เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และนายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (CLT) หรือ “เซ็นทรัลแล็บไทย” ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมศักยภาพและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของ SMEs เพื่อการส่งออก เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนด้านเงินทุนควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานสินค้าแบรนด์ไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องสำอาง ให้มีโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สำหรับผู้ส่งออกหรือ SMEs ที่มาใช้บริการสินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า (EXIM Instant Credit Super Value) ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าวนี้จะได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยปีแรก 4.5% ต่อปี ลดลงจากสินเชื่อปกติ 5% ต่อปี โดยมี บสย. ทำหน้าที่ค้ำประกัน จึงไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้ ยังได้คูปองตรวจรับรองคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์จากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง มูลค่า 5,000 บาท ฟรี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าส่งออก ด้วยเครื่องมือแล็บประชารัฐที่ได้มาตรฐานสากล และผ่านการทดสอบความชำนาญด้านห้องแล็บจากแล็บกลางสหภาพยุโรป (European Union Reference Laboratory: EURL) ทำให้สินค้าส่งออกของ SMEs ไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ เช่น สินค้าประเภทผักและแลไม้ อาหารดิบ อาหารแปรรูป เครื่องสำอาง น้ำบริโภค เครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชา กาแฟ ซึ่งมักตรวจพบว่ามีสิ่งสกปรกเจือปน สารตกค้างปนเปื้อน หรือบรรจุในหีบห่อไม่ถูกสุขอนามัย
“การสนับสนุนด้านเงินทุนและการพัฒนาคุณภาพสินค้าส่งออกของทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้กับ SMEs ไทย ทั้งในเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน เงื่อนไขเงินกู้ที่เข้มงวดของสถาบันการเงิน ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินระหว่างประเทศและการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และการถูกปฏิเสธการนำเข้าเพราะสินค้าไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย นำไปสู่เป้าหมายในการผลักดันการเติบโตของภาคการส่งออก ควบคู่กับการสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่นิยมและยอมรับในตลาดโลก เบื้องต้นธนาคารได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุนผู้ส่งออกกลุ่มนี้ 100 ราย สำหรับสินค้าของผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ทางธนาคารก็มีแผนงานที่จะให้วงเงินสินเชื่อเพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของสินค้าต่อไป” นายพิศิษฐ์กล่าว
นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออก SMEs ของไทยต้องมีเครื่องมือทั้งเชิงรุก ได้แก่ การศึกษาตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล การรุกตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ และความพร้อมด้านเงินทุน ส่วนเชิงรับ ได้แก่ ความพร้อมรับมือความเสี่ยงทางการค้าการลงทุนและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง EXIM BANK และหน่วยงานพันธมิตร เช่น บสย. และบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง พร้อมร่วมมือกันติดอาวุธให้ผู้ส่งออก SMEs ของไทยแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจการค้าและเชื่อมโยงสู่การขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศได้ เพื่อการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จในระยะยาว