ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อคิดการเมืองจาก The Last Jedi: ล้างไพ่ หรือวังวนเดิม?

ข้อคิดการเมืองจาก The Last Jedi: ล้างไพ่ หรือวังวนเดิม?

26 ธันวาคม 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร

ที่มาภาพ : http://www.starwars.com/films/star-wars-episode-viii-the-last-jedi

บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์…

ผมเคยได้ยินมานานแล้วว่า คนในโลกอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ คนที่ชอบสตาร์วอร์ส กับคนที่เฉยๆ กับสตาร์วอร์ส

แต่สำหรับสตาร์วอร์สภาคใหม่ ดูท่าจะแบ่งคนเป็นสองฝ่ายสุดขั้ว คือ คนที่นิยมชมชอบว่านี่เป็นหนังสตาร์วอร์สที่ดีที่สุด กับคนที่รับไม่ได้จนถึงกับเกลียดไปเลย

ที่ประหลาดขึ้นไปอีกก็คือ แม้ในกลุ่มนักวิจารณ์เอง ก็พบว่ามีความเห็นสองแนวทางที่แตกต่างกันมาก พวกหนึ่งเห็นว่าภาคนี้สุดยอดมาก เป็นการล้างไพ่อดีตเสียหมด ฉีกทิ้งขนบโครงเรื่องเดิมไม่เหลือ ส่วนอีกพวกหนึ่งกลับเห็นว่า หนังน่าผิดหวัง ตอนจบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่มีภาคนี้ก็ไม่กระทบอะไร คนที่ไม่ได้ดูภาคนี้ กลับมาดูภาคต่อไปก็รู้เรื่องแน่นอน เพราะฝ่ายคนดีก็ยังเป็นฝ่ายคนดี ฝ่ายคนร้ายก็ยังเป็นฝ่ายคนร้าย ไม่มีการย้ายข้างหรือพลิกโผให้ช็อกหัวใจวาย ดังเช่นสตาร์วอร์สแต่ละภาคในอดีต

ประเด็นว่าล้างไพ่หรือวังวนเดิมนี่น่าคิดนะครับ ตลอดเวลาในหนัง เราจะเห็นความพยายามของตัวละครที่จะล้างไพ่เดิมทิ้งให้หมด ลบอดีตเก่า เพื่อเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเบน, ลุค, หรือเรย์ เบนต้องการล้างผู้เล่นเดิมและเริ่มสร้างจักรวรรดิใหม่, ลุคอยากจะเผาวิหารเจไดและคัมภีร์ทิ้ง, เรย์เองก็พยายามลบอดีตและพื้นเพเดิมของตน

เอาเข้าจริง คนเราลบอดีตตัวเองได้ไหม? สังคมลบประวัติศาสตร์เดิมได้ไหม? ถ้าเราล้างไพ่ทำลายล้างของเดิมลงทั้งหมดได้จริง ผลจะเป็นอย่างไร? เราสามารถเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ หรือสุดท้ายเราอาจติดในวังวนเดิมอยู่ดี?

เบนชักชวนเรย์ให้มาเริ่มต้นกันใหม่ มาสร้างจักรวรรดิครองจักรวาลด้วยกัน แต่ใครดูก็รู้ว่า มันก็อีหรอบเดิมไม่ใช่หรือ? ก็เป็นเผด็จการเช่นเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ได้จอมเผด็จการคนใหม่ชื่อเบน

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลุคหลบหนีไปปลีกวิเวก เพราะความพยายามต่อสู้กับอธรรมของเขาในอดีต สุดท้ายก็กลับมาอีหรอบเดิม ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า “pointless” เขาเคยรบฝ่าฟันจนล้มจักรวรรดิเดิมได้ แต่สุดท้ายก็ยังเกิดจักรวรรดิใหม่ พลังมืดกลับมาครองจักรวาลอีก ไม่ใช่ว่ามีชัยเหนืออธรรมแล้วจะเกิดสันติสุขนิรันดร

ลุคเคยพยายามสอนศิษย์หลาน สุดท้ายศิษย์หลานกลับถูกด้านมืดเข้าครอบงำ ความพยายามทั้งชีวิตมลายสูญสิ้น ยังมีความหมายหลงเหลืออีกหรือ?

ในหนังเรื่องนี้ เราได้พบเห็นคนหลากหลายประเภท คนที่ยังมีไฟลุกโชน เช่น เรย์และโพ, คนที่หมดไฟ เช่น ลุค ไม่รู้จะสู้ไปทำไม เมื่อสุดท้ายโลกก็กลับมาอีหรอบเดิม ทั้งเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวังวนเดิมด้วย, คนที่กะล่อน ไม่เลือกข้าง เพราะมองโลกเป็นสีเทา เช่น นักถอดรหัสในเรื่องที่พร้อมทรยศทุกเมื่อเพื่อเอาตัวรอด

ในมุมหนึ่ง หนังสะท้อนความสุดขั้วของคนหนุ่มและคนแก่ คนหนุ่มยังคงบ้าบิ่น ต้องการล้างไพ่เก่าเพื่อจะเริ่มต้นวาดอนาคตใหม่ ส่วนคนแก่หลบไปซ่อนเร้นในป่า จะลงแรงเหน็ดเหนื่อยไปเพื่ออะไร ในเมื่อความฝันถึงโลกพระศรีอาริย์ไม่เคยเป็นจริง ล้ม “ความชั่ว” หนึ่ง ก็ยังมีอีก “ความชั่วหนึ่ง” ล้ม “ทรราชย์” คนหนึ่ง ก็ยังมี “ทรราชย์คนใหม่”

ส่วนหนึ่งของหนังเหมือนจะเยาะเย้ยเราว่า สำหรับคนที่รักอุดมคติและการต่อสู้เพื่อพลังด้านสว่าง ท่านต่อสู้ไปเพื่ออะไร? ยิ่งหากจุดหมายปลายทางอาจคือความล้มเหลวดังเดิม

คำตอบแนวหนึ่งของมาสเตอร์โยดาก็คือ เราต่อสู้เพื่อจุดคบไฟ และส่งต่อคบไฟนี้จากรุ่นสู่รุ่น งานหรืออุดมคติของเราอาจไม่เสร็จในช่วงชีวิตเรา แต่ก็อาจเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับหน้าที่และพยายามทำให้ดีกว่าเรา ดังคำพูดของมาสเตอร์โยดาที่ว่า “ความล้มเหลวเป็นบทเรียน” และ “ศิษย์ต้องไปไกลกว่าครู” เมื่อมองเช่นนี้ ความพยายามที่ล้มเหลวจึงไม่เคย pointless

ในขณะเดียวกัน หนังก็เตือนสติเราด้วยว่า การล้างไพ่ไม่ใช่คำตอบเสมอไป การมุ่งทำลายล้างศัตรูอย่างบ้าเลือด ดังเช่นแนวทางการต่อสู้แบบกามิกาเซ่ของโพ อาจสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก คำพูดของโรสในตอนท้ายของเรื่องว่า “ชัยชนะไม่ใช่การทำลายล้างสิ่งที่เราเกลียด แต่คือการรักษาสิ่งที่เรารัก” จึงเป็นปรัชญาการต่อสู้ทางการเมืองที่ลึกซึ้งมาก

การมุ่งทำลายล้างสิ่งที่เราเกลียด โดยมองว่าฉันเป็นฮีโร่ นอกจากเพิ่มความโก้และเท่ให้ตัวเองแล้ว กลับไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะที่ถาวรยั่งยืน การต่อสู้หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงควรต้องทำอย่างมีสติ ความรับผิดชอบ มีกลยุทธ์ระยะยาว และความอดทน

ไม่ใช่หวังว่าล้างทักษิณ ทุกอย่างจะจบ หรือล้มชนชั้นนำ ประชาธิปไตยจะเบ่งบานทันที ล้างทักษิณก็มามีรัฐประหาร ล้มยิ่งลักษณ์ก็พา คสช. ออกมาอีก ล้มชนชั้นนำหนึ่งก็กลับได้ทุนใหม่มายึด จนไม่แน่ใจว่าอะไรดีกว่าแย่กว่าอะไร? มันล้างไพ่จริงหรือกลับมาวังวนเดิมกันแน่? (ขออภัยที่สลับเรื่องเร็วไปนิด)

ในหนังสตาร์วอร์ส เวลาพูดถึงประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวแทนของด้านสว่าง จะใช้คำว่า ความสมดุล (Balance) ส่วนเวลาพูดถึงเผด็จการ จะใช้คำว่า ความเป็นระเบียบเรียบร้อย (Order) ในหนังภาคนี้ เบนชวนเรย์มาล้างไพ่เก่าทิ้งให้หมด และร่วมสร้าง Order ใหม่ให้แก่จักรวาล แต่นั่นเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาหรือ?

ภายใต้ความมืด เราต้องการนักต่อสู้ที่จุดคบไฟ ให้แสง ให้ทาง ให้แรงใจแก่คนรุ่นใหม่ ช่วยกันรักษาสิ่งและคุณค่าที่เรารัก แต่เราเริ่มไม่แน่ใจเมื่อต่างฝ่ายต่างใช้ไฟเผาทำลายล้างกันเพื่อประโยชน์ตน หากการต่อสู้ทางการเมืองของผู้ใหญ่เป็นไปอย่างขาดความรับผิดชอบ ขาดกลยุทธ์ และสุดท้ายมีแต่หวนกลับมาที่วังวนเดิม ก็อย่าแปลกใจที่คนหนุ่มสาวที่เคยมีอุดมคติอาจกลายมาเป็นคนกะล่อน ไม่เหลือหลักการ หรืออาจกลายมาเป็นตาแก่ไร้น้ำยา ผิดหวังและปิดตัวเองจากพลัง

เขาบอกให้ดูละครแล้วย้อนดูตัว ในยามว่าง เราต่างก็น่าจะคอยสำรวจตัวเองบ้างว่า เริ่มคล้ายๆ ตัวละครคนไหนในสตาร์วอร์ส?