ThaiPublica > เกาะกระแส > 4 เจ้าหนี้แบงก์เตรียมนัดถกด่วนสัปดาห์หน้า ค้าน EARTH บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

4 เจ้าหนี้แบงก์เตรียมนัดถกด่วนสัปดาห์หน้า ค้าน EARTH บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

16 สิงหาคม 2017


จากกรณีที่บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ “EARTH” เป็นโจทก์ ยื่นคำฟ้องธนาคารธนชาตเรียกค่าเสียหายจากธนาคารธนชาตเป็นวงเงิน 60,000 ล้านบาท(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมมหากาพย์หุ้น EARTH) และ (ลำดับสถานการณ์ EARTH)

ล่าสุด 4 แบงก์เจ้าหนี้ของEARTH ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เตรียมนัดหารือกันในสัปดาห์หน้าเพื่อคัดค้านคำขอของ EARTH ในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องครั้งแรกวันที่ 18 กันยายน 2560 (อ่านรายละเอียดการคำขอฟื้นฟูกิจการEATH)

อย่างไรก็ตามหากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ EARTH เข้าสู่ขบวนการแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้จะหมดสิทธิดำเนินการในกิจการของ EARTH ทันที โดยมีข้อห้ามดังนี้

  • ห้ามไม่ให้ฟ้อง หรือร้องขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
  • ห้ามนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
  • ห้ามแบงก์ชาติ, ก.ล.ต., กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ
  • ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย
  • ห้ามเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิด หรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลหนี้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
  • ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลหนี้ตามคำพิพากษาเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
  • ห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
  • และห้ามเจ้าหนี้ที่บังคับชำระหนี้ได้บังคับได้เองตามกฎหมาย ยึดทรัพย์สิน หรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้

ประมาณการภาระหนี้สิน EARTH

จากเดิม EARTH มียอดหนี้เพียง 21,480 ล้านบาท ล่าสุดหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว อีก 26,000 ล้านบาท ทำให้มีหนี้พุ่งเป็น 47,480 ล้านบาท

จากการประเมินคำร้องขอของ EARTH ในการฟื้นฟูกิจการ มีข้อสังเกตุคือ ตัวเลขหนี้ดังกล่าวที่ EARTH ระบุไว้ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มแรกมูลหนี้จำนวน 39,400.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่จะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี โดยเป็นหนี้เงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน หุ้นกู้ หนี้สินตามสัญญาเช่าการเงิน ประมาณการภาระหนี้สินที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น และหนี้สินหมุนเวียนอื่นๆ

โดยเฉพาะส่วนที่เป็นประมาณการภาระหนี้สินที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น 26,000 ล้านบาท จากเจ้าหนี้คู่การค้า โดยทางการรวมถึงแบงก์เจ้าหนี้รอคำชี้แจงจาก EARTH

ส่วนหนี้กลุ่มสอง เป็นหนี้สินไม่หมุนเวียน แบ่งเป็น เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน หุ้นกู้ หนี้สินตามสัญญาเช่าการเงิน ภาระผูกพันการเปิดหน้าดินของเหมือง การผูกพันผลประโยชน์พนักงาน และหนี้สินอื่นๆ รวมหนี้ไม่หมุนเวียน 8,079.21 ล้านบาท

กลุ่มเจ้าหนี้คู่การค้าที่มีภาระผูกพัน

นอกจากนี้ในรายงานแผนขอฟื้นฟูฯยังระบุถึงกลุ่มเจ้าหนี้คู่การค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ที่ EARTH มีภาระผูกพัน 6 ราย ได้แก่

1. บริษัท เทียนเจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด EARTH มีหนี้ที่เป็นภาระผูกพัน ส่วนนี้ประเมินกันอาจจะสูงถึง 12,600 ล้านบาท โดยเป็นภาระผูกพันตามบันทึกข้อตกลงและสัญญา ที่เจ้าหนี้รายนี้จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุน บริษัท กวางตุ้ง เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EARTH ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่ประเทศจีนเพื่อจัดหาถ่านหินให้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง โดย EARTH ระบุว่าจะนำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจ และมูลค่าโครงการสูงยังเกิดจากการนำบริษัทย่อยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

2. บริษัท เจียงซู กวางรับ เทรดดิ้ง จำกัด คาด EARTH มีหนี้เป็นภาระผูกพันกับเจ้าหนี้รายนี้ 11,200 ล้านบาท โดยมีการบันทึกข้อตกลงสัญญาที่เจ้าหนี้รายนี้จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนบริษัทย่อยในการจัดหาถ่านหินให้ และสนับสนุนบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย

3. นายหลิน ตง ไห่ คาดว่า EARTH มีหนี้ที่เป็นภาระผูกพันกับเจ้าหนี้รายนี้ ประมาณ 2,975 ล้านบาท โดยนายหลิน ตง ไห่ ได้ตกลงให้ความร่วมมือในการติดต่อกับโรงไฟฟ้าในจีน โดยกรณีนี้จะนำไปสู่การเพิ่มแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการให้ EARTH

4. บริษัท อมาเซน พีทีอี จำกัด ภาระผูกพันกับเจ้าหนี้รายนี้ คือ EARTH กับเจ้าหนี้รายนี้ ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง ในฮ่องกง โดยมีข้อตกลงจะร่วมลงทุนกัน โดยหน้าที่ของบริษัทร่วมลงทุนรายนี้ จะมีหน้าที่ขนส่งถ่านหินที่อินโดนีเซีย โดยที่ EARTH จะมีหน้าที่จัดหาเงินทุน โดยบริษัทนี้คาดมีภาระหนี้ 5,500 ล้านบาท

5. บริษัท นโปเลียน โลจิสติกส์ จำกัด คาดเป็นเจ้าหนี้ EARTH 1,500 ล้านบาท โดยภาระผูกพันภาระหนี้กับบริษัทนี้ โดย EARTH ได้ทำสัญญาให้บริษัทดังกล่าวขนส่งถ่านหินให้

6. บริษัท มาร์โค โปโล เวนเจอร์ จำกัด มีภาระหนี้ผูกพันกับ EARTH โดยมีการตกลงความร่วมมือในการคัดร่อนถ่านหิน และจัดเตรียมพื้นที่กองถ่านหิน ซึ่งส่วนนี้คาดว่ามีภาระหนี้กับเจ้านี้รายนี้รวม 2,300 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 5 และเจ้าหนี้รายที่ 6 ยังมีข้อสงสัยของเจ้าหนี้ว่ามีสัญญากับทั้งสองบริษัทดังกล่าวแบบไหน และมีสัญญากี่ปี

ผลกระทบผู้ถือหุ้นรายย่อย

อย่างไรก็ตามเมื่อหนี้สินของ EARTH ล้นพ้นตัวและรายละเอียดข้อมูลที่ EARTH แจ้งยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดหลักทรัพย์จึงสั่งให้ EARTH ชี้แจงในเรื่องต่อไปนี้

    1. สาระสำคัญที่ EARTH ขอฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะบริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์อย่างไร

    2. EARTH ต้องชี้แจงรายละเอียดของมูลหนี้ โดยแยกเป็นแต่ละกลุ่มเจ้าหนี้

    และ 3. สินทรัพย์ของ EARTH มีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินหรือไม่ อย่างไร

อนึ่งโดยก่อนหน้า EARTH ระบุว่า การขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของบริษัทเท่านั้น

ส่วนสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งให้ EARTH ต้องส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินจำนวนกว่า 26,000 ล้านบาท ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 5 วันทำการ เกี่ยวกับ ที่มา ความมีอยู่จริง และสถานะของหนี้สินดังกล่าวยังคลุมเครือไม่ชัดเจน และอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในวงกว้างหรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้ และจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง และสถานะของมูลหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้ EARTH ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยให้เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 30 วัน

“การไม่ปฏิบัติตามการสั่งการของ ก.ล.ต. หรือการไม่เปิดเผยข้อมูลที่ตรงต่อความเป็นจริง จะเป็นผลให้กรรมการและผู้บริหารของ EARTH อาจถูกดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง”

อย่างไรก็ตามคำถามที่เป็นข้อสงสัยของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียผลจากกรณี EARTH ที่มีผลกำไรและปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556-2559 มาอยู่ในสภาพต้องฟื้นฟูกิจการ เป็นคำถามของผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้ลงทุน และเป็นคำถามที่กลับไปยังตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานก.ล.ต. พร้อมกับข้อสงสัยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

หมายเหตุ: แก้ไขล่าสุด วันที่ 18 สิงหาคม 2560 เวลา 00.20 น.