่ไหนก็ได้ เหมือนกันทุกอย่าง แม้แต่จะไปเรียน รด. ก็สามารถไปเรียนได้ การศึกษาเขตจะต้องจัดการให้เรา ให้ลูกเราไปเรียนได้ เห็นหน้าที่ของการศึกษาเขตที่จะต้องช่วยเหลือเรา เราทำได้เหมือนเด็กไปโรงเรียนทุกอย่างและมีสิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาจากภาครัฐ หากเราสอนเอง หัวละ 4-5 พันบาท เงินนี้หากเราไม่อยากได้ ไปจ้างคนอื่นมาช่วยสอนได้ ตรงนี้ไม่อยากให้ผู้ปกครองเป็นห่วง เพราะไม่มีอะไรต่างกับการส่งลูกเข้าโรงเรียน ที่ต่างก็แค่ลูกเรามีความสุขมากกว่า

คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีเวลา แต่อยากทำโฮมสคูล บ้านเรียนให้ลูก ทางเลือกหนึ่งที่ทำได้คือชักชวนคนที่อายุใกล้ๆ กันสัก 3-4 คน ให้เรียนด้วยกัน เปลี่ยนกันสอน หรือหากไม่มีเวลาสอน ก็หาคนอื่นที่มีความสามารถพิเศษมาสอนได้ จะช่วยบรรเทาได้เยอะกว่าและช่วยให้เด็กมีสังคมของเขาเอง ซึ่งสำคัญมาก ต่างจากสังคมในโรงเรียน ไม่มีใครจัดการได้ ไหลไปโดยไม่มีการควบคุม น่ากลัวมาก หากเราจัดการเอง เราควบคุมได้ ควบคุมนี่ไม่ได้หมายความว่าอยากให้ทุกคนเป็นเหมือนกันนะ คือควบคุมสิ่งเราเห็นว่าไม่เหมาะสมได้ง่ายกว่า เช่น เล่นเกมมากไป เล่นเฟซบุ๊กมากเกินไป เราสามารถจัดการได้ หากเรารวมกัน 3-4 ครอบครัว มาเรียนด้วยกัน ลงขันกัน ลงทุนถูกกว่าส่งลูกไปโรงเรียนตั้งเยอะและได้คุณภาพตามที่เราต้องการ

คำถาม: เราไปยุบกระทรวงศึกษาไม่ได้ ทำอย่างไรให้โรงเรียนหรือการศึกษาในระบบ ได้หันกลับมาคิด นำวิธีการโฮมสคูลไปใช้ในโรงเรียน ไม่ใช่ทำเด็กให้เหมือนกัน

โจน: อันนี้เป็นแค่การศึกษาทางเลือก เป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากเลือก คนที่ไม่อยากเลือกก็เข้าระบการศึกษาเดิม แต่ในความเป็นจริงน่าจะมีกฎหมายที่เอื้อต่อการศึกษาทางเลือกมากกว่านี้ ผมว่าการจัดการการศึกษาที่ง่ายที่สุดคือกระทรวงศึกษาต้องลดบทบาทลง ไม่ต้องควบคุมอะไรมาก มีหน้าที่ส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ สร้างโรงเรียนเอง เขียนหลักสูตรเอง ให้ครอบครัวสามารถจัดการเรียนได้ง่ายขึ้น และรัฐบาลไม่ต้องแบกภาระเงินเดือนครูมากมายในแต่ละปี แต่ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรขึ้นมา

วันนี้เรามีทางเลือกแล้ว เรามาทำการศึกษาทางเลือก เราทำได้ หากใครหลายๆ คนจะทำศูนย์การเรียน ตอนนี้เขาให้เราทำได้ เป็นโรงเรียนทางเลือกอีกแบบหนึ่ง แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่รัฐยังมีความคิดแบบเดิมๆ อยู่ คือเด็กจะต้องสอบ ต้องเรียน 8 วิชาหลักให้ได้ผ่าน มันแย้ง ขัดกับสิ่งที่พ่อแม่โฮมสคูลต้องการ คือเราต้องการให้เด็กมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แต่ระบบไม่ต้องการอย่างนั้น เราก็คงต้องลุยต่อไป ผมว่าสิ่งเราทำได้ตอนนี้คือเราทำตัวของเราเองก่อน ไม่ต้องคิดเปลี่ยนระบบทั้งหมด หากเราทำได้มากขึ้นๆ ระบบก็เปลี่ยนของมันเอง วิธีนี้ทำให้เราไม่ต้องไปประท้วง ง่ายกว่า

คำถาม: เด็กบ้านเรียนมีความเป็นตัวของเองมาก ทำอย่างไรไม่ข้ามไปสู่การเป็นเด็กที่มีอัตตาสูง

จริงๆ การเป็นบ้านเรียน พ่อแม่ส่วนมากมักจะเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างลึกซึ้ง คือการสอนลูก เราจะให้ลูกเห็นว่าโลกนี้มันกว้างนะ เราจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโลก เขาจะไม่คิดว่าเขาใหญ่ เวลาเด็กโฮมสคูลไปไหนจะเคารพในสิ่งที่เป็นอยู่ ต่างจากเด็กในโรงเรียนมากๆ เวลาเด็กไปเที่ยวป่า เด็กเขารู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อยู่กับมันและใช้มันด้วยความเข้าใจมากทีเดียว ตรงนี้ทำให้ผมเห็นว่า เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งมันทำให้อัตตาของคนลดน้อยลง ผมจึงไม่ห่วงว่าเด็กจะมีอัตตาที่ใหญ่เกินไป