ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Unwanted Truth: ความจริงที่ไม่อยากพูดถึง แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย-พินัยกรรมชีวิต สู่ “อยู่ดี” จน “ตายดี”

Unwanted Truth: ความจริงที่ไม่อยากพูดถึง แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย-พินัยกรรมชีวิต สู่ “อยู่ดี” จน “ตายดี”

15 กันยายน 2017


เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) จัดงานสัมมนา “Unwanted Truth: ความจริงที่ไม่อยากพูดถึง” และเปิดตัวบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะสุดท้ายของผู้ป่วย ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัทชีวามิตร เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้เรื่อง คุณภาพชีวิตในระยะสุดท้ายและการตายดีให้กับสังคมไทย ด้วยการให้ความรู้ทั้งในมิติการแพทย์ กฎหมาย และจิตใจ ซึ่งดำเนินกิจกรรมใน 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1. การให้ความรู้ 2. ให้คำปรึกษา 3. สร้างพื้นที่ในการร่วมมือสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการร่วมหุ้นและระดมเงินทุนจากผู้ที่สนใจในการพัฒนาสังคม พร้อมกับพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมในการจากไปอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

คุณภาพชีวิต คุณภาพความตาย – การกตัญญูจากการเข้าใจ “ใจ” ของตัวเองจริงๆ

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม เล่าว่า ได้ทำงานเรื่องนี้มาประมาณ 10 ปี ร่วมกับพระไพศาล วิสาโล จนกระทั่งได้จดทะเบียนเป็นบริษัทชีวามิตรในปีนี้ เหตุผลที่มาทำอย่างจริงจังเนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

“ดิฉันได้รับผลกระทบจากความตายตั้งแต่ยังไม่ถึง 3 ขวบ คุณแม่เสียชีวิต ไม่เคยจำท่านได้เลย และมีคนถามตลอดเวลาว่าคุณแม่ไปไหน ก็ต้องตอบตลอดเวลาว่าคุณแม่ตายแล้ว ซึ่งมันมีผลกระทบ เพราะสงสัยอยู่เสมอว่าคนที่เขามีแม่เป็นยังไง เพราะเราไม่เคยสัมผัสเลย”

ครั้งต่อมาที่จำได้ฝังใจ คืออายุประมาณไม่ถึง 10 ขวบ วิ่งเล่นอยู่กับหมาชื่อเจ้าแดงที่บ้าน ปรากฏว่ามีรถเลี้ยวเข้ามาชนเขา เจ้าแดงใช้เวลาตายไม่กี่นาที เราอยู่กับเขาคนเดียว ซึ่งเห็นกระบวนการตายชัดมาก มันลิ้นห้อยออกมา ต่อสู้เพื่อจะหายใจ จนกระทั่งหยุดหายใจ แต่นอกจากเห็นกระบวนการตายทางกายแล้ว ยังมีสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจมากกว่านั้นคือ ชีวาหายไป พลังของชีวิตมันหายไป มันเข้าไปอยู่ในใจ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีบทบาทสูงมากจนทำให้มาทำงานด้านนี้ คือการเจ็บป่วยของผู้ใหญ่ที่เคารพมากท่านหนึ่งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ท่านเป็นแพทย์ที่มีศักยภาพสูง รักษาคนไข้จำนวนมาก และเป็นผู้บุกเบิกของการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ

ตอนที่เกิดเหตุ ท่านอายุ 99 ปี แต่ภาพที่อยู่ในใจคือผู้ใหญ่ท่านนี้นอนอยู่บนเตียงในห้องไอซียู มือและเท้าถูกมัดอยู่กับเตียง แต่สติท่านดีมาก เวลาไปพบท่าน ดวงตาของท่านเหมือนพูดได้ เป็นดวงตาที่บอกว่าทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมไม่ปล่อยท่านไป ทุกครั้งที่ความดันท่านตก ก็จะมีการให้ยากระตุ้นความดันเพื่อให้หัวใจบีบตัวและมีชีวิตอยู่ต่อไป

เวลานั้น ลูกท่านเหลืออยู่ 3 คน พวกเขาร้องไห้ทุกวัน ดิฉันเลยถามเขาว่าจะปล่อยพ่อไปไหม ปรากฏว่าไม่มีใครตอบ เพราะทุกคนกลัวบาปว่าจะเป็นปิตุฆาต จนหลายวันผ่านไปเป็นเดือน ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างนี้อีกนานเท่าไหร่

ดิฉันจึงไปคุยกับคุณหมอ หมอบอกว่าถ้าหยุดกระตุ้นความดัน น้ำจะท่วมปอด แล้วท่านจะตาย เหมือนคนจมน้ำตาย ซึ่งมันช็อกในสิ่งที่หมอตอบ แล้วทางเลือกมันคืออะไร

จนเมื่อคุณหมออีกท่านเดินเข้ามา หมอก็บอกว่า ถ้าเป็นพ่อผม ผมปล่อย จนวันนี้ดิฉันทราบว่าในทางการแพทย์ จริงๆ แล้วไม่ต้องปล่อยให้น้ำท่วมปอด แต่ตอนนั้นดิฉันไม่มีความรู้

“นี่คือประเด็นของความรู้ ที่ดิฉันมาต่อสู้ตอนนี้ว่าเราทุกคนควรจะได้รับการอบรม เวิร์กชอป หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งที่ชีวามิตรก่อนหน้านี้ก็ได้เริ่มทำกับท่านอาจารย์ไพศาล และท่านอาจารย์ชยสาโร (พระชยสาโรภิกขุ)”

คุณหญิงจำนงศรียังเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนในองค์กรทำงานดี มีประสิทธิภาพ แต่ช่วงหนึ่ง ศักยภาพในการทำงานลดลงอย่างชัดเจน และมีอาการซึมเศร้า เมื่อไปเช็คดูก็พบว่าเป็นหนี้นอกระบบจากการยื้อชีวิตแม่ ซึ่งในที่สุดก็ตายอย่างทรมาน แต่หนี้ยังไม่จบ

ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเพื่อนนักเขียนคือ อรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ อรสมเล่าว่าเธอมาจากไม่มีอะไรจนสร้างตัวขึ้นมา มีรถ มีบ้าน แต่ปรากฏว่าคุณแม่เป็นมะเร็ง เธอสู้ตายเพื่อจะรั้งคุณแม่เอาไว้ ผลคือบ้านไป รถไป สุขภาพจิตไป กว่าจะค่อยๆ กลับมา กว่าจะสร้างงาน มีรถ มีบ้านใหม่ คุณพ่อก็มาป่วยเป็นมะเร็งอีก

แต่จากการตายของคุณแม่ คุณพ่อเลยเข้าใจ และลูกสาวกับพ่อคุยกันได้ จนกระทั่งพ่อตายจากอย่างสงบ สถานะการเงินของลูกสาวก็ไม่ตกต่ำ ซึ่งทั้งหมดที่พูดมานี้มันครอบคลุมทั้งเรื่องความทรมานทางร่างกาย (Physical) ทางจิตสังคม (Psychosocial)

แต่ที่ลืมไม่ได้คือคำว่า “กตัญญู” อยากให้มองว่าการกตัญญูที่แท้จริงกับคนที่เรารัก กับคนที่มีบุญคุญ กับบุพการี เป็นการกตัญญูในสิ่งที่เราเรียนรู้ท่องบทกันมา หรือเป็นการกตัญญูจากการเข้าใจ “ใจ” ของตัวเองจริงๆ

คุณหญิงจำนงศรีบอกว่า หลังจากทำงานด้านนี้มาตลอด พบว่ามีเรื่องกตัญญูเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งกตัญญูจากใจจริงๆ และกตัญญูจากที่ถูกปลูกฝังมา ยกตัวอย่างเช่น ทนไม่ได้ที่สูญเสีย จะอยู่อย่างไรถ้าพ่อแม่ สามี หรือภรรยาจากไป มีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถามว่านี่คือกตัญญูจริงหรือไม่ เป็นกตัญญูกับผู้ที่จะจากไป หรือกตัญญูกับตัวเอง

“ยื้อชีวิต” หรือ “ยื้อความตาย”

หรือคิดว่าบาปไหม ถามใครกลัวใครบาป ลองเช็คให้ดี และคิดว่าจะปล่อยให้คนป่วยจากไปได้อย่างไร คนอื่นเขาจะมองว่าไม่ช่วยจนหยดสุดท้าย ถามว่าใครกลัวความคิดของคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ปนกันอยู่ใน 3 เรื่องนี้

คุณหญิงจำนงศรีกล่าวว่า ขณะนี้คนชราในประเทศไทยมีมากขึ้น แต่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่จะยื้อและรักษาก็มีควบคู่กันไปด้วย และหมอส่วนใหญ่ถูกสอนมาเพื่อการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ตรงไหนคือการ “ยื้อชีวิต” ตรงไหนคือการ “ยื้อความตาย”

“ยื้อชีวิตคือต่อสู้ทุกวิถีทางที่ชีวิตจะกลับมามีคุณภาพได้ ส่วนยื้อความตายคือการยื้อกระบวนการตาย ที่อย่างไรคุณก็หยุดมันไม่ได้ แต่คุณมีวิทยาการที่จะยื้อได้เป็นปี รัฐบาลใช้เงินมากแค่ไหนกับเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ”

“ขณะนี้เตียงในโรงพยาบาลทั้งหลายมีร่างที่กำลังถูกยื้อไว้ บางกรณีไม่ใช่ 1 ปีหรือ 2 ปี มีกรณีหนึ่งที่พ่อแม่มาหาดิฉันแล้วถามว่าจะทำอย่างไรดี ลูกผมนอนอยู่ในโรงพยาบาลรัฐมา 6 ปีแล้ว นอนเป็นผักเฉยๆ เขาเป็นข้าราชการ เบิกได้ แต่รู้สึกผิดมาก”

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องจิตวิญญาณ (Spiritual) มีคนถามว่าดิฉันกลัวตายไหม เมื่อก่อนก็ตอบว่าไม่กลัว แต่วันนี้กลัว คุณหญิงเล่าว่าเคยฝันซ้ำๆ กันว่าไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ที่สามีและลูกเดินหายกันไปหมด แต่สิ่งแรกที่ทำคือตบกระเป๋ากางเกงยีนส์หาโทรศัพท์มือถือ ปรากฏว่าไม่มี มันกลัวมาก ตบกระเป๋าอีกข้างหนึ่ง เงินก็ไม่มี ความรู้ว่าจะไปทางไหนก็ไม่มี

ทำให้รู้เลยว่ามนุษย์มีไม้ค้ำยันอยู่ 3 ไม้ 1. “ความสัมพันธ์” 2. “อำนาจควบคุม” เงินควบคุม สถานภาพ ควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะเราชินกับมันมาตลอดชีวิตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา และ 3. “ความรู้” ความรู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร

สามสิ่งนี้คือไม้ค้ำยันความเป็นมนุษย์ ความเป็นตัวตน แล้วความตายมันหายไปหมดเลย ถามว่า”คุณพร้อมไหม ที่จะอยู่กับจิตที่ไม่พึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้”

รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำอย่างไรให้ “อยู่ดี” จน “ตายดี”

รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายในบริบททางการแพทย์ว่า ไม่มีใครอยากมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพที่ไม่ดี แต่สุขภาพคนทุกคนต้องเสื่อมลงเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้เจ็บป่วย และหากเกิดการเจ็บป่วยสุขภาพก็จะเสื่อมเร็วขึ้น เมื่อถึงจุดนั้นก็อาจจะรับไม่ได้ว่าชีวิตไม่มีคุณภาพและเสียชีวิตลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกคนคาดหวังคือต้องการใช้เวลาอยู่ให้นานที่สุด ไม่อยากทรมานก่อนตาย ซึ่งเมื่อถามว่าตายดีคืออะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่าหลับตาย แต่ในทางการแพทย์ถือว่าไม่ดี เพราะเชื่อว่าการตายที่ดีต้องมีการวางแผน ต้องมีการเติบโต ต้องเรียนรู้

ทั้งนี้คนเป็นหมอก็อยากให้ผู้ป่วยอยู่นานๆ มีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดี แต่ในทางการแพทย์ทำเรื่องนี้ได้น้อยมาก เพราะสิ่งที่พบเป็นประจำคือโรคติดเชื้อ หรือการรักษามะเร็งระยะแรกอาจจะดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่โรคส่วนหนึ่งมันจะต้องตาย

ฉะนั้น ถ้าหากต้องตายแน่ๆ สิ่งที่แพทย์อยากจะทำ คือทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด คือให้ “อยู่ดี” และทำให้ “ตายดี”

ส่วนสิ่งที่ไม่อยากทำ คือการรักษาที่ยื้อชีวิต ยื้อความตายออกไป ทางการแพทย์เรียกว่า “ยื้อเทอราพี” เป็นการยื้อให้นานที่สุด เนื่องจากญาติอยากให้หมอทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ต้องเรียนว่า “ทำทุกอย่าง” กับ “ทำให้ดี” คนละคอนเซปต์กัน

นพ.ฉันชายเล่าว่า ปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานแต่ทรมาน ซึ่งได้พยายามหลีกเลี่ยง แต่จากประสบการณ์โดยตรงพบว่าญาติผู้ป่วยหลายคนเลือกที่จะทำวิธีนี้ให้ญาติของตัวเองเพราะคำว่า “กตัญญู”

อีกวิธีหนึ่งคือ “การุณยฆาต” (Euthanasia) ให้หมอช่วยให้ผู้ป่วยตายเร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามมีคนมาร้องขอให้เราฆ่าเขา ต้องมองว่าเรารักษาเขาไม่ดีพอหรือเปล่า

ดังนั้นเมื่อมาสู่คำว่า “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ต้องเรียนว่าการทำนายว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตเมื่อไหร่เป็นสิ่งที่ทำยากมากในทางการแพทย์ แต่หากมีผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งมีภาวะเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย และคิดว่าเขามีโอกาสจะเสียชีวิตสูงมากในเวลา 6 หรือ 12 เดือนข้างหน้า จะเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า “อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต” รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

“ซึ่งต้องให้แนวคิดสำหรับการเตรียมตัว ไม่ใช่เตรียมตัวเพื่อให้ตาย แต่เตรียมให้ผู้ป่วย “อยู่ดี” จนถึง “ตายดี” ดังนั้น คอนเซปต์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีชีวิตที่ดีไปจนถึงวาระสุดท้าย เรียกว่าพยายามจะ “เพิ่มชีวิต” (Add Life) เข้าไปในชีวิตที่เหลืออยู่”

แต่สิ่งที่มีการทำอยู่ทุกวันนี้หลายครั้งเป็นการเพิ่มเวลาเข้าไปในชีวิต แต่ไม่ได้เพิ่มความมีชีวิตหรือความเป็นมนุษย์เข้าไปในเวลาที่เหลืออยู่ ดังนั้น คอนเซปต์สำคัญคือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ดีจนตายดี ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถค่อยๆ พัฒนาไปด้วยกันได้

กระนั้นก็ตาม ปัญหาที่มักพบบ่อยครั้งในเรื่องนี้คือ “ไม่มีการวางแผน” เพราะไม่กล้าพูดเรื่องความตาย ญาติไม่อยากให้หมอพูดเรื่องความตาย กลัวผู้ป่วยหมดกำลังใจ และส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยมักไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หากหมอดีไซน์เรื่องการตายให้ผู้ป่วย ญาติบางคนถึงกับเปลี่ยนหมอ ต่อว่าหมอว่าปากไม่ดี พูดจาไม่เป็นมงคล

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การรักษาในปัจจุบันไม่ได้เน้นที่รักษาคน แต่เน้นที่การรักษาโรค ที่สำคัญคือเน้น KPI ที่ผิด ไม่ได้เน้นที่ชีวิต รักษาโรคหายแต่ไม่ได้เน้นเรื่องตายดี หรือมีการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปในบางเรื่อง และน้อยเกินไปในบางเรื่อง ไม่ได้รักษาชีวิตเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต

ถ้าเป็นบริษัทก็เจ๊ง ไม่มีเป้าหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งก็คือผู้ป่วยไม่มีส่วนในการตัดสินใจเลย รวมทั้งใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเป็นบริษัทอย่าซื้อไปหุ้น แต่ทุกวันนี้กลับนำคอนเซปต์นี้มาใช้กับชีวิตทุกวัน เป็นการรักษาโดยไม่มีแผน ไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งก็จะได้รับผลไม่ค่อยดี

ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการยื้อชีวิตมีจำนวนมาก แต่คำถามคือเราควรหยุดเมื่อไหร่เพื่อให้สมดุล จึงเป็นที่มาของการรักษาดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) แต่ผมไม่ค่อยชอบคำว่าประคับประคอง

แต่คำว่า Palliative Care คือการยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม เน้นการรักษาที่คุณภาพชีวิต ไม่ได้เน้นที่โรค ไม่เน้นที่ตัวเลขค่าความดันหรือค่าเกลือแร่เป็นเท่าไหร่ แต่เน้นว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ทุกข์ทรมาน มีกาย จิต วิญญาณ ที่ดีขึ้น และไม่ยื้อไม่เร่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

Palliative Care ไม่เร่งให้ตายเร็วขึ้น และไม่ยื้อให้อยู่นานเกินไป แต่เป็นการดูแลที่ต้องมีระบบ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯมี ทีมชื่อ “ชีวาภิบาล” คือการดูแลชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงดูแลญาติผู้ป่วยให้ดีด้วย หรือหลายครั้งเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต หมอ พยาบาล หรือนิสิตแพทย์ร้องไห้ ก็ต้องให้ความสนใจด้วย เป็นการดูแลครบวงจรทั้งผู้ป่วย ญาติ และคนดูแล

นอกจากนี้ Palliative Care ยังเป็นเรื่องของความสมดุลว่าเราควรจะหยุดรักษาเมื่อไหร่ แต่ต้องเรียนและเน้นว่าเราไม่เคยหยุดการรักษา ผู้ป่วยทุกคนที่มาหาแพทย์มีการรักษาเต็มที่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ “เป้าหมาย” เป้าหมายเปลี่ยนไป การรักษาก็เปลี่ยนไป

ดังนั้น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แพทย์จะให้การรักษาเต็มที่ แต่เป้าหมายการรักษาเปลี่ยนไป จากการยื้อชีวิตให้นานที่สุด เป็น “การรักษาให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่สุด” ผมไม่เคยสอนนักศึกษาแพทย์ให้หยุดการรักษา ให้รักษาผู้ป่วยทุกคน แต่เป้าหมายเปลี่ยนไป ทว่าปัญหาคือสามารถรู้หรือไม่ว่าเป้าหมายของแพทย์ ของผู้ป่วย และญาติ ตรงกันหรือไม่

ฉะนั้น การ “กำหนดเป้าหมาย” เป็นเรื่องสำคัญมากในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ถ้ามีเป้าหมายที่ตรงกัน หมอจะเลือกการรักษาที่เหมาะสมได้

ดังนั้นจะเห็นว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มด้วยการตั้งเป้าหมายทั้งจากผู้ป่วย ญาติ หมอ ต้องคุยกัน แล้วทำการรักษาแบบ Palliative Care กับการรักษาเพื่อรักษาโรค เพื่อให้สมดุลกัน ซึ่งการตั้งเป้าหมายเป็นส่วนสำคัญหนึ่ง

เมื่อการรักษามีเป้าหมายและเปลี่ยนไปตามระยะโรค โดยเป้าหมายแรกคือป้องกันโรคให้ได้ แต่ถ้ารักษาต้นเหตุของโรคไม่ได้ ก็รักษาแบบประคับประคองมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายต้องหยุดรักษาให้เป็น ซึ่งไม่ใช่การรักษาโดยใช้ยา แต่เป็นการรักษาโดยประคับประคองอย่างเต็มที่ และเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต ก็ต้องไม่ลืมดูแลญาติผู้ป่วยต่อไปอีกสักระยะ เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

“ผมเรียนว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายสอนให้มีประสบการณ์ดีๆ เกิดขึ้น มีตัวอย่างที่ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน เช่น บางครอบครัวไม่เคยบอกรักกัน ไม่เคยกอดกัน แต่เขาใช้ระยะเวลาสุดท้ายบอกรักกัน กอดกัน แสดงความรักต่อกัน ขณะที่หมอไม่ยื้อชีวิต ทำให้ญาติมีความรู้สึกที่ดี”

จึงอยากสรุปว่า…ทางการแพทย์ เรารักษาท่านได้บางครั้ง สามารถทำให้ท่านออกจากความเจ็บป่วยทรมานได้บ่อยครั้ง แต่ในขณะเดียวกันเราจะช่วยให้ท่านมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์น้อย เพียงแต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วเดินไปด้วยกันได้

วางแผนการตาย “พินัยกรรมชีวิต” กับคุณค่าในการจากไป

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวเรื่องพินัยกรรมชีวิต (Living Will) ว่ามีคนจำนวนมากวางแผนทุกอย่างในชีวิตตั้งแต่การเกิด แต่งงาน มีลูก แต่ไม่เคยมีใครพูดเรื่องการวางแผนการตาย เพราะเป็น Unwanted Truth เป็นสิ่งที่ไม่อยากพูด ทั้งที่ทุกคนต้องตาย แต่ปัจจุบันเริ่มมีลูกความบางรายให้ช่วยร่างพินัยกรรมชีวิตให้ หลังจากที่ชีวามิตรเริ่มประชาสัมพันธ์สื่อมาได้สักระยะ

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ทั้งนี้ พินัยกรรมชีวิตคือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ (มาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550)

อย่างไรก็ตาม เรื่องพินัยกรรมชีวิตยังเป็นที่ถกเถียงของคุณหมอ คนไข้ และญาติผู้ป่วย ว่าทำแล้วจะแก้ปัญหาหรือไม่ แต่อย่างน้อยจะทำให้การทะเลาะเบาะแว้งในหมู่ญาติมิตรลดน้อยลง

ก่อนหน้านี้ The Economist ได้ทำวิจัยใน 4 ประเทศ คือ อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และบราซิล ถึงการคุยกันเรื่องการรักษาตัวเองยามเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งพบว่าสหรัฐฯ คุยเรื่องนี้กันมากที่สุด แต่กลับพบว่าทำพินัยกรรมชีวิตเพียงไม่กี่คน หรือญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมที่มีคนสูงวัยมากที่สุด ทำพินัยกรรมชีวิตเพียง 9%

“สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องเผยแพร่ความรู้ เปลี่ยนวิธีคิด ไม่ว่าจะเรื่องการยื้อ การคุยเรื่องความตาย เรื่องการวางแผนเรื่องความตาย”

ประธานกรรมการบริษัทชีวามิตรกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเขียนในพินัยกรรมชีวิตคือ “การสื่อสารในวาระสุดท้าย” ซึ่งการสื่อสารของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่รู้ว่ายาก เพราะเป็นเรื่องเปลี่ยนวัฒนธรรม

“การสื่อสารสำคัญมากว่าเราจะรักษายังไง กำหนดเงื่อนไข เช่น ไม่ใช้เครื่องมือแพทย์ เพราะเครื่องมือพวกนี้ทำให้คนป่วยไม่มีความสุข เจ็บมาก เจาะคอ ปั๊มหัวใจ ฯลฯ มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าการใช้เครื่องมือไม่จำเป็นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว”

อีกส่วนที่สำคัญคือ “มอบหมายตัวแทนการตัดสินใจ” เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ โดยมีแพทย์ที่เข้าใจเรื่องนี้ และเขียนไปว่าให้ใครตัดสินใจ แล้วคนตัดสินใจไม่ต้องรู้สึกผิดว่าจะเป็นคนเนรคุณ

ถัดมาคือ หากเสียชีวิตแล้ว ได้ทำความดีอะไรให้คนที่อยู่บ้าง เช่น “การบริจาคอวัยวะหรือร่างกาย” เพราะเป็นการต่อชีวิตคนได้ อย่าไปเชื่อว่าบริจาคดวงตาแล้วเกิดชาติหน้าตาจะบอด แต่จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับเพื่อนมนุษย์ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนวิธีคิดให้คนบริจาคอวัยวะหรือร่างกายได้เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของชีวามิตรที่จะทำงานเหล่านี้ในสังคมไทย

อีกเรื่องหนึ่งคือ “วางแผนจัดการงานศพตัวเองอย่างไร” ยกตัวอย่างวัดวัดชลประทานที่เริ่มงดพวงหรีดงานศพ เพราะก่อให้เกิดมลภาวะ แต่หากเรานำเงินจากการที่จะซื้อพวงหรีดไปบริจาคในสิ่งที่ผู้ตายอยากให้ทำ เช่น การศึกษา การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ง่าย แต่ก็จะต้องวางแผน

“ฉะนั้น Living Will ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% แต่จะช่วยลดความขัดแย้งของสมาชิกใน ครอบครัว ช่วยลดปัญหาที่หมอจะทำหรือไม่ทำในความรับผิดทางแพทย์ ช่วยทำให้ผู้ป่วยมี คุณค่าในการที่จากไป”

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์เผยว่า ผู้ที่สนใจร่วมทำงานกับชีวามิตร สามารถทำได้ทั้งการเข้ามาเป็นอาสาสมัคร เป็นผู้ถือหุ้น และสนับสนุนเงินบริจาค โดยปัจจุบันบริษัทชีวามิตรระดมทุนในช่วงเปิดตัวได้แล้วประมาณ 20 ล้านบาท และตั้งใจว่าภายใน 5 ปีจะระดมทุนให้มากขึ้น และจะนำเงินทุกบาทไปสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมทั้งสิ้น

“สุขชีวา” รวมพลัง สุมไอเดีย เชียร์ SE

นายโชติวัฒน์ ลัทธะพานิชย์ ผู้บริหาร บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า ชีวามิตรมีแผนงานเพื่อสังคมในการให้ความรู้ สร้างเครือข่ายที่ปรึกษา และสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร เพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมายใน 5 ปี ทำให้ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง

นายโชติวัฒน์ ลัทธะพานิชย์

ทั้งนี้ ในการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร ได้ทำโครงการ “สุขชีวา” เพื่อรวมพลัง สร้างไอเดีย เชียร์กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) จะเริ่มทำอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้สิ่งที่ผู้คนอยากจะทำเพื่อสังคมได้เกิดขึ้นจริง โดยมีทีมงานสุขชีวาช่วยดูแผนงานว่าสิ่งที่จะทำมีผลที่ดีกับสังคมหรือไม่ ทำได้จริงไหม และอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

“มีหลายองค์กร หลายคน ที่มีความคิดอยากทำเพื่อสังคม อยากสร้างโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ขึ้นมา เราอยากให้คนเหล่านั้นมาเจอกับคนที่อยากจะร่วมทุนหรือร่วมสนับสนุนช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนเริ่มต้น ให้คำปรึกษา จัดอบรม และเมื่อโครงการดำเนินไปแล้วจะมีการตรวจสอบ ดูแล ให้สิ่งที่เสนอกับสุขชีวาเป็นไปตามจริง และให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ขณะที่ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายกสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 4 กล่าวว่า สมาคมฯ หวังว่าจะมีส่วนช่วยในการจุดประกายความคิดและผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เห็นความสำคัญในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทชีวามิตร ยกระดับกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วยการถือหุ้น บริจาค หรือสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพและยั่งยืน

หมายเหตุ : แก้ไขล่าสุด 24 กันยายน 2560