ThaiPublica > คอลัมน์ > Cheap talk: ที่มาของคำพูดไม่มีราคา

Cheap talk: ที่มาของคำพูดไม่มีราคา

5 สิงหาคม 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

“เดี๋ยวโทรไปคุยนะ”
“เฮ้ย เดี๋ยวนัดเจอกันอีก เร็วๆ นี้นะ”
“ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวบินไปเยี่ยมแน่ๆ”
“ครั้งหน้า ชัวร์ๆ ไม่ต้องห่วง”

คุณเคยได้ยินคำว่า cheap talk ไหมครับ

คำว่า cheap talk มาจากคำว่า “Talk is cheap” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็คือ พูดถูก

เอ้ย ไม่ใช่

แปลเป็นภาษาไทยก็คงจะเป็น “คำพูดไม่มีราคา” อะนะครับ

ผมเชื่อว่าคนเราเกือบทุกคนก็คงจะเคยประสบกับปรากฏการณ์ cheap talk ประเภทที่ผมยกตัวอย่างข้างบนนี้มาก่อน (ที่จริงเราก็สามารถใช้คำว่า cheap talk ในการให้คำสัญญาในเชิงธุรกิจที่ไม่ได้มีการเขียนลงกระดาษด้วยนะครับ แต่ผมขอไม่เขียนถึง cheap talk ในนิยามนั้นละกัน) ไม่ว่าจะเป็นคนอื่นเคยพูดให้เราฟัง หรือการที่เราพูดให้คนอื่นได้ยิน และผมก็เชื่อว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันที่หลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนพูดจริงทำจริง รู้สึกเบื่อหน่ายไปกับพฤติกรรมนี้ของคนอื่นๆ

วันนี้ผมจะมาเขียนอธิบายถึงแรงจูงใจของ cheap talk ที่เรามักใช้ในชีวิตประจำวันกันว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมคนถึงใช้กันทั้งๆ ที่โอกาสที่เขาจะทำตามคำที่พูดนั้นมันช่างน้อยเหลือเกิน

ผมเคยเขียนเล่าถึงในเรื่องว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงโกง แต่โกงไม่เยอะนะครับ (ถ้าให้ทบทวนก็คือ สาเหตุที่คนเราส่วนใหญ่มักจะโกงเล็กๆ น้อยๆ ก็เพราะว่าคนเรามี cognitive dissonance หรือความคิดขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้มาจากการโกง กับความรู้สึกที่ว่าการโกงทำให้ตัวเองรู้สึกผิดกับตัวเอง

แต่เพราะว่าการเปลี่ยนพฤติกรรม นั่นก็คือการไม่โกงเลยถ้ามีโอกาส นั้นมันยากมาก การโกงเล็กๆ น้อยๆ นั้นสามารถทำให้ตัวเองได้ทั้งผลประโยชน์จากการโกง แถมยังไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิดมากจนมองหน้าตัวเองในกระจกไม่ติด)

cheap talk ก็คล้ายๆ กัน การพูดในสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นได้ยิน (ถึงแม้ว่าเราอาจจะรู้ดีในตอนที่พูด ว่าคงจะเป็นไปได้ยากเพราะมันขัดกันกับสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ ในอนาคต หรือว่าเราอาจจะคิดว่า เออ อยากจะทำอย่างนั้นจริงๆ ในขณะที่กำลังพูดออกไป แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับมันมากในการพยายามที่จะทำให้สิ่งที่เราพูดเกิดขึ้นจริงๆ) เป็นการทำให้เรารู้สึกดีขึ้น และก็อาจจะทำให้คนที่ได้ยินรู้สึกดีขึ้นในขณะนั้น

แต่เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญในสิ่งที่เราพูดจริงๆ (พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้ให้ราคากับมัน) มันก็เป็นอะไรที่ง่ายที่เราจะลืมในสิ่งที่เราพูดออกไป

มันก็คงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรนะครับ ถ้าคนที่ฟัง cheap talk จากเราไม่ได้ให้ความสำคัญในสิ่งที่เราพูดด้วย แต่ถ้าเขาให้ความสำคัญตรงนั้นล่ะก็ ปรากฏการณ์ cheap talk สามารถส่งผลให้เกิดการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ (distrust) ในสิ่งที่เราพูดในอนาคตได้ ซึ่งมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราสามารถนำมาอธิบายได้ว่าทำไมแค่ 23% ของคนไทยที่ถูกสุ่มมาใน Gallup World Poll จึงบอกว่าไม่สามารถเชื่อใจคนอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้

แล้วคุณล่ะครับ คุณใช้ cheap talk มากน้อยแค่ไหนในชีวิตประจำวัน