ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ และพวก ทุจริตเงินทอนวัดพนัญเชิง ชง อสส. ฟ้องอาญา

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ และพวก ทุจริตเงินทอนวัดพนัญเชิง ชง อสส. ฟ้องอาญา

19 ธันวาคม 2017


นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 19 ธันวาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 เวลา 14.00 น. นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการพิจารณากรณีกล่าวหานายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และพวก ร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณในโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องแถลงข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ)

นายวรวิทย์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพนม ศรศิลป์ อดีตรองผู้อำนวยการ พศ. เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นางสาวประนอม คงพิกุล อดีตผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน พศ. เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนางชมพูนุท จันฤาไชย บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ร่วมกันทุจริตงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่อนุมัติให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหารในปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 ตามที่นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน นำเสนอ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ส่งเรื่องกล่าวหานายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พศ. กับพวก ตามมาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจากการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานพบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นขบวนการ ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 1205/2560 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2560 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อทำการไต่สวนข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ พฤติการณ์ของขบวนการทุจริตเงินทอนวัดได้มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะมีกลุ่มบุคคลซึ่งจะทำหน้าที่ติดต่อวัดต่างๆ โดยแจ้งว่าจะมอบเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัด แต่มีเงื่อนไขว่าวัดจะต้องมอบเงินกลับคืนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการจัดสรรให้แก่วัดต่างๆ ต่อมากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะนำรายชื่อวัดที่เชื่อตามคำกล่าวอ้างไปจัดทำเอกสารการอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัด โดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดตามขั้นตอนและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และเมื่อ พศ. ได้โอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีเงินฝากของวัดแล้ว กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะแจ้งให้วัดโอนเงินหรือรับเงินกลับคืนมาแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต

การทุจริตเงินทอนวัดพนัญเชิงวรวิหาร เมื่อปีงบประมาณ 2557 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน พศ. ได้ติดต่อวัดพนัญเชิงวรวิหารว่าจะจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหารจำนวน 10,000,000 บาท แต่เมื่อวัดได้รับเงินแล้วให้โอนเงินจำนวน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนางชมพูนุท จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พศ. โดยแจ้งว่าจะนำไปใช้ในกิจการของ พศ. หลังจากนั้นนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้จัดทำเอกสารการอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหารจำนวน 10,000,000 บาท เสนอให้นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อนุมัติเงินอุดหนุน โดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดพนัญเชิงวรวิหาร ประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหารตามระเบียบแบบแผนของของทางราชการ โดยหลังจากที่ พศ. ได้โอนเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร 10,000,000 บาทแล้ว วัดพนัญเชิงวรวิหารได้โอนเงินกลับคืนจำนวน 8,000,000 บาท โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางชมพูนุท จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต

สำหรับการทุจริตในปีงบประมาณ 2558 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้ติดต่อวัดพนัญเชิงวรวิหารอีกครั้ง และแจ้งว่าจะโอนเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร 10,000,000 บาท แต่ในครั้งนี้มีเงื่อนไขว่าวัดจะต้องคืนเงินสดจำนวน 5,000,000 บาท ให้แก่นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หลังจากนั้นนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้จัดทำเอกสารการขออนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จำนวน 10,000,000 บาท เสนอนายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ พศ. พิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุน โดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดพนัญเชิงวรวิหารประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จากนั้นเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร 10,000,000 บาท แล้ว วัดพนัญเชิงวรวิหารได้นำเงินสด จำนวน 5,000,000 บาท ไปมอบให้แก่ นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต

หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว ได้มติว่า การทุจริตในปีงบประมาณ 2557 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90 โดยนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90 โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 รายมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1), (2), (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1), (4) ส่วนนางชมพูนุท จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

การทุจริตในปีงบประมาณ 2558 นายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 90 นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 มาตรา 91 และมีมูลความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 (1), (4) อีกบทหนึ่งด้วย ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ราย มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1), (2), (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1), (4) ให้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92 และมาตรา 97 ต่อไป

นายวรวิทย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได่ส่งสำนวนคดีมาให้ ป.ป.ช. แล้ว 35 คดี เมื่อรวมกับกรณีประชาชนร้องเรียน กรณีการทุจริตเงินทอนของวัดมาที่ ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ 2557-2558 ประมาณ 62 แห่ง รวมทั้งสิ้น 97 คดี ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนแล้ว 8 คดี โดยมีพฤติกรรมการทุจริตคล้ายกับกรณีแรกที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว ส่วนคดีที่เหลือคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน โดย ป.ป.ช. จะทยอยดำเนินการไปทีละวัด

อ่านแถลงข่าว ป.ป.ช. ที่นี่