ThaiPublica > คนในข่าว > ถอดหลักการทำงานของ “ก่อเกียรติ ทองผุด” การฝึกฝน 20 ปีเพื่อจะได้โอกาสแค่วันเดียว(ตอนจบ)

ถอดหลักการทำงานของ “ก่อเกียรติ ทองผุด” การฝึกฝน 20 ปีเพื่อจะได้โอกาสแค่วันเดียว(ตอนจบ)

16 พฤศจิกายน 2017


ต่อจากตอนที่1

ชื่อไม่ได้มาด้วยโชค ไม่ใช่เพียงความรู้จากครูสู่ศิษย์ที่ พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ถ่ายทอดไปสู่นายช่างศิลปกรรมชำนาญการอย่างเขา แต่ความกล้าและความเพียร บวกกับการไม่รีรอให้โอกาสมาหา แต่เขาเลือกที่จะก้าวเข้าไปหาโอกาส ผลักเขาให้เดินมาถึงวันนี้

การทำงานอย่าง “ก่อเกียรติ”

  • จัดการเวลา นายช่างผู้นี้เรียกได้ว่าเป็นนักบริหารเวลาที่ดีคนหนึ่ง ด้วยฝึกตัวเองให้คุ้นชินกับความกดดันที่ต้องทำทั้งงานราชการ เรียนปริญญาโท และรับงานส่วนตัว ในวัยที่เริ่มสร้างฐานะ

“ผมออกจากบ้านพี่ชายแล้วก็มาอยู่ที่ทำงาน มาอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน เพราะซื้อเวลา งานต้องจบ เราต้องเรียน แล้วเรียนก็ต้องจบเพราะต้องทำการทำงาน ทำให้มันถ่วงดุลกัน คือทำให้เราวางแผนเลยว่าจะทำงานให้เร็วได้อย่างไร ทำงานนี้ให้เร็วได้ไง ต้องคิดหาวิธีการ เราก็ฝึกตัวเอง”

ด้วยงานสถาปนิกเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องง่วนอยู่กับการคิด ออกแบบ เขียนแบบ เวลาทุกนาทีเป็นสิ่งมีค่า กับงานที่รักทำให้ครั้งหนึ่งก่อเกียรติถึงกับยอมขายบ้านแล้วมานอนที่ทำงานเพื่อซื้อเวลา ได้ทำงานจนถึงตี 4 ให้งานเสร็จแล้วพักผ่อนช่วงกลางวัน ตื่นแล้วจึงเซ็นชื่อเข้าทำงาน ทำอย่างนี้อยู่ประมาณ 5-6 ปี

“การทำงานเกินเงินเดือนผมทำมาตลอด เพราะขณะที่หลายคนรีบออกจากที่ทำงานเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ผมวิเคราะห์ทันทีว่าเดินทางไปรถติดอีกประมาณ 2 ชั่วโมงผมไม่ไป ผมอยู่เพราะผมไม่อยากจะกลับ กลับไปก็เสียเวลา ผมก็เอางานให้เสร็จดีกว่า ผมก็ทำงานจนถึงทุ่มสองทุ่ม แต่ไม่ไปทำบ่อยๆ ท่านอาวุธเลยเห็นว่าผมยังอยู่ กลับมาจากการประชุม 6 โมง ทุ่มนึง หรือ 5 โมงบ้าง ท่านก็จะมาตรวจงานเราก็ทำตลอด หรือเวลาพักกลางวัน เที่ยงทุกคนลงแล้ว ผมไม่ลง ลงไปแล้วต้องไปนั่งรอ ผมก็จะลงไปประมาณบ่ายโมง ไปถึงสั้น แล้วกินข้าวแกง แล้วขึ้นมาเสร็จ ผมก็ไม่ต้องไปรอพร้อมคนอื่น โต๊ะผมว่างแล้ว ผมก็สั่งปั๊บกินปุ๊บ กลับมา”

  •  เพดานสูงสุดหยุดเราไม่ได้ เราต้องไปเหนือกว่าเพดานนั้น คือสิ่งที่ทำให้เขาหมั่นศึกษาหาความรู้ผ่านหลัก 3 ครู มาตลอด

“งานลักษณะแบบนี้ (งานออกแบบพระเมรุมาศ) เป็นงานมรดกของชาติ เป็นวัฒนธรรม และโอกาสที่จะฝึกหรือทำงานนั้นใช่ว่ามีบ่อย งั้นเราต้องฝึกตัวเอง เพื่อจะได้โอกาสแค่วันเดียว เหมือนตีกอล์ฟเหมือนกีฬามันซ้อมตั้งกี่วัน ทำตั้งกี่ครั้งถึงจะไปแข่งครั้งเดียวว่าผลแพ้หรือชนะ ก็เหมือนกัน คุณจะบอกคุณมานั่งปั๊บแล้วเขียนเลยไม่ใช่แล้ว มันต้องซ้อมมันต้องฝึก จะไปเหนือกว่าเพดานนั้นคุณต้องทำงานเหนือที่คนอื่นเป็น”

  • ไม่ทำแบบเดิมๆ ถ้าทำแบบเดิมๆ คือความสำเร็จที่อยู่ในกรอบ แล้วขีดกรอบตัวเองสำเร็จแล้วก็กลัวทำให้เราไม่ออกจากกรอบนั้น ทำเดิมๆ สำเร็จเดิมๆ

“อันนี้ก็มาจากพื้นฐาน ทำแล้วไม่ทำอีก ซ้ำอย่างเดิมอย่าทำ ทำแล้วไม่เอาเราต้องฝืนออกมา ต้องเปิดออกมา ฝืนออกมาจนแบบว่าทำเป็นนิสัย”

  • การถ่ายทอดทักษะที่ได้จากการฝึกฝน ด้วยความมั่นใจในหลักการ กล้าหาญที่จะลงมือ มีปัญญาเกิดจากการใช้ทักษะแล้ว ผ่าน 3 สิ่ง 1) สมอง การพลิกแพลง การคำนวณตัวเลขต่างๆ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่เหมาะสมกับชิ้นงาน 2) ตา ต้องเห็นของดี เห็นของที่งาม อ่านมาในสิ่งที่ถูกต้อง อ่านหนังสือเล่มไหนประเมินออกมาได้ ไม่ใช่เพียงการอ่านเรื่อยเปื่อย รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาตัวตน เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่บุคลิกซูบโทรม แล้วใช้ข้ออ้างว่าคือความเป็นศิลปิน 3) มือ คือ การเขียนออกมา ถ่ายทอดความคิดจากสมอง จากตา มาสู่ในการเขียนการสเกตช์ การร่างแบบ สื่อสารให้คนอื่นได้เข้าใจ

“คุณมีความสามารถแสดงทักษะที่แท้จริงได้ไหม นี่สำคัญนะ คนที่ไปไม่ถึงอาจเป็นคนที่คิดอ่านดี แต่พอทำลงมา แสดงออกมาไม่เป็น แสดงออกมาในแบบขนาดนี้ ถ้าคุณจะเขียนแบบพระเมรุ คุณจะต้องแสดงอะไรบ้าง แสดงรูปด้านรูปตัดรายละเอียด ดีเทล ตรงไหนบ้าง นั่นคือการแสดงออกแล้ว แสดงออกเพื่อที่จะสื่อสารกับคนอื่น สื่อสารกับคนอื่นเข้าใจไหม เป็นหรือเปล่า เป็นภาษาที่สวยไหมนั่นคือแสดงออกมาที่ในภาษา

เส้นทุกเส้นในงานสถาปัตย์ไทยต้องมีความหมายไม่ใช่เขียนลงไปว่าเส้นหยักเส้นนี้คืออะไร เส้นหยักเส้นนี้เพื่อให้เกิดความเร้าใจก็จริง แต่ภายใต้สิ่งนั้นต้องรู้เรื่องของคติความเชื่อ เรื่องของหลักการใช้ฐานานุศักดิ์ รวมทั้งบุคคลคนนั้นที่เรากำลังจะทำการออกแบบว่าบุคลิกลักษณะ หรือว่าท่านเป็นปราชญ์ด้านไหน ต้องสื่อออกมาให้ได้ ความเป็นตัวตนของพระองค์”

  • ทำให้เป็นสันดาน ประพฤติ ปฏิบัติ ให้ติดเป็นตัวตน เมื่องานชี้มาที่เราสิ่งที่ต้องบอกตัวเองคือ ทำให้สำเร็จ จะสำเร็จได้ต้องรู้อะไรบ้าง แล้วทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องง่าย

“ทุกคนถามว่าอาจารย์ก่อไม่กดดันเหรอ ทำงานไม่มีเวลากดดันเลยครับ ผมทำด้วยการที่ผมบอกว่า เรื่องงานนี้เริ่มเป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุกมาก และถามว่าถ้าเราเอาตรงนั้นมาทบทับตัวเองนั่นเรากำลังกดดันว่าเราต้องมีชื่อเสียงต้องทำเราดีต้องทำแล้วเลิศ แต่เราอยู่ในใจอยู่แล้วว่าเราเปิดตัวเองเป็นนิสัยเป็นประพฤติเป็นสันดานไปแล้ว ว่าเราทำงานทุกครั้งต้องใช้ความถ้วนถี่ที่มาก ต้องใช้เหตุผล ต้องทำอะไรต่างๆ ต้องออกมาแล้วสื่อถึงพระองค์ ก็เลยเราคิดอยู่แล้วแต่เราเอาความคิดนั้นมามุ่งมั่นกับงานมาโฟกัสกับงาน”

  • ก้าวเข้าหาโอกาส ก่อเกีรยติกล่าวเสมอว่า เขามาจากคนที่ด้อยโอกาส ไม่พร้อม ไม่เป็น การได้ทำงานกับอาจารย์อาวุธคือสิ่งที่เขาได้รับจากการก้าวไปหาโอกาส ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ใดๆ

“ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ต้องทำออกมา อย่าก้าวเดินออกมาโดยไม่มีความพร้อม คุณต้องมีความพร้อม ต้องมีความแกร่ง ต้องมีรับได้ในบางเรื่องที่คุณโดน คุณจะมาหน่อมแน้มแล้วร้องเรียกน้ำตาไม่ได้เลยว่าถ้ามันอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่ออย่างนี้ให้เห็นใจว่าไม่มีโอกาส มีอย่างเดียวที่บอกก็คือ ทำ ทำ ทำ ทำอย่างเดียว ทำภายใต้ที่ความกดดัน แต่ถามว่าตื่นเต้นไหม ไม่ สบายมากสนุกสนาน แต่เหมือนมีอะไรรอเราอยู่ เรารู้ เพราะฉะนั้น ความเหนื่อย ความอดนอนอดอะไรแทบจะมองไม่เห็น อันนี้ผมบอกได้เพราะผมผ่านมาแล้ว”

  • เป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น

“ผมก็ต้องหล่นไกลต้นเหมือนกับที่อาจารย์วิรุณพูดถึง ทำไมต้องหล่นไกลต้น ถ้าหล่นใต้ต้นนั้นต้นไม้ต้นนั้นอาจจะไม่เติบโตก็ได้ ต้นไม้ต้นนั้นอาจจะเติบโตแล้วใหญ่ แล้วขึ้นมาคลุมต้นนั้น นั่นคือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด เราก็ต้องไปหล่นไกลต้น เพื่อจะเติบโตขึ้นมาแล้วให้ป่านั้นมีหลายๆ ต้น เมื่อโตก็จะรวมเป็นป่าที่สมบูรณ์ เราก็จะสมบูรณ์ แล้วเราก็จะส่งชื่อเสียงครูนั้นต่อจากเรา เราต่อชื่อเสียงครูมาให้เป็นประจักษ์ นี่คือที่ผมทำ ใช้สูตรวิธีการแนวคิดนี้เหมือนกันว่า ผมก็ต้องหล่นไกลต้น”

  • ทำความคิดให้ออก ทำให้ได้ ทำให้ถูก ทำให้สำเร็จ เป็นหลักการที่ก่อเกียรติเขียนกำกับตนเองไว้ทั้งบนบอร์ดหน้าโต๊ะเขียนแบบ และในแบบร่างที่เขาเขียน

คิดให้ออกก่อนว่าที่จะออกแบบพระเมรุของพระองค์นั้นมีอะไรบ้าง มีอะไรบ้างก็สอดคล้องกับพอดีที่ว่า ต้องมีเรื่องความสมพระเกียรติ แสดงถึงพระบารมีของพระองค์ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แสดงรายละเอียดว่าพระองค์นั้นเป็นพระมหากษัติรย์ พระมหากษัตริย์นั้นรูปแบบบุษบกนั้นบุษบกของพระองค์นั้นต้องทำอย่างไร จึงจะเป็นบุษบกของพระองค์ แล้วแสดงความเป็นบุษบกที่ไม่เคยเหมือนมาก่อน ก็เป็นบุษบก 7 ชั้นเชิงกลอน ทำให้ได้คือเขียนให้ได้ ก็เหมือนที่ครั้งแรก มือนี้ผ่านออกมาให้ได้ ทำให้ถูกนั้น ต้องตามฉันทลักษณ์ ถูกต้องตามฐานานุศักดิ์ ถูกต้องตามคติความเชื่อ

ทำให้สำเร็จ ท่านอาวุธเน้นมาก เพราะท่านเป็นศิลปินเป็นนักบริหาร เพราะเป้าหมายความสำเร็จนั้นบางทีเรามองเสียเลิศเลอ แต่ว่างานต้องสำเร็จด้วย แต่สำเร็จนั้นต้องทำอย่างไร ท่านพูดอยู่เสมอว่างานดีไม่ทันเวลาคุณค่าไม่มี ฉะนั้นจะออกแบบดีเด่ ดูแบบ เขียนงามเลิศเลอ แต่ไม่ตรงกับเวลาความต้องการเขามันก็ไม่มีประโยชน์แล้ว

  • เป็นคนตัวเล็กที่ยืดหยุ่น รับฟังทุกเสียงวิพากษ์และแนะนำ

จากช่างศิลปกรรม ที่ไม่เคยเขียนแบบ เริ่มต้นเรียนรู้งานจากการคัดเส้น เปิดตำรา จดจำ แลกเปลี่ยนความรู้กับครู กับผู้รู้ เรียนรู้จากสถาปัตยกรรมในวัดวาอาราม จนเริ่มได้รับความไว้วางใจให้เขียนรูปด้าน ตลอดจนลายรดน้ำ ไปสู่การขยายแบบเท่าจริง กว่า 20 ปีที่ไม่เคยย่อท้อ ทำให้วันนี้เขามีองค์ความรู้ครบถ้วนที่จะเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมถึงพิพิธพัณฑ์ไม้มีค่าที่มีมูลค่าโครงการกว่า 2,400 ล้านบาท

หลักคิดทั้ง 9 หลักใหญ่ คือสิ่งที่ได้จากการพูดคุยกับ นายช่างศิลปกรรมลูกไม้ไกลต้นผู้นี้ สิ่งที่เขาปฏิบัติมาตลอดหลายสิบปี วันนี้เขาได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ และพร้อมที่จะส่งต่อเมล็ดพันธุ์ส่งเสริมป่าใหญ่ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์