ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหาของอาจารย์อุดมศึกษาบ้านเรา

ปัญหาของอาจารย์อุดมศึกษาบ้านเรา

22 กันยายน 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

วันนี้ผมขออนุญาตมาเขียนถึงเรื่องปัญหาของอาจารย์อุดมศึกษาบ้านเราให้ลองอ่านลองคิดดูกันนะครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าปัญหาหลักๆ ของเรามีดังต่อไปนี้

1) อาจารย์เงินเดือนต่ำ งานแอดมินและงานสอนเยอะ งานวิจัยเป็นงาน luxury เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้เป็น priority ต้องหางานอื่น (สอนพิเศษ ทำงานวิจัยที่ไม่ใช่ basic research) มาเสริม

2) อาจารย์ที่จบมาสอนรับทุนมัดตัวมาตั้งแต่อายุสิบเจ็ด สิบแปด (พูดง่ายๆ ก็คือตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าอนาคตอยากจะทำอะไรจริงๆ) หลายคนพอเรียนไปได้เรื่อยๆ ก็พบว่างานอาจารย์ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แต่รับไปแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจได้เพราะไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้ทุนคืน สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ใช้ทุนรัฐบาลเป็นสิบๆ ปี ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้อยากมีอาชีพเป็นอาจารย์

3) รัฐบาลให้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศปริญญาตรีโทเอกคนละประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นเพราะว่ารัฐบาลเชื่อว่าการศึกษาต่างประเทศนั้นดีกว่าการศึกษาในประเทศ และคนที่ควรจะกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ก็ควรจะจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ

ผลก็คือผลตอบแทนไม่คุ้มกับทุนสิบล้านที่ลงไปแต่ละคน หลายคนที่มีคุณภาพและไฟแรงตอนจบมาใหม่ๆ อยู่ไปหน่อยก็เริ่มหมดไฟ จะโตเร็วก็โตยากเพราะมีหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย มหาลัยอยากให้ทำงานวิจัยติดอันดับโลก แต่ก็ให้แรงจูงใจน้อย งานอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้ความสามารถในการวิจัยของตัวเองก็เยอะ วิธีการบริหารเหมือนกับการบริหารแบบราชการมากเกินไป (คืออยู่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็จะโตไปเรื่อยๆ ตามอายุงานเอง) และสำหรับคนที่มีคุณภาพจริงๆ แต่ไม่ติดทุนก็ไม่อยากกลับมาเป็นอาจารย์เพราะพวกเขาสามารถหางานอื่นที่ให้ค่าตอบแทนเท่าๆ กับ market rate ของเขา

การเสนอวิธีการแก้ไข

อันดับแรกเลยคือตัดอารมณ์ออกจากการตัดสินใจก่อนนะครับ

สำหรับคนที่เป็นอาจารย์อยู่แล้วก็เอาตัวเองออกจากสมการก่อน (เพราะอาจจะมี conflict of interests อยู่) แล้วลองคิดดูว่าถ้าเราต้องการแก้ปัญหาอุดมศึกษาแบบที่อยู่พื้นฐานของความเป็นจริงนี้ควรจะแก้ไขยังไง

หลังจากนั้นก็ลดจำนวนทุนที่ให้เด็กไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วเอาเงินในกองทุนนั้นมาตั้งเป็นค่าจ้างอาจารย์แทน (สมมติว่าเราลดทุนที่เราจะให้เด็กไปเรียนต่างประเทศ 1 คน เราสามารถใช้เงิน 10 ล้านนั้นมาตั้งเป็นเงินเดือนหลักแสนเพื่อจ้างอาจารย์ที่มีคุณภาพได้)

มีการคัดเลือกอาจารย์ที่มีเกณฑ์การคัดเลือก และเกณฑ์เพื่อให้ได้ tenure (หรือสัญญาว่าจ้างงานตลอดชีวิต) ให้มันยากๆ เทียบเท่ากับเงินเดือนสูงๆ ที่ตั้งเอาไว้ อย่าลืมว่าการที่เรามีเงินเดือนอาจารย์สูงขึ้นย่อมดึงดูดคนที่มีคุณภาพสูงๆ ได้เยอะกว่าแต่ก่อน และก็อย่าคัดเลือกคนที่จะมาสมัครแค่คนไทยที่กำลังจะจบจากต่างประเทศอย่างเดียว เปิดตำแหน่งให้กับใครชาติไหนก็ได้ ถ้าเขาเก่งจริงๆ และคิดว่าเงินเดือนที่เราให้สูงพอเขาก็จะมาเอง

การมีอาจารย์ที่ 1) เก่งที่สุดเท่าที่เงินเดือนเราจะซื้อได้ และ 2) มีความตั้งใจอยากจะเป็นอาจารย์จริงๆ (ไม่ใช่ถูกมัดมือชกมา) คุณภาพของมหาวิทยาลัยเราก็จะสูงขึ้นตามๆ กันไปด้วย และถ้าคุณภาพของมหาวิทยาลัยเราสูงขึ้น รัฐบาลก็ไม่มีเหตุผลในการส่งเด็กไปเรียนต่อตรีโทเอกที่เมืองนอกอีกต่อไป เพราะการศึกษาดีๆ ที่เมืองไทยเราก็มีเพราะเราได้ยกระดับมหาวิทยาลัยตามประเทศอื่นๆ ไปเรียบร้อยแล้ว

อีกอย่างหนึ่งเราก็ควรที่จะจ้างผู้นำทางด้านการศึกษาที่เก่งจริงๆ ในการศึกษามาบริหารมหาวิทยาลัย และค่าจ้างก็ควรจะสมน้ำสมเนื้อกับความสามารถของผู้ที่จะมาบริหาร

คนที่เสียประโยชน์ที่สุดก็คงจะเป็นอาจารย์ที่ไม่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสอนหรือการวิจัย (เพราะเรายังสามารถสร้าง teaching-track ให้อาจารย์ที่สอนอย่างเดียวแต่ไม่อยากทำงานวิจัยได้) แต่ก็อย่างงี้แหละนะครับ การที่จะได้อะไรมาสักอย่างหนึ่งอาจจะต้องได้มาจากการเสียสละของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ผมขอจบด้วยคำแนะนำที่ว่า เราต้องการให้ใครมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของเรา ต้องการคนที่เก่งที่สุด ที่เป็น top 1% ของคนทั้งประเทศหรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็ เราก็ควรที่จะตั้งค่าตอบแทนให้เท่ากับคนที่เป็น top 1% ของประเทศ ซึ่งผมเชื่อว่าควรจะอยู่ในหลักแสนแน่ๆ และก็ให้โอกาสพวกเขาแสดงความสามารถ ทั้งในการสอน วิจัย และบริหารอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่ไม่มีคุณภาพเทียบเท่ากับเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้จริงๆ ก็คงจะต้องออก หรือเปลี่ยนไปอยู่ teaching-track ไปเลย

ถ้าเราสามารถทำได้ การมีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพพอๆ กันกับประเทศที่พัฒนาแล้วก็คงจะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป