ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ถอดบทเรียนพัฒนากับการสร้างชาติด้วย Civic Crowdfunding – โครงการ “พลิกไทย” พลิกพลังอาสาพัฒนาสังคม

ถอดบทเรียนพัฒนากับการสร้างชาติด้วย Civic Crowdfunding – โครงการ “พลิกไทย” พลิกพลังอาสาพัฒนาสังคม

18 สิงหาคม 2017


“Ask not what your country do for you, ask what you can do for your country”
ประโยคอมตะตลอดกาลของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy
ได้สร้างแรงบันดาลใจและการปรับกระบวนทัศน์จาก “ประชาชน” สู่ “พลเมือง”
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างชาติอเมริกา

หากย้อนดูประวัติศาสตร์การพัฒนาและการสร้างชาติของประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส ปัจจัยความสำเร็จหนึ่งนั้นล้วนเกิดจาก “พลเมือง” ของประเทศนั้นๆ เอง ในการกล้าคิด กล้าแสดงออก ท้าท้าย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่แสดงออกต่อกิจการสาธารณะที่มุ่งให้ชีวิตสาธารณะหรือชีวิตส่วนรวมดีขึ้น อันถือเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดในระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การปฏิบัติตามกฎหมายในความหมายแบบดั้งเดิม จึงก่อให้เกิดคำศัพท์ทางรัฐศาสตร์อย่าง Active citizen หรือพลเมืองตื่นตัว

ปัจจุบัน ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นด้วย “อินเทอร์เน็ต” ทำให้การสื่อสารเชื่อมต่อง่ายกันมากขึ้น เกิดพื้นที่สาธารณะทางความคิดแบบออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนความเห็นข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ตลอดจนการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการสื่อสารทางดิจิทัลได้เกิดขึ้นเป็นแบบแผนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า civic crowdfunding เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

civic crowdfunding คือการระดมทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยสมาชิกในสังคมระดมทุนเพื่อสร้างสินค้าหรือบริการสาธารณะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคม ซึ่งในประเทศไทยเกิดลักษณะดังกล่าวขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว โดยตัวอย่างที่เห็นอย่างเด่นชัดคือ “การทอดกฐิน” ซึ่งเป็นการสะท้อนบทบาทของสมาชิกทางสังคม ได้แก่ ผู้นำชุมชนและคนในชุมชุน เพื่อการทำนุบำรุงศาสนสถาน อันถือเป็นประโยชน์สาธารณะประการหนึ่ง

ตัวอย่าง civic crowdfunding ของโลกที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างคือ “เทพีเสรีภาพ” ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณอ่าวนิวยอร์ก ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยหลังจากที่ฝรั่งเศสส่งมอบเพื่อเป็นการชื่นชมชาวอเมริกันที่กล้าหาญลุกขึ้นสู้และประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรในที่สุด แต่ทว่าคณะกรรมการแห่งอเมริกา หรือ American Committee ไม่สามารถที่จะหาสถานที่ก่อตั้งและจัดสร้างฐานเทพีสันติภาพได้ เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ต้องใช้ถึง 300,000 ดอลลาร์

ขณะนั้น นายโจเซฟ พูลิตเซอร์ นักหนังสือพิมพ์อเมริกันเห็นความสำคัญของโครงการ จึงได้ทำแคมเปญระดมทุนจากชาวอเมริกันเป็นเวลา 6 เดือน ได้รับการบริจาคจากชาวอเมริกันกว่า 120,000 คน จึงสามารถดำเนินการก่อสร้างได้สำเร็จ

อินเทอร์เน็ตกับการระดมทุน

พัฒนาการของการระดมทุนมีมาอย่างต่อเนื่อง และได้ก้าวเข้าสู่รูปแบบ “Platform” โดยมี “อินเทอร์เน็ต” เป็นตัวกลางเชื่อมต่อผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีหลากหลายจุดประสงค์ ทั้งการแสวงหากำไรอย่างการกู้เงิน (Loan-based) การเข้าเป็นเจ้าของกิจการ (Equity-based) และการไม่แสวงหากำไรผ่านรูปแบบการบริจาค (Donation-based) และการให้สิทธิประโยชน์บางอย่าง (Reward-based) ซึ่งปัจจุบันมีเว็บไซต์ประเภท crowdfunding มากมายและหลายประเภท ซึ่งบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี Technavio ประเมินว่าเม็ดเงินที่อยู่ในอุตสาหกรรม crowdfunding ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ และมีอัตราเติบโตปีละ 17% ต่อปี นำโดยสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนถึง 51% ตามด้วยเอเชียแปซิฟิกที่ 28% และ EMEA (ยุโรปและแอฟริกา) ที่ 21%(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อย่างไรก็ตาม ตามตลาด crowdfunding ของไทย ยังคงมีขนาดเล็กมาก จากรายงานการประเมินการเงินทางเลือกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในหัวข้อ “Harnessing Potential” จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ มหาวิทยาลัยชิงหัวของจีน และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย ระบุว่า ในระหว่างปี 2013-2015 มูลค่าการระดมทุนผ่าน crowdfunding ของไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยลักษณะของการระดมทุนเป็นลักษณะ donation-based และ reward-based เป็นหลัก

ทั่วโลกกับงานพัฒนาผ่าน civic crowdfunding

civic crowdfunding เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองทั่วโลกกับบทบาทงานพัฒนา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และเยอรมนี ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีแพลตฟอร์ม civic crowdfunding ไว้สำหรับระดมทุนโดยเริ่มต้นจากสมาชิกในชุมชนเสนอไอเดียความคิดและแผนงานผ่านแพลตฟอร์ม และได้รับการบริจาคโดยสมาชิกของสังคมผ่านนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จและกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จและกำลังดำเนินการดังนี้

อังกฤษ

Spacehive เป็นแพลตฟอร์มระดมทุนสัญชาติอังกฤษที่เรียกได้ว่าเป็น civic crowdfunding แห่งแรกและประสบความสำเร็จแพลตฟอร์มหนึ่งของโลก โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชน องค์กรเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ทำการระดมทุนเพื่อโครงการอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดบริการในปี 2012 สามารถระดมทุนได้แล้วทั้งสิ้น 6.11 ล้านปอนด์ ผ่านจำนวนโครงการทั้งสิ้น 372 โครงการ โดยมีอัตราความสำเร็จที่ 52%

ในเมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษ โดยกลุ่ม Friends of Flyover ซึ่งมีสมาชิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ 3 คน ได้ทำแคมเปญระดมทุนผ่าน Spacehive เพื่อเปลี่ยนสะพานทางเดินรกร้างที่เทศบาลได้เตรียมงบในการทุบทิ้ง เป็นทางเดินแห่งพื้นที่กิจกรรมและสวนสาธารณะแห่งใหม่ของเมือง ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่าแผนการทุบทิ้งเดิมของเทศบาล โดยกลุ่มดังกล่าวสามารถระดมทุนได้กว่า 43,000 ปอนด์ และได้ร่วมมือกับเทศบาลเมืองลิเวอร์พูลในเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

สหรัฐอเมริกา

เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าทางด้าน civic crowdfunding อย่างมาก โดยอาศัยความร่วมระหว่างสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นอย่างแนบแน่น โดย Ioby.com เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ระดมทุนของสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่ง นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2012 จนถึงปัจจุบัน สามารถระดมทุนได้แล้วทั้งสิ้นกว่า 3.6 ล้านดอลลาร์ ผ่าน 1,253 โครงการ มีอัตราสำเร็จที่ 87% กว่าครึ่งของผู้บริจาคในโครงการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการนั้นๆ ด้วย

โดยโครงการตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ โครงการ The Hempline ของเมือง Memphis ในรัฐเทนเนสซี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเลนจักรยานในเมืองเพื่อเชื่อมต่อย่านสำคัญๆ เข้าด้วยกันทั้งธุรกิจ ท่องเที่ยว ราชการ และย่านที่พักอาศัย เพื่อแก้ปัญหาการย้ายออกของประชากรและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยโครงการดังกล่าวสามารถระดมทุนได้กว่า 4 ล้านดอลลาร์ ทั้งจากองค์กรธุรกิจ องค์กรท้องถิ่น และจากแพลตฟอร์ม Ioby.com ซึ่งในเวลาเพียง 2 ปี ทำให้อัตราที่อยู่อาศัย (occupancy) ของเมืองโตจาก 30% เป็น 95% เมืองคึกคักมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกิจกรรมทางสังคมที่สร้างสรรค์ สร้างชื่อให้กับเมืองอีกครั้ง

เนเธอร์แลนด์

สะพานทางเดินข้ามในเมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นอีกตัวอย่างของ civic crowdfunding ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก โดยสามารถระดมทุนได้ถึง 100,000 ยูโร เพื่อเชื่อมพื้นที่ระหว่างเมือง ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยเทศบาลเมือง Rotterdam มากว่า 30 ปี แต่ไม่สามารถทำให้เป็นรูปเป็นร่างได้ เพราะติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ ในปี 2554 บริษัทออกแบบด้านสถาปัตย์ชื่อว่า ZUS ได้ตัดสินใจสร้างเว็บไซต์ระดมทุน I Make Rotterdam ภายใต้สโลแกน “ยิ่งบริจาคมาก สะพานก็ยิ่งยาวขึ้น” (the more you donate, the longer the bridge)

หลังจากประสบความสำเร็จในการระดมทุนช่วงแรก ในปี 2555 ZUS ได้รับรางวัลชนะเลิศจาก Rotterdam City Initiatives มูลค่ากว่า 4 ล้านยูโร จากการโหวตจากประชากรในเมือง Rotterdam กว่า 20,000 คน ทำให้ปัจจุบันถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง Rotterdam

ไทย

“พลิกไทย” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใส่ใจกับปัญหาหรือรักงานด้านการพัฒนาสังคม ชุมชนรอบตัว ได้ส่งแนวคิดกิจกรรมที่จะร่วมกัน “พลิก” เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้แนวคิดเชื่อมโยง Active Citizen เข้าสู่แพลตฟอร์มในการสร้างความร่วมมือของภาคพลเมืองที่มีความต้องการ ความคิด หรือโครงการที่จะแก้ปัญหาในชุมชนของตน เข้ากับการระดมทุนและพลังอาสาสมัครที่มีหลากหลายทักษะและความเชี่ยวชาญ โครงการ “พลิกไทย” ของดีแทคเกิดจากการทำงานร่วมกันกับมูลนิธิกองทุนไทยและ meefund.com เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน