ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ศุภชัย เจียรวนนท์” ปักธงพาเครือซีพีขึ้น TOP 10 บริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ปักธงพาเครือซีพีขึ้น TOP 10 บริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก

3 พฤศจิกายน 2017


“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563 ของเครือซีพี” ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา

3 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพีบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จากห้วงเวลาที่เครือซีพีถูกสังคมจับตาและตั้งคำถามถึงประเด็นที่อ่อนไหวมากที่สุด ถึงปัญหาแรงงานทาสที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของการทำประมงที่ใช้แรงงานทาสในธุรกิจอาหารสัตว์  ไปจนกระทั่งปัญหาการรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดในภาคเหนือ มาจนถึงวันนี้ที่เครือซีพีปรับกระบวนทัพความยั่งยืนครั้งใหม่

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563 ของเครือซีพี” หรือ “CP Group Sustainability Goals 2020” ต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพีและสื่อมวลชนกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม

โดยใช้จังหวะก้าว หลังจากบริษัทธุรกิจหลักและเครือซีพีได้รับการยอมรับจาก 4 สถาบันจาก 3 ทวีป เช่น การได้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices, การเป็นสมาชิกความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index การได้รับการประเมินที่ดีจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) และการได้ CG 5 ดาวจากโครงการ CGR2560 ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย

เรื่องนี้จึงไม่ได้น่าสนใจเพียงการเป็นครั้งแรกที่เครือซีพีและธุรกิจในเครือ 13 กลุ่มมีเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะต้องบรรลุร่วมกันให้ได้ภายในปี 2563  และยังอาจเป็นการพลิกบทบาทมาเป็นผู้นำของการสร้างบรรทัดฐานและธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ให้กับองค์กรธุรกิจไทย ในการประกาศเป้าหมายและพันธสัญญาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรต่อสาธารณะ

เป้าหมายใหม่: ความยั่งยืน-ความท้าทาย

ภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563” เครือซีพีได้เปลี่ยน “กลยุทธ์ธุรกิจ” และ “กลยุทธ์ความยั่งยืน” ที่เคยอยู่แยกกันมารวมกันภายใต้เป้าหมายใหม่โดยมีตัวชี้วัด 12 เป้าหมายซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)  และเป็นเป้าหมายที่กลุ่มธุรกิจในเครือซีพีทั่วโลกจะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุให้ได้ภายในปี 2563 โดย 12 เป้าหมายครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น เรื่องการกำกับกิจการ สิทธิมนุษยชน การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีความรับผิดชอบ การศึกษา การบริหารจัดการนวัตกรรม เป็นต้น

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี  กล่าวว่า “เป้าหมายนี้จะทำให้เครือซีพีอยู่ในระดับโลก (worldclass) ด้านความยั่งยืนภายในปี 2563 โดยเราวางไว้ว่าภายใต้โรดแมป 10 ปีจากนี้เราอยากให้เครืออยู่ใน TOP10-TOP20 ด้านความยั่งยืนของโลก”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายเป้าหมายจะเห็นได้ว่าหลายเรื่องนั้นท้าทายอย่างมากเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปัจจุบัน เช่น เป้าหมายของวัตถุดิบหลักผ่านการประเมิน การจัดหาจากแหล่งที่ไม่บุกรุกทำลายป่าและทรัพยากรทางทะเล 100% ซึ่งข้อมูลจากรายงานความยั่งยืนล่าสุดระบุว่า จนถึงปี 2559 วัตถุดิบปลาป่นและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100% มาจากแหล่งที่รับผิดชอบ ในขณะที่ถั่วเหลืองสามารถจัดหามาจากแหล่งที่รับผิดชอบ 27% โดยน้ำมันปาล์มและมันสำปะหลังยังอยู่เพียงในขั้นตอนการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ

ทว่า ในมุมของ “ศุภชัย” เขาเชื่อว่า… 

เป้าหมายความยั่งยืนก็เหมือนเป้าหมายธุรกิจ บางเรื่องก็อาจจะล้มเหลว บางเรื่องก็อาจจะสำเร็จ แต่ในท้ายที่สุดนี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดมากขึ้นในการทำธุรกิจ” 

จาก “จุดเริ่มต้น” จนถึง “อนาคต”

สำหรับจุดเริ่มต้นเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2559 โดยมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทในเครือซีพีและบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ภายใต้โจทย์การทำให้เครือซีพีสามารถดำเนินการด้านความยั่งยืนให้เทียบเท่าบริษัทในระดับโลก ประเมินและมองหาแนวทางที่เครือซีพีจะสามารถก้าวขึ้นเทียบเท่าบริษัทชั้นนำด้านความยั่งยืนในระดับโลก หลังจากที่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ประกาศนโยบายความยั่งยืนฉบับแรกและมีการทบทวนปรัชญาและแนวทางดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาเพื่อให้เป็นรูปธรรม ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์ CP Excellence ความเป็นเลิศของเครือและการดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในปีเดียวกัน โดยซีพีเชื่อว่าการขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงไปจนการมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร

ปัจจุบันภายใต้โครงสร้างการบริหารงานด้านความยั่งยืน มี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอเครือซีพี เป็นประธานสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร โดยขึ้นตรงกับ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ และมี “นพปฎล เดชอุดม” นั่งเป็นรองประธานสำนักฯ โดยทำงานกับคณะทำงานด้านความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร ที่มาจากทุกกลุ่มธุรกิจของเครือ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

จับตาความริเริ่มใหม่ปี 2561 กองทุนเพื่อสังคม Social Impact Fund

ปัจจุบันเครือซีพีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในอุตสาหกรรมอาหารโลก มีรายได้รวม 869,004 ล้านบาท จากการเปิดเผยล่าสุดในรายงานความยั่งยืน ประจำปี 2559 สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยแบ่งเป็นผลประโยชน์ของพนักงาน 65,008 ล้านบาท ภาษีที่จ่ายให้รัฐบาล 23,226 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา 4,576 ล้านบาท สร้างคุณค่าทางสังคม ในการทำงานส่งเสริมอาชีพและคุณค่าชีวิตให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเปราะบาง รวม 52,948 คน สนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับคน 2,021,352 คน

และจากการเปิดเผยล่าสุดของ “ศุภชัย” ระบุว่า ในการดำเนินการโครงการเพื่อสังคม ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2015-2017 เครือซีพีใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 15,700 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณโครงการด้าน CSR และเงินบริจาครวม 3,000 ล้านบาท (มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์, มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท, CPF, CPALL, TRUE) ทุนการศึกษา 2,000 ล้านบาท งบประมาณโครงการผิงกู่ในประเทศจีน 8,000 ล้านบาท งบประมาณลงทุนใน ICT Digital Connectivity โรงเรียนประชารัฐ รวม 2,700 ล้านบาท

นายศุภชัยกล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าจะขยายการดำเนินงานในการวัดผลด้านความยั่งยืนและการจัดทำรายงานความยั่งยืนไปยังบริษัทสาขาของเครือซีพีใน 20 ประเทศทั่วโลก จากในปีที่ผ่านมาเปิดเผยข้อมูลและจัดทำรายงานความยั่งยืนมีขอบเขตการดำเนินการเฉพาะธุรกิจเครือซีพีในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการลงทุนทางสังคม โดยเตรียมจัดตั้งกองทุน Social Impact Fund ซึ่งจะลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีทุนประเดิมเบื้องต้นประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยยกระดับการดำเนินการในการสร้างคุณค่าทางสังคมให้สามารถสร้างผลกระทบ สร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการลงทุนในธุรกิจที่เราถนัด และเชื่อว่ากองทุนฯ นี้จะทำให้การทำงานสังคมมีความชัดเจนขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็น “ปีทอง” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพี โดยเฉพาะที่บริษัทในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือได้รับการยอมรับจากองค์กรในระดับโลก โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา CPF, CPALL และ TRUE ซึ่งเป็น 3 บริษัทหลักในเครือ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI หรือกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลก
  • สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืนได้รายงานผลคะแนนความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิกได้คะแนนถึง 72.2% อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 78-82%
  • CPF และ TRUE ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index ซึ่งจัดอันดับโดยฟุตซี่ รัสเซล
  • เดือนตุลาคมที่ผ่านมาบริษัทในเครือซีพีได้รับการจัดอันดับจากโครงการ CGR2560 ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย IOD ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า CPF และ TRUE ได้คะแนน 5 ดาวส่วน MAKRO ได้คะแนน 4 ดาว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 12 ประการของเครือซีพี

สำหรับเป้าหมายความยั่งยืนของเครือซีพี ประกอบไปด้วยเป้าหมาย 12 เป้าหมาย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์  3 ด้าน ได้แก่ HEART, HEALTH, HOME มีรายละเอียดดังนี้

HEART: มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 1 Corporate Governance การกำกับดูแลกิจการ – ร้อยละ 100 ของกลุ่มธุรกิจในเครือฯ มีการเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลและความยั่งยืนผ่านรายงานของเครือฯ

เป้าหมายที่ 2 Human Rights & Labor Practices สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน – ร้อยละ 100 ของกลุ่มธุรกิจในเครือมีการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence)

เป้าหมายที่3 Leadership&Human Capital Development การพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล ร้อยละ 100 ของผู้นำและพนักงานผ่านการอบรมและพัฒนาความรู้และความเข้าใจด้านความยั่งยืน

เป้าหมายที่ 4 Stakeholder Engagement การสร้างความผูกพันกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ร้อยละ 100 ของกลุ่มธุรกิจในเครือฯ มีกระบวนการสร้างความผูกพันกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

HEALTH: มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ยั่งยืนการส่งเสริมความเป็นอยู่ของเพื่อนมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งสังคม สุขภาพกาย ใจ และสติปัญญา

เป้าหมายที่ 5 Social Impact คุณค่าทางสังคม เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง 100,000 ราย ได้รับการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิต

เป้าหมายที่ 6 Health& Well-being สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – ร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มุงเน้นสุขโภชนาการ สุขภาพและสุขภาวะที่ดี

เป้าหมายที่ 7Education การศึกษา เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ 4,350,000 คนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่จำเป็น

เป้าหมายที่ 8 Innovation การบริหารจัดการนวัตกรรม เพิ่มมูลค่านวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการร้อยละ 50 เทียบกับปีฐาน 2559

HOME: มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 9 Climate Change Management การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ลงร้อยละ 10 เทียบกับปีฐาน 2558

เป้าหมายที่ 10 Water Stewardship การดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ลดปริมาณนำน้ำมาใช้ต่อหน่วยรายได้ลงร้อยละ 10 เทียบกับปีฐาน 2558

เป้าหมายที่ 11 Ecoststem& Biodiversity Protection การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ร้อยละ 100 ของวัตถุดิบหลักผ่านการประเมินการจัดหาจากแหล่งผลิตที่ไม่บุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล

เป้าหมายที่ 12 Responsible Supply Chain Management การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีความรับผิดชอบ ร้อยละ 100 ของคู่ค้าธุรกิจหลักได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้