ThaiPublica > คนในข่าว > ถอดองค์ความรู้ จากครูสู่ครู: ก่อเกียรติ ทองผุด กับหลัก 3 ครู สู่พระเมรุมาศ บุษบก 9 ยอด(ตอนที่ 1)

ถอดองค์ความรู้ จากครูสู่ครู: ก่อเกียรติ ทองผุด กับหลัก 3 ครู สู่พระเมรุมาศ บุษบก 9 ยอด(ตอนที่ 1)

15 พฤศจิกายน 2017


การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถ 2 อย่างเป็นสำคัญ คือ สามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ต้องดำเนินคู่กันไป และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดเห็นที่เป็นอิสระ ปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุผลด้วย จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมาย
และประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วนแท้จริง
– พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน
1 เมษายน 2528

ก่อเกียรติ ทองผุด สถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุมาศฯ

“ก่อเกียรติ ทองผุด” หลายคนคงคุ้นหูกับชื่อนี้ในตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุมาศสำหรับ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และอาจได้ยลโฉมผลงานนี้จากนิทรรศการพระเมรุมาศ ระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560 โดยผลงานชิ้นนี้เป็นโอกาสที่เขาหรือใครๆ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่นี่คือสิ่งสุดท้ายที่เขานั้นจะได้ทำหน้าที่ของนายช่างแห่งกรมศิลปากร เป็นที่สุดของชีวิตในการรังสรรค์สถาปัตยกรรมสุดท้ายที่จะส่งในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัยอย่างสมพระเกียรติที่สุด

ไม่ผิดไปจากพระบรมราโชวาท ความสำเร็จของพระเมรุมาศเกิดจากองค์ประกอบ 2 ประการข้างต้น เพราะงานสถาปัตยกรรมไทยไม่ใช่งานง่าย ทุกลายเส้นทุกองค์ประกอบล้วนมีความเป็นมา มีความหมายที่ลึกซื้งและซับซ้อนไปกว่างานสถาปัตยกรรมทั่วไป เพราะต่างผูกโยงด้วยคติ ความเชื่อ ขนบ และวัฒนธรรม รวมไปถึงหลักการใช้ฐานานุศักดิ์ของบุคคลที่ต้องออกแบบ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มาในชั่วเวลาข้ามคืน โดยก่อเกียรติมีแนวคิดในการพัฒนางาน พัฒนาฝีมือ ผ่าน 3 ครู ได้แก่ ครูที่แท้จริง ครูใบ้ และมิตรที่ดี

ครูที่แท้จริง…ผู้ถ่ายทอด

“พ่อผมบอกเสมอความกล้าหาญเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อเราได้ทำกับใครเราต้องทำให้ประสบความสำเร็จ และทำนั้น ถ้าเราจะทำงานและรักงานนี้ ต้องทำงานให้อยู่ในใจท่านเสมอ แต่ท่านใช้ใครก็ได้” ก่อเกียรติ กล่าว

ครูคนแรกของก่อเกียรติ คือ พ่อของเขาที่สอนทั้งวิธีคิดในการดำเนินชีวิต วิชาคำนวณ และงานไม้อันเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่องานช่าง ทั้งการเรียนวิชาภาพฉายจากวิทยาลัยเพาะช่าง ในการออกแบบมุมเปอร์สเปกทีฟ การใช้เส้นบอกระยะ เส้นร่างเส้นรูป เส้นบอกขนาด วิธีคิด การใช้ฐานข้อมูลที่ได้จากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้การถ่ายทอดงานของก่อเกียรติไปสะดุดตา พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม จนได้ทำงานเป็นลูกมือ และอาจเรียกได้ว่าเขาเป็นมือขวาของบรมครูสถาปัตยกรรมไทยผู้นี้

ก่อเกียรติ กับการได้ทำหน้าที่ที่เป็นที่สุดในชีวิตในฐานะนายช่างกรมศิลปากร

เขาบอกเล่าว่า กว่าตนจะได้ร่างแบบจริงก็ทำได้เพียงแค่ดู อาจารย์อาวุธขยายแบบ ทำหน้าที่เหลาดินสอ ตระเตรียมสิ่งของให้ท่าน นั่งดูท่านร่าง แค่เพียงการติดกระดาษเท่านั้นที่ท่านเรียกใช้ นั่งอยู่อย่างนั้นนานนับสัปดาห์เพื่อดูท่านเขียนแบบขยาย ซึ่งขณะนั้นเป็นการเขียนแบบขยายจั่วพระที่นั่งกาญจนาภิเษก แต่เมื่อท่านเขียนแบบเสร็จ ก็เรียกให้เขาไปคัดเส้น (การเอากระดาษไขมาปูแล้วลอกลาย) เท่านั้น

“การทำงานเราต้องมั่นใจ โดยต้องเปิดความโง่ของตัวเองออกมา ความไม่รู้ของเราออกมา ว่าเราไม่รู้ตรงนี้ ผมจะไปเชิญท่านมาให้ดูตรงนี้ ไปหาข้อมูลมา แล้วรอท่านให้ท่านมาตัดสินใจ ไม่ใช่เราจะตัดสินใจอะไรได้โดยพลการ นี่คือกล้าหาญเหมือนกัน ไม่ใช่ต้องเขียนไปทุกอย่างแล้วผิดๆ ถูกๆ เห็นว่าเราอยากจะทำในสิ่งที่เรามั่นใจในข้อมูลแล้ว ไม่ได้ ท่านมีสายตาที่กว้างไกลกว่า ข้อมูลนั้นต้องมาแชร์กับท่านแล้วท่านต้องเห็นด้วยในกรอบอันนี้ แลกเปลี่ยนกัน แล้วตัดสินใจในความที่ท่านเห็นควร ฉะนั้นเราต้องมั่นใจ คือ มั่นใจโดยท่านบอกว่าเอาอย่างนี้นะ เราต้องทำภายใต้ครู ที่ต้องฉลาดพอ ไม่ใช่ว่าเราเก่งกว่าท่าน

กับท่านอาวุธนั้นเมื่อไปเห็นอะไรมา จะมานั่งวิเคราะห์กัน เราต้องหาเรื่องคุย ถ้าไม่คุยเรื่องกีฬาก็คุยเรื่องงาน ถ้าเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราไปหาข้อมูลมาก่อนถ้าทำอย่างนี้ท่านว่าอย่างไร จะทำจั่วลักษณะนี้ว่าอย่างไร เป็นปลายเปิดคำถาม แล้วท่านก็จะบอกเรา ไปถึงก็ทำงานแล้วเขียน เวลาเขียนต้องเขียนต่อหน้า ท่านเป็นถึงอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นถึงศิลปินแห่งชาติ แต่ผมไม่มีอะไรเลย

ฉะนั้น การเขียนนั้นเราต้องรู้ทรวดทรงนั้นก่อน ต้องเข้าใจวิธีการ ต้องไปหาจนเจอแล้วว่าวิธีการจะเขียนแบบนี้ แต่ว่าถ้าเราเขียนไม่เป็นเราเขียนไปตามที่เราคิดไปก่อน แล้วท่านจะมาชี้แนะ ซึ่งท่านอาจจะค้นวิธีพร้อมกับเราหลายเรื่อง ท่านก็ไม่มีฐาน แต่การไม่มีฐานนั้นท่านเห็นจากครูก่อน คือท่านพระพรหมวิจิตรฯ แล้วมาผสมกับเรา ท่านอาจจะมีวิธีคิด มีวิธีของอาจารย์คนนั้น ท่านก็เกิดความคิด เราก็เกิดทักษะขึ้นมา

มันคือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (sharing knowledge) มันไม่ใช่ทำวันต่อวัน เราทำเป็นปี จากปีเป็น 20 กว่าปี มันค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่วันนั้นจนมาสู่การให้ร่างจริง เสร็จก็มาคุยกันเรื่องวิธีร่างพระเมรุ ทำไมผมถึงร่าง 2 แบบ 3 แบบ เพราะท่านสอนวิธีการทำงานไว้เลยจากเมื่อครั้งออกแบบพระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ว่า ถ้าจะร่างแบบให้เจ้านายนะก่อเกียรติ จะรู้ได้อย่างไรว่าท่านให้ทำแบบนั้นแบบนี้ เราต้องทำไปหลายแบบให้ท่านเทียบเคียง ท่านอาจเลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือเอา 2 แบบ 3 แบบนี้มารวมกัน หรือใช้ไม่ได้เลย ท่านก็จะมีแบบเฉพาะให้ เราก็มาทำใหม่ได้ มันก็จะเร็วขึ้นลัดขึ้น แล้วเราก็เน้นตัวตนของเราได้ง่าย”

ความคิดและแบบร่างในการออกแบบที่กลั่นมาจากประสบการณ์ 20 ปี

ในปี 2539 ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต ก่อเกียรติในวัย 37 ปี ได้รับผิดชอบงานพระเมรุมาศเป็นครั้งแรก โดย อาจารย์อาวุธ ได้สเกตช์แบบศาลาลูกขุนแล้วให้เขาขึ้นทรงต่อ รวมทั้งเขียนรูปตัด นอกจากการเรียนรู้โดยการดูการทำงานของอาจารย์อาวุธที่ผ่านมา แม้ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ต้องเขียนรูปตัด  แต่เขาระบุว่างานที่ได้รับมอบต้องทำได้ทั้งนั้น ไม่ได้ก็ต้องหาวิธีมา โดยครั้งนี้เขาเรียนรู้งานจากการสอบถาม สุวิชา เจริญทิพย์ (หัวหน้างานเขียนแบบขณะนั้น)

ก่อเกียรติกล่าวไปถึงการวางตัวการทำงานกับศิลปินใหญ่นั้นต้องทำตัวไม่โดดเด่น ต้องน้อมอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่เป็นเรา เป็นเขา ให้เขาได้สบายใจ ให้เขาเห็นความมั่นใจ แต่ว่าเราต้องเป็นเราด้วย ไม่ใช่เราทำเท่าที่ท่านให้ทำ แต่เราต้องทำเป็นตัวของเรา เราก็ต้องมีงานของเราเกิดขึ้นให้ได้ในแต่ละส่วนๆ แล้วก็คนอื่นเขาก็ใช้เราเหมือนกัน

สิ่งที่ส่งต่อและถ่ายทอดไม่ใช่การสอนเฉกเช่นในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้งานผ่านการทำงานจริง เขียนแบบจริง วางหลักคิดและวิเคราะห์ร่วมกัน การคิดคอนเซปต์งานเป็นสิ่งที่ส่งต่อจากครูสู่ศิษย์ ก่อเกียรติยกตัวอย่างงานออกแบบศาลาไทยหลังคาจตุรมุขที่จัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 สำหรับทอดพระเนตรเรือทางชลมาศ ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะสันติชัยปราการ (ป้อมพระสุเมรุ) ศาลาไทยหลังนี้ถูกออกแบบให้มีคันทวยเป็นพญานาค แสดงถึงสายน้ำ พนักมีลักษณะคล้ายกันยาเรือ ลายของศาลาเป็นลายพฤกษาเพราะอยู่ในสวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาในตำราไม่ได้

บรรยากาศในห้องทำงานออกแบบของก่อเกียรติ

สิ่งที่อาจารย์อาวุธสอน ก่อเกียรติระบุว่าทั้งหมดนั้นคือวิธีคิด หลังจากได้คอนเซปต์ จึงเป็นการฝึกปฏิบัติอ่านตีโจทย์ให้ขาด ซึ่งตัวเขาได้เก็บงานของอาจารย์อาวุธไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบบร่างชื้นเล็กชิ้นน้อยเพียงใดก็ตาม เพื่อทำการศึกษาวิธีคิดของผู้เป็นอาจารย์

นอกจากนี้ยังมีชื่อของ อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ที่ก่อเกียรติเอยถึง โดยท่านเป็นสถาปนิกออกแบบเมรุของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวมถึงพระอุโบสถพระพุทธโสธร ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และศาลหลักเมืองที่ จ.อยุธยา เป็นต้น สิ่งที่สอนสั่งให้เขาจำขึ้นใจและนำมาใช้กับทุกการทำงานคือ การออกแบบนั้นอันดับแรกต้องคำนึงว่า ออกแบบเพื่อใคร ใครเป็นคนใช้

“อาจารย์ประเวศว่าไว้ คนที่จะออกแบบเมรุนั้นต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 30 ปี คนที่จะออกแบบเมรุนั้นต้องล่วงรู้เรื่องของไม้ ต้องเข้าใจการใช้ไม้ ไม้อย่างนี้ต้องใช้ยังไง ไม้สักใช้อย่างไร ไม้นั่นยังไง คงต้องไปเป็นช่างไม้ ต้องรู้เรื่องพระไตรปิฎก ต้องเข้าใจเรื่องหลักธรรม เข้าใจเรื่องหลักไตรภูมิตามพระพุทธศาสนา ก็คงต้องไปบวชแล้วถึงจะได้ หรือเข้าใจเรื่องหลักของ 10 หมู่ งานของ 10 หมู่ ทั้งหมดต้องเข้าใจศาสตร์ทั้ง 10 หมู่ ต้องใช้ 30 ปี ต้องเป็นคนที่มีอายุมากที่สุดในหน่วยงานนั้นๆ และเป็นคนเบอร์ 1 ในที่นั้น เพื่อจะเกิดให้คนไว้วางใจ ผมไม่มีโอกาสแล้ว

แต่เรามีความคิดของเราทันทีว่า เราจะไปถึงเป้าหมายที่เร็วนั้นต้องทำอะไร 1) อยู่กับท่านอาวุธ 2) ความรู้เราต้องจริง ความรู้ต้องจริงทักษะต้องจริง ทำได้จริง พูดจริง เขียนจริง และทำได้ตั้งแต่แรกไปถึงจนจบ เขียนแบบร่าง แบบสเกตช์ แบบรูปด้านรูปตัด รายละเอียดงานต่างๆ ต้องรู้ให้จริง ทำแบบก่อสร้างต้องรู้ขั้นตอนก่อสร้างเกือบจะทั้งหมด”

“20 กว่าปีที่ทำงาน และการออกแบบพระเมรุครั้งนี้ ไม่มีครู (อาจารย์อาวุธ) ผมทำไม่ได้ ผมบอกไว้เลยอย่าไปคิดเลยว่าเรียนมานั้นเพียงพอ เป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศพูดจริงๆ ต้องรู้หลักจริงๆ รู้ทุกเรื่อง รู้จิตใจ รู้หลบรู้หลีก แต่ความรู้นั้น ถ้าบอกว่าคุณรู้ทุกอย่างคนไม่มีโอกาสได้ทำงานหรอกครับ คุณต้องเป็นน้ำครึ่งแก้วคนถึงจะได้ทำถ้าผมพร้อมทุกอย่าง ผมไม่มีโอกาส ผมไม่ได้ทำงานหรอก ผมมาจากความไม่พร้อม ผมมาจากความไม่สมบูรณ์ ผมมาเติมจากการที่ได้โอกาสแล้ว ความสมบูรณ์นั้นคือเตรียมตัวให้พร้อมนั่นเอง”

ครูใบ้…ให้เห็นทาง

ความรู้จากครูที่แท้จริง ผนวกกับความรู้ที่ได้จากครูใบ้ คือการศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วถอดองค์ความรู้ออกมา เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกหลายชิ้นที่เขามีส่วนในความสำเร็จ เช่น พระเมรุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, วัดนวมินทรราชูทิศ ตั้งอยู่ที่เมืองเรย์แฮม รัฐแมสซาชูเซตส์, หอระฆังราชาภิเษกสมรสในหลวงที่วัดยานนาวา, ศาลาไทย ที่อาคารปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช, ศาลาไทยในสวนสาธารณะ เมืองบาดฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมันนี เป็นต้น

และงานออกแบบพระเมรุมาศในเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นงานที่ก่อเกียรติระบุว่าเป็นบททดสอบที่แท้จริง เนื่องจากประจวบกับที่บรมครูอย่างอาจารย์อาวุธล้มเจ็บ ทำให้มือขวาอย่างเขาต้องเป็นผู้สานต่อ

หุ่นจำลองพระเมรุมาศ ที่จัดแสดงไว้ที่ท้องสนามหลวง

“ผมร่างแบบเกือบจะแล้วเสร็จท่านก็เข้าโรงพยาบาล แล้วท่านก็มาเซ็นแบบเซ็นอะไร ต้องไปเซ็นที่โรงพยาบาลด้วยซ้ำไป เราก็ร่างแบบทำแบบ ขยายแบบ ทำอะไรต่างๆ นั่นเป็นบททดสอบที่แท้จริงเลย ให้ลงสีจริง ถ้าลงสีนั้นจะเป็นสีลักษณะอย่างไร อะไรต่างๆ โอ้โห ต้องเปิดหนังสือ วางหัวนอนเลย เรียงเป็นตับเลย ไปดูของอาจารย์ประเวศ ดูทางนั้นทางนี้ สีจากเมรุนั้นเมรุนี้ ดูลายทั้งหมด การใช้ลายประมาณไหนถึงจะเหมาะเรื่องอะไรต่างๆ อะไรอย่างนี้ ลายฐานหน้ากระดานเป็นอย่างไร นั่นคือศึกษาจากตรงนี้”

สำหรับงานออกแบบพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งนี้ อย่างที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่ง “ต้องไม่เหมือน” แน่นอนว่างานนี้ไม่ใช่งานง่าย หนึ่งในแรงบันดาลใจมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ วัดทางสาย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบร่างเข้ากับความรู้จากการค้นคว้าเรื่องพระเมรุมาศ เช่น จากหนังสือของ รศ.สมคิด จิระทัศนกุล ที่รวบรวมงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระบิดาทางด้านสถาปัตยกรรมไทย เพื่อใช้บรรยายให้คุณสิริกิติยา เจนเซน (คุณใหม่ พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) เมื่อครั้งฝึกงานที่สำนักสถาปัตย์ กรมศิลปากร  แล้วนำมาประเมินเรื่องของการสื่อความหมายของพระเมรุ ตามคติความเชื่อที่ได้รับจากการไปเยือนบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ถ้ำเอลโลรา ประเทศอินเดีย และการศึกษาตามหลักไตรภูมิในแนวพุทธ ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ

ภาพพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ วัดทางสาย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ รูปแบบของศิลปกรรม ประติมากรรม ได้ถอดแบบมาจากงานศิลป์ในหอพุทธรัตน์ (พระพุทธรัตนสถาน เป็นหนึ่งในอาคารบริเวณสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง เดิมมีฐานะเป็นพระอุโบสถสำหรับฝ่ายใน) และบุโรพุทโธ คือมีลักษณะกล้ามเนื้อที่เหมือนจริง ร่างกายอวบอิ่ม สีสันเหมือนจริง เหมือนมนุษย์จริงเหมือนสัตว์จริง

โดยการผนวกความคิดจากลายเส้นสถาปัตยกรรมไทยที่เขาศึกษาองค์ความรู้จากตำรา และจากการทำงานในอดีต นำมาพัฒนาลวดลายเพื่อสื่อความหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้มีความเรียบง่าย แต่งามสง่า เหมื่อนดั่งพระจริยวัตรของพระองค์ ที่ไม่มีการเติมแต่งให้เยอะจนดูรุ่มร่าม ไม่ได้หรูหราแต่ดูแล้วองอาจเฉียบคม

“เวลาดูสถาปัตยกรรม หรือดูแบบงานต่างๆ ผ่านหนังสือ ครูใบ้กำลังจะสอนเรา เราก็กลับไปศึกษาได้ตีแบบ กลับไปฝึกได้ออกแบบตรงนั้นตรงนี้เรามีวิธีการหาได้ แต่การจะหาได้นั้นต้องฝึกทำงานก่อนกับคนใดคนหนึ่ง แล้วท่านเป็นผู้ชี้แนะว่าควรจะเขียนอย่างไร วิธีการก็คิดกันระหว่างกัน จนเกิดเป็นสูตรอันนี้ออกมา กลายเป็นสูตรวิธีการของเรา ลักษณะเชิงเมทริกซ์ ความสัมพันธ์และจังหวะ รูปทรงต่างๆ ต้องสอดกันทั้งหมด ต้องเข้ากันแบบกลมกลืนเนื้อเดียว ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความคิดเชิงคณิตศาสตร์ ที่บอกว่างามอย่างเดียวไม่พอแต่งามในลักษณะที่สัมพันธ์กัน โดยมีเมทริกซ์คือตัวเลขเป็นตัวกำกับสัดส่วนต่างๆ

อย่างที่ทุกคนถามว่าอาจารย์ก่อไม่กดดันเหรอ ทำงานไม่มีเวลากดดันเลยครับ ถามว่าถ้าเราเอาตรงนั้นมาทบทับตัวเองนั่นเรากำลังกดดันว่าเราต้องมีชื่อเสียงต้องทำเราดีต้องทำแล้วเลิศ แต่เราอยู่ในใจอยู่แล้วว่าเราเปิดตัวเองเป็นนิสัยเป็นประพฤติเป็นสันดานไปแล้วว่าเราทำงานทุกครั้งต้องใช้ความถ้วนถี่ที่มาก ต้องใช้เหตุผล ต้องทำอะไรต่างๆ ต้องออกมาแล้วสื่อถึงพระองค์ เราเอาความคิดนั้นมามุ่งมั่นกับงานมาโฟกัสกับงาน”

มิตรที่ดี สู่งานที่ดี

และครูสุดท้ายที่จะสนับสนุนงานให้ประสบความสำเร็จคือ มิตรที่ดี เขาอาจไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้หากขาดมิตรที่ดีรอบกาย ที่คอยแนะแนวทาง  เนื่องด้วยการเรียนในระดับปริญญาโท ผนวกกับงานในหน้าที่ และงานที่รับทำ ทำให้เขาไม่มีเวลาและอาจส่งผลให้เรียนไม่จบ และคิดจะลาออก แต่สุวิชาเป็นผู้เปลี่ยนความคิดเขา

“ผมจะออกอีกทีหนึ่ง เพราะมันจะหมดเวลาเรียนปริญญาโทแล้ว ผมบอกพี่ผมจะต้องออกแล้วเพราะว่าไม่มีเวลาเลย แต่พี่สุวิชาบอกก่อเกีรยติ ‘การจะเป็นแชมป์เปียนนั้นต้องเดินตามหลังแชมป์เปียนก่อน’ โอ้โหนี่แหละครับ นั่นคือเราเจองานที่เรารักแล้ว แต่เรารักเรายังไม่รู้ว่าลู่ทางของเราจะไปตรงนั้น ผมก็ตอบโจทย์ของผมทันทีว่า ถ้าเราไปที่อื่น หรือไปเป็นครู หรือไปเป็นนักวิจัย ไม่น่าจะเหมาะ เราก็ค้นทันทีว่า 1 เจองานที่รัก คือเจองานที่เราเห็นจากท่านอาวุธ 2 เจอครูที่ดี งานนี้มันไม่เหมือนงานอื่น ผมก็ตัดสินใจผมไม่ไปแล้ว ผมต้องอยู่ตรงนี้”

และสำหรับงานออกแบบพระเมรุครั้งนี้ ก่อเกียรติกล่าวชัดว่างานจะสำเร็จไม่ได้หากมีแค่กำลังของเขาเพียงคนเดียว เพราะเมื่อได้เพื่อนดีแล้วคุณจะได้งานที่ดี มีคนที่จะช่วยเหลือและมุ่งมั่นไปด้วยกัน

“ทีมของเราเป็นทีมที่ปึ้กมากเลย เพราะการทำพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นงานใหญ่ และพระเมรุมาศนั้นใหญ่มาก มีรายละเอียดมาก  มีน้องอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานอาคารประกอบ ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ จะประสานงาน ต่างๆ ดูแบบต่างๆ ว่าไปถึงผู้รับจ้างหรือยัง ผู้รับจ้างต้องการได้อะไร ขยายแบบมีผม คุณสัญชัย ลุยรุ่ง อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาช่วยกันเพราะว่างานมันมากเขาก็ทำหน้าที่วันทั้งคืนจริงๆ ส่วนคุณวิบูลย์ ถนัดกิจ นั้นก็จะทำเรื่องของ 3D ทั้งหมด เรื่องของสี คุณเสกสรรค์ ปัญญารำ มาช่วยเรื่องการเขียนแบบแปลนพระเมรุทั้งหมด เขียนโครงสร้างทั้งหมดเพื่อจะก่อสร้าง เมื่อเราเขียนลายเสร็จก็ไปสแกนลายเส้นมา จากนั้นมีน้องอีกหลายๆ คนในที่ทำงานมาช่วยขึ้นเส้น อีกส่วนหนึ่งเป็นการทำหุ่นจำลองพระเมรุมาศ คุณจิรายุส จันทร์ประโคน ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น ถ้าจะทำงานอื่นใช้เวลา 5-6 เดือนก็ไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า ซึ่งเป็นอภินิหารมาก เราต่างทำด้วยหัวใจเกินร้อย ทำให้พระองค์นั้นสมพระเกียรติมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”

แบบขยายพระเมรุมาศ บุษบกประธาน มาตราส่วน 1 ต่อ 20

องค์ความรู้จะไม่สูญหาย

อีกหนึ่งคำครู ที่ให้แนวทางในการดำเนินชีวิตแก่ก่อเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่เคยสอนตน ได้กล่าวไว้ว่า “ท่านต้องเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น” เพียงประโยคสั้นๆ ทำให้เขาได้ฉุกคิด

“ฉุกคิดตอนที่ผมทำงานกับท่านอาวุธว่า เออ ผมก็ต้องหล่นไกลต้นเหมือนกับที่อาจารย์วิรุณพูดถึง ทำไมต้องหล่นไกลต้น ถ้าหล่นใต้ต้นนั้นต้นไม้ต้นนั้นอาจจะไม่เติบโตก็ได้ ต้นไม่ต้นนั้นอาจจะเติบโตแล้วใหญ่ แล้วขึ้นมาคลุมต้นนั้น นั่นคือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด เราก็ต้องไปหล่นไกลต้น เพื่อจะเติบโตขึ้นมาแล้วให้ป่านั้นมีหลายๆ ต้น เมื่อโตก็จะรวมเป็นป่าที่สมบูรณ์ เราก็จะสมบูรณ์ แล้วเราก็จะส่งชื่อเสียงครูนั้นต่อจากเรา เราต่อชื่อเสียงครูมาให้เป็นประจักษ์ นี่คือที่ผมทำ ใช้สูตรวิธีการแนวคิดนี้เหมือนกันว่า ผมก็ต้องหล่นไกลต้น”

วันนี้มีผู้กล่าวว่า เขามาไกลเกินครูแล้ว เป็นต้นไม้ใหญ่ที่จะสร้างผลให้เติบโตงอกงามต่อไป การควบคุมงานนั้นควบคู่ไปกับการสอนงานแบบที่ อาวุธ เงินชูกลิ่น ให้กับเขา การสอนงานแบบให้โอกาสคนทำงานได้แสดงความสามารถด้วยการแบ่งและกระจายงานออกไป ให้พวกเขาสามารถทำ แล้วอธิบายสิ่งที่ทำได้ ซึ่งจะทำให้ความรู้เหล่านี้ส่งต่อไปสู่งานสถาปัตยกรรมไทยอื่นๆ ไม่ให้ความรู้เหล่านี้ตายไปกับตน

เช่นกันกับข้อมูลทั้งหมดในการออกแบบงานครั้งนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้กับคนอื่นๆ ได้ ก่อเกียรติระบุว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความลับ ใครจะมาขอเขายินดีให้ทั้งสิ้น ทั้งภาพสแกนแบบร่างต่างๆ ที่ตนทำไว้ สามารถนำไปใช้สอนนักเรียนต่อไป เพราะความรู้ไม่ได้ยู่ที่ตน คนในอนาคตคือสิ่งที่สำคัญกว่า สำหรับตนนั้นจบแล้วเพราะรู้แล้ว ทำได้แล้ว

“ในหลวงตรัสมาเสมอ ว่าความรู้ให้อยู่กับประเทศนั้นจะได้พัฒนา ถ้าความรู้นั้นตายไปกับคน หรืออยู่กับคนใดคนหนึ่งนั้นเรากำลังไม่มั่นใจตัวเองแล้ว คุณไม่มั่นใจแล้ว ความรู้เริ่มเสื่อมแล้ว พอเริ่มเสื่อมคุณก็จะบอกว่าคุณเท่านั้นต้องทำเรื่องนี้ จริงๆ ต้องหาคนหลายๆ คนมาช่วยกันทำ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง อย่างที่ผมบอกไม่ใช่ผมแล้วผมต้องไปทำงานอื่นต่อแล้ว  ผมจบแล้ว คุณต้องส่งองค์ความรู้นี้ คนจะได้ทำงานแทนเรา ต้องหล่นให้ไกลต้น เขาจะเอานี้ไปสร้างทำมาหากินนั่นเป็นเรื่องของเขาครับ ต้องเกิดต่อแต่ไม่ใช่ที่เรา”

ชิ้นงานซุ้มคูหาพระที่นั่งทรงธรรม ผลิตตามแบบเท่าจริง
งานปั้นที่ถอดแบบมาจากประติมากรรมจากหอพุทธรัตน์ และบุโรพุทโธ
ส่วนของลวดลายที่ใช้ประดับสถาปัตยกรรมในพระเมรุมาศ

[youtube https://www.youtube.com/watch?v=8HZfbwwyPxo&w=560&h=315]