ThaiPublica > เกาะกระแส > Uber เปิดผลวิจัย “Unlocking Bangkok” ชี้ “ต้นทุนรถติด” คนกรุงเทพเวลาหาย 24 วันต่อปี – คนมีรถเสียรายได้ 157,000 บาทต่อคนต่อปี

Uber เปิดผลวิจัย “Unlocking Bangkok” ชี้ “ต้นทุนรถติด” คนกรุงเทพเวลาหาย 24 วันต่อปี – คนมีรถเสียรายได้ 157,000 บาทต่อคนต่อปี

8 พฤศจิกายน 2017


นางศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท Uber ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 บริษัท Uber ประเทศไทย ผู้ให้บริการร่วมเดินทาง (Ridesharing)เผยผลสำรวจพบแนวโน้มปัญหาการจราจรติดขัดในหลายๆ เมืองในภูมิภาคอาเซียนเลวร้ายลงทุกปี โดยกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรติดขัดที่มากที่สุดในภูมิภาค ตามมาด้วยจาการ์ตา มะนิลา ฮานอย และกัวลาลัมเปอร์

นางศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท Uber ประเทศไทย กล่าวว่าถึงผลสำรวจล่าสุดของ Uber และบริษัท Boston Consulting Group ระบุว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มีปัญหาทั้งรถติดและที่จอดรถไม่เพียงพอเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉลี่ยจะเสียเวลาถึง 72 นาทีต่อวันกับปัญหารถติด และอีก 24 นาทีกับปัญหาหาที่จอดรถ หรือรวมกันกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน หรือ 24 วันต่อปี

สิ่งที่ตามมาจากเวลาที่หายไปในแง่ของต้นทุนทางเศรษฐกิจ รายได้ของคนที่ขับรถในกรุงเทพจะหายไปโดยเฉลี่ย 157,000 บาทต่อคนต่อปี และในภาพรวมจากการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) พบว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจจะคิดเป็น 2.5% ของจีดีพีของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ในด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเอเชียกว่า 80% มาจากการเดินทาง เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ระดับเพียง 31% ซึ่งหลายประเทศในโลกตะวันตกยังถือว่ามากเกินไป

นางศิริภา กล่าวต่อไปว่าถึงแม้ปัจจุบันโลกมีการใช้รถรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านคัน  แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับอยู่ที่” การใช้รถ” มิใช่ “จำนวนรถ” โดยกรณีของกรุงเทพ งานศึกษาระบุว่ามีจำนวนรถที่ใช้งานในปัจจุบันกว่า 5.8 ล้านคัน หรือคิดเป็น 160% ของจำนวนรถที่ควรจะมีในท้องถนน แต่การใช้งานรถของคนเฉลี่ยกลับมีเพียง 2.1 คนต่อคัน เทียบกับจำนวนความจุของรถยนต์ทั่วไปที่ประมาณ 4-6 คน ซึ่งถือว่าน้อยและยังไม่ได้รวมกรณีที่รถจอดอยู่เฉยๆในระหว่างวันโดยไม่ได้ถูกใช้งานอีก

ดังนั้น บริการร่วมเดินทางจะมาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ โดยบริการร่วมเดินทางของ Uber จะเน้นไปที่ 2 กลไกหลัก 1) Driver Destination หรือการกำหนดจุดหมายปลายทางระหว่างผู้ขับรถและผู้เดินทาง โดยอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยจับคู่อย่างมีประสิทธิภาพหากใช้เส้นทางเดียวกัน สอดคล้องกับเมืองอย่างกรุงเทพที่คนส่วนใหญ่อยู่นอกเมืองและต้องเดินทางเข้ามาในเมือง 2) UberPool ซึ่งช่วยปรับปรุงเส้นทางให้สามารถรับคนที่อยู่ในเส้นทางใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้นและลดจำนวนการใช้รถลงให้มากที่สุด

ทั้งนี้ หากการใช้งานบริการร่วมเดินทางมีอย่างกว้างขวางจากกลไกดังกล่าวคาดว่าจะลดจำนวนรถได้ประมาณ 60% หรือ 3.5 ล้านคันในแต่ละวัน ซึ่งอีกด้านหนึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่จอดรถเทียบเท่ากับสวนลุมพินีกว่า 275 สวน นอกจากนี้ จากผลสำรวจการใช้บริการดังกล่าวยังช่วยเพิ่มอัตราการใช้งานของ “ระบบขนส่งสาธารณะ” ของคนในเมืองด้วยอีกทางหนึ่ง

นางสาวมาเรียม จาฟฟาร์ หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ The Boston Consulting Group (BCG) สิงคโปร์ กล่าวถึงงานศึกษาดังกล่าวว่าไม่ใช่เพียงการศึกษาเกี่ยวกับด้านบริการร่วมเดินทาง แต่เกี่ยวเนื่องไปถึงผู้คน การใช้ชีวิต และการเดินทางของคนในเมืองต่างๆ ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าอุปสงค์ของการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลต่างๆ แม้ว่าจะเติบโตขึ้น แต่ยังไม่เร็วพอที่จะรองรับการเติบโตของเมืองและความต้องการเดินทางได้ ผลที่ตามมาคือความแออัดของการจราจรโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด้วยที่ต้องเพิ่มขึ้นแทน อย่างของกรุงเทพพบกว่าเพิ่มขึ้น 105% หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากที่ควรจะเป็น

คำถามต่อไปคือแนวทางการแก้ไขจะทำอย่างไร? นางสาวมาเรียม กล่าวต่อว่าสามารถแบ่งได้ 2 แนวทาง 1) ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินกว่า 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นของไทยประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 700,000 ล้านบาท 2) ให้มาใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Better use of what you have) ผลการศึกษาระบุว่าบริการร่วมเดินทางจะมีจำนวนคนที่เดินทางต่อกิโลเมตรต่อคันต่อปีมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่า 2 เท่า และตรงนี้สะท้อนว่าเทคโนโลยีสามารถชนะได้ แนวคิดของการร่วมบริการไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม แต่กลับมีประสิทธิภาพมากกว่า

นางสาวมาเรียม จาฟฟาร์ หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ The Boston Consulting Group (BCG) สิงคโปร์

จากงานศึกษา นางสาวมาเรียมได้สรุปประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้บริการร่วมเดินทางไว้ 5 ประการ

    1) วิถีชีวิตที่ต้องการใช้รถน้อยลง โดยพบกว่ารวม 10-40% ของผู้ที่จะซื้อรถใน 10 เมืองยินดีที่จะใช้บริการนี้ร่วมเดินทางแทนการซื้อรถ
    2) จำนวนผู้โดยสารต่อยานพาหนะมากขึ้น โดยเฉลี่ยถึง 1.7 เท่า
    3) การใช้งานยานพาหนะต่อกิโลเมตรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    4) เสริมการทำงานของระบบขนส่งสาธารณะ ตัวอย่างเช่นในบางเมืองของสหรัฐที่ 40% ของผู้ใช้บริการจะหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
    5) เสริมประสิทธิภาพเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยในบางเขตของสหรัฐอเมริกาพบว่ารัฐบาลเลือกที่จะหันมาร่วมมือกับการบริการรูปแบบใหม่ก่อน แทนที่จะตัดสินใจลงทุนในทันที