ThaiPublica > คอลัมน์ > ฉงชิ่ง vs. กว่างตง: โมเดลไหนเป็นอนาคตของจีน?

ฉงชิ่ง vs. กว่างตง: โมเดลไหนเป็นอนาคตของจีน?

24 กุมภาพันธ์ 2018


อาร์ม ตั้งนิรันดร

มหานครฉงชิ่ง ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a1/Chongqing_Sunset.jpg

หลายคนมักชอบพูดถึงการพัฒนาแบบจีน หรือโมเดลจีน (The China Model) ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนาในแนวเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่จริงๆ แล้วรูปแบบการพัฒนาภายในจีนเองก็มีความหลากหลาย และไม่ได้มีเพียงโมเดลเดียว

จุดเด่นอย่างหนึ่งของจีนก็คือ มีการเปิดให้พื้นที่ต่างๆ ทดลองทางนโยบายและปรับใช้รูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่ ผลก็คือ ได้เกิดโมเดลการพัฒนาภายในจีนที่แตกต่างกันและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง 2 โมเดล ได้แก่ ฉงชิ่งโมเดล และกว่างตงโมเดล

ฉงชิ่งโมเดล vs. กว่างตงโมเดล

รูปแบบการพัฒนาของมหานครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคตอนในของจีน ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสมัยที่ป๋อ ซีไหล เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครฉงชิ่ง ในช่วง ค.ศ. 2007-2012 (ก่อนที่ป๋อ ซีไหล จะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา เพราะความขัดแย้งทางการเมือง)

ในด้านเศรษฐกิจ ฉงชิ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาโดยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลท้องถิ่น และพยายามกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผลกำไรของรัฐวิสาหกิจกลับสู่คนยากจนในสังคม โดยมีการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกจำนวนมหาศาลให้คนงานและคนที่มีรายได้น้อยในฉงชิ่ง และยังมีนโยบายที่ผ่อนคลายให้คนนอกท้องที่เข้ามาทำงานในฉงชิ่งได้ง่ายขึ้น

ในด้านการเมือง ในสมัยที่ป๋อ ซีไหล คุมบังเหียนมหานครฉงชิ่ง ได้เน้นปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม มีการส่งเสริมให้มีการร้องเพลงปลุกใจและส่งเสริมอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น ยังมีนโยบายปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลและมาเฟียในท้องถิ่นครั้งมโหฬาร

ส่วนรูปแบบการพัฒนาของมณฑลกว่างตง ซึ่งเป็นมณฑลเศรษฐกิจที่สำคัญและมีความเจริญในระดับแถวหน้าของจีน ก็ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นนโยบายที่แตกต่างจากฉงชิ่งโมเดลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสมัยที่หวางหยางเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกว่างตง ในช่วง ค.ศ. 2007-2012 (ช่วงเดียวกับที่ป๋อ ซีไหล ดำรงตำแหน่งที่ฉงชิ่ง)

ในด้านเศรษฐกิจ กว่างตงเน้นส่งเสริม SMEs ส่งเสริมภาคเอกชน และเน้นการยกระดับเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม โดยพยายามย้ายโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นและมีเทคโนโลยีต่ำไปยังพื้นที่อื่น และส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมทุนเข้มข้นและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ในทางนโยบาย กว่างตงเน้นส่งเสริมการแข่งขันและกลไกตลาด เพื่อขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ กว่างตงมีการบังคับนโยบายทะเบียนครัวเรือนอย่างเข้มงวด (ห้ามคนต่างถิ่นเข้ามาทำงาน เพราะไม่ต้องการแรงงานราคาถูกอีกต่อไป) และไม่มีนโยบายสวัสดิการจากรัฐที่เด่นชัดอย่างในฉงชิ่ง

ในด้านการเมือง กลับพบว่ามณฑลกว่างตงมีนโยบายเปิดและผ่อนคลายกว่าพื้นที่อื่นในจีน โดยอนุญาตให้ NGO และภาคประชาชนทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้มากกว่าในพื้นที่อื่น นอกจากนั้น ยังผ่อนคลายให้มีการรวมกลุ่มแรงงานเพื่อพิทักษ์สิทธิแรงงานและต่อรองค่าจ้างได้ โดยหวางหยางมองว่า เรื่องสวัสดิการสังคมควรส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ของภาคประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐจะมาลงมือทำเองเหมือนอย่างในฉงชิ่ง

ข้อถกเถียงเรื่องฉงชิ่งโมเดลและกว่างตงโมเดลได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสังคมจีนในช่วง ค.ศ. 2007-2012 ซึ่งเป็นช่วงที่ป๋อ ซีไหล บริหารฉงชิ่ง และหวางหยางบริหารกว่างตงในทิศทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าในช่วงเวลาต่อมา หลังจากที่สี จิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน ข่าวทางการของรัฐจะหลีกเลี่ยงการเรียกชื่อฉงชิ่งโมเดลหรือกว่างตงโมเดล แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ยังเห็นว่า รูปแบบการพัฒนาของทั้งสองพื้นที่ยังคงแตกต่างกันอยู่ โดยผู้บริหารฉงชิ่งในช่วงต่อมาก็ยังให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการและส่งเสริมรัฐวิสาหกิจของฉงชิ่ง ส่วนผู้บริหารกว่างตงในช่วงต่อมาก็ยังเน้นส่งเสริมภาคเอกชนและผ่อนคลายเรื่องการเมือง

นอกจากนั้น ในวงวิชาการจีนในปัจจุบัน คำว่า “ฉงชิ่งโมเดล” และ “กว่างตงโมเดล” ก็ยังคงใช้ในการถกเถียงเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาที่พึงปรารถนาสำหรับสังคมจีน

ซ้ายกับขวาในวงวิชาการจีน

กว่างตงโมเดล ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/32/Guangzhou_dusk_panorama.jpg

ในวงวิชาการจีนมักเปรียบเทียบว่า “ฉงชิ่งโมเดล” และ “กว่างตงโมเดล” เป็นการถกเถียงเรื่องการแบ่งเค้ก โดยหากเปรียบเค้กเป็นความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ฝ่ายที่สนับสนุนฉงชิ่งโมเดลมักเห็นว่า รัฐต้องเข้ามาจัดการให้มีการแบ่งเค้ก เพื่อกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่คนยากจนในสังคม ด้วยการส่งเสริมการสร้างรัฐสวัสดิการ ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนกว่างตงโมเดลกลับเห็นว่า เป้าหมายแรกของการพัฒนาต้องพยายามทำให้เค้กขยายใหญ่ที่สุดก่อนด้วยการส่งเสริมกลไกตลาด โดยมองการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง

ฉงชิ่งโมเดลและกว่างตงโมเดลสะท้อนความแตกต่างระหว่างนักวิชาการชั้นนำสองค่ายในจีน โดยนักวิชาการหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย หรือที่เรียกว่ากลุ่ม New Left ในจีน มักนิยมชมชอบฉงชิ่งโมเดล โดยต้องการให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ภาพฝันของกลุ่มนี้ คือ สิงคโปร์ และในด้านเศรษฐกิจ ยังฝันต่อถึงรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย อย่างนโยบายที่ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยให้คนยากจน ก็เป็นนโยบายสวัสดิการที่มีชื่อเสียงของเกาะสิงคโปร์

ส่วนนักวิชาการหัวก้าวหน้าในกลุ่มเสรีนิยม หรือกลุ่ม Liberal ในจีน มักนิยมชมชอบกว่างตงโมเดล โดยต้องการลดบทบาทของรัฐ และส่งเสริมกลไกตลาด ส่งเสริมภาคเอกชนและการแข่งขัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ และขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ส่วนในทางการเมือง ก็ต้องการประชาธิปไตย ความโปร่งใส การส่งเสริมบทบาทของ NGO และภาคประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองสิทธิ ภาพฝันของกลุ่มนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกา

โมเดลไหนจะเป็นอนาคตของจีน?

ภายหลังจากที่สี จิ้นผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในช่วงปี ค.ศ. 2012 ก็มีการกวาดล้างกลุ่มของป๋อ ซีไหล ในฉงชิ่ง ส่วนหวางหยางจากมณฑลกว่างตงกลับมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยขึ้นมารับตำแหน่งรองนายกฯ ของจีน (และในปัจจุบันก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น 1 ใน 7 กรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย) ทำให้หลายฝ่ายเคยมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของฉงชิ่งโมเดล

อย่างไรก็ตาม นโยบายของสี จิ้นผิง ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านการเมือง กลับมีความใกล้เคียงกับฉงชิ่งโมเดลเป็นอย่างมาก คือเน้นส่งเสริมอุดมการณ์ความรักชาติ การนำโดยพรรค ความศรัทธาในตัวผู้นำ และให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบเรียบร้อย นอกจากนั้น สี จิ้นผิง ยังมีนโยบายปราบคอร์รัปชันครั้งมโหฬาร ซึ่งก็มีการใช้แนวทางนอกกฎหมายและเน้นผลสำเร็จของการปราบปรามมากกว่าการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งไม่แตกต่างจากนโยบายปราบมาเฟียและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นของฉงชิ่งเลย

ในด้านเศรษฐกิจ จีนก็ยังพยายามรักษาสมดุลระหว่าง “การขยายก้อนเค้ก” และ “การกระจายก้อนเค้ก” มีการปรับใช้นโยบายทั้งจากฉงชิ่งโมเดลและกว่างตงโมเดลอย่างยืดหยุ่น โดยในพื้นที่ที่มีระดับการพัฒนาสูง มักใช้นโยบายที่ใกล้เคียงกับกว่างตงโมเดล คือ เน้นการยกระดับเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ในมณฑลตอนในที่ยังมีระดับการพัฒนาที่ต่ำ ก็เน้นนโยบายที่ใกล้เคียงกับฉงชิ่งโมเดล คือ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น การพัฒนาชนบท และการดูแลสวัสดิการของแรงงาน เช่น ในเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับแรงงานที่ย้ายเข้าเมืองเหล่านี้

เรื่องของ “ฉงชิ่งโมเดล” กับ “กว่างตงโมเดล” สะท้อนความหลากหลายของนโยบายในจีน และการส่งเสริมการทดลองทางนโยบายในแต่ละพื้นที่ เรามักเข้าใจว่าจีนเป็นเผด็จการที่มีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนแนวทางเดียวสอดคล้องกันทั้งประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในพื้นที่ต่างๆ ของจีนมีการใช้เครื่องมือทางนโยบายที่หลากหลายและแตกต่างกัน และแม้ในวงวิชาการเองก็มีการถกเถียงระหว่างกลุ่มนักวิชาการหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายและขวาในจีนอยู่ตลอดเกี่ยวกับทิศทางที่เหมาะสมของประเทศ

ผู้นำท้องถิ่นของจีนมีบทบาทมากในการทดลองทางนโยบาย และหากนโยบายใดใช้ได้ผลหรือผู้นำในส่วนกลางสนใจ ก็อาจนำมาปรับใช้ในวงกว้างขึ้น ดังที่สี จิ้นผิง ปรับใช้วิธีการทางการเมืองหลายอย่างของป๋อ ซีไหล ขณะเดียวกัน นโยบายของจีนในวันนี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามความคิดของผู้นำ และตามระดับการพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป มีหลายคนมองว่า กว่างตงโมเดลมีความเหมาะสมกับมณฑลกว่างตง เพราะเป็นมณฑลที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ประชาชนมีระดับการศึกษาดี และมีวัฒนธรรมเสรีนิยมกว่าในพื้นที่อื่น ดังนั้น หากในอนาคต ประเทศจีนโดยรวมมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำที่มีแนวคิดเสรีนิยม ก็ไม่แน่ว่าจะมีการกลับหลังหันจากทิศทางอำนาจนิยมของสี จิ้นผิง มาใช้นโยบายเสรีนิยม ให้พื้นที่กับ NGO กลุ่มแรงงาน และภาคประชาชน ดังที่หวางหยางเคยทำมาแล้วในมณฑลกว่างตง

ในภาพใหญ่ ทั้งฉงชิ่งโมเดลและกว่างตงโมเดลล้วนสะท้อนเอกลักษณ์การปกครองของจีน นั่นคือ เน้นรักษาเสถียรภาพในสังคม (แม้จะใช้วิธีแตกต่างกัน) เน้นรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเน้นส่งเสริมการทดลองทางนโยบายในแต่ละพื้นที่