ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 26 ส.ค. – 1 ก.ย. 2560
ยกฟ้องสลายแดง “มาร์ก-เทือก” รอด – ป.ป.ช. พร้อมให้ความเป็นธรรม

วันที่ 31 ส.ค. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่พนักงานอัยการพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ,84 เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาล
ต่อมา วันที่ 1 ก.ย. 2560 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้ ป.ป.ช. รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.ปี 2553 ใหม่ว่า ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาและวิเคราะห์พยานหลักฐานที่กลุ่ม นปช. ยื่นมาว่า เป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งแตกต่างจากที่เคยยื่นมาแล้วหรือไม่ จะต้องนำมาเปรียบเทียบกับหลักฐานเดิมที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลไปก่อนหน้านี้ แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาลงมติกัน ถ้าพบว่ามีหลักฐานใหม่จริงก็สามารถรื้อฟื้นคดีได้ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ใช้เวลาพิจารณานานแค่ไหน หรือต้องเร่งรัดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลใหม่ที่นปช.ยื่นมา แต่ยืนยันว่า ป.ป.ช. พร้อมให้ความเป็นธรรม จะพิจารณาหลักฐานที่กลุ่มนปช.ยื่นมาใหม่อย่างรอบคอบ
ส่วนที่ นปช.จะล่าชื่อประชาชน 1 ล้านคน ถอดถอน ป.ป.ช. หากไม่ดำเนินการรื้อฟื้นคดีนั้น พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า ป.ป.ช. ไม่กดดัน พร้อมพิจารณาทุกอย่างตามขั้นตอนกฎหมาย
อุทธรณ์ยืน “สรยุทธ์” ยักยอกเงินโฆษณา คุก 13 ปี 4 เดือน

วันที่ 29 ส.ค. 2560 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.พิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัท ไร่ส้มฯ เป็นจำเลยฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ในกรณีที่พวกจำเลยถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ คุยคุ้ยข่าว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท และจำเลยปฏิเสธคดีนี้
ศาลพิพากษาว่า การกระทำของ น.ส.พิชชาภา มีความผิดตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 30 ปี ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 20 ปี บริษัท ไร่ส้มฯ สั่งปรับเงิน 1.2 แสนบาท ลดเหลือ 8 หมื่นบาทส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา มีความผิดฐานสนับสนุนตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 20 ปี ทั้งนี้นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
จากคำตัดสินดังกล่าว หน้าเฟซบุ๊กไทยรัฐรายงานว่า หลังคำพิพากษา นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้ยื่นหลักทรัพย์จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัว แต่ “ไม่ได้ประกัน” ทำให้เจ้าหน้าที่จะนำตัวนายสรยุทธและพวกไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
บีทีเอสขึ้นค่าโดยสาร เริ่ม 1 ต.ค. นี้

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 รถไฟฟ้าบีทีเอสจะปรับราคาค่าโดยสารในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร เฉพาะสายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จากราคา 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท โดยจะเรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท 2 สถานี ราคา 23 บาท 3 สถานี ราคา 26 บาท 4 สถานี ราคา 30 บาท 5 สถานี ราคา 33 บาท 6 สถานี ราคา 37 บาท 7 สถานี ราคา 40 บาท 8 สถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท ซึ่งอัตราใหม่นี้เพิ่มขึ้น 1-3 บาท เมื่อเทียบกับค่าโดยสารเดิม ทั้งนี้การปรับราคาค่าโดยสารใหม่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 20.11-60.31 บาท
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสจะปรับขึ้นราคาจำหน่ายเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทั้งสำหรับประเภทบุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา เที่ยวละ 1 บาท ดังนี้ บุคคลทั่วไป 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท และ 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษา 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท และ 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท
“รถไฟฟ้าบีทีเอสมีการปรับราคาค่าโดยสารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ผ่านมากว่า 4 ปี ยังไม่ได้ปรับราคาค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บซึ่งสัญญาสัมปทานกำหนดให้สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสาร ทั้งนี้ บีทีเอสมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงเพิ่มขึ้นตลอด 4 ปี โดยบางรายการสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้ลงทุนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ สั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวนๆ ละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ จะเริ่มทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปี 2561 ปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (Touchscreen) ทั้งหมด และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรมาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้ จะเริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561 โดยระหว่างนี้จะจัดเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารประเภทเที่ยวเดียวในสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารมากในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น สถานีหมอชิต สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีสยาม ฯลฯ และตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวทุกราคาที่สถานีพญาไท สถานีสยาม สถานีอโศก เป็นต้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป” นายสุรพงษ์ กล่าวและว่า อัตราค่าโดยสารใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป แต่บีทีเอสจะยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจะได้รับส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราราคาใหม่เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุโดยสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา
ขสมก. เล็ง “จ้างออก” กระเป๋ารถเมล์พันคน คนละล้าน

วันที่ 28 ส.ค. 2560 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเกี่ยวกับแผนการจัดการบริหารหนี้สินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ว่า ขสมก. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่ง ณ เดือน ม.ค. 2560 มียอดรวมทั้งสิ้น 103,598.543 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขสมก.นำเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหานี้ออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. ให้รัฐรับภาระหนี้สิ้นทั้งหมด 103,598.543 ล้านบาท 2. ให้รัฐรับภาระเฉพาะหนี้สินที่เกิดมาจากนโยบายภาครัฐ วงเงินรวมทั้งสิ้น 84,898.651 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO) หรือเงินที่เกิดจากการตรึงราคาค่าโดยสารอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนตามนโยบายของรัฐบาล เฉลี่ยคันละ 3,000 บาทต่อวัน และบริการรถเมล์ฟรี เฉลี่ยคันละ 10,000 บาทต่อวัน ซึ่งมีจำนวน 800 คัน/ปี และส่วนที่เหลืออีก 18,699.892 ล้านบาท ขสมก. จะรับภาระเอง 3. ให้รัฐรับภาระ PSO ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก. มีต้นทุนสูงกว่ารายได้ โดยรัฐจะต้องรับภาระรวม 55,798.089 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 47,800.453 ล้านบาท ขสมก. จะเป็นผู้รับภาระ
นายพิชิตกล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าแผนฟื้นฟูที่ ขสมก. นำเสนอยังขาดความชัดเจนเรื่องแนวทางแก้ปัญหาการขาดทุนที่ชัดเจน จึงขอให้ ขสมก. กลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ครบถ้วนก่อน ที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ รวมทั้งให้ไปหาข้อสรุปเรื่องตัวเลขต้นทุนการเดินรถมาตรฐานให้ชัดเจนก่อน เนื่องจาก ขสมก. จะต้องนำต้นทุนดังกล่าวมาใช้เป็นตัวเลขในการคำนวนวงเงินอุดหนุนที่จะนำไปใช้ในแผนไขปันหาหนี้สิน ขสมก. ในอนาคต นอกจากนี้ยังขอให้ ขสมก. ปรับแก้แผนฟื้นฟูให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ภายในองค์กรซึ่งจะต้องมีการรวมแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นภายในองค์กรเข้าไปด้วย
“ขสมก. จะต้องกลับไปทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่ให้ชัดเจน เพราะแผนเดิมมีแค่หลักการ ยังไม่มีแผนปฏิบัติการหรือแอกชั่นแพลนที่ชัดเจน และต้องไปปรับให้แผน ฟื้นฟูเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ภายในด้วย เพราะที่ประชุมต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องของรายได้ในอนาคตของ ขสมก. ที่จะต้องแข่งขันกับเอกชนเต็มตัวหลังจากที่ปรับบทบาทใหม่ ต้องมีแผนแก้ไขปัญหาขาดทุนว่าจะทำอย่างไรบ้าง จะจัดการกับหนี้ 1.03 หมื่นล้านบาทอย่างไร โดยจะต้องนำผลสรุปเสนอที่ประชุมอีกครั้งภายใน 2 เดือน โดย ขสมก. จะต้องเลือกเลยว่า อยากได้แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ แบบไหน ตามแนวทางที่ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งบอร์ด ขสมก. จะต้องเป็นคนเลือก จากนั้นกระทรวงจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเห็นชอบตามนั้นหรือไม่”
นายพิชิตกล่าวถึงภาระหนี้ภาพรวมของ ขสมก. 103,598.543 ล้านบาท ว่า ปัจจุบัน ขสมก. มีภาระขาดทุนเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนฟื้นฟูที่ ขสมก. นำเสนอตั้งเป้าที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายใน 2 ส่วนคือ ลดภาระค่าใช้จ่ายหนี้ดอกเบี้ยจ่าย 3,000 ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิง 2,000 ล้านบาท โดยระบุว่าหากสามารถลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิงลงได้ จะลดภาระขาดทุนได้มาก และหากลดต้นทุนด้านบุคคลกรได้เพิ่มเติมอีกจะทำให้ ขสมก. เริ่มมีกระแสเงินสดที่เป็นบวก
นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร รักษาการในตำแหน่งผอ. ขสมก. กล่าวถึงแนวทางการ ลดต้นทุนด้านบุคคลกรว่า ปัจจุบัน ขสมก. มีบุคคลกร รวม 12,900 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสาร 4.8 คนต่อคัน ถือว่าสูงมาก จะต้องปรับลดให้เหลือ 2.4 คนต่อคัน
ตามแผนฟื้นฟูตั้งเป้าต้องปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสารรวม 2,000 คน ในปี 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับระบบตั๋ว โดย ขสมก. เตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2561 วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเออร์ลี่รีไทร์พนักงานเก็บค่าโดยสารจำนวน 2,000 คน หรือเฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท เบื้องต้นทราบว่ามีพนักงานจำนวนมากที่แสดงความสมัครใจพร้อมเข้าร่วมโครงการ
สหรัฐฯ ตอบโต้รัสเซีย สั่งปิดสถานกงศุลในซานฟรานฯ
จากกรณีที่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2560 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย มีคำสั่งให้คณะทูตสหรัฐฯ ตัดลดจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานทูตและสถานกงสุลของสหรัฐฯ ทั่วรัสเซียจำนวนทั้งสิ้น 755 คน เพื่อเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย
ล่าสุด เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีคำสั่งให้รัฐบาลรัสเซียปิดทำการสถานกงสุลประจำนครซานฟรานซิสโก รวมทั้งสำนักงานด้านการค้าของสถานกงสุลดังกล่าวอีก 2 แห่งในนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการดังกล่าว ทำให้สถานกงสุลรัสเซียประจำนครซานฟรานซิสโก รวมทั้งสำนักงานในสังกัดข้างต้น ต้องปิดทำการภายในวันที่ 2 ส.ค. 2560 โดยจะต้องปิดทั้งตัวอาคารที่ตั้งสถานกงสุลและอาคารที่พักซึ่งอยู่ติดกัน แต่ไม่มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัสเซียคนใดต้องเดินทางออกจากสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งเผยว่า จะไม่มีการยึดตัวอาคารและทรัพย์สินของสถานกงสุลรัสเซีย เพียงแต่ไม่อนุญาตให้เข้าใช้งานได้เท่านั้น
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า คำสั่งในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเป็น “การกระทำตอบโต้ให้เท่าเทียมกัน” โดยนับจากนี้สหรัฐฯ และรัสเซียจะมีสถานกงสุลในประเทศของคู่กรณีเหลืออยู่ฝ่ายละ 3 แห่งเท่ากัน