ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกเปิดรายงาน “Doing Business 2018” ไทยพุ่งมาอยู่ที่ 26 จาก 190 เพิ่มขึ้น 20 อันดับ – เผยติดที่ 2 ของโลกประเทศที่พัฒนามากที่สุด

ธนาคารโลกเปิดรายงาน “Doing Business 2018” ไทยพุ่งมาอยู่ที่ 26 จาก 190 เพิ่มขึ้น 20 อันดับ – เผยติดที่ 2 ของโลกประเทศที่พัฒนามากที่สุด

1 พฤศจิกายน 2017


เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน Doing Business 2018: Reforming to Create Jobs หรือรายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2561 โดยประเทศไทยมีอันดับ 26 จาก 190 ประเทศของโลก โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับสูงสุด ซึ่งสะท้อนการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ของโลก คือ การขอใช้ไฟฟ้าได้อันดับสูงสุดที่อันดับ 13 ของโลก รองลงมาคือการคุ้มครองผู้ลงทุน ได้อันดับ 16, การแก้ปัญหาการล้มละลาย ได้อันดับ 26, การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา ได้อันดับ 34, การเริ่มต้นธุรกิจ ได้อันดับ 36, การได้รับสินเชื่อ ได้อันดับ 42, การขออนุญาตก่อสร้าง ได้อันดับ 43, การค้าระหว่างประเทศ ได้อันดับ 57, การชำระภาษี ได้อันดับ 67 และการจดทะเบียนทรัพย์สิน ได้อันดับ 68

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของคะแนนจากประเทศที่ดีที่สุด (Distance to frontier: DTF) 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนว่าแต่ละประเทศแข่งขันกับตัวเองได้ดีแค่ไหน พบว่า การเริ่มต้นธุรกิจได้คะแนนสูงสุดที่ 92.34 คะแนน รองลงมาคือการขอใช้ไฟฟ้า 99.09 คะแนน, การค้าระหว่างประเทศ 84.1 คะแนน, การชำระภาษี 76.73 คะแนน, การแก้ปัญหาการล้มละลาย 75.64 คะแนน, การขออนุญาตก่อสร้าง 74.58 คะแนน, การคุ้มครองผู้ลงทุน 73.33 คะแนน, การได้รับสินเชื่อ 70 คะแนน, การจดทะเบียนทรัพย์สิน 68.75 คะแนน และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา 67.91 คะแนน

ในแง่การเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอันดับเพิ่มขึ้น 20 อันดับ มีตัวชี้วัดที่อันดับเพิ่มขึ้น 6 จาก 10 ตัวชี้วัด โดยที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือการเริ่มต้นธุรกิจและการชำระภาษี เพิ่มขึ้น 42 รองลงมาคือการการได้รับสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 40 อันดับตามมาด้วยการขอใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 24 อันดับ, การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง เพิ่มขึ้น 17 อันดับ และสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นคือการคุ้มครองผู้ลงทุน เพิ่มขึ้น 11 อันดับ ขณะที่ตัวชี้วัดที่ลดลง 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ การแก้ปัญหาการล้มละลาย ลดลงเล็กน้อย 3 อันดับ รองลงมาคือการขออนุญาตก่อสร้างและการค้าระหว่างประเทศ ลดลง 1 อันดับและมีตัวชี้วัดที่อันดับคงเดิม 1 ตัวชี้วัดคือการจดทะเบียนทรัพย์สิน

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2559-2561 พบว่าการเริ่มต้นธุรกิจและการได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 60 และ 55 อันดับตามลำดับ ส่วนตัวชี้วัดที่อันดับลดลงมากที่สุดคือการจดทะเบียนทรัพย์สินที่อันดับลดลงไป 11 อันดับ รองลงมาคือการขออนุญาตก่อสร้างที่อันดับลดลง 4 อันดับ

ในแง่การเปลี่ยนแปลงของคะแนนจากปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นในปีนี้ 4.91 คะแนน (เทียบรายงานต่อรายงาน) มาอยู่ที่ 77.44 คะแนน โดยมีตัวชี้วัดที่คะแนนเพิ่มขึ้นมี 7 ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือการได้รับสินเชื่อ ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 20 คะแนน รองลงมาคือการชำระภาษีเพิ่มขึ้น 8.05 คะแนน, การขอใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7.77 คะแนน, การคุ้มครองผู้ลงทุน เพิ่มขึ้น 6.66 คะแนน, การเริ่มต้นธุรกิจเพิ่มขึ้น 5.33 คะแนน, การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา เพิ่มขึ้น 3.37 คะแนน และการจดทะเบียนทรัพย์สิน เพิ่มขึ้น 0.41 คะแนน และมีตัวชี้วัดที่ลดลง 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ การแก้ปัญหาการล้มละลายและการขออนุญาตก่อสร้าง ลดลง 1.44 และ 1.07 คะแนนตามลำดับ และมีตัวชี้วัดที่คะแนนไม่เปลี่ยนแปลง 1 ตัวชี้วัดคือการค้าระหว่างประเทศ

ขณะที่ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าการแก้ปัญหาการล้มละลาย มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด 16.8 คะแนน รองลงมาคือการเริ่มต้นธุรกิจและการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา เพิ่มขึ้น 7.27 และ 5.22 คะแนนตามลำดับ ส่วนตัวชี้วัดที่คะแนนลดลงมากที่สุดคือการจดทะเบียนทรัพย์สิน ลดลง 2.58 คะแนน

ไทยพัฒนามากที่สุดอันดับ 2 ของโลก

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า ด้วยระเบียบวิธีการศึกษาใหม่ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นโดยรวม 5.65 คะแนน และมีตัวชี้วัดที่ปรับดีขึ้น 8 ตัวชี้วัด (ยกเว้นตัวชี้วัดการขออนุญาตก่อสร้างและการค้าระหว่างประเทศ) เป็นรองเพียงประเทศบรูไนที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น 5.77 คะแนนและมีตัวชี้วัดปรับดีขึ้น 8 ตัวชี้วัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในแง่อันดับโลก ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีอันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนามากที่สุด 10 ประเทศแรก

“ประเทศไทยได้พัฒนาตัวชี้วัดไป 8 ตัวชี้วัด มากสุดเป็นประวัติการณ์ใน 1 ปี การเริ่มต้นธุรกิจถูกทำให้ง่ายขึ้นจากการตัดเงื่อนไขบริษัทต้องจัดทำตราประทับและระเบียบแรงงานสำหรับส่งกระทรวงแรงงาน และทำให้ระยะเวลาลดลงจาก 27.5 วันเป็น 4.5 วัน และด้วยการนำระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์มาใช้ เจ้าหน้าที่ของไทยสามารถจัดหาไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นและเพิ่มการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินอย่างมาก” รายงานข่าวระบุ

สำหรับในระดับโลก รายงานข่าวระบุว่า ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลกว่า 119 เขตเศรษฐกิจได้ปฏิรูปทางธุรกิจไป 264 เรื่อง โดย 78% เป็นการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา และในระยะเวลา 15 ปีของรายงาน Doing Business พบว่าได้มีการปฏิรูปไปกว่า 3,188 เรื่องทั่วโลก โดยการเริ่มต้นธุรกิจเป็นตัวชี้วัดที่ถูกปฏิรูปมากที่สุดกว่า 626 ประเทศ และทำให้เวลาในการเริ่มต้นธุรกิจเฉลี่ยของโลกลดลงจาก 53 วันเหลือเพียง 20 วัน

“นโยบายภาครัฐคือว่ามีบทบาทที่ไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าบริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดกลางที่จะเกิด ดำเนินงาน และขยายตัว รัฐบาลทั่วโลกหันมาหารายงานฉบับนี้สำหรับข้อมูลที่เป็นกลางที่จะช่วยให้ตัดสินใจเชิงนโยบายได้ และสำคัญยิ่งกว่านั้น การเปิดเผยและโปร่งใสในกระบวนการจัดทำรายงานทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่จะปฏิรูปเพื่อให้บริษัท ครัวเรือน และสังคมได้รับประโยชน์ในภาพรวม” Shanta Devarajan ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการพัฒนา ธนาคารโลก กล่าว

ดูเอกสารเพิ่มเติม