ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > มองไปข้างหน้าแบบธนินท์: จากผู้ปฏิวัติโต๊ะอาหารในญี่ปุ่นถึงผู้สร้างประวัติศาสตร์อุตฯ ไก่ในเกาหลีใต้

มองไปข้างหน้าแบบธนินท์: จากผู้ปฏิวัติโต๊ะอาหารในญี่ปุ่นถึงผู้สร้างประวัติศาสตร์อุตฯ ไก่ในเกาหลีใต้

6 กรกฎาคม 2017


ท่ามกลางความหลากหลายของธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หากใครได้เคยสนทนาและฟังสิ่งที่นักธุรกิจผู้มีจิตวิญญาณนักบุกเบิกอย่าง “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ย่อมรู้ดีว่าเขามีความมุ่งมั่นด้านธุรกิจอาหารหรือมุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีกับประชากรโดยรวมอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานสำคัญของวิสัยทัศน์สู่ “ครัวของโลก” ของซีพี

แม้ในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารด้วยกันเองต่างยอมรับว่า ด้วยการมองไปข้างหน้าของซีพีโดยส่งออกไก่ไปยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ถือเป็นการบุกเบิกที่สร้างรากฐานการส่งออกอุตสาหกรรมไก่ของประเทศไทย จนวันนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกไก่อันดับ 4 ของโลกรองจากบราซิลและยุโรป ด้วยปริมาณการส่งออกมากกว่า 700,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบแสนล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันมีประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นตลาดส่งออกไก่เป็นหลักไทย คือราว 50% ของปริมาณไก่ส่งออกทั้งประเทศ ทั้งนี้จากรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ บล.เอเซีย พลัส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 20% จากปริมาณการส่งออกไก่ไทยไปญี่ปุ่นทั้งหมด ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 และ 3 ที่มีส่วนแบ่ง 13% และ 3% ตามลำดับ

นิตยสาร Nikkei Asian Review ระบุไว้ว่า “ซีพีเริ่มส่งออกเนื้อไก่ไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 และในราวทศวรรษที่ 2520 หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในประเทศไทยได้เริ่มธุรกิจเลี้ยงกุ้งจนประสบความสำเร็จแล้ว ซีพีก็ได้เริ่มส่งออกกุ้งไปยังญี่ปุ่น ตั้งแต่นั้นมา ซีพีก็ได้ขายเนื้อไก่และกุ้งในราคาที่เป็นธรรมให้ชาวญี่ปุ่น ทำให้ไก่ทอดและกุ้งทอดกลายเป็นเมนูประจำบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่น”

และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ Nikkei Asian Review ประเทศญี่ปุ่นเรียกซีพีว่าเป็น “บริษัทที่ปฏิวัติโต๊ะอาหารของประเทศญี่ปุ่น ในเวลานั้นอาจจะเรียกว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการบุกเบิกอุตสาหกรรมไก่ของไทยบนเวทีโลกเป็นครั้งแรก

ผ่านไปกว่า 40 ปี ประวัติศาสตร์ในอุตสาหกรรมอาหารต้องถูกบันทึกอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้ออกประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าไข่ไก่จากประเทศไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังรัฐบาลเกาหลีใต้ได้อนุมัติให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งไปเกาหลีใต้ ได้ เมื่อ 9 พ.ย. 59 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี และนั่นหมายถึงการยกระดับอีกก้าวของการยอมรับมาตรฐานไก่และไข่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออกไข่ไก่

เพราะถ้าตรวจดูรายชื่อประเทศที่ทางการเกาหลีใต้อนุญาตให้ส่งไข่ไก่สดเข้าไปขาย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเนื่องจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก จะเห็นว่าประเทศที่ได้รับอนุญาตเข้าไปขายมีเพียงประเทศที่มีมาตรฐานการผลิตสูงมากเท่านั้น

ตามการรายงานข่าวของสำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ระบุว่า ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน ที่เกาหลีใต้ยอมให้ส่งไข่ไก่สดเข้าไปขาย

เนื่องจากเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านอาหารที่สูงมาก จะเห็นจากหลายๆ กรณีที่มีความเข้มงวดมาก เช่น เมื่อต้นปีนี้สหรัฐอเมริกาก็ได้รับอนุญาตให้มีการส่งออกไข่ไก่สดไปเกาหลีเช่นกัน แต่ต้องถูกระงับไปเมื่อพบปัญหาไข้หวัดนกในสหรัฐฯ

จากข้อมูลสถิติ Livestock and Poultry: World Markets and Trade 2557-2559 และการคาดการณ์ของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ พบว่าไข่ไก่ไทยมีส่วนแบ่งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก โดยมีปริมาณการส่งออก 0.42 พันล้านฟองในปี 2559 ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง ตุรกี มีการส่งออก 11 พันล้านฟอง ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ 9.0 พันล้านฟอง หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็มีการส่งออกไข่ไก่ถึง 4 พันล้านฟองในปีที่ผ่านมา

มองอีกนัยหนึ่งไทยเรายังมีโอกาสอีกมากที่จะเพิ่มการส่งออกไข่ไก่ หากสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิต และการขาดแคลนอุปทานของไข่ไก่ในประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่เกาหลีใต้เข้ามาช่วยตอกย้ำคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของไข่ไทย

จากการวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันไข่ไก่ไทยโดย สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ จุดแข็งของอุตสาหกรรมไข่ไก่ไทยคือ มีระบบตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิตไข่ไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเป็นผู้นำด้านมาตรฐานการจัดการฟาร์ม ความปลอดภัยด้านอาหารและระบบมาตรฐานฟาร์มในอาเซียน ขณะที่มีจุดอ่อนคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ นอกจากนี้ การส่งออกไข่ไก่ไทยเป็นเพียงการส่งออกเพื่อระบายผลผลิตส่วนเกินและรักษาระดับราคาภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หน้าประวัติศาสตร์นี้ ในฐานะผู้บริโภคชาวไทยเราควรจะอุ่นใจและภูมิใจได้เช่นกันว่าผลิตภัณฑ์ไข่ของประเทศไทยเรามีมาตรฐาน ที่เชื่อถือและเป็นที่ยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าที่มีมาตรฐานสูงมากอย่างเกาหลีใต้