ThaiPublica > คอลัมน์ > เกม secret admirer ทดสอบความสุข

เกม secret admirer ทดสอบความสุข

22 สิงหาคม 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

มีเกมอยู่เกมหนึ่งที่ผมมักจะใช้เล่นกับนักเรียนทุกครั้งที่สอนเรื่องความสุข

เกมก็คือให้เด็กนักเรียนเขียนลงบนกระดาษเกี่ยวกับใครก็ได้ (ที่ไม่ใช่ผม) ในห้องเรียน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นเรื่องดีๆ ที่เกี่ยวกับคนคนนั้นเท่านั้น และถ้าสมมติว่ารักใครชอบใครในห้องแต่ไม่เคยกล้าบอกละก็ ให้เขียนความรู้สึกที่อยู่ในใจไปเลย พอเขียนเสร็จก็ให้เขียนชื่อตัวเองลงไปตรงสุดแผ่นกระดาษแล้วให้พับกระดาษนั้นไว้

หลังจากนั้นผมก็ให้นักเรียนทุกคนใส่กระดาษพับนั้นลงไปในกล่องกลาง หลังจากที่ทุกคนใส่กระดาษพับของตัวเองลงไปในกล่องเรียบร้อยแล้วนั้น ผมก็สุ่มเอากระดาษที่พับออกมาสิบแผ่นแล้วเปิดอ่านคำชมที่อยู่ในนั้น เหลือแค่ชื่อของคนที่เขียนที่ผมไม่อ่านออกไป

ตัวอย่างคำชมนะครับ “ชอบที่ผึ้งเป็นคนฮา เป็นคนใจดี” “เพชรเป็นคนอภิมหาเก่งเลย” และ “ผมแอบชอบฝนมานานแล้ว แต่ไม่เคยกล้าบอกความในใจ” ซึ่งเกือบทุกฉบับที่ผมอ่านออกมาก็ล้วนแต่สร้างเสียงหัวเราะ เสียงวี้ดวิ้ว ในห้องกันทั้งนั้น

หลังจากที่ผมอ่านเสร็จสิบฉบับเรียบร้อยแล้ว ผมก็ถามคนที่ถูกเขียนถึงว่า “อยากรู้ไหม ว่าใครเขียนถึงคุณ”

เกือบร้อยทั้งร้อยของคนที่ถูกเขียนถึงตอบว่า “อยาก”

ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ผมอธิบายว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดต่อความสุขของตัวเอง เพราะว่าในการทดลองจิตวิทยาชิ้นนี้ คนที่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนที่เขียนถึงเขากลับมีความสุขที่ถูกเขียนถึงยาวนานกว่า (ประมาณ 15 นาทีด้วยกันโดยเฉลี่ย) คนที่ทราบว่าใครเป็นคนที่เขียนถึงเขาเป็นชั่วโมงๆ เลยทีเดียว

ทำไมน่ะเหรอครับ

นั่นก็เป็นเพราะว่าการไม่รู้ว่าใครเขียนชมเขาทำให้เขาใช้เวลาในการคิดถึงคนที่แอบชอบนานกว่า และใช้เวลาในการจินตนาการที่เข้าข้างตัวเองนานกว่าคนที่รู้ว่าใครเป็นคนเขียนถึงเขา (ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนที่ทราบว่าใครเป็นคนเขียนมักจะสามารถอธิบายได้ว่า อ้อ โอเค เข้าใจว่าทำไมคนคนนั้นถึงชมเราอย่างนี้ เป็นต้น)

ผมมักจะใช้เกมนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้นักเรียนของผมเห็นว่าคนเรามักจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเลือกมากกว่าการใช้เหตุและผล (“แหม ก็มันอยากจะรู้นี่นะว่าใครแอบชอบเรา”) และการใช้อารมณ์ในการเลือกนี้นี่เองมักทำให้เรามักจะไม่ได้เลือกในสิ่งที่ให้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราหลังจากการเลือกไปแล้ว

เกมการทดลองอันนี้ไม่มีลิขสิทธิ์นะครับ ถ้าใครอยากเอาไปเล่นกับเด็กนักเรียนตัวเองก็เอาไปใช้เล่นได้เลยนะครับ และถ้าเล่นแล้วได้ผลยังไงก็กลับมาเล่ากันให้ฟังด้วยนะครับ