ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้อนาคตโลกซับซ้อน-เทคโนโลยี่พัฒนารวดเร็ว เร่งสร้างทักษะคนรู้เท่าทัน เน้นBig Data ดำเนินนโยบายบนข้อมูลเชิงลึก

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้อนาคตโลกซับซ้อน-เทคโนโลยี่พัฒนารวดเร็ว เร่งสร้างทักษะคนรู้เท่าทัน เน้นBig Data ดำเนินนโยบายบนข้อมูลเชิงลึก

26 ธันวาคม 2017


(จากซ้ายไปขวา)นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร,นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร, ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย,นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ร่วมกันแถลงข่าว

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงผลงานของ ธปท. ในปี 2560 และทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2560-2562 ถือว่าเป็นปีแห่งการวางรากฐาน โดยช่วงปี 2560 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของ ธปท. ไม่ว่าจะเป็น 1) ประชาชน มีช่องทางโอนเงินที่คล่องตัวและต้นทุนถูกลงอย่างระบบ “พร้อมเพย์”, มีช่องทางการจัดการหนี้มีปัญหาผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในระบบการเงิน, ในแง่ของความเป็นธรรม ประชาชนมีช่องทางร้องเรียนและได้รับความเป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันทางการเงินมากขึ้น จากสถิติการร้องเรียนการให้บริการทางการเงินที่น้อยลง และสุดท้ายเงินฝากในสถาบันการเงินมีความมั่นคงมากขึ้น

2) ภาคธุรกิจ รวมไปถึงระดับเอสเอ็มอี ได้รับประโยชน์จากต้นทุนการโอนเงินที่ถูกลง, ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารมีโอกาสให้บริการการเงินในระบบมากขึ้น, การทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศสะดวกขึ้น จากการปรับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการปริวรรตเงินตราใหม่ทั้งหมด และเอสเอ็มอีมีเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น อย่างโครงการสนับสนุนการใช้ออปชันตามมติของคณะรัฐมนตรี

3) สถาบันการเงิน มีต้นทุนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศถูกลง โดยเฉพาะงานเอกสาร, ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนการบริหารเงินสดที่ลดลง จากยอดการเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็มที่คงที่มาหลายเดือนที่ผ่านมา จากเดิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น, มีการเปิดช่องทางให้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้บริการทางการเงินผ่าน Regulatory Sandbox และมีเครือข่ายร่วมป้องกันภัยไซเบอร์ระหว่างกัน, สร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะการตกลงใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระเงินร่วมกันกับหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งใช้ทั้ง 2 ประเทศสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น และสุดท้ายมีการออกกลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็งขึ้นสอดคล้องกับความเสี่ยง

4) ผู้วางนโยบายและระบบเศรษฐกิจโดยรวม สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ, มีนโยบายที่สอดประสานกันระหว่างหน่วยงาน, มีการทำนโยบายอยู่บนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอย่างรอบด้าน (Evidence Based Policy) และมีเวทีรับฟังความเห็นของนักวิชาการต่างๆ

5) สื่อมวลชน ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงง่ายและทันการณ์ รวมทั้งมีบทศึกษาและวิจัยที่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ

“แต่ถ้ามองไปในอนาคต เราต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก อย่างที่เรียนตั้งแต่ต้นว่าปี 2560 เป็นปีแรกของการทำงานตามแผนปฏิบัติงาน 3 ปี ถ้ามองไปข้างหน้าก็มีหลายเรื่องที่เราจะต้องทำต่อ และมีหลายเรื่องที่เราต้องทำมากกว่าเดิมมาก การจะทำให้แผนการทำงานประสบความสำเร็จก็มีปัจจัยอยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกคือยกระดับบุคลากรให้มีทักษะความรู้เท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรื่องของ 5 พฤติกรรมหลัก เป็นเรื่องสำคัญ ได้แก่ มีหลักการ รู้ลึกคิดไกล เปิดใจ คล่องตัวทันการณ์ และมุ่งผลสำเร็จ ระบบไอทีก็ต้องประสิทธิภาพสูง เราต้องเผชิญกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การยกระดับหลายๆ ระบบก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานของเราแทบทุกระบบ เช่นเดียวกับภัยของไซเบอร์ หลายเรื่องที่เราทำก็ให้ความสำคัญ กระบวนการทำงานเราต้องมีการกระชับและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คล่องตัวทันการณ์ได้”

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่าที่ผ่านมากระบวนการเราเป็นขั้นเป็นตอนค่อนข้างมาก แต่ในโลกยุคใหม่ที่รวดเร็วจำเป็นอย่างยิ่งที่กระบวนการทำงานต้องกระชับ เรื่องข้อมูลเป็นเรื่องที่เราจะให้ความสำคัญต่อเนื่อง วันนี้มีหลายฐานข้อมูลใหม่ๆ ที่กำลังจัดทำและนำมาวิเคราะห์ติดตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจให้สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญต้องนำมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วย เรื่องงานวิจัยจึงสำคัญ ธปท. เป็นผู้กำหนดนโยบาย ให้ทิศทางกับกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราต้องคิดนำหน้าได้ และสุดท้าย เราไม่สามารถทำได้เพียงหน่วยงานเดียว การประสานงานเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดร.วิรไทกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561ว่า ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์เศรษฐกิจเป็น 3.9% ขณะที่แรงส่งของปีหน้ามาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศดีไปด้วย ในด้านการท่องเที่ยวยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากและมีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศเริ่มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากช่วงกลางปีที่ผ่านมาที่เห็นตัวเลขส่งออกดีขึ้น แต่ปัจจัยในประเทศไม่มีการฟื้นตัวชัดเจน การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยโครงสร้างกดดันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดแรงงานหรือหนี้ภาคครัวเรือน ดังนั้นอาจจะไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนัก ขณะที่ด้านการลงทุนภาคเอกชนได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้น ธปท. เห็นการขยายกำลังการผลิตในหลายธุรกิจและเชื่อว่าในปีหน้าจะมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่จะมีความชัดเจนมาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความท้าทายและความเสี่ยงของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจยังมีอยู่ 3 ประเด็น 1) ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง เนื่อจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรและหนี้ครัวเรือนยังคงกดดันไม่ให้กำลังซื้อได้รวดเร็ว ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีและตะวันออกกลาง ปัญหาการกีดกันการค้าซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศได้ อาจจะทำให้การฟื้นตัวของบางภูมิภาคไม่สามารถเป็นไปด้วยดีอย่างที่คาด และสุดท้าย การปรับนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักกลับไปสู่ระดับปกติยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม แม้ว่าจะมีการให้สัญญาณเตือนล่วงหน้าและไม่ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนมาก แต่ยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากโลกที่ผ่านมาพึ่งพาสภาพคล่องที่ล้นตลาดมานาน การปรับดอกเบี้ยกลับสู่ปกติก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

2) ความเสี่ยงที่มาจากเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายรูปแบบธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปและใครที่ปรับตัวได้อย่างไม่เท่าทันก็จะมีปัญหา การสร้างภูมิคุ้มกันกับระบบการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการรับมือภัยไซเบอร์ต่างๆ และสุดท้ายคือประเด็นเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น

3) ความเสี่ยงจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการเข้าถึงของกลุ่มคนต่างๆ จะไม่เท่ากัน ผู้ที่มีระดับการศึกษาหรือรายได้เป็นข้อจำกัดก็จะเข้าถึงได้ยาก ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะเข้าถึงได้เร็วกว่า ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันแตกต่างกันและทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นได้ ในส่วนของ ธปท. จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึงและเป็นธรรมเป็นโจทย์ที่สำคัญ รวมไปถึงการได้รับความรู้ทางการเงินอย่างเท่าทันและเท่าเทียม

ปรับนโยบายการเงินใช้ข้อมูลจุลภาคเชิงลึก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับภารกิจด้านนโยบายการเงิน ต้องยอมรับว่ามีความยากมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายประการ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลมหภาคอาจไม่เพียงพอจะตอบโจทย์และจำเป็นต้องใช้ข้อมูลระดับจุลภาค ภารกิจในระยะต่อไป ธปท. จะต้องค้นหาและใช้ข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น โดยมีการจัดต้ังกลุ่มงานวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytic ในช่วงปีที่ผ่านมา และหลายเรื่องได้นำมาใช้ในการประชุม กนง. แล้ว นอกจากข้อมูลจุลภาคแล้ว ธปท. จะต้องนำข้อมูลจากผู้ประกอบการและข้อมูลจากสำนักงานภาคต่างๆ ซึ่งบางครั้งจะไม่ปรากฏในข้อมูลมหภาคและช่วยให้ ธปท. เห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้น สำหรับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินจะยังคงใช้หลักการ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลาม” ผ่านการยกระบดับกรอบความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลในระบบการเงิน โดยจะเน้นทดสอบความทนทานของระบบการเงินไทยทั้งระบบ และคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงิน ตลาดการเงิน และภาคเศรษฐกิจด้วย

กำกับสถาบันการเงินอย่างเท่าทัน-ตามมาตรฐานสากล

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า รูปแบบการให้บริการของสถาบันการเงินเริ่มเปลี่ยนแปลงหลากหลายไปและมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น ในการกำกับดูแลจะต้องปรับตัวให้เท่าทัน ต้องเข้าใจวัฒนธรรมสถาบันการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเข้าไปศึกษาผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ทั้งแบบสอบถามและการออกไปสัมภาษณ์ เพื่อให้ ธปท. เข้าใจสถาบันการเงินมากขึ้นและเท่าทันมากขึ้น นอกจากนี้ ในฐานะผู้ตรวจสอบ ธปท. จะหันมาใช้ข้อมูลและเครื่องมือที่พร้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น รวมทั้งการส่งผู้ตรวจสอบออกไปอบรมในประเด็นต่างๆ และสุดท้ายจะจัดทำแผนฟื้นฟูและการตอบสนองภัยไซเบอร์ต่างๆ รวมทั้งสร้างความร่วมมือและความรู้ต่างๆ นอกเหนือไปจากการมีระบบตรวจสอบหรือตรวจจับที่ดีแล้ว

นอกจากนี้ ในปี 2561 ประเทศไทยจะเข้ารับการประเมินภาคการเงินจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Financial Sector Assessment Program (FSAP) ซึ่งจะเข้ามาประเมินระบบการเงินของไทยในหลายมิติ โดยในส่วนของ ธปท. จะดูแลเกี่ยวกับเรื่องสถาบันการเงินและการชำระเงิน 3 ด้าน ได้แก่ เสถียรภาพของระบบการเงิน การกำกับระบบการเงิน และกลไกการคุ้มครองภาคการเงิน ซึ่งจะทำให้นานาชาติให้การยอมรับมากขึ้น

สำหรับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. จะแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ การกำกับดูแลที่เข้มแข็งผ่านการมีเกณฑ์ที่เป็นองค์รวม มีอำนาจชัดเจน และบังคับใช้ได้จริง, สถาบันการเงินจะต้องมีระบบที่เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงิน และประชาชนจะสามารถรู้สิทธิของตนเองและเลือกใช้บริการได้ โดยปัจจุบัน ธปท. กำลังจัดทำตารางเปรียบเทียบข้อมูลที่ประชาชนควรจะรับทราบระหว่างธนาคาร เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยคุ้มครองประชาชนในเบื้องต้น

ในด้านการพัฒนาระบบการเงินและการชำระเงิน ธปท. ยังคงเปิดกว้างสำหรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ผ่าน regulatory Sandbox ต่อไป โดยพยายามดึงสถาบันการเงินรูปแบบต่างๆ เข้าร่วมมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนามาตรฐานที่สำคัญต่างๆ เช่น Standard API และระบบ Biometrics เป็นต้น นอกจากนี้ จะจัดงาน FinTech Fair 2018 เพื่อแสดงศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในไทย สุดท้าย ธปท. จะสนุบสนุนการใช้งาน e-Payment ผ่านบริการต่างๆ มากขึ้น เช่น มาตรา QR Code ของบัตรเครดิต การบริการต่อยอดระบบพร้อมเพย์อย่างบริการ Bill Payment และระบบ Request to Pay นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการร่างแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 (ปี 2561-2563) โดยจะเน้นไปใน 5 ประเด็น ได้แก่ สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและการใช้ e-Payment, การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน, โครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงิน, สร้างเสถียรภาพและความปลอดภัยของระบบ และการนำข้อมูลการชำระเงินต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาระบบ

จัดทัพใหม่ เพิ่มความยืดหยุ่นขององค์กร

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. กล่าวว่า สำหรับระบบบริหารภายในองค์กรในปีหน้าจะผลักดันให้เกิดความคล่องตัวหรือ Agility มากขึ้น เริ่มต้นจากพัฒนาระบบข้อมลให้มีความพร้อมสนับสนุนกระบวนการทำงานใหม่ๆ มีการจัดทัพรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ โดยให้อำนาจสายงานต่างๆ สามารถจัดตั้งทีมทำงานด้วยตนเองและสามารถตอบสนองโจทย์ใหม่ๆ ได้ ในแง่กระบวนการทำงานจะลดลำดับขั้นตอนลงและเน้นให้ตอบโจทย์การทำงานด้านต่างๆ มากขึ้น และสุดท้ายในเรื่องของระบบงานจะเน้นการนำระบบไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกระดับขององค์กร นอกจากนี้ ธปท. จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านวิจัย โดยเชื่อมต่องานวิจัยกับนโยบายเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งผนึกเครือข่ายนักวิชาการและการสื่อสารเชิงรุก ตัวอย่างความยืดหยุ่นของการจัดทัพบุคลากรที่ ธปท. ได้เริ่มนำมาปฏิบัติคือระบบ Internal Job Merket สำหรับพนักงานที่ทำงานมา 1 ปีจะสามารถยื่นความต้องการที่จะย้ายตำแหน่งไปยังสายงานต่างๆ ได้ ซึ่งช่วยให้พนักงานได้ทำงานที่หลากหลายและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการเลื่อนขั้นตำแหน่งต่างๆ ในอนาคต

เชื่อมโยงระบบการเงินในภูมิภาค รับเจ้าภาพอาเซียนปี 2562

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ในแง่ของความเชื่อมโยงระบบการเงินในภูมิภาค ธปท. จะเพิ่มการใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศมากขึ้น ขยายจำนวนธนาคารและประเภทธุรกรรมและขยายขอบเขตไปยังอินโดนีเซีย ลาว และเร่งเจรจากับญี่ปุ่น จีน กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแผนงานผลักดันการเจรจา Qualified ASEAN Banks เพื่อเพิ่มบทบาทธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับบทบาทของไทยในเวทีวิชาการระหว่างประเทศ ผ่านการร่วมจัดสัมมนาและเตรียมการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปี 2562 เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่จะร่วมกันงานสัมมนา The Future of Finance ร่วมกับ Milken Institute และในเดือนสิงหาคมร่วมจัดสัมมนา Innovation Finance for Future Growth ร่วมกับ ADB Institute และในเดือนตุลาคมจัดงานสัมมนา Structural Transformation and the New World Implications for Central Banking ร่วมกับ OMFF และในปี 2562 ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน