ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช.ชี้มูล อดีตบิ๊กการบินไทย เอื้อจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบิน – ทุจริตเงินทอนวัดเพิ่มอีก 5 แห่ง

ป.ป.ช.ชี้มูล อดีตบิ๊กการบินไทย เอื้อจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบิน – ทุจริตเงินทอนวัดเพิ่มอีก 5 แห่ง

4 มีนาคม 2020


นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ป.ป.ช.ชี้มูล “อดีตผู้บริหารการบินไทย 3 ราย เอื้อเอกชน กรณีจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบิน – ทุจริตเงินทอนวัดเพิ่มอีก 5 แห่ง” ตั้งอนุไต่สวนฯส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 15.00 น. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวชี้มูลความผิด 2 คดี คือ คดีทุจริตเงินทอนวัด 5 แห่ง (เพิ่มเติม) ในจังหวัดอำนาจเจริญ,ตาก และเพชรบุรี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 26 ล้านบาท และชี้มูลความผิดผู้บริหารการบินไทย 3 ราย เอื้อประโยชน์เอกชน กรณีการจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบิน ทำรัฐเสียหาย 147 ล้านบาท

เริ่มจากคดีแรก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้บริหารการบินไทย 3 ราย เอื้อประโยชน์เอกชนโดยมิชอบ กรณีการจัดซื้ออุปกรณ์ห้องนักบิน เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีพลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 กรมการขนส่งทางอากาศส่งข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 65 ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยในบริเวณส่วนของผู้ประจำหน้าที่ภาคอากาศให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อทราบและถือปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ระบุไว้ใน ข้อ 5.2 และข้อ 6 กล่าวคือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องจัดให้มีวิธีการที่สามารถตรวจตราพื้นที่ด้านนอกประตูที่แบ่งเป็นส่วนของผู้ประจำหน้าที่ภาคอากาศโดยรอบทั้งหมดได้จากบริเวณปฏิบัติงานของนักบินแต่ละคน เพื่อพิสูจน์ทราบบุคคลที่ขอเข้าและเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัย หรือ เหตุที่อาจเป็นภัยอันตราย

ที่ประชุมฝ่ายบริหารงานนโยบาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 26/2549 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 ได้รับทราบและเห็นว่าในส่วนของอุปกรณ์ในห้องนักบิน เพื่อรองรับข้อมูลปฏิบัติการบินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบบริเวณห้องนักบิน (Electronic Flight Bag/Cockpit Door Surveillance System, EFB/CDSS) เป็นเรื่องที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์ในห้องนักบิน เพื่อรองรับข้อมูลปฏิบัติการบินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบบริเวณห้องนักบิน ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 เพื่อพิจารณา และคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 อนุมัติในหลักการให้ฝ่ายปฏิบัติการ (DO) ไปดำเนินการจัดหาโครงการ EFB/CDSS โดยเร็ว

เรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบและพัฒนาการบิน (OE) และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภารกิจพิเศษฝ่ายปฏิบัติการ สังกัดฝ่ายปฏิบัติการบิน ระดับรองผู้อำนวยการใหญ่ จึงมีหนังสือถึงเรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ขณะดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการ (DO) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เสนอแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดคุณสมบัติของระบบโครงการ EFB/CDSS

ส่วนคณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับให้ฝ่ายช่าง (DT) เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากโครงการ EFB/CDSS มีการถ่ายโอนงบประมาณให้ฝ่ายช่าง (DT) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งระบบตามขั้นตอนและระเบียบของฝ่ายช่าง (DT) และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ลงนามอนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดคุณสมบัติของระบบ EFB/CDSS

ในขณะที่ฝ่ายช่าง (DT) ยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อโดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ และยังไม่มีการอนุมัติจัดซื้อจากคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้มีอำนาจตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ปรากฏว่าในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 เรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กลับมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) ถึง บริษัท Global Airworks Inc. แจ้งว่าได้รับการคัดเลือกให้เตรียมทำสัญญา และให้เริ่มดำเนินการโดยเร็ว

ต่อมา เรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ได้มีหนังสือที่ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ถึง เรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอให้เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ 070225-08 กับ บริษัท Global Airworks Inc. ซึ่งตามเอกสารที่เสนอให้ลงนามในสัญญาดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการระบุว่าเป็นการจัดซื้อโดยวิธีใด ได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดซื้อ และได้รับการอนุมัติจัดซื้อจากผู้มีอำนาจจัดซื้อตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2546 หรือไม่ อย่างไร

แต่เรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กลับเห็นชอบ และเรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงนามในสัญญา Purchase Terms Agreement PTA 070225-08 MAY 17, 2007 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และเมื่อมีการทำสัญญาซื้อ EFB/CDSS กับบริษัท Global Airworks Inc. แล้ว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตรวจรับและชำระเงินให้แก่บริษัท Global Airworks Inc. ไปจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 147,395,028.586 บาท แต่ปรากฏว่าบริษัท Global Airworks Inc. ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงทำการเลิกสัญญากับบริษัท Global Airworks Inc. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551

ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 หลังจากได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าการกระทำของเรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และเรืออากาศโท ณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลเป็นความผิดอาญา ฐานร่วมกันเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือ รักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือ หน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และฐานร่วมกันเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท ฐานจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ฐานฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทอย่างร้ายแรง ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2537 ข้อ 13.2.1 ข้อ 13.2.2 ข้อ 13.2.3 สำหรับการกระทำของเรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย

คดีที่ 2 คดีทุจริตเงินทอนวัดเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง นายวรวิทย์ กล่าวว่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตการเบิกเงินงบประมาณอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า “คดีเงินทอนวัด” ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนและมีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว 11 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท และได้พิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไปแล้ว 24 เรื่อง

ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตในคดีเงินทอนวัดเพิ่มเติมอีก 5 วัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญจำนวน 1 วัด,จังหวัดตากจำนวน 3 วัด และจังหวัดเพชรบุรีอีก 1 วัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. วัดโคกเลาะ ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2555 นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือ สงกรานต์ สาทาวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ติดต่อให้กับเจ้าอาวาสวัดโคกเลาะให้เขียนแบบคำขอเงินอุดหนุนบูรณะวัดเพื่อบูรณะอุโบสถและสมบทสร้างศาลากลางเปรียญ ศาลาปฏิบัติธรรม จำนวน 10,000,000 บาท และได้ส่งเอกสารมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ได้นำคำขอรับเงินอุดหนุนฯของวัดโคกเลาะไปคุยกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อขอให้พิจารณาและจัดสรรเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดโคกเลาะ โดยการเสนอดังกล่าวได้มีการจัดทำบันทึกการประชุมของคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์ และการจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 5 ครั้ง ปรากฏลายมือชื่อนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ คณะทำงานและเลขานุการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นผู้จดบันทึกการประชุม และนายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ ประธานคณะทำงาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นผู้ตรวจรายงานการประชุม ทั้งที่ไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาฯ เพื่อพิจารณาคำขอรับเงินอุดหนุนดังกล่าว และไม่ได้มีการประชุมของคณะทำงานพิจารณาฯ เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่วัดโคกเลาะแต่อย่างใด ซึ่งนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ก็ได้พิจารณาและอนุมัติ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ จึงได้จัดทำบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวดแล้วเสนอผ่านนายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้อนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดโคกเลาะจำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,213,000 บาท

ภายหลังจากที่ได้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดโคกเลาะแล้ว นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้สั่งการให้ให้นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ไปเจรจาและขอเงินคืนบางส่วนกับเจ้าอาวาสวัดโคกเลาะ โดยขอคืนในการอนุมัติเงินครั้งที่ 3 และครั้งที่ 6 ซึ่งเจ้าอาวาสได้โอนเงินเข้าบัญชีของนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ตามที่นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์แจ้ง จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 600,000 บาท จากนั้นนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ได้นำเงินดังกล่าวไปมอบให้กับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับความเสียหาย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,213,000 บาท

2.วัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ วัดยางโองสันกลาง ตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2558 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งให้นายสมเกียรติ ขันทอง หรือ พระครูกิตติพัชรคุณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 อดีตเจ้าอาวาสวัดลาดแค อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ไปหารายชื่อวัดและบัญชีเงินฝากของวัดที่จะรับเงินอุดหนุน ซึ่งพระครูกิตติพัชรคุณได้เสนอรายชื่อวัดในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก คือ วัดยางโองบน วัดยางโองสันกลาง และวัดยางโองน้ำ และมอบสำเนาหน้าสมุดบัญชีของทั้งสามวัดให้กับนายบรรหาร เมตไตรพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ตำแหน่งนายช่างโยธาชำนาญงาน ฝ่ายสำรวจและรังวัดที่ดิน เพื่อมอบให้นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน

ต่อมาที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาการขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัดฯ ได้มีมติอนุมัติเงินอุดหนุนฯให้กับวัดยางโองบน , วัดยางโองสันกลาง และวัดยางโองน้ำ ทั้งที่วัดทั้งสามดังกล่าวยังไม่ได้มีการจัดทำแบบขอรับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด พร้อมแนบภาพถ่ายอาคารเสนาสนะที่จะบูรณะหรือก่อสร้าง และภาพถ่ายบริเวณวัดเพื่อขอรับเงินแต่อย่างใด ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอรับและการจัดสรรเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัด ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2558 แต่นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ กลับเสนอให้จัดสรรงบประมาณให้กับวัดทั้งสามดังกล่าว

ต่อมานายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพระพุทธศาสนาในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ ได้เสนอบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดยางโองบน , วัดยางโองน้ำ และวัดยางโองสันกลาง จำนวนวัดละ 2,000,000 บาท โดยเสนอผ่านนายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ลงนามอนุมัติ ต่อมาเมื่อวัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ และวัดยางโองสันกลาง ได้รับเงินอุดหนุนฯ ดังกล่าว ได้โอนเงินให้พระครูกิตติพัชรคุณ เป็นจำนวน 1,920,000 บาท 1,930,000 บาท และ 1,920,000 บาท ตามลำดับ

จากนั้นพระครูกิตติพัชรคุณได้มอบเงินจำนวนประมาณ 3 ล้านบาทเศษ ให้นายบรรหาร เมตไตรพันธุ์ เพื่อนำไปมอบให้นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และภายหลังเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ก็ได้มีการเรียกคืนเงินบางส่วน การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับความเสียหาย 6,000,000 บาท

3.วัดห้วยตะแกละ ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าช่วงปี 2556 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนางประนอม คงพิกุล ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ภายในกองพุทธสถาน ดำเนินการติดต่อวัดที่ต้องการเงินอุดหนุนในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด พร้อมทั้งแจ้งเงื่อนไขให้กับวัดต่างๆ ทราบว่าเมื่อได้รับเงินอุดหนุนแล้วจะต้องดำเนินการถอนเงินบางส่วนกลับคืนมาให้แก่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ หรือ นางประนอม คงพิกุล หากวัดใดยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ก็ให้เสนอรายชื่อวัดนั้นและจัดทำบัญชีรายชื่อวัด เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดประจำปีงบประมาณ 2557 ต่อไป

ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2556 นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน ได้ให้นางสาวรัสริน หรือระวีวรรณ หรือ รสธร รวมสิน หรือ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ซึ่งเป็นภรรยาของนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ช่วยหารายชื่อวัด ที่ต้องการงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดมาให้ โดยมีเงื่อนไขว่าวัดที่ได้รับเงินอุดหนุน จะต้องนำเงินที่จะได้รับบางส่วนกลับคืนมาให้นายวสวัตติ์ฯ

จากนั้นนางสาวรัสรินฯ จึงได้ไปติดต่อนายฐานพัฒน์ ม่วงทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนของนางสาวรัสรินฯ โดยแจ้งให้นายฐานพัฒน์ฯ หารายชื่อวัดในอำเภอท่ายาง หรือ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนางสาวรัสรินฯ สามารถติดต่อประสานของบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำมาพัฒนาวัดให้ได้ และแจ้งด้วยว่าจะต้องนำเงินที่วัดจะได้รับบางส่วนกลับคืนไป เพื่อใช้ในการอย่างอื่น และจะมีค่าใช้จ่ายในการติดต่อให้แก่นายฐานพัฒน์ฯ ด้วย จากนั้นนายฐานพัฒน์ฯ จึงได้เดินทางไปติดต่อพระครูใบฎีกาอนันท์ เขมานนโท เจ้าอาวาสวัดห้วยตะแกละ เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อวัด เพื่อเสนอของบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด

นายวสวัตติ์ฯ ได้จัดทำบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวด ผ่านนางสาวประนอมฯ เสนอต่อนายนพรัตน์ฯ หลังจากนั้นนายนพรัตน์ฯ ได้อนุมัติเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัดห้วยตะแกละ ทั้งที่ไม่ได้มีการจัดทำแบบขอรับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด พร้อมแนบภาพถ่ายอาคารเสนาสนะที่จะบูรณะหรือก่อสร้าง และภาพถ่ายบริเวณวัด เพื่อขอรับเงินแต่อย่างใด และมีการอนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดห้วยตะแกละจำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,500,000 บาท

ภายหลังจากที่ได้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดห้วยตะแกละในแต่ละครั้งแล้ว นายวสวัตติ์ฯ หรือนางสาวรัสรินฯ จะโทรศัพท์แจ้งให้นายฐานพัฒน์ฯ ทราบว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีวัดห้วยตะแกละแล้ว พร้อมกับแจ้งยอดเงินโดยให้ถวายวัด รวม 3 ครั้งเป็นเงินจำนวน 900,000 บาท ที่เหลือจำนวน 7,600,000 บาท จะนำไปมอบให้นายวสวัตติ์ฯ เมื่อนายวสวัตติ์ฯ ได้รับเงินจากนายฐานพัฒน์ฯ จำนวนดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการมอบเงินให้แก่นายฐานพัฒน์ฯ รวม 3 ครั้งจำนวน 250,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อนายวสวัตติ์ฯ ได้รับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดคืนจากวัดห้วยตะแกละดังกล่าวแล้วได้นำไปมอบให้แก่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ หรือ นางประนอม คงพิกุล

ต่อมาเมื่อปี 2557 ก็ดำเนินการแบบเดียวกับปี 2556 โดยปีนี้นายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้อนุมัติวัดห้วยตะแกละจำนวน 4,000,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินเข้าบัญชีชื่อบัญชีกองทุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม วัดห้วยตะแกละ จำนวน 3,999,970 บาท (หักค่าธรรมเนียม 30 บาท) โดยให้ถวายวัดจำนวน 500,000 บาท ที่เหลือจำนวน 3,500,000 บาท จะนำไปมอบให้นายวสวัตติ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อนายวสวัตติ์ฯ ได้รับเงินจากนายฐานพัฒน์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จำนวนดังกล่าวแล้ว ได้มอบเงินให้แก่ นายฐานพัฒน์ฯ จำนวน 200,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ และนำเงินที่ได้รับดังกล่าวนำไปมอบให้แก่นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับความเสียหาย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,500,000 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติเกี่ยวกับการคดีทุจริตเงินทอนวัดทั้ง 5 แห่งมีรายละเอียดดังนี้

1.กรณีวัดโคกเลาะ ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์,นายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ , นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 85 (1) (7) และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 นอกจากนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ยังมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 151 และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ นายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ด้วย

2. กรณีวัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ วัดยางโองสันกลาง ตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ นายพนม ศรศิลป์ นายชยพล พงษ์สีดา นายฉัตรชัย ชูเชื้อ และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามมาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1)(2)(3) มาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1)(4)

สำหรับนายบรรหาร เมตไตรพันธุ์ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และพระครูกิตติพัชรคุณ มีมูลความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว

3.กรณีวัดห้วยตะแกละ ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์,นางสาวประนอม คงพิกุล,นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ และนายพนม ศรศิลป์ มีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1),(2),(3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1),(4) และมีมูลความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 นอกจากนั้น นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ยังมีมูลความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ด้วย

สำหรับนางสาว รัสริน หรือระวีวรรณ หรือรสธร รวมสิน หรือกิตติธีระสิทธิ์ และนายฐานพัฒน์ ม่วงทอง มีมูลความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว

เตรียมตั้งอนุไต่สวนฯส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เดือน เม.ย.นี้

ส่วนความคืบหน้ากรณีของการตรวจสอบ ส.ส.เสียบบัตรแทนกันในช่วงที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 นั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. รวบรวมข้อมูลรายละเอียดของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 คนว่าใครเสียบบัตรลงคะแนนเสียงแทนใครให้ชัดเจนก่อน คาดว่าจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับประเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยป.ป.ช.จะบรรจุเรื่องนี้เป็น 1 ใน 15 คดีสำคัญของป.ป.ช.ที่ต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

อนึ่ง การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด