ThaiPublica > เกาะกระแส > 3ก๊ก วิชา จปร.-ตำราธุรกิจ โจโฉ อัจฉริยะปีศาจ 4.0 อาเต๊า-เล่าปี่และวิกฤติคนดี

3ก๊ก วิชา จปร.-ตำราธุรกิจ โจโฉ อัจฉริยะปีศาจ 4.0 อาเต๊า-เล่าปี่และวิกฤติคนดี

9 กรกฎาคม 2017


พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม(กลาง) นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)(ขวา) สนทนา บนเวที สามก๊ก “ปลุกชีวิต คิดการใหญ่” โดยมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา(ซ้าย) เป็นพิธีกรไลฟ์ทอล์ค จัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, มติชนกรุ๊ป และบีอีซีเทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์

เพราะวรรณกรรม 3 ก๊ก ทำให้ พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม โคจรมาพบกับ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

โดยมีพิธีกร ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้เชิญสนทนา บนเวที สามก๊ก “ปลุกชีวิต คิดการใหญ่” ไลฟ์ทอล์ค ร่วมจัดทัพโดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, มติชนกรุ๊ป และบีอีซีเทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์

คำถามถูกเปิดว่า ใน 3 ก๊กมีนักรบอัจริยะมากมาย ในสายตา “ก่อศักดิ์” ใครคืออัจฉริยะ

“ก่อศักดิ์” ตอบแบบพลิกโผ ว่า “อาเต๊า” หรือ “เล่าเสี้ยน”

“เพราะอาเต๊าถูกคนโจมตีว่าโง่ ไม่สามารถ ปกป้องสมบัติของเล่าปี่ ถูกจับเป็นเฉลย ถูกมองเป็นคนเจ้าสำราญ ไม่รับผิดชอบ อาเต๊าถูกโจมตีมา 1,800 ปี ผมอยากจะเป็นทนายแก้ต่างให้อาเต๊า”

“ผมชื่นชมว่ามีสติปัญญา เมื่อแพ้ศึกเป็นเชลย รักษาหลายร้อยชีวิตให้รอด ยอมรับบทบาทใหม่ เป็นเชลยศึกบรรดาศักดิ์ แสดงให้ผู้ชนะเห็นว่าเขาหมดไฟ ยินดีอยู่เสพสุข ดังนั้น อาเต๊ารอดชิวิต อยู่จนป่วยตาย 64 ปี”

“อาเต๊า ไม่ใช่คนโง่” ก่อศักดิ์ อ่านนักรบคนนี้ว่า “มีความฉลาด เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ รู้จักใช้ความสามารถของขงเบ้ง ให้เป็นทั้ง นายกฯ และเป็นผู้คุมกองทัพทั้งหมด ตลอดเวลา 29 ปี ในบัลลังก์อาเต๊า รอบตัวต้องมีคนที่ขอแบ่งอำนาจเพื่อเอาประโยชน์ แต่อาเต๊า ยึดมั่นในคำแนะนำขงเบ้ง แต่เคารพอย่างอย่างจริงใจ”

ต่างมุมอย่างสิ้นเชิง กับ “พล.อ. นิพัทธ์” ในฐานะที่เป็นนักเรียนนายร้อย จปร. ที่ต้องร่ำเรียนวิชา 3 ก๊ก เขาเทใจให้ “โจโฉ”

“ผมเลือกมองโจโฉ ในชีวิตราชการทหาร ความเขลา เป็นศัตรูที่ร้ายการที่สุด อาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. จัดวิชา 3 ก๊กให้ได้เรียน คุณค่าวรรณกรรมที่ซ่อนอยู่ข้างใน แม้ตำรา 3 ก๊ก จะเป็นยาขม แต่ครูมีวิธีทำให้เราสนใจ หยิบเอาบางเหตุการณ์มาทดสอบ ว่าการที่เราจะออกไปเป็นนายทหาร เราต้องเจอกับความไม่แน่นอน กดดัน ต้องมีการตัดสินใจ ต้องนำคนในเวลาเดียวกันก็ต้องตามคน นายที่ดี นายที่เลว ลูกน้องที่ดี ลูกน้องที่เลว อยู่ในตัวอักษร 3 ก๊กทั้งหมด”

“ผมชื่นชมโจโฉ ผมเรียกบุรุษคนนี้ ว่าเป็นอริยะปีศาจ”

“โจโฉเป็นคนใจกว้าง ในการเลือกคน คำคมโจโฉ คือ ไม่ต้องสนใจว่าแมวจะสีดำ สีขาว ขอให้จับหนูได้ ก็พอ คำพูดเหล่านี้ซึมซาบเข้ามาในตัวผม สร้างทัศนคติเชิงบวก ผมชอบคำนี้มาก”

“โจโฉสนับสนุนให้กวนอูที่เป็นแค่พลทหารออกไปทำการรบ แม้ถูกปรามาสว่าไม่มีความสามารถ เป็นแค่พลเกาทัณฑ์ แต่โจโฉ ยืนยันว่าคนอย่างกวนอู กล้าเสนอตัวไปรบตัวต่อตัว เขาจะต้องมีดี ตรงนี้คือจุดพลิกสถานการณ์ ถ้าโจโฉ ไม่ใจกว้าง มีจิตใจคับแคบ ถือยศ ถือศักดิ์ วันนั้นกวนอูจะไม่เกิด แล้วศึกวันนั้นจะพ่ายแพ้ทันที นี่คืออัจฉริยะของโจโฉ”

“ภิญโญ” แย้งว่า ศิษย์เอก จปร. อย่าง พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เคยลั่นวาจา “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” แต่โจโฉทำครบทุกประการ ไฉนเป็นวีรบุรุษ

พล.อ. นิพัทธ์ ตอบว่า “ต่างกรรม ต่างวาระ …การเป็นนักเรียนนายร้อย ที่ถูกบังคับให้เรียนวรรณกรรม 3 ก๊ก มันจะเฉลยทุกอย่าง ว่าทำอย่างนี้ จะได้อย่างนั้น ทำอย่างนั้น จะได้อย่างนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่ออ่านไปตลอดเรื่อง มันจะกลับกัน ถ้าทำอย่างนี้ จะไม่ได้อย่างนั้น มิตรไม่ได้เป็นตลอดไป ศัตรูก็ไม่ได้เป็นกันตลอดชาติ มิตรกลับเป็นศัตรู แล้วกลับเป็นมิตรได้ นี่คือคุณค่า 3 ก๊ก”

ฝ่าย “ก่อศักดิ์” วิพากษ์ “โจโฉ” ว่า “เก่งที่สุดในทั้ง 3 ประมุข 3 ก๊ก มีทั้งความรู้ การทหาร แต่งตำราพิชัยสงคราม แต่งกลอนเก่ง มีศักยภาพ หาตัวจับไม่ได้ ผมว่าเก่งกว่าขงเบ้ง แต่โจโฉไม่น่านิยมชมชื่น เพราะเวลาเขาได้ดิบได้ดี สามารถฆ่าคนที่มีบุญคุณ”

คำหนึ่งที่ “โจโฉ” มักอ้างเหตุตอบคำถามนายพลร่วมรบเสมอ คือ “นี่มันกลียุค”

“ก่อศักดิ์” วิจารณ์ว่า “คำนี้โจโฉพูดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เพราะตัวเองทำอะไรก็มีเหตุผลทั้งนั้น แต่การทรยศ ต่อคนที่เคยมีบุญคุณต่อตัวเอง มันเป็นจรรยาบรรณ มันไม่ใช่กลียุค”

แต่คำว่า “กลียุค” สร้างความชอบธรรมให้ “โจโฉ” ได้ เมื่อ พล.อ. นิพัทธ์ ออกตัวแก้ต่างให้ว่า

“กฎทุกกฎมีข้อยกเว้นเสมอ ครั้งหนึ่ง โจโฉยกทัพผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ต้นข้าวออกรวงไสว เขาออกคำสั่ง อย่าให้กำลังพลทำลายพืช ผลไม้ของชาวบ้านเป็นอันขาด ใครละเมิดคำสั่งนี้ต้องตาย ระหว่างเดินทาง ม้าของโจโฉพยศไปเหยียบย่ำพืช ข้าว เสียหาย โจโฉ หยิบดาบจ่อคอเพื่อลงโทษตัวเองให้ลูกน้องเห็น ในเวลานั้นมีเสนาคนหนึ่ง คุกเข่าลง บอกว่า “สำหรับท่านแล้วกฑข้อนี้ยกเว้นได้” โจโฉจึงใช้ดาบตัดแค่ปลายผมตัวเองเพื่อแทนสัญลักษณ์ว่าได้ลงโทษตัวเองแล้ว ตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ นี่คือกฏทุกกฎมีข้อยกเว้นเสมอ

พิธีกรโยนคำถามเรื่อง 3 ก๊กกับแนวคิดธุรกิจ เข้าทาง “ก่อศักดิ์”

“ผมเลือกใช้แนวเล่าปี่ คือ คนในทีมรักกัน หัวหน้าต้องไม่รังแกลูกน้อง รักษาความเป็นมนุษย์ของลูกน้อง ทำให้คนร่วมใจ ทำการใหญ่ได้”

ส่วน “พล.อ. นิพัทธ์” เตรียมคำตอบ คน 4 ประเภท-บทเรียนทางการทหาร ผ่านขุนศึกใน 3 ก๊ก ผู้นำต้องมี 1. ลาภยศสรรเสริญ ผู้นำต้องให้กับผู้ตาม 2. น้ำใสใจจริง 3. นำดีตามดี 4. ทำดีต้องได้ดี 5. ต้องมีความยุติธรรม และต้องเรียนรู้แยกแยะคน 4 ประเภท คือ 1. ฉลาดขยัน 2. ฉลาดขี้เกียจ 3. โง่ขี้เกียจ 4. โง่แล้วขยัน ต้องไม่ให้เข้าใกล้

“พล.อ. นิพัทธ์” บอกว่าเขาพร้อมทำงาน กับ “โจโฉ” เพราะ “ผมชอบน้ำใสใจจริงของโจโฉ เป็นนายที่ดี ตอบแทนลูกน้องที่ดี ใครเก่งคนนั้นเอารางวัลไป ได้รับการยกย่อง ปูนบำเหน็จรางวัล ชัดเจนกว่าทุกก๊ก แสวงหาศัตรูที่เก่งมาร่วมงาน นี่คือวิสัยทัศน์”

“ก่อศักดิ์” เลือกทำงานกับ “เล่าปี่” เหตุผลเพราะ “เป็น 1 ใน 400 กษัตริย์จีน ที่คนจดจำได้ เขาได้เป็นกษัตริย์ แล้วยังออกรบ ถ้าเขาเป็นนักการเมือง ไม่ต้องเสี่ยง แต่เขามีสัจจะ เสียสละ นี่คือสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทำ การที่เขาแพ้ กลับมาตรอมใจตาย ผมชื่นชมเขาว่า ยิ่งแพ้ ยิ่งแสดงให้เห็นโศกนาฏกรรม ถ้าชนะ จะไม่มีคนจดจำได้”

คำถาม ที่คนฟังเงียบเงี่ยหูรอฟังทั้งห้อง คือ เมื่อเจอวิกฤติชีวิต “ก่อศักดิ์” พลิกตำรา 3 ก๊ก ช่วยชีวิตตัวเองอย่างไร

“ก่อศักดิ์” ตอบว่า “ยากที่จะอธิบาย แต่ขอหันมาพลิกคำที่ว่า ใครอ่านสามก๊ก 3 จบ คบไม่ได้ ผมพลิกตรงนี้ว่า ไม่เห็นด้วย ถ้าอ่านสามก๊ก ติดเล่ห์เหลี่ยม ยิ่งอ่านยิ่งคบไม่ได้ แต่จุดยืนผม ก๊กเล่าปี่มีอุดมการณ์ ขงเบ้งยืนกรานทำงานให้เล่าเปี่ ลูกเล่าปี่เคารพขงเบ้ง สิ่งเหล่านี้แสดงว่าความดีมีจริง ความดีไม่ใช่เรื่องโกหกของนักการเมือง ถ้าอ่านสามก๊กให้ทะลุ เรื่องนี้เน้นเรื่องคุณธรรม ไม่ได้เน้นเล่ห์เหลี่ยม”

“ก่อศักดิ์” ศรัทธา “อาเต๊า” เลือกทำงานกับ “เล่าปี่” แต่ชอบตัวละคร “โลวซก” ที่สุด

“ถ้าไม่มีโลวซก ไม่มีสามก๊ก โลวซกอยู่กับเล่าเปียวเป็นก๊กใหญ่ คั่นระหว่างโจโฉ กับซุนกวน โลวซกรู้ว่าถ้าเล่าเปียวตาย ทรัพย์สมบัติต้องรักษาไม่อยู่แน่ๆ เพราะมีเรื่องลูกเมียหลวงเมียน้อย ถ้าไม่ปรองดองกันต้องเสร็จโจโฉ จึงหาทางต้านโฉโจ ด้วยการร่วมมือกับซุนกวน ขายความคิดให้ซุนกวน ในที่สุด 2 ก๊กก็ร่วมรบ และจากนั้นโลวซกก็มีบทบาทคุมการทหาร”

แน่นอนว่า “พล.อ. นิพัทธ์” ยังคงชื่นชอบ “โจโฉ” แต่ต้องเป็น “โจโฉ 4.0”

“ผมชอบโจโฉ หรือไอ้โจโฉ ชอบฉากที่โจโฉจะเข้าตีเมืองลำหยง เสบียงอาหารหมด นายกองเสบียง ชื่อ ฮองอาวผู้ซื่อสัตย์แจ้งเตือนโจโฉว่าเสบียงใกล้หมด เหลืออีก 3 วัน โจโฉ บอกว่า “แล้วข้าจะจัดการเอง”

“ระหว่างนั้นทหารก่อการกระด้างกระเดื่อง โจโฉได้เรียกฮองเอาเข้ามาในเต็นท์ที่พักส่วนตัวแล้วพูดว่า ‘ข้าคงต้องขอยืมของรักบางอย่างของเจ้า…’ ฮองอาว ถามว่าของรักคืออะไร โจโฉตอบว่า “ข้าต้องขอยืมศีรษะท่าน…ข้าต้องใช้ศีรษะท่านเพื่อซื้อใจทหาร” จากนั้นโจโฉออกจากเต็นท์ไปบอกทหารที่กระด้างกระเดื่องว่า “เราได้ตัวฮองอาวผู้คดโกงต่อเสบียงของท่านแล้ว”

“โจโฉบทนี้คือปีศาจ แต่ผมยังอยากเป็นโจโฉ แต่ขอเป็นโจโฉ จาก 0.4 มาเป็น โจโฉ 4.0 จิตใจต้องไม่โหดแบบนี้”

วรรณกรรม 3 ก๊กยืนยาวมากว่า 1,800 ปี มีทุกมุม-ทุกกลเม็ดการศึกสงคราม การครองใจคน

บทสนทนา 3 ก๊กครั้งนี้ ชี้ให้เห็นตัวละครในดวงใจ “ก่อศักดิ์” และ “พล.อ. นิพัทธ์” มุมมองนักธุรกิจ และนักการทหาร ต่างกันอย่างสุดขั้ว-คนละก๊ก โดยสิ้นเชิง