ป.ช.ช.ชี้มูลความผิด โกงเงินทอนวัด – โรงพัก – แฟลตตำรวจ – สนามฟุตซอล
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 1 ชั้น 1 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการพิจารณาคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งหมด 4 เรื่อง ดังนี้
โกงเงินทอนวัด
เรื่องที่ 1 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายพนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 216,062,819.54 บาท
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายพนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ที่จัดสรรให้วัดพนัญเชิงวรวิหาร ประจำปีงบประมาณ 2557 และประจำปีงบประมาณ 2558 และจากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายพนม ศรศิลป์ ที่ได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2561 นายพนม ศรศิลป์ และนางนิสา ศรศิลป์ คู่สมรสมีการนำฝากเงินและซื้อหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด รวมทั้งมีการซื้อที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะเป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายพนม ศรศิลป์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ผลการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่าพบเงินฝากและทรัพย์สินต่าง ๆของนายพนม ศรศิลป์ และบุคคลใกล้ชิด ประกอบด้วย นางนิสา ศรศิลป์ (คู่สมรส) นางจรินรัตน์ แซ่ตั้ง และนางสมพิศ สุทธิบุญ (ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) รวมทั้งบุตรและญาติพี่น้อง ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวได้ ดังนี้
-
1. เงินฝากจำนวน 16 แห่ง เป็นเงิน 163,022,595.05 บาท
-
2. เงินลงทุนจำนวน 8 แห่ง มูลค่า 22,470,000 บาท
-
3. ที่ดินตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดอุดรธานีจำนวน 7 แปลง มูลค่า 5,119,400 บาท
-
4. บ้าน พร้อมที่ดิน จำนวน 2 หลัง ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครปฐม รวมมูลค่า 805,919 บาท
-
5. ห้องชุดตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี 1 ห้อง และจังหวัดปทุมธานี 2 ห้อง รวม 3 ห้อง มูลค่า 3,960,000 บาท
-
6. รถยนต์ จำนวน 9 คัน รวมมูลค่า 4,931,200 บาท
-
7. กรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวน 4 กรมธรรม์ รวมมูลค่า 828,489 บาท
-
8. เงินที่นำไปชำระหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน จำนวน 4 แห่ง เป็นเงิน 14,925,216.49 บาท
รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้นจำนวน 216,062,819.54 บาท (คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินไว้เป็นการชั่วคราว จำนวน 44,108,113.29 บาท)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อขอให้ทรัพย์สิน ดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
กรณีสร้างโรงพัก
เรื่องที่ 2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย เป็นเงิน จำนวน 1,728 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เรื่องนี้มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวกว่าอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน)จำนวน 396 แห่ง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 129/2556 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 615/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวน จากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน (ต่อมาภายหลังนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน รวมทั้งการพิจารณา)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี
และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างไม่เกิดปัญหา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับ ดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติ อนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน และตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีงบประมาณ (2552 – 2554) จากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 203/2552 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดจ้างและการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพลตำรวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เห็นควรดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลาง และแยกเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1–9) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้เสนอแนวทางการจัดจ้างดังกล่าวต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วมีบันทึกลงวันที่ 9 มิถุนายน 2552 เห็นชอบและให้ดำเนินการตามที่เสนอ
ปรากฏว่าต่อมาพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระจายการจัดซื้อ จัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุงเป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเสียก่อน จึงเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอำนาจ และโดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงิน 6,298,000,000 บาท ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวแบบรูปรายการละเอียดกำหนดขนาดความยาวเสาเข็มตอกซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่มีนัยสำคัญต่อคดีนี้ไว้ที่ความยาว 21 เมตร ต่อต้น ผู้เสนอราคาจะต้องยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการละเอียดดังกล่าว และเมื่อสิ้นสุดการประกวดราคา ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ปรากฏว่าบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำที่สุด เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท และได้จัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา โดยในส่วนของเสาเข็มตอกขนาดความยาว 21 เมตรนั้น บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ระบุราคา จำนวน 2,520 บาท ต่อต้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตามท้องตลาด โดยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ราคาต้นละ8,151.15 บาท และต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำหนดไว้ต้นละ 6,360 บาท ซึ่งการระบุราคาเสาเข็มตอกให้ต่ำกว่าราคา ตามท้องตลาดและราคากลางดังกล่าว โดยมีเจตนาจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบได้น้อย หรือต่ำกว่าราคาที่แท้จริงและตนได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว จึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่น ซึ่งต้องเสนอราคาตามความเป็นจริง ทำให้การเสนอราคาไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม
เมื่อพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ ประธานกรรมการประกวดราคา ได้รับบัญชีปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ดังกล่าวไว้แล้ว กลับละเว้น ไม่แจ้งให้คณะกรรมการประกวดราคารายอื่นทราบและนัดประชุมเพื่อพิจารณาว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่เพียงใด แต่ได้จัดส่งให้พันตำรวจโท สุริยา แจ้งสุวรรณ์ กรรมการและเลขานุการ นำไปใช้ประกอบในการทำสัญญาจ้างบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ตามสัญญาจ้างลงวันที่ 25 มีนาคม 2554 จนเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายหักลดค่าเสาเข็มที่ตอก ไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการได้เงินน้อยกว่าราคาที่แท้จริง เป็นเงินจำนวน 33,360,778 บาท และต่อมาก็ปรากฏว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างไปอีกจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 1,728,629,606 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา) ดังนี้
1. การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2. การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา
-
2.1 การกระทำของพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโท สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ(6)
-
2.2 การกระทำของพันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอก สุทธี โสตถิทัต พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอก ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอก ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)
-
3. บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว
-
4. สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโท สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
กรณีแฟลตตำรวจ
เรื่องที่ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต)จำนวน 163 หลัง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 3,994 ล้านบาท นอกจากนั้น ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เป็นเงินจำนวน 91,678,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เรื่องนี้ มีผู้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ว่าอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 225/2556 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 573/2560 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวน จากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน (ต่อมาภายหลังนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน รวมทั้งการพิจารณา) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมจะต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับ ดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติ อนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และมีความเห็นโดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติจัดจ้างเป็นรายภาค 9 ภาค (ภาค 1 – 9) ต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตามแนวทางที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยอนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) มาก่อนแล้ว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้มีบันทึกลงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เห็นชอบและให้ดำเนินการตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ
ต่อมาพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทางการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเสียก่อน อันเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอำนาจ โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงิน 3,709,880,000 บาท ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ซึ่งตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวแบบรูปรายการละเอียดกำหนดขนาดความยาวเสาเข็มตอกไว้ที่ 21 เมตร ต่อต้น ผู้เสนอราคาจะต้องยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการดังกล่าว และเมื่อสิ้นสุดการประกวดราคาผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องจัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ปรากฏว่าการประกวดราคาดังกล่าว บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเข้าร่วมเสนอราคาครั้งนี้ด้วย ได้เสนอขนาดความยาวของเสาเข็มตอกที่ความยาวเพียง 8 เมตร ต่อต้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายการละเอียดที่กำหนดความยาว จำนวน 21 เมตร ต่อต้น จึงเป็นการยื่นเสนอราคาโดยไม่ถูกต้องตามประกาศประกวดราคาจะต้องถูกตัดสิทธิมิให้เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาในครั้งนี้
แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการประกวดราคากลับพิจารณาให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติจนมีสิทธิเข้าแข่งขันเสนอราคา และต่อมาก็ปรากฏว่าบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา การเสนอราคาของบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ดังกล่าวจึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่นที่ต้องเสนอขนาดความยาวเสาเข็มตอก จำนวน 21 เมตร/ต้น ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก การเสนอราคาจึงไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้นยังปรากฏว่าราคาเสาเข็มตอกที่บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอ ราคาต้นละ 4,050 บาท ยังต่ำกว่าราคาตามท้องตลาด โดยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาเสาเข็มตอกขนาดความยาว 21 เมตร ราคา 8,151.15 บาท ต่อต้น และต่ำกว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดราคาเสาเข็มตอกไว้ 6,360 บาทต่อต้น
แต่คณะกรรมการประกวดราคาก็มิได้พิจารณาว่าราคาที่เสนอดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำสัญญาบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาลงวันที่ 31 มีนาคม 2553 และต่อมาเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบรูปรายการได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริง เป็นเงินทั้งสิ้น 14,112,489.56 บาท และต่อมาก็ปรากฏว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา(ก่อสร้างเสร็จ จำวน 82 หลัง ไม่เสร็จ จำนวน 81 หลัง) ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปอีกจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวมค่าปรับเป็นเงิน จำนวน 3,994,499,254.91 บาท
นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการก่อสร้างพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตำรวจภูธรภาค 6 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการตรวจการจ้างเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท และดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้างเป็นเงิน จำนวน 91,618,000 บาท อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้
-
1. การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกรรมเดียวกันกับกรณีอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
-
2. การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ พลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ พันตำรวจเอก ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ พันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจตรี สิทธิไพบูลย์ คำนิล พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ และพันตำรวจตรี สมาน สุดใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
-
3.การกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
-
4. การกระทำของพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ต่อ 3 เสียง ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
-
5. การกระทำของ บริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
เรื่องที่ 4 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายวิรัช และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับพวก รวม 24 ราย กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการก่อสร้างสนามฟุตซอล ในเขต 2 จังหวัดนครราชสีมา จากงบแปรญัตติ
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบประมาณ พ.ศ. 2555(งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) มีลักษณะมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบรายการและวิธีการก่อสร้าง สนามกีฬาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งการไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย และเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ โดยทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวมจำนวน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริต ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์
กล่าวคือ ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2555 นายวิรัช รัตนเศรษฐ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้น และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ นายกเทศมนตรีตำบล ห้วยแถลงขณะนั้น ซึ่งเป็นน้องสาวนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ได้สั่งการให้พวกของตน เข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าวโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 168 ซึ่งบัญญัติว่า “…ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้…”
ในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำคำขอเพิ่มเติมงบประมาณในรายการที่ 4 จำนวน 7,000,000,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีรายละเอียดว่าจะใช้ก่อสร้างสนามกีฬาที่ใด อย่างไร ในวงเงินเท่าใด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมเงินงบประมาณให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ผู้ประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กับพวก เข้าไปแทรกแซงการใช้จ่ายงบประมาณตามความต้องการ โดยให้ข้าราชการประจำทำคำของบประมาณที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของโรงเรียนเสนอขึ้นมา ซึ่งต่อมาสำนักงบประมาณได้จัดทำบันทึกเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และคณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเพิ่มเติมงบประมาณในส่วนนี้ ตามคำขอแปรญัตติเป็นเงินทั้งสิ้น 4,459,420,000 บาท โดยนายประยงค์ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการส่วนการงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สังกัดสำนักงบประมาณ ในขณะนั้น เป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณนำบัญชีคุมยอดรายการแปรญัตติเพิ่มปี 2555 (ใบโควตา) ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกทอดหนึ่งเพื่อใช้ควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้ตรงตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีส่วนได้รับการจัดสรรในครั้งนี้
ในส่วนของการประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่นายวิรัชฯ ได้สั่งการให้นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง ครูโรงเรียนบ้านขามเฒ่า คนสนิทของตน เข้าไปประสานงานเพื่อให้ได้รายชื่อโรงเรียนที่ต้องการก่อสร้างสนามฟุตซอล จากนั้นได้สั่งการให้นายประภัสร์ ลิมานันท์ ครูโรงเรียนวัดจรเข้ใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการและนางสาวกุลธิดา วีรตานนท์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานพรรคการเมือง นำรายชื่อโรงเรียนที่ได้จากการประสานงานไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของ สพฐ. ซึ่งได้มีการแนะนำให้รู้จักกันก่อนหน้านี้แล้ว
ภายหลังจากที่ได้รับการประสานรายชื่อโรงเรียนแล้ว เจ้าหน้าที่ของ สพฐ. ก็จะนำรายชื่อโรงเรียนต่างๆ ดังกล่าว มาตรวจสอบกับใบโควตาไม่ให้เกินกรอบวงเงินที่ได้รับแล้วทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อลงนามในหนังสือจัดสรรงบประมาณปี 2555 พร้อมแนบรายชื่อโรงเรียนที่ได้รับประสานมานั้นไปด้วย แล้วส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต (ในลักษณะ TOP DOWN) ในขณะเดียวกันก็แจ้งไปยังสำนักการคลังและสินทรัพย์ เพื่อโอนงบประมาณในส่วนนี้ไปให้ เฉพาะจังหวัดนครราชสีมาได้รับงบประมาณเป็นจำนวน 295 ล้านบาท
หลังจากที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาฯ สพฐ. ได้ทำหนังสือแจ้งจัดสรรงบประมาณ พร้อมแนบรายชื่อโรงเรียนให้ตามความประสงค์ของนายวิรัชฯ แล้วนายวิรัชฯ ได้สั่งการให้นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง คนสนิท ของตน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่ต้น ร่วมกับนางสาวเบญจพันธ์ บุญบงการ หรือ เอ๋ กรรมการผู้จัดการบริษัท สปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา เข้ามาประสานงานในพื้นที่ร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่ออธิบายรายละเอียด วิธีการ และขั้นตอน ในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ไปดำเนินการตามที่ได้ตระเตรียมไว้ โดยมีการนัดหมายกัน หลายแห่ง และมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นผู้ช่วยเหลือประสานงานแจ้งให้โรงเรียนต่างๆ ทราบและเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและตัวอย่าง พร้อมกำหนดปฏิทินการดำเนินการไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดวันที่ในการเสนอราคาเป็นวันเดียวกันแยกเป็นรายเขต มิให้ผู้ค้ารายอื่นรู้ราคาที่แท้จริงที่มีการประมูลได้ เพื่อป้องกันมิให้คู่ค้ารายอื่นเข้าร่วมการประมูลอีกทางหนึ่ง เป็นต้น โดยมีการกำหนดคุณลักษณะร่างขอบเขต ของงาน (TOR) อันเป็นการกีดกันผู้ค้ารายอื่นมิให้ร่วมในการเสนอราคาเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม กล่าวคือกำหนดให้ใช้แผ่นยางสังเคราะห์ (EVA) ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ทำพื้นสนามกีฬาฟุตซอลกลางแจ้งได้มาใช้และตั้งราคาไว้สูงกว่าความเป็นจริง 8-9 เท่า (ราคาที่แท้จริงมีราคาตารางเมตรละประมาณ330 บาท)
นอกจากนี้ได้กำหนดให้ใช้หนังสือแบบเรียนที่มีขายเฉพาะตัวแทนจำหน่ายพรรคพวกของตนเท่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกวดราคาด้วย โดยมีนายมานัส ชาวนา กรรมการบริษัท วอเตอร์ ฮีล แลนด์ จำกัด เข้ามาเป็นคู่เทียบ ผลการประกวดราคาในเวลาต่อมาปรากฏจากหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มเอไอเอ็นเตอร์ไพร์ส ซึ่งเป็นของนายยี พณิชยา เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้จำนวน 500 บาท เกือบทุกโรงเรียน
ต่อมาภายหลังได้มีการส่งมอบงานให้กับโรงเรียนต่าง ๆ แต่พื้นสนามฟุตซอลไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากแผ่นยางสังเคราะห์ (EVA) ที่กำหนดใน TOR เมื่อถูกความร้อนจะเกิดการโก่งงอ และเนื่องจากมิได้มีการติดตรึงอย่างถาวร จึงทำให้เกิดการหลุดล่อนเมื่อมีลมพัดแรง ซึ่งโรงเรียนต่าง ๆ ก็ได้ถอดเก็บไว้และมิได้นำออกมาใช้งานตามวัตถุประสงค์แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อเกิดความเสียหาย ผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ ก็มิได้เรียกให้ผู้รับจ้างเข้ามาแก้ไขและมิได้ทำการยึดหลักประกันสัญญาเพื่อบรรเทาความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวข้างต้น ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง ชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 24 ราย ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย ข้าราชการ 11 ราย เอกชน 10 ราย (บุคคลธรรมดา 7 ราย นิติบุคคล 3 ราย) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. กลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ประสานงาน จำนวน 6 ราย คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมาธิการ มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 168 มีมูลความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 7 มาตรา 13 และมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง มีมูลความผิดอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นอกจากนี้ยังมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา
นางสาวกุลธิดา วีรตานนท์ และนายประภัสร์ ลิมานันท์ มีมูลความผิดอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นอกจากการกระทำของนายประภัสร์ ลิมานันท์ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 84 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสองด้วย
ส่วนนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ มีมูลความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา
2. กลุ่มข้าราชการ จำนวน 9 ราย คือ นายชินภัทร ภูมิรัตน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและนายรังสรรค์ มณีเล็ก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สพฐ. มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ตามมาตรา 4 มาตรา 7 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง และนายชินภัทร ภูมิรัตน มีมูลความผิดทางอาญาตาม มาตรา 151 ประมวลกฎหมายอาญาอีกประการหนึ่งด้วย
นายประยงค์ ตั้งเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนการงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ ในฐานะกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการพิจารณาการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1)
นายนิเวศน์ อุดมรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมาเขต 2 มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
นายวิโรจน์ เลิศพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพระพุทธ นายอนันต์ สุวรรณะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตูมราษฎร์บูรณะ นายทองอินทร์ ไปเจอะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองพลอง นางสาวพูนพิสมัย เปี่ยมสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวทำนบ และนางสาวอ้อย สงึมรัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองนา มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 4 มาตรา 7 มาตารา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
3. กลุ่มเอกชน จำนวน 9 ราย คือ นางสาวเบญจพันธ์ บุญบงการ และบริษัท สปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
นายยี พณิชยา นายมานัส ชาวนา ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มเอไอ เอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัท วอเตอร์ ฮีลแลนด์ จำกัด มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2564 มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
นางสาวฐิติรัตน์ ทันหาบุรุษ และนางสาวรัตนา มงคลสกุล มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นอกจากนี้นางสาวฐิติรัตน์ ทันหาบุรุษ ยังมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7 และมาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 อีกด้วย
นายวิธิวัสส์ ภูชัสส์วุฒิกุล มีมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มูลค่าความเสียหายทั้ง 6 โรงเรียน ประมาณ 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาท)
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 76 และมาตรา 91 (2) แล้วแต่กรณี ในส่วนที่เหลือของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 6 เขต 50 โรงเรียน และจังหวัดอื่นๆ อีก 17 จังหวัด อยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
อนึ่ง การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
อ่าน คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าว ที่นี่!