ThaiPublica > คนในข่าว > “เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา” อูเบอร์ แชร์ประสบการณ์ “ธุรกิจร่วมเดินทาง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

“เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา” อูเบอร์ แชร์ประสบการณ์ “ธุรกิจร่วมเดินทาง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

1 กันยายน 2017


เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบายเอเชียแปซิฟิก อูเบอร์

ประเทศไทยประกาศวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมสนับสนุน startups เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการกำหนดกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางแนวทางดำเนินงานออกเป็นกลุ่มอย่างชัดเจน

หนึ่งในกลไกสำคัญแห่งการขับเคลื่อนนโยบายคือ Digital Startup หรือ Tech Startup เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์นวัตกรรมมาทำให้เกิดสินค้าและบริการ สร้างธุรกิจที่จะมีส่วนในการพัฒนาประเทศเพราะ Startups หรือบริษัทเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูงจะเปลี่ยนรูปแบบจากธุรกิจแบบเดิมๆ มูลค่าค่อนข้างน้อยไปสู่ธุรกิจใหม่ที่จะสร้างมูลค่าสูงให้กับระบบเศรษฐกิจได้

ก่อนหน้านี้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เคยกล่าวตอนหนึ่งว่า “เรื่องเทคโนโลยีก้าวกระโดดถือเป็นความท้าทาย และเป็นสิ่งจำเป็นที่วงการกฎหมายจะต้องมีความเป็นธรรมในการคุ้มครองทั้งผู้ที่เข้ามาใหม่และผู้ประกอบการเดิมอย่างเหมาะสม กฎหมาย กฎ ระเบียบ รวมทั้งนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ จะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นที่มาของความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้”

ดังนั้นภายใต้หลักเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) มองว่า Regulatory Sandbox คือ สนามทดลองสำหรับการสร้างนวัตกรรม เช่น FinTech สตาร์ทอัปและอื่นๆ เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากขีดจำกัดและกฎระเบียบต่างๆ โดยจำกัดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะมีกับระบบเดิม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์และทางออกใหม่ๆ โดยยึดหลักนิติธรรมที่มีหลักประกันในการลดความเหลื่อมล้ำของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสังคมส่วนรวม

ต่อกรณี “อูเบอร์” (Uber) บริษัทสตาร์ทอัป รุ่นแรกๆ ของโลกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือเพื่อเรียกรถรับส่งในรูปแบบการเดินทางที่เรียกว่า “ระบบการร่วมเดินทาง” หรือ “Ride Sharing” ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ ได้พยายามขยายพื้นที่บริการไปยังหลายประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทย

ตลอด 3 ปีที่อูเบอร์เข้ามาดำเนินธุรกิจในเมืองไทย มีผู้โดยสารและผู้ร่วมขับต้องการจะใช้เทคโนโลยีและบริการของอูเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังติดปัญหาใหญ่คือการไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนจากภาครัฐ

“เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา” ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและนโยบายเอเชียแปซิฟิก อูเบอร์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับ “ไทยพับลิก้า” ถึงปัญหา อุปสรรค โอกาส ความท้าทายของธุรกิจ Ride Sharing ของอูเบอร์ทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย ในหลายประเด็นที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

ไทยพับลิก้า : ทำไมอูเบอร์ถึงเลือกเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

ถ้าเราเริ่มต้นจากปรัชญาของการขยายกิจการของอูเบอร์ จุดเริ่มต้นคือต้องมองถึงประเทศที่อาจมีความต้องการ หรือมีความขาดในเชิงของวิธีที่คนทั่วไปเคลื่อนไหวหรือขนส่ง ตรงนี้เรามองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เมืองหลวงใหญ่ มีจำนวนคนที่อาศัยอยู่มาก และช่องทางในการที่คนเดินทางได้มีจำกัด

นอกจากนี้ก็เป็นประเทศที่ระบบของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีขยายค่อนข้างเร็ว ไปทั่วถึง ในแง่ของระบบ 3G หรือ 4G การที่คนจะสามารถพึ่งพาระบบอย่าง GPS ในการที่จะเดินทางอย่างสะดวกสบาย รวมไปถึงพฤติกรรมของการใช้สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชัน และรูปแบบการบริการที่เรียกเป็น On-Demand หมายความว่าเรากดปุ๊บ การบริการมาปั๊บ เป็นสิ่งที่ทันทีทันใจ

นอกจากนี้ก็ยังมีการนิยมซื้อขายออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การที่จะมีการเปิดแอปพลิเคชันที่เริ่มต้นด้วยการชำระผ่านบัตรเครดิตด้วยการไม่ได้ใช้เงินสด เป็นจุดของการเริ่มต้นที่มั่นใจได้ว่าคนไทยก็พร้อมในแง่ของโครงสร้างในแง่ที่เป็นโลกออฟไลน์ กับโครงสร้างและพฤติกรรมที่เป็นโลกออนไลน์

3 ปีที่ผ่านมาเรามองว่า ในเชิงของธุรกิจที่ดำเนินในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่เราเห็นโดยตลอดคือคนที่เป็นผู้โดยสารและคนที่เป็นผู้ร่วมขับ มีความตั้งใจและต้องการที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีของอูเบอร์โดยตลอด

ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับทีมงานของเราทุกวันพบว่า คนบางกลุ่มขาดทางเลือกในการที่จะสร้างรายได้ ผู้โดยสารที่พึ่งพาอูเบอร์ขาดทางเลือกในการที่จะเดินทางถึงจุดหมายปลายทางของเขาด้วยรถที่เขาพึ่งพาได้ ที่เขารู้สึกปลอดภัย ที่เขามั่นใจในราคา และที่เขามั่นใจว่า ไม่ว่าจะกี่โมง ไปที่ไหน ก็จะมีคนที่อยู่เคียงข้างเขา ตรงนี้เป็นสิ่งที่ถึงแม้ว่าอูเบอร์ไม่อยู่ในประเทศไทย ก็มั่นใจว่าปัญหาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่คนจะพูดถึง

แต่ทำไมเราถึงเข้ามาได้ เพราะเทคโนโลยีที่เรานำเข้ามาเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ สามารถเป็นวิธีแก้ไข โดยที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการที่จะไขว่คว้าโอกาส นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา และมีตัวอย่างที่ชัดเจนได้ว่าโลกที่เคลื่อนไหวในรูปแบบที่ต่างกันจากรูปแบบเดิมเป็นอย่างไรบ้าง

เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา

ไทยพับลิก้า : พอเข้ามาแล้วเจอปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

จริงๆ ถ้าคุยกันเรื่องปัญหาหรืออุปสรรค อาจจะต้องถอยนิดนึงแล้วบอกว่า ชีวิตของคนที่ทำงานในบริษัทสตาร์ทอัปก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคบ้าง เพราะว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในเชิงของการนำนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้ามา ก็ต้องเจอบางคนที่ อันนี้คืออะไร จะดีเหรอ แล้วจะใช้ยังไง จะปรับตัวยังไงเพื่อให้มีช่องให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาได้

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปกติ แต่อุปสรรคแบบนั้นเป็นสิ่งที่เรามองว่าธรรมดานะคะ ก็ควรจะมีความพยายามแล้วข้ามจุดนั้นไปให้ได้ จุดเริ่มต้นในทุกประเทศที่เราจะเข้ามา คือต้องการที่จะให้ความรู้ ให้ความเข้าใจมากขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า รูปแบบธุรกิจของเราคืออะไร เทคโนโลยีของเราทำงานอย่างไร แล้วคุณประโยชน์ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยู่สามารถที่จะรองรับจากเทคโนโลยีของเราเป็นอย่างไรบ้าง และช่วยประเทศ ช่วยสังคม ช่วยเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง

จริงๆ หน้าที่ในการที่จะให้ความรู้ ให้ข้อมูล และให้ตัวอย่าง เป็นสิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะว่าเทคโนโลยีของเราไม่หยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่ต้องมีการขยาย ต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เราเข้ามาประเทศไทย ก็ยังมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของเราไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร หรือจะเป็นการคุยผ่านสื่อมวลชนทั่วไป เพื่อให้คนมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเขา

ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับผู้ร่วมขับ คนที่ต้องการจะมีทางเลือกมากขึ้นในการสร้างรายได้เสริม หรือคุยกับหน่วยงานของภาครัฐให้เขาเข้าใจถึงเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเทคโนโลยี เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนไทย ตรงนี้ในแง่อุปสรรค แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องอาศัยเวลาในการที่จะให้คนเข้าใจถึงสิ่งที่ถือว่าใหม่

ต้องไม่ลืมว่า 8 ปีที่แล้วอูเบอร์ไม่มีตัวตนในโลกเลย ซึ่งตรงนี้เราคุยกันว่าเป็นสตาร์ทอัปที่มีชื่อเสียง อาจบอกว่าหนึ่งในกลุ่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกก็พูดได้

ตอนนี้อูเบอร์ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก 600 กว่าเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานก็มีความภาคภูมิใจที่เราสามารถขยายไปทั่วทั้งโลก เพราะว่าเรากำลังตอบความต้องการของคน และเรามั่นใจว่าในเมืองไทยก็มีความต้องการพอสมควรที่เทคโนโลยีของเรายังไปไม่ถึง เราถึงมีความตั้งใจที่จะข้ามอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้

สำหรับทีมงานในประเทศไทย เรามีการเข้าหารือปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เอมี่ทำงานในอูเบอร์มาประมาณปีครึ่ง ตั้งแต่สัปดาห์หรือสองสัปดาห์แรกที่มาทำงานที่นี่ ก็มีการเข้ามาในเมืองไทย เพื่อจะเข้าไปพบกับผู้ใหญ่

ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่มีความตั้งใจที่จะทำอยู่แล้ว เราเข้าไปเสนอข้อมูล เราเข้าไปเสนอรายงาน เรามีการแนะนำรูปแบบการดำเนินธุรกิจของเรา ไม่ใช่แค่เพียงในเมืองไทย แต่ทั่วโลก และทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แล้วยังมีตัวอย่างรูปแบบของกฎหมายที่สามารถออกแบบได้ และรองรับรูปแบบของระบบการร่วมเดินทาง หรือที่เรียกว่า “Ride Sharing” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเข้าใจว่าเป็นสิ่งใหม่ แต่ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นอุปสรรค เพราะไม่ว่าที่ไหนที่เราดำเนินธุรกิจ เราเจอตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ส่วนมากกฎหมายที่มีอยู่ ไม่ว่าเราคุยกันเรื่องของอุตสาหกรรมอะไร มักจะไม่ทันกับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามา

เพราะนวัตกรรม แน่นอนอยู่แล้ว ก็ทำงานเร็วกว่าสิ่งที่เราร่างออกมาเป็นรูปแบบของโครงสร้าง เพราะฉะนั้นต้องมีการพูดคุยกัน ต้องมีการเสนอแนะ ต้องมีการอ้อนวอน ว่าทำยังไงให้สิ่งที่เรามองว่าเป็นประโยชน์ เข้ามาถึงมือของทุกคนให้เร็วที่สุด ในรูปแบบที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลามากที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะขอเริ่มต้นเพราะเป็นประเด็นที่สำคัญ อูเบอร์ต้องการที่จะทำงานภายใต้กฎหมาย และมีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่มีกฎหมายปกครองอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่ากฎหมายปัจจุบัน อย่างที่เคยเอ่ยมาหลายรอบแล้ว เป็นกฎหมายที่ไม่มีการเอ่ยถึงสมาร์ทโฟน แอปพลิเคชัน หรือเทคโนโลยีที่เป็นหลักการของธุรกิจของเรา

ถ้าหากว่าเราคุยกันเรื่องของรูปแบบกฎหมายขนส่งทั่วไป แน่นอนอยู่แล้วเป็นสิ่งที่สร้างพื้นฐานที่มั่นคงมาโดยตลอด แต่ในยุคปัจจุบันนี้นอกจากความต้องการของคนไทยเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน และเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในมือ ก็ถือว่าพัฒนาเร็วขึ้น มากขึ้น ดีขึ้น เราควรจะมีการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ทันสมัยกับสิ่งที่คนไทยกำลังเรียกร้องอยู่

ตรงนี้เป็นสิ่งที่มองว่า น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถทำงานร่วมกันให้เร็วกว่าที่เรากำลังทำอยู่ แต่เราต้องการที่จะให้ทุกฝ่ายของหน่วยงานรัฐบาลเข้าหากัน และมีความตั้งใจในการที่จะก้าวหน้าไปด้วยกัน

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ในแง่ของความคืบหน้า เดินหน้าไปถึงไหน

ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือปรึกษากัน ซึ่งตรงนี้อาจบอกว่าอูเบอร์มีความตั้งใจที่จะให้งานนี้ออกมาให้เร็วขึ้น แต่ความพยายามที่เราเจออยู่ก็อาจจะมีความคาดหวังว่าจะได้อะไรที่เร็วกว่านี้หรือมากกว่านี้

ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ที่เราเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อ “อูเบอร์โมโต”(Uber MOTO) ซึ่งจริงๆ จะบอกว่าควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เป็นผลิตภัณฑ์สองล้ออันดับแรกของโลก ของอูเบอร์ และเลือกประเทศไทยเป็นตลาดที่จะบุกเบิก

แต่เพียงแค่ไม่กี่เดือนก็ต้องระงับใช้ชั่วคราว เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลมองว่าไม่สอดคล้องกับรูปดั้งเดิมและกฎหมายเดิมๆ ที่เขามีอยู่ ถึงแม้ว่าอย่างที่เอ่ยถึง กฎหมายที่พูดถึงไม่มีคุยอะไรเกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟน แอปพลิเคชัน หรือเทคโนโลยี และคนที่กำลังเรียกใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารหรือผู้ร่วมขับ ก็มีความตั้งใจว่าสิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ชีวิตของเขา และเขาต้องการที่จะให้เรามีการขยายบริการด้วยซ้ำ

ตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงเมษายนปีที่แล้ว ก็เข้าไปคุย ก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อจะทำงานพิจารณากฎหมาย เพียงแต่ว่าคณะกรรมการนี้ที่เริ่มต้นด้วยความหวังสูง พบกันเพียงครั้งเดียวในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ก็มีการเข้าไปคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมขนส่ง คุยกับศาสตราจารย์อาวุโสที่มีความรู้ที่สามารถนำวิธีคิดและเสนอแนะได้ มีการเข้าไปคุยกับท่านผู้ใหญ่ที่อยู่ในสำนักนายกฯ

เกือบทุกคนที่คุยก็มีการส่งเสียงเดียวกันว่า เห็นว่าเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่อยากให้เข้ามาในเมืองไทย เห็นว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะชี้แจงให้คนเห็นว่าประเทศไทยพร้อมที่จะรองรับอยู่

แต่พอเราคุยกันเรื่องของกฎหมาย เป็นสิ่งที่ขยับช้ามาก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกว่า อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลก แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในมือที่เราสามารถที่จะเปลี่ยนได้ ถ้าหากว่ามีความตั้งใจ

เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าปัญหาใหญ่คือเรื่องกฎหมาย

คือในสายตาของอูเบอร์ จริงๆ จะบอกว่าในสายตาของบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัปที่ถือว่ากำลังนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมเดิมๆ เหตุผลที่เราคุยกันเรื่องกฎหมายเป็นหลัก เป็นเพราะว่ากฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันนี้ไม่คุ้มครองสิ่งที่เราทำ แล้วการที่มีความตั้งใจที่จะอยู่ภายใต้กฎหมาย หมายความว่ามี 2 ทางเลือก “กฎหมายต้องถูกขยาย” หรือ “กฎหมายต้องถูกร่างใหม่”

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พร้อมจะลงมือทำ ทีมของอูเบอร์ในประเทศไทย รวมถึงทีมของอูเบอร์ต่างประเทศประจำภูมิภาค และในสำนักงานระดับโลกก็มีการเสนอแนะตัวอย่าง มีตัวอย่างที่ชัดเจนด้วยนะคะ เพราะว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็ไปด้วยกันกับอูเบอร์แล้วในเชิงของกฎหมายที่รองรับระบบการร่วมเดินทางอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และตอนนี้พม่ากับกัมพูชาก็ยังก้าวไกลกว่า

เป็นสิ่งที่เรามองว่าเมืองไทยมีโอกาส ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องล้าหลังกว่าใคร แล้วเทคโนโลยีนี้สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ของทุกคนในทุกๆ วัน ใครที่รู้สึกว่าทำไมชีวิตเราต้องยึดอยู่กับรถติด เทคโนโลยีเป็นตัวที่แก้ไขได้ คุณถามว่าทำไมเราถึงเลือกเมืองไทย เพราะว่าเรามั่นใจว่าเทคโนโลยีของเราสามารถสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้คนไทยได้

ไทยพับลิก้า : ทราบมาว่าได้ยื่นจดหมายในเรื่องของกฎหมายไปแล้ว หมายความว่าอูเบอร์ร่างเองใช่ไหม

มีทั้งตัวอย่างของการเสนอแนะว่าขอความพิจารณา กับตัวอย่างที่ว่ามีแบบอย่างของประเทศอื่นที่เสนอแนะ มีตัวอย่างของหลายรูปแบบ ทั้งที่อูเบอร์เป็นคนร่าง กับที่เราเสนอแนะเป็นปรัชญาหรือเป็นหลักการของการร่างเพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ลองไปพิจารณาและร่างเอง

รูปแบบที่อูเบอร์ทำงานกับหน่วยงานของภาครัฐประเทศอื่นจะมีหลายรูปแบบ รวมถึงทั้งที่ว่าเราอาจจะนั่งในสำนักงานและร่างด้วยกัน การที่ภาครัฐจะร่างและเสนอแนะให้กับภาคประชาชนให้มาโหวตว่าเขายินดี ยินยอมหรือไม่

อูเบอร์ในประเทศไทยก็มีการระดมเสียงของคนไทยในการที่ให้เขาลงนามเป็น Petition Online ผ่าน Change.org ซึ่งตรงนี้เราเห็นชัดเจนว่าจำนวนของคนไทยที่กำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย ตอนนี้เลย 5 หมื่นกว่าคนแล้ว ซึ่งถ้าดูตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติต้องการเพียงแค่หนึ่งหมื่นกว่าชื่อ

ตรงนี้เราพยายามที่จะชี้แนะในรูปแบบที่เข้าหา พร้อมทำงาน และมีการแสดงความเคารพ แต่ในขณะเดียวกันเรามีความรู้สึกว่า เราอาจต้องการที่จะขอการทำงานเร็วขึ้น เพราะว่า 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นชัดเจนว่าประเทศเพื่อนบ้านก้าวไกลกว่าเมืองไทยในแง่การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

ถ้าสมมติว่าเราไม่ได้คุยกันเรื่องของอูเบอร์อย่างเดียว เราถอยมาคุยกันเรื่องรูปแบบของสตาร์ทอัป ของการนำนวัตกรรมเข้ามาเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเราคุยกันเรื่องของวิสัยทัศน์ที่เราเห็น ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังพูดถึง ที่เป็นเรื่องของ Industrial Revolution 4.0 หรือจะเป็นเศรษฐกิจ 4.0

ตรงนี้เป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนว่าเทคโนโลยีต้องเป็น “หลักการ” ถ้าหากขาดวิธีคิดและวิธีทำงานที่ทันสมัยที่สุด เราจะไม่มีโอกาสที่จะแข่งขันอย่างแท้จริง แล้วตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ว่า คนไทยพร้อมที่จะใช้สิ่งที่เขามีอยู่ในมือ เช่น รถยนต์ส่วนตัว แล้วเขาพร้อมที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนหมู่มาก เพียงแต่ขอเครื่องมือในการทำ

ทำไมอูเบอร์ถึงขยายให้เร็วที่สุดอย่างที่เราเป็นอยู่ทั่วโลก เพราะว่าไม่ใช่แค่ว่าเราตอบโจทย์ความต้องการของคน เราสร้างวิธีที่เขาสามารถลงมือทำเอง มีอำนาจในการควบคุมชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเองได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหนก็มีความตั้งใจที่อยากจะให้ชีวิต ให้คุณภาพชีวิตของคนไทยก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

เรามั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ปรับได้ ไปด้วยกันได้ เพียงแต่ว่าเราอาจต้องการที่จะเห็นการชี้แนะที่ชัดเจนว่า ถ้าหากขาดข้อมูลจากอูเบอร์ มีความยินดีอยู่แล้ว แต่ว่าเรามีความมั่นใจว่าเรามีการให้ และให้ และให้อีก เราพร้อมที่จะนำคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเข้ามา

เราพร้อมที่จะต้อนรับในสำนักงานใหญ่ภูมิภาคหรือสำนักงานของโลกได้ อย่างในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีตัวแทนที่เดินทางไป เพื่อจะไปพบและหารือกันได้

แต่ตรงนี้ก็อาจจะต้องการที่จะแสดงให้เห็นที่ชัดเจนกว่านี้ว่า เราไปด้วยกันได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่ว่าขอพิจารณาอีกทีหนึ่ง เพราะช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีการหารือกัน คุยกันว่าไปด้วยกันกับรถที่เป็นแท็กซี่ได้อย่างไร

นอกจากนี้อูเบอร์ได้มีการเสนอแนะรูปแบบของการทำผลวิจัย ซึ่งได้รับการตอบรับ แต่ยังไม่ลงมือทำ เป็นระยะเวลา 4-5 เดือนแล้ว เราก็ยังมีการเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ให้แท็กซี่อยู่บนแอปพลิเคชันของอูเบอร์ได้แล้ว เปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ตรงนี้เราเป็นฝ่ายให้ เรามองว่าเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ ไม่ได้มองว่ามันเป็นเหตุผลที่ต้องขัดแย้งกัน

ไทยพับลิก้า: ในประเทศอื่นๆ ที่บอกว่ายอมรับได้เร็วกว่าเมืองไทย รูปแบบการเข้าไป รวมทั้งกฎหมายเป็นอย่างไร

ส่วนมากสิ่งที่เราเจอในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบขนส่งจะมี 2 สาย 1. ขนส่งส่วนบุคคล กับ 2. ขนส่งที่เป็นรถสาธารณะ เหตุผลที่ระบบร่วมเดินทางมักจะเจอว่ายังไม่มีกฎหมายที่รองรับอยู่ เป็นเพราะว่าอยู่ระหว่างสองสายนี้ คือเป็นรถส่วนบุคคลที่ถูกใช้เป็นประโยชน์ต่อขนส่งสาธารณะ โดยที่คนที่เป็นเจ้าของรถไม่มีความตั้งใจที่จะเป็นคนขับมืออาชีพตลอดเวลา ต้องการที่จะใช้รถเป็นรถส่วนตัวนอกเวลาที่เขาไม่ได้ให้บริการกับคนผ่านแอปพลิเคชันของเรา

แล้วคนที่เป็นผู้โดยสารก็ทำงานโดยที่เขาสมัครใจในแง่ของการที่เขากดเรียก ข้อมูลก็อยู่ในมือของเขา เขาตัดสินใจว่าไปหรือไม่ ราคานี้เหมาะหรือไม่ เวลานี้เขาจะสะดวกหรือไม่ ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ แต่มันมีวิธีในการขยายหรือสร้างเป็นประเภทที่ 3 เพื่อจะรองรับโดยเฉพาะ

ถ้ายกตัวอย่างของสิงคโปร์ ใช้เวลาไม่ถึงปี ในการที่เราเข้าไปแล้วเขาสามารถที่จะยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยที่ภาครัฐมีการให้คำกล่าวออกมาชัดเจน เขามองว่าเทคโนโลยีนี้มีบทบาทในเศรษฐกิจ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาบางอย่างของสังคม ในเชิงขนาดของประเทศเล็ก แต่เป็นประเทศที่ต้องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อจะตอบโจทย์ปัญหาของทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่

แล้วก็มีการแนะนำว่าจะมีการสร้างอะไรที่แสดงถึงความต่างกันกับรถสาธารณะโดยชัดเจน ถ้าหากว่าคุณจะเรียกอูเบอร์ในประเทศสิงคโปร์ คุณจะเห็นว่ามีสติกเกอร์เล็กๆ ที่ติดหน้าและหลังของรถ แล้วคนที่ขับอยู่ก็ถือใบขับขี่ทั่วไป รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นเหมือนกันกับมาตรฐานที่เราตั้งในประเทศไทย ว่ามีใบขับขี่ที่ไม่ได้หมดอายุ ไม่มีประวัติในการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ไม่มีประวัติในแง่ของอาชญากรรมและในแง่ของการเมาแล้วขับ นอกจากนี้ยังต้องแสดงให้เห็นว่ารถก็ได้รับการคุ้มครองด้วยประกัน การที่แสดงให้เห็น 3-4 อย่างนี้ก็ครบส่วน พอยื่นแล้ว ก็จดทะเบียนเรียบร้อย สามารถนำรถของตัวเองไปใช้ได้เลย

ส่วนมาเลเซียก็อยู่ระหว่างการกำลังออกแบบในแง่ของการติดสติกเกอร์ หรือจะเป็นใบขับขี่เฉพาะ ซึ่งเป็นการที่ยอมรับว่า ระบบร่วมเดินทางต่างจากรถสาธารณะและรถส่วนตัว ทำไมถึงบอกว่าต่างกัน ยกตัวอย่างคนที่ขับรถแท็กซี่ เขาอาจจะทำงาน 12 ชั่วโมง 15 ชั่วโมง 16 ชั่วโมงหรือ 20 ชั่วโมง เป็นกะต่อวัน รถของเขาอยู่บนท้องถนนตลอด วิ่ง วิ่ง วิ่ง และถูกใช้อยู่

แต่คนที่ขับรถส่วนตัวเพื่อจะรองรับความต้องการของคนจำนวนมาก ส่วนมากคนที่ขับผ่านแอปพลิเคชันของอูเบอร์ เขาแค่เปิดในช่วงเวลาที่เขาสะดวก และในเวลาที่เขาไม่ต้องการขับก็ปิด นั่นหมายความว่ารถอยู่บนท้องถนนเฉพาะในเวลาที่สามารถใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นั่นหมายความว่า แทนที่จะเป็น 1 คนต่อ 1 คัน สามารถเป็น 2 คน 3 คน หรือ 4 คน ซึ่งอันนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่เราไม่เจอผ่านรถสาธารณะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะคุยกันเรื่องของรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือรถแท็กซี่

ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่ว่ารถสาธารณะไม่มีบทบาท มีแน่นอน แต่สิ่งที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ถ้าหากว่าสิ่งที่มีอยู่เพียงพอและสวยงามครบทุกส่วน เราจะไม่มีบทบาทในการที่อูเบอร์เข้ามา แล้วคนไทยเรียกร้องให้เราขยายกิจการ เรามองเห็นตลอดเวลาว่าคนขาดวิธีเดินทางกลับบ้าน ขาดรถที่ยินยอม ขาดที่จะพาคนไป

ถ้าสมมติเราคุยกันเรื่องของประเทศอื่น ก็ยังมีตัวอย่างที่ว่าสร้างใบขับขี่เฉพาะ เป็นใบขับขี่ของคนที่ให้ระบบร่วมเดินทาง ส่วนมากจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแบบนี้ เป็นการยอมรับว่าเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างแท้จริง การที่ยืนยันเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย

ส่วนมากเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลยอมรับว่าอูเบอร์มีมาตรฐานที่ค่อนข้างจะเข้มแข็ง และเป็นมาตรฐานที่เราใช้ทั่วโลก เพราะว่าคนที่ขับไม่ได้เป็นคนขับมืออาชีพ เราไม่ได้ต้องการที่จะบังคับให้เขาเป็นคนขับมืออาชีพ ก็ยินดีที่จะให้เขาตั้งมาตรฐานที่ชัดเจน แล้วพอเขาสามารถที่จะดำเนินการตามมาตรฐานนั้น ก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมเขาจะไม่สามารถให้บริการเหล่านี้ได้

ไทยพับลิก้า : กรณีประเทศเวียดนาม หรือกัมพูชา เป็นอย่างไรบ้าง

ของเวียดนามตอนนี้ รัฐบาลมีการเปิดโครงการที่เรียกว่าเป็นโครงการทดลอง ซึ่งก็ทดลองมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี แล้วก็ให้ใช้ระบบร่วมเดินทางอย่างแท้จริงตามรูปแบบของธุรกิจของเราเป็นหลัก แล้วเขาก็มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อคนที่เป็นผู้ร่วมขับ คนที่เป็นผู้ร่วมนั่ง ต่อเศรษฐกิจในแง่ว่ามีการกระตุ้นจีดีพีของประเทศ แล้วก็ยังมีการคุยกันเรื่องของการยกมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งด้วย

อันนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ขอผลวิจัยจากการที่เป็นทฤษฎี เขาต้องการที่จะพิจารณาโดยที่เขาสัมผัสถึงความเป็นจริงของการบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายินดีอยู่แล้ว เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบทดลองตรงนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว

นอกจากนี้มีสิ่งที่ชัดเจนด้วยว่า คนที่ถืออำนาจสูงสุด นายกรัฐมนตรีของประเทศเวียดนามมีการให้คำกล่าวที่ชัดเจนว่า เขาต้องการให้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศ “สตาร์ทอัปเนชั่น” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำกล่าว เขากำลังปูพื้นทั้งในแง่ของกฎหมาย ในแง่ระบบภาษี ในแง่ของระบบการลงทุน การที่จะดึงดูดให้คนต่างชาติมาลงทุนมากขึ้นในประเทศของเขา เขาต้องการให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

เมื่อคุยกับหน่วยงานที่เป็นกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศเวียดนาม คำกล่าวของนายกฯ เป็นสิ่งที่สามารถเปิดช่องทางให้เราอย่างชัดเจน เพราะเขาเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

อูเบอร์ยังมีโอกาสเข้าไปพบกับท่านที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา แล้วก็มีการเสนอข้อมูลเพิ่มเติม แล้วเราก็เจอว่าท่านนายกฯ เวียดนามเป็นคนใจดี มีความตั้งใจในการที่จะพยายามนำนวัตกรรมเข้ามา ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะก้าวไกลในเชิงของการใช้เทคโนโลยี และการพัฒนาระบบสตาร์ทอัป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการศึกษาหรือในแง่ของภาคเอกชนว่าพยายามที่จะสร้างชุมชนที่ชัดเจน

ถ้าของกัมพูชาหรือพม่า จะบอกว่าเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้น อาจจะบอกว่าเป็นตลาดที่กำลังเกิดใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ แต่ผู้ใหญ่ก็เห็นถึงโอกาส ผู้ใหญ่มองว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องรอคอย แล้วเขาก็ไขว่คว้าโอกาสในการที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ และสร้างกฎหมายโดยที่ยังไม่มีกฎหมายอะไรเลย

อย่างรถแท็กซี่ที่พม่าก่อนที่อูเบอร์เข้ามา ไม่ได้มีกฎหมายอะไรที่เขาจะดำเนินภายใต้กฎหมายเหล่านั้น ไม่มีมาตรฐานในแง่ของความปลอดภัย ยกตัวอย่างว่ารถแท็กซี่ที่พม่ามีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 17 ปี เป็นรถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย

การที่อูเบอร์เข้ามา ไม่ใช่แค่ว่าเราเปิดช่องทางในการให้บริการที่ต่างกันจากสิ่งที่คนเคยชิน แต่ยังสามารถที่จะเพิ่มหรือยกมาตรฐานของอุตสาหกรรมการขนส่งทั้งหมด จากการที่เราบอกว่านี่คือมาตรฐานของความปลอดภัย คือตัวอย่างของวิธีที่สามารถมั่นใจว่าเป็นรถที่สมควรจะอยู่บนท้องถนน

ก็ยังมีการคุยกับภาครัฐว่า ณ เวลานี้ จากรูปแบบของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่มีวิธีที่เขาสามารถที่จะสมัครใบขับขี่สาธารณะ หรือใบขับขี่ส่วนบุคคลก็ไม่มีเหมือนกัน เขาก็เลยถามว่าอูเบอร์สามารถช่วยในการแนะนำหรือสร้างระบบในการที่คนสามารถสมัครหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเขาถามว่าเป็นระบบดิจิทัลได้ไหม

อันนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดไกลกว่าเพื่อนบ้านเยอะเลย แล้วคิดดูว่าถ้าหากเขามีระบบที่ผ่านดิจิทัล ผ่านออนไลน์หมด สิ่งที่เกิดขึ้นได้คือ 1. ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. จะทำงานไวกว่าเดิม และ 3. ลดช่องทางที่ในการที่จะเกิดการทุจริตได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสง่างาม แล้วฝ่ายเขาเป็นฝ่ายที่เสนอแนะให้เราช่วยเขา ณ เวลานี้เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาเพราะว่าเขาขอ

เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา

ไทยพับลิก้า : สมาชิกที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ร่วมขับกับอูเบอร์ในเอเชียมีประมาณเท่าไหร่

ถ้าเป็นตัวเลขกลมๆ จำนวนคนที่แอคทีฟ หมายความว่าเขาให้บริการอย่างน้อย 1 ครั้งในเดือนที่ผ่านมา ถ้าในเอเชียแปซิฟิกก็น่าจะประมาณ 6 แสนกว่าคน ถ้าระดับโลกก็จะอยู่ที่ 2 ล้านกว่าคน

ไทยพับลิก้า : ในแง่ความเข้าใจของรัฐและประชาชนทั่วไป อูเบอร์ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

ถ้าหากมีการเปลี่ยนคน แน่นอนว่าเราต้องมีการให้ความรู้ ซึ่งตัวแทนของคณะกรรมการที่เคยมีการแต่งตั้งก็มีการเปลี่ยน ซึ่งก็อาจจะต้องเข้าหาและคุยเพิ่มเติม แต่ถามว่ากลยุทธ์ต้องมีการเปลี่ยนไหม ถ้าถามในแง่สายตาของอูเบอร์ สิ่งที่เราเป็นอยู่ค่อนข้างชัดเจน เราเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ไขปัญหา ที่สัมผัสถึงได้ทุกวันที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม

เราเป็นเทคโนโลยีที่แนะนำให้คนสามารถที่จะใช้สิ่งที่มีอยู่ในมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมากกว่าที่คุณคาดถึง ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรามองว่ามีความจำเป็น ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีคนไทยที่กำลังเรียกร้อง

ไม่ใช่แค่ว่าทำงานต่อ แต่ขยายกิจการให้ไปทั่วถึงประเทศไทย ณ เวลานี้ทุกวันก็มีคนเรียกร้องให้เราไปต่างจังหวัดมากขึ้น แล้วเราพยายามที่จะไปโดยที่เราได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังไปค่อนข้างช้า

ไทยพับลิก้า : อูเบอร์ต้องปรับกลยุทธ์อย่างไรสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ทุกฝ่าย win-win หรือไม่

เอมี่ไม่ได้มองว่าเป็นการปรับกลยุทธ์นะคะ กลยุทธ์ของเราชัดเจน และกลยุทธ์ของเราเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายสามารถรับผลประโยชน์ ถ้าหากว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ต้องการที่จะรักษาระบบเดิม แน่นอน คนไทยก็จะขาดสิ่งที่เขาต้องการ ปัญหาที่เรามีอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าจะเป็นปัญหาเดิมๆ ต่อไป แต่จะขยายด้วย

ปัญหาของการจราจรในประเทศไทย เป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกพรรค ทุกฝ่ายก็เจอ แล้วทุกฝ่ายก็ให้คำสัญญาอย่างมั่นใจ อย่างเต็มปากว่าจะแก้ไขให้ได้ แล้วทำไมถึงทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าขาดความตั้งใจ แต่ขาดเทคโนโลยี เมื่อไหร่ที่พร้อมที่จะยอมรับบทบาทของเทคโนโลยีในสังคม เมื่อนั้นถึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้

ไทยพับลิก้า : มั่นใจ

มั่นใจ มั่นใจเพราะเราเห็นชัดเจนในประเทศเพื่อนบ้าน

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าธุรกิจของอูเบอร์มีผลต่อเศรษฐกิจในแง่อะไรบ้าง

ถ้าสมมติว่าเราคุยกันเรื่องปัญหาของการว่างงาน คนที่ว่างงาน เราต้องการให้เขาเป็นพลเมืองที่ดี และยังมีบทบาทในสังคมระหว่างที่เขากำลังหางานใหม่ สมมติว่าเขาเป็นเจ้าของรถ เขาสามารถที่จะใช้รถยนต์ของเขาเพื่อจะสร้างรายได้เสริมระหว่างที่เขายังไม่มีงานประจำ ถือว่าคนคนนั้นสามารถทำงานโดยที่ถือว่ามีเกียรติ เป็นงานที่เขาเลือกเวลาได้ แล้วเป็นเงินที่เขากำหนดได้ว่าเขาอยากจะทำมากหรือน้อย

การที่เพิ่มความอิสระให้กับประชาชนในการที่เขาจะสร้างเงินเข้าบ้าน เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะแก้ไขปัญหาหลายอย่าง สำหรับคนว่างงาน เราเจอหลายคนไม่ใช่เพียงแค่ในเมืองไทย แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกว่าการที่เขามีทางเลือกที่ทั้งง่าย ไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ ที่เขาสามารถจะเริ่มขับแล้วรับผลประโยชน์เหล่านี้ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาก็ยังสามารถเป็นพลเมืองที่ดี ยังสามารถมีบทบาทในสังคมได้ ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกอับอายใคร ซึ่งหลายคนที่ว่างงานก็จะรู้สึกว่าเขาก็ไม่อยากจะเข้าหาสังคม

นอกจากนี้ในแง่เศรษฐกิจ แน่นอนว่าหนึ่งอย่างที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ในบ้านเราคือการท่องเที่ยว เทคโนโลยีเป็นบทบทอันสำคัญของการขยายและเพิ่มกิจกรรมของการท่องเที่ยว หนึ่งอย่างที่นักท่องเที่ยวมักจะพูดถึงคือการขาดทางเลือกในการเดินทางที่พึ่งพาได้ ราคามั่นใจได้ คุยกันรู้เรื่อง และยังปลอดภัยสม่ำเสมอ

ตรงนี้เป็นสิ่งที่อูเบอร์สามารถที่จะนำตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ในอนาคต แต่ในวันนี้ เพราะว่าแอปพลิเคชันของเราถูกตั้งในภาษาที่คุณคุ้นเคย สมมติว่าในขณะที่เอมี่เป็นชาวต่างชาติ เราตั้งภาษาของเรา คนที่เป็นผู้ร่วมขับก็ได้รับในภาษาของเขาเอง ซึ่งอาจจะเป็นภาษาอังกฤษของเอมี่ และเป็นภาษาไทยของผู้ร่วมขับ อูเบอร์รองรับถึง 46 ภาษาทั่วโลก

ในแง่จำนวน ณ เวลานี้ของคนไทย ที่พูดถึงภาษาจำนวนขณะนั้นและเป็นผู้ร่วมขับ แน่นอนอยู่แล้วเขาต้องพึ่งพาเทคโนโลยี จำนวนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในประเทศไทยทุกวัน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วก็ 20 กว่าล้านคน ปีนี้ก็คาดว่าจะเกือบ 40 ล้านคน

แล้วจำนวนของแท็กซี่ในประเทศคิดว่าจะมีกี่แสนคัน ในกรุงเทพฯ มีไม่ถึง 1 แสนคัน แต่จำนวนของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่เป็นคนไทยเอง จำนวนของคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัด เพื่อจะหางาน หรืออยู่ระหว่างการที่เขามีงานประจำ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปิดช่องทางที่ชัดเจน ไม่ว่าเฉพาะของคนไทยกันเอง ช่วยกันเองในการแก้ไขปัญหารถติด หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาโดยที่ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของภาษา ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นชัดเจน

การที่อูเบอร์อยู่ในเมืองไทย และรัฐบาลยอมรับและต้อนรับอย่างอบอุ่น นอกจากที่อูเบอร์เป็นสตาร์ทอัปที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติของสตาร์ทอัปทุกๆ สตาร์ทอัปในโลก การที่รัฐบาลไทยบอกว่ายินดีที่จะให้อูเบอร์ดำเนินการที่นี่ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้สตาร์ทอัปคนอื่นเข้าใจว่า ภาครัฐเอาจริงเรื่องการที่จะนำสตาร์ทอัปมามีบทบาทในสังคมและมีบทบาทในเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เป็นคำพูดว่าต้องการที่จะก้าวไปถึงเศรษฐกิจ 4.0 ต้องการที่จะให้สตาร์ทอัปมาตั้งตัวในประเทศไทย แต่ต้องมีต้นแบบของการที่เห็นว่าสตาร์ทอัปที่เข้ามาที่นี่ ที่ลงทุนและพร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริง

ไทยพับลิก้า : อูเบอร์กังวลข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอะไรมากที่สุด

ไม่ได้มีเฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง ในแง่ของการที่คนให้ฟีดแบค เรามองว่าเป็นสิ่งที่ดีและงามของการที่เราเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะเมื่อไหร่ที่คนบอกว่าต้องการให้คุณปรับตรงนี้หรือแก้ไขตรงนั้น เป็นโอกาสที่จะทำให้เครื่องมือของเราทำงานให้เร็วขึ้น ให้แม่นยำมากขึ้น หรือถ้าหากว่ามีช่องว่างในสิ่งที่ผู้บริโภคของเราคาดถึง เราก็สามารถที่จะปรับตัวให้ดีขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี

การที่ให้ฟีดแบคกับอูเบอร์ผ่านแอปพลิเคชันของเรา ทำงาน 24 ชั่วโมงต่อ 7 วัน ซึ่งเราอยู่ใกล้ชิดกับผู้ร่วมขับและผู้โดยสารของเราโดยตลอด แล้วอยากจะพูดให้ชัดเจน คนมักจะไม่เข้าใจตรงนี้ ถ้าหากว่าวิสัยทัศน์ของเรา คือทำให้ทุกคนไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเขามีมาตรฐานในสังคมยังไง เขามีเงินมาก เขามีการศึกษาสูง เพศอะไร นับถือศาสนาอะไร ต้องการที่จะให้เขามีทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัย มั่นใจได้ สะดวกสบาย ในราคาที่เหมาะสม

ตรงนี้หมายความว่าเราพร้อมทำงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ รวมถึงรถสาธารณะด้วย ในประเทศอื่นเรามีตัวอย่างการทำงานร่วมกับแท็กซี่ หรือรถตู้ หรือเราทำงานกับรถเมล์ โดยเป็นโครงการเฉพาะเลย โดยที่ภาครัฐเป็นฝ่ายบอกว่า ขอลองพิจารณาดูว่าการใช้เทคโนโลยีของคุณจะทำให้รถเมล์ของเราวิ่งโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่

อันนี้เป็นตัวอย่างของการเปิดใจกว้างสำหรับการนำนวัตกรรมเข้ามา แล้วเป็นสิ่งที่เรามีความมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถที่จะรับผลประโยชน์เหล่านี้ได้ เราสัมผัสได้ในประเทศเพื่อนบ้าน

ไทยพับลิก้า : เคยถอดใจไหมว่า ไม่สู้แล้ว

ต้องตอบว่าไม่นะคะ เพราะว่านี่คือชีวิตของการเป็นสตาร์ทอัป ใครที่เคยคิดว่าอยากจะเป็นฝ่ายบุกเบิก ต้องพร้อมที่จะทำงานด้วยใจสู้ แล้วต้องรู้ว่านวัตกรรมอะไรไม่เกิดขึ้นง่ายๆ การที่เราจะเป็นคนแรก ฝ่ายแรก เราก็ต้องผ่านอุปสรรคอะไรหลายอย่าง

ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่จริงๆ ก็อยากจะขอขอบคุณทีมงาน ขอขอบคุณโดยเฉพาะผู้โดยสารและผู้ร่วมขับของเรา เพราะว่าทุกวันนี้ก็มีการสมัครใหม่ มีคนลงแอปพลิเคชันใหม่ มีคนที่เข้ามาหาเรา มาบอกว่าอยากเป็นผู้ร่วมขับ ตั้งใจที่จะไขว่คว้าโอกาสที่รู้ว่ามี เพราะเทคโนโลยีของอูเบอร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้กำลังใจกับทีมงานโดยตลอด

ไทยพับลิก้า : สามารถแชร์ข้อมูลได้ไหมว่า ผู้โดยสารที่ใช้บริการอูเบอร์มีคาแรกเตอร์หรือหน้าตาเป็นอย่างไร

หน้าตาดีสิค่ะ ตัวอย่างจากที่เราเห็นใน 3 ปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของการที่อูเบอร์เข้ามาในประเทศไทย เราเข้ามาโดยเปิดผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ “อูเบอร์แบล็ค” (Uber Black) ซึ่งเป็นรถหรูชั้นลักชัวรี่ (luxury) ซึ่งคนที่ใช้ตอนนั้นอาจเป็นคนที่เป็นนักท่องเที่ยว เป็นชาวต่างชาติ นักธุรกิจ เป็นคนไทยที่เป็นนักธุรกิจ หรืออาจเป็นคนที่ถือว่ามีมาตรฐานสูงหน่อยในการมีค่าใช้จ่ายที่เขายินยอมในการจ่าย

นอกจากนั้นก็มีการเปิด “อูเบอร์เอ็กซ์” (Uber X) ซึ่งเป็นรถชั้นประหยัด ถามว่าหน้าตาของคนที่ใช้อยู่ รูปแบบของคนที่ใช้อยู่คือทุกคน คนที่เป็นคนขับก็คือคนทั่วไป รถที่เอมี่ใช้อยู่ที่บ้านสามารถนำมาเป็นอูเบอร์เอ็กซ์ได้

เอมี่ก็เคยเป็นผู้ร่วมขับในเมืองไทยด้วย เพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรง คนก็แปลกใจ (หัวเราะ) และจะบอกว่าคนทั่วไปก็ชอบอูเบอร์เอ็กซ์ เพราะราคาก็จะเบากว่าอูเบอร์แบล็ค โดยอยู่ที่ประมาณ 15% หรือ 20%

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ว่า เราก็มีการเพิ่มรูปแบบของผลิตภัณฑ์อย่าง “อูเบอร์แฟลช” (Uber Flash) ซึ่งเป็นการเลือกว่า ถ้าหากว่าคุณใจร้อน ไม่มีเวลาที่จะรอ กดเรียกในแอปของเราเป็นแฟลช แล้วรถอะไรที่อยู่ใกล้ที่สุดกับคุณ ก็จะเป็นรถที่จะมารับคุณ ไม่ว่าจะเป็นแบล็ค เป็นเอ็กซ์ หรือเป็นอูเบอร์แท็กซี่

ในแง่ของแท็กซี่ก็มีความยินดีที่จะให้รถที่เป็นรถสาธารณะมาใช้เทคโนโลยีของเรา ในการแนะนำให้รู้จักกับผู้โดยสาร ในสายตาของอูเบอร์มองว่ารถสาธารณะตรงนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรถแท็กซี่อย่างเดียว แต่เรามองว่าอูเบอร์แฟลชสามารถที่จะพัฒนารูปแบบของแท็กซี่ การบริการที่มีอยู่ มาตรฐานของการบริการ แล้วให้แท็กซี่กลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระบบการร่วมเดินทางได้

ถ้าในแง่จำนวนของคนที่พึ่งพาระบบของเราในปัจจุบัน ถ้าจำไม่ผิด คนที่แอคทีฟใช้อย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 3 เดือนที่ผ่านมา มีกว่า 4 แสนคน ทุกเดือนที่ผ่านมามีคนที่มีความตั้งใจอยากเป็นผู้ร่วมขับถึงหมื่นกว่าคน

ความตั้งใจของคนไทยที่อยากจะไขว่คว้าโอกาสนี้เป็นสิ่งที่สัมผัสถึงได้ ไม่เคยลดลง มีแต่เพิ่มและเพิ่มขึ้นมาก ตรงนี้ทีมงานมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า เราต้องอยู่เคียงข้างคนไทย คนไทยก็มีการเรียกร้องให้เราเปิดช่องทางให้เขามีทางลือก เราก็มีความตั้งใจที่จะให้สิ่งเหล่านั้นกับเขา

ไทยพับลิก้า : มีความยากง่ายอย่างไร ในการทำงานร่วมกับระบบโครงสร้างขนส่งสาธารณะในประเทศไทย

อย่างแรกถ้าให้ดูในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าระบบของการจราจรที่เราเจออยู่ ที่ต้องการเทคโนโลยีของเรามากที่สุด มักจะเป็นประเทศที่รถติดมากที่สุด ที่ต้องการเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วน อูเบอร์ก็อยู่ในบทบาทที่เรามีการขอความคิดเห็นของคนที่ใช้บริการของเราโดยตลอด อาจจะบอกว่าทำให้เราได้เปรียบ เพราะเราสามารถที่จะพัฒนาได้เรื่อยๆ จากคำเรียกร้องของคนที่ใช้อยู่

ประเทศอินเดียที่เป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเราทั่วโลก ก็เป็นประเทศที่รัฐบาลระดับชาติมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าระบบร่วมเดินทางเป็นสิ่งที่มีบทบาท เป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นสิ่งที่เขาต้องการที่จะเห็น

นอกจากนี้ไม่ได้พูดถึง Ride Sharing อย่างเดียว เขายังคุยกันถึงสิ่งที่เรียกว่า “Bike Sharing” หมายความว่า MOTO ซึ่งเขาก็ยอมรับอย่างเป็นทางการ อันนี้คือระดับชาติ ซึ่งหมายความว่าในแต่ละรัฐ ในแต่ละจังหวัด ก็สามารถที่จะไปขยายความต่อ แล้วก็หาวิธีที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่

ประเทศจีนก็เช่นเดียวกัน ต้นปีที่ผ่านมาก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากระดับชาติว่า เขาต้องการที่จะให้ระบบร่วมเดินทางอยู่อย่างเป็นทางการ เห็นประโยชน์ เห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเศรษฐกิจได้ แก้ไขปัญหาได้ ช่วยปัญหาว่างงานได้ แล้วเขาก็ขยายให้ระดับของรัฐ หรือจังหวัดอื่นๆ ก็มีการเคาะในรายละเอียดปลีกย่อยลงมา

หรือยกตัวอย่างในประเทศมาเลเซีย ท่านนายกฯ ของรัฐบาลมาเลเซียก็มีการประกาศว่า นอกจากเขามองว่าการที่ขับรถให้อูเบอร์ผ่านแอปพลิเคชันของเราเป็นสิ่งที่สามารถจะยกคนที่อยู่ในบริเวณร้อยละ 30 สุดท้ายของสังคมให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขายังมีการเชิญชวนคนที่เป็นข้าราชการ ถ้าต้องการรายได้เสริม ให้เขาลองขับอูเบอร์ในเวลาว่างของเขา

เขามองว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลก เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เขามองว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนสามารถมีบทบาทในสังคม ปัญหาการจราจรมักจะเกิดขึ้นเพราะว่ารถที่อยู่บนท้องถนนไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งคนต่อหนึ่งคัน มันเป็นปัญหาหลัก

เมื่อไหร่ที่เราสามารถมองว่า รถที่อยู่บนท้องถนนเต็มไปด้วยคน ทุกพื้นที่ที่มีที่นั่ง 4 ที่ก็ควรจะมีคนนั่งอยู่ แล้วเมื่อไหร่ที่ใช้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ขนาดประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลของเขาก็มีความพยายามที่จะสร้างโครงสร้างที่เขาเรียกว่าเป็น “คาร์พูล” (Car Pool) ประมาณไม่ต่ำกว่า 4 ปี แล้วไม่สำเร็จ เพราะอะไร

เพราะว่ายากมากที่จะทำโดยที่พึ่งพาโลกออฟไลน์ เขาก็มองว่าถ้าหากเขาพึ่งพาเทคโนโลยี เขาสามารถที่จะกระโดดข้ามจากสิ่งที่เขาพยายามลงมือทำแล้ว แล้วก็สร้างให้ระบบร่วมเดินทางมีอยู่อย่างเป็นทางการ

ซึ่งเมื่อสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศอินโดนีเซียก็มีการประกาศว่า ระบบร่วมเดินทางเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจที่จะมีอยู่ แล้วเขาต้องการให้รูปแบบของการที่เทคโนโลยีนี้ถูกใช้โดยให้มีความยื่นหยุ่นให้ได้มากที่สุด

เราคุยกันเรื่องราคา ลักษณะของรถ ลักษณะของคน ทั้งคนที่อยู่หลังพวงมาลัยและคนที่อยู่หลังรถ

หลายคนที่เคยคุยกับเราบอกว่า คนไทยกันเองก็ไม่มีวัฒนธรรมที่จะยินดีในการที่จะนั่งรถกับคนแปลกหน้า ทุกวันที่คุณขึ้นรถเมล์ คุณรู้จักกับคนที่นั่งข้างคุณไหม ขณะที่คุณนั่งแท็กซี่ คนที่เป็นคนขับก็เป็นคนแปลกหน้าเช่นเดียวกัน ถ้าสมมติคุณจะติดรถเพื่อนที่ร่วมทำงานของคุณ ก็อาจเจอคนที่ไม่ได้รู้จักที่อยู่ในรถด้วยกัน

ตรงนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรามองว่า เราข้ามวิธีคิดนี้ไม่ได้ เพราะว่าประเทศเพื่อนบ้านที่บอกว่ามีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ก็ยังสามารถที่จะยอมรับตรงนี้ได้ เอมี่ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเห็นว่าเป็นอุปสรรค

ไทยพับลิก้า : คิดว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน สำหรับประเทศไทย

เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน ระยะเวลาที่จะใช้ขึ้นอยู่กับภาครัฐ ทุกฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ พร้อมลงมือทำ

ไทยพับลิก้า : คุณเคยลองขับรถเอง เป็นอย่างไรบ้าง

สนุก เอมี่มีใบขับขี่ไทย เพราะว่าสามีเป็นคนไทย แต่จะบอกว่าเอมี่ก็ถือว่าเป็นคนไม่ธรรมดาในเชิงของคนที่เป็นผู้ร่วมขับ เพราะว่า 100% ของคนที่ขับเป็นคนไทย ไม่ได้มีชาวต่างชาติ ประเด็นนี้สำคัญ ไม่ได้อยากให้คนเข้าใจว่ามีชาวต่างชาติมาแย่งอาชีพ (หัวเราะ) มีแต่คนไทยนะคะ แต่เอมี่เป็นกึ่งครึ่งคนไทย อยากรู้ว่าประสบการณ์ที่เจอเป็นยังไงบ้าง

แต่จริงๆ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่อูเบอร์สร้างขึ้นมา ที่อยากให้พนักงานของอูเบอร์เองลงมือขับ เพื่อเขาจะได้เข้าใจถึงชีวิตของผู้ร่วมขับมากขึ้นด้วย แล้วในเมื่อให้ฟีดแบคที่พูดถึงเมื่อสักครู่ ไม่ได้เป็นฟีดแบคเฉพาะคนที่เป็นผู้ร่วมขับหรือผู้ร่วมนั่ง คนที่เป็นพนักงานก็ยังสามารถชี้แนะว่าต้องการให้แก้หรือปรับตรงไหนบ้าง

จริงๆ เอมี่ชอบขับรถอยู่แล้ว บ้านเกิดที่ออสเตรเลียก็ยังถือใบขับขี่อยู่ ก็ยังกลับบ้านบ้าง และมีการขับที่โน่น ที่เมืองไทยเอมี่ก็ขับรถอยู่ ไม่ได้ขับประจำเป็นอูเบอร์ แต่หมายความว่าขับรถเดินทางเอง แต่เหตุผลที่มีรถส่วนตัวในเมืองไทย เป็นเพราะตอนนั้นไม่มีอูเบอร์ แล้วเราทำงานใจกลางเมือง เสร็จงานเย็นหรือทุ่มหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่งกว่าเราที่จะเจอรถที่ยอมพาเราไป ขณะที่บ้านของเอมี่อยู่แถวถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ทำงานอยู่แถวเซ็นทรัลเวิลด์ ราชดำริ ไม่ได้เป็นอะไรที่ต้องลำบากใจมาก แต่ว่ารถก็ไม่ยอมไป ใกล้หรือไกล ไม่ยอม ไม่ยินดี ไม่มีอารมณ์ อะไรก็แล้วแต่ (หัวเราะ) นี่คือประสบการณ์ที่เราเจอเองที่ถูกปฏิเสธ

สามีก็เป็นห่วงว่าจะไม่มีวิธีกลับบ้าน ก็เลยซื้อรถแล้วกัน เอมี่ก็เป็นหนึ่งในคนไทยหลายคนที่ถือว่า บ้านหนึ่งหลังมีรถหลายคัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างว่าทำไมยังมีปัญหาการจราจร ประเทศอื่นยังมีนโยบาย อย่างเช่น หลังจากที่คุณซื้อรถหนึ่งคันแล้ว หรือคันแรก ก็มีความพยายามเชิญชวนให้ไม่ซื้อคันที่สอง

ไทยพับลิก้า : ประเทศไหนที่อูเบอร์เข้าไปแล้วเจอปัญหาที่ยากที่สุดในการแก้ไข

ปัญหาที่เจออยู่มักจะเป็นปัญหาที่ใกล้เคียงในทุกประเทศ คือระยะเวลาที่ต้องให้ความรู้กับภาครัฐ เพื่อจะให้มีการเปิดช่องทางรองรับอย่างเป็นทางการ แต่ถามว่าเรายินดีในการที่จะสู้ต่อไหม ต้องยินดี เพราะเราเจอหลายประเทศที่ยอมรับแล้ว แล้วไม่ใช่เฉพาะยุโรปหรือสหรัฐฯ คือมีต้นแบบของประเทศเพื่อนบ้านที่ค่อนข้างชัดเจน

ไทยพับลิก้า : ข้อพิพาทหรือความไม่เข้าใจกับแท็กซี่ไทยในบางกรณี มีการพูดคุยทำความเข้าใจอย่างไร

จริงๆ เราไปเจอกับสมาคมแท็กซี่แห่งประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็พาเขาไปสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ คือการที่คนอาจเข้าใจว่าเรากำลังทำงานแบบแย่งกัน เป็นคู่แข่งกัน เป็นความเข้าใจกันผิด คนที่จะเรียกใช้รถแท็กซี่ ก็ให้เขาเรียกไปต่อ คนที่จะกดปุ่มเรียกอูเบอร์ ก็ยินดีให้เขาเรียก

สิ่งที่เรามองอยู่ คือถ้าหากว่าการบริการของเราไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ของคนได้มากที่สุดในรูปแบบของสิ่งที่คุณต้องการ ระยะเวลาในการเดินทาง ราคา รูปแบบของรถ มาตรฐานของการบริการ ยังไงคุณก็จะไม่เลือกเรา

แต่อันนี้ก็เป็นปรัชญาของการแข่งขัน ถูกไหม ถ้าหากเรามองว่าต้องการที่จะให้ระบบขนส่งของประเทศไทยก้าวไกลกว่านี้ ต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยกมาตรฐานขึ้นมา

เราเห็นชัดเจนจากประเทศอื่นว่าเราทำงานร่วมกับแท็กซี่ได้ ไม่จำเป็นต้องมองว่าเราขัดแย้งกัน

ไทยพับลิก้า : มีบางประเทศหรือบางเมืองปฏิเสธที่จะให้อูเบอร์เข้าไป เป็นเพราะอะไร

ส่วนมากที่จะขอให้เราระงับใช้หรือเขาปฏิเสธ มักจะเกิดขึ้นเพราะว่าเราอาจยังไม่มีโอกาสที่จะคุยในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้คือ ก่อนที่อูเบอร์จะเข้ามา ในแต่ละตลาด ไม่ว่าจะเข้ามาในประเทศเป็นครั้งแรกหรือขยายกิจการไปที่อื่นๆ ก็ต้องมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของการบริการ

เราก็ทำเหมือนเป็นบริษัทอื่นๆ คือจะต้องมีการดูระบบกฎหมาย ต้องมีการดูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ดูระบบเทคโนโลยี คือต้องดูพิจารณาทั้งหมด ถึงจะมีการลงมือและลงทุน

ถ้าสมมติเราบอกว่า ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฏหมายยังไม่รองรับ การที่ยังไม่มีกฎหมายไม่ได้หมายความว่าเรากำลังหักกฎหมายอยู่ เพราะไม่มีกฎหมายให้หักในสายตาของทนายความของเรา

แต่ถ้าสมมติว่าเราคุยกับภาครัฐของประเทศที่ถือว่าคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษนิยม) เขาจะมองว่าการขาดกฎหมาย หมายความว่าหักกฎหมายอยู่ ในเมื่อไม่มีกฎหมายก็จะนิ่ง รอ ขอบคุณมาก แทนที่ควรจะเริ่มและไปด้วยกัน

อันนี้จะเป็นความต่างกันระหว่างโปรเกรสซีฟ (หัวก้าวหน้า) กับคอนเซอร์เวทีฟที่ค่อนข้างชัดเจน แต่การที่ขาดกฎหมาย ไม่ได้เป็นอุปสรรค จะเป็นอุปสรรคถ้าหากเราจะไม่สร้างหรือไม่ขยาย

ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราอ้อนวอนมาหลายปี โปรดขยายความ โปรดต่อเติมเป็น 2-3 บรรทัด โปรดสร้างมาเป็นคนละย่อหน้า อะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าไม่ต้องการที่จะขยายเป็นกฎใหม่ ก็สามารถที่จะขยายในกฎเดิมได้ แต่โปรดให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเป็นอยู่

ถ้าหากว่ารัฐบาลต้องการที่จะปกครองเราโดยที่ใช้มาตรฐานของกฎหมายแท็กซี่เป็นหลัก กฎสาธารณะเป็นหลัก ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ ไม่มีบทบาทของเทคโนโลยี ไม่มีบทบาทของการที่เราใช้เทคโนโลยีของเราในการที่จะมั่นใจได้ว่า คุณจะรอไม่กี่นาทีในทุกกรณีที่คุณจะเรียกรถ ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหน ไม่ว่าฝนตกหรือไม่ ไม่ว่าคุณมีเงินมากในการที่จะพิจารณาถึงราคาของรถหรือไม่

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงหรือหมดไปเลย แต่ไม่จำเป็นต้องมีกฎที่เคร่ง เราสามารถที่จะมองว่ากฎหมายที่ขยาย ประนีประนอมกันได้ หาช่องทางที่ไปด้วยกัน เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย

ตรงนี้เอมี่มองว่ามีแต่โอกาส ไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงจะทำไม่ได้ แต่เราก็จะต้องมีการเรียกร้อง มีการเอาเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลัก และเรามั่นใจว่าเสียงของคนไทยเองจะเข้าไปถึงหูของฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วเราก็แสดงความพร้อม เราก็แสดงความยินดี ในการที่จะหารือปรึกษากัน

แต่ไม่มีเหตุผลว่าทำไมเมืองไทยต้องล้าหลังกว่าใคร จริงๆ แล้วเอมี่พูดอย่างนี้มาตลอด เพียงแต่ตอนนี้ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน แต่อยู่ในมือของภาครัฐที่จะแก้ไขได้

ไทยพับลิก้า : เสียงของคนไทยในเรื่องนี้เริ่มดังมากขึ้น

เสียงของคนไทยเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เขามองว่าระบบร่วมเดินทางมีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจ และเขาเห็นคุณค่า เขามองว่าควรจะมีการพิจารณาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าขาด

การที่เอ่ยว่า “เดี๋ยวจะทำ” ต่างกันจาก “กำลังทำ” แล้วเรามั่นใจว่าเมื่อไหร่ที่ภาครัฐมีความตั้งใจ เขาทำได้ เพราะเราเห็นว่ามีความคืบหน้าอย่างเร็วในบางเรื่อง เขาลงมือเร็วในเรื่องที่เขามีความตั้งใจให้คนเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัป

การที่เขาต้องการให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเราพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามา ก็เป็นคำกล่าวที่ออกจากท่านนายกฯ (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แต่การที่พูดว่า 4.0 ต้องมีการทำด้วย และเราพร้อมที่จะทำด้วยกัน เรามองว่าเป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ต่อหลายฝ่าย ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ถึงเวลาที่เราต้องลงมือกัน