ThaiPublica > คอลัมน์ > “สรรพสิริ วิรยศิริ” ผู้กล้า-ผู้ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

“สรรพสิริ วิรยศิริ” ผู้กล้า-ผู้ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

3 พฤศจิกายน 2012


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

นายสรรพสิริ วิรยศิริ ที่มาภาพ : https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net
นายสรรพสิริ วิรยศิริ ที่มาภาพ : https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net

ถ้าจะมีใครสักคนที่เหมาะจะได้รับการนำภาพมาขึ้นปกและโปรยปกด้วยคำว่า คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย ในรอบปีที่ผ่านมา คนผู้นั้นเห็นจะหนีไม่พ้นคุณสรรพสิริ วิรยศิริ ผู้ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา สิริอายุรวม 92 ปี

เป็น 92 ปีที่ผ่านบททดสอบแห่งความเป็นมนุษย์มากมายและเป็นบททดสอบเดียวกับที่สังคมไทยต้องเผชิญในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา

สมัยเมื่อเริ่มต้นทำนิตยสารใหม่ๆ นั้น คุณวัฒนชัย วินิจจะกูล เพื่อนรุ่นพี่ของผมเคยชักชวนให้ไปนั่งสัมภาษณ์คุณสรรพสิริถึงที่บ้านย่านถนนสามเสน ใกล้ๆ กับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล คุณสรรพสิริตอนนั้นก็เป็นคุณตาใจดีแล้ว ท่านได้เล่าประสบการณ์ชีวิตของท่านให้ฟังมากมาย ตั้งแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจในวัยเยาว์ ที่ท่านแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังในการดำเนินชีวิต และกลายเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของพระยามหาอำมาตย์ ที่ยังคงรักษาเกียรติประวัติแห่งวงตระกูลไว้ได้อย่างสง่างามตราบจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต

ในเวลานั้น ผมยังเป็นเพียงนักข่าวหนุ่มผู้ไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ยังไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และบททดสอบของชีวิต หลายต่อหลายเรื่องที่ได้ฟังจึงเพียงแต่ได้ยินที่หู จำได้เพียงเลาๆ แต่เรื่องเหล่านั้นมิได้เข้าไปจับที่ใจ และในที่สุดผมมิได้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นออกตีพิมพ์ด้วยซ้ำไป

นั่นเป็นความเขลาในวัยเยาว์ ที่มีแต่ยาที่ชื่อว่าเวลาเท่านั้นที่จะช่วยรักษาได้

เมื่อย้อนคิดถึงวันนี้ วันที่ผมเข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น ผ่านบททดสอบของชีวิตมาหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผ่านการดำเนินรายการโทรทัศน์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศมา 3 ปีเต็ม อันเป็น 3 ปีที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรง ผมยิ่งซาบซึ้งว่า คุณสรรพสิริต้องใช้ความกล้าหาญเพียงใด ในการเผยแพร่ภาพข่าวเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐให้ผู้ชมทั่วประเทศได้รับทราบความจริง

ผ่านมาเกือบ 40 ปี ผมยังไม่เห็นคนกล้าเช่นนี้อีกในวงการโทรทัศน์ไทย

หากจะกล่าวไป โทรทัศน์นั้นเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมมากที่สุดสื่อหนึ่ง ตั้งแต่มีการคิดค้นสื่อขึ้นมาในโลกนี้ เมื่อมีอิทธิพลมาก จึงถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลมาก ตั้งแต่ข้าราชการ เผด็จการทหาร กระทั่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พอมีอำนาจวาสนาก็สั่งสถานีโทรทัศน์ไปหมดทุกเรื่อง

สถานีโทรทัศน์ซึ่งควรจะเป็นกลางและรับใช้ประชาชน จึงกลายไปเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ในช่วงหลัง เมื่อความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างสื่อของตัวเองขึ้นมาสู้ ทำไปทำมา ทุกพรรคทุกค่ายทุกฝ่ายทุกสีจึงกลายเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์กันหมด

ยิ่งเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้การเกิดของสถานีโทรทัศน์ง่ายขึ้น ในที่สุด ทุกสื่อเก่าต่างก็พากันพาเหรดเข้าสู่ตลาดโทรทัศน์ดาวเทียมกันอย่างคึกคัก

จนโทรทัศน์ดาวเทียมประเทศไทยนับสถานีได้เป็นร้อยช่อง

กระนั้น จะมีสักช่องที่จะเป็นหลักเป็นฐาน เป็นพื้นที่กลาง และทำงานอย่างมืออาชีพ ก็หาได้ยากเต็มที ยิ่งมีเงื่อนไขทางธุรกิจเข้ามากำกับ ใครเล่าจะอยากซัดกับรัฐบาลหรือทานกระแสโฆษณา เพราะเป็นที่รู้กันว่า นอกจากงบจากกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ในประเทศแล้ว ในระยะหลัง งบประมาณจากภาครัฐมีส่วนอย่างยิ่งในการเกื้อหนุนให้สื่อเก่าหลายสื่อเชิดหน้าชูตาอยู่ได้ในโลกยุคใหม่

ผมเคยตั้งคำถามใหญ่กับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นมาในประเทศไทย สถานีจะรายงานข่าวอย่างไร?

จะรายงานเหตุการณ์สดๆ ตามที่เป็นจริง

หรือจะถ่ายทอดประกาศของคณะรัฐประหารอย่างเชื่องๆ

จะเลี่ยงไปเปิดมิวสิกวิดีโอกังนัมสไตล์ฆ่าเวลา

หรือจะทำเหมือนว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเป็นปกติ เหมือนที่ฟรีทีวีไทยชอบทำกันเวลาเกิดวิกฤติ

นี่เป็นคำถามที่ผู้บริหารสถานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีข่าวต้องคิดว่า จะเลือกจุดยืนในการนำเสนอข่าวอย่างไรในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานของประเทศ ซึ่งแต่ละคนแต่ละค่ายคงจำเป็นต้องเลือกจุดยืนแตกต่างกันไป ตามเหตุ ตามผล และตามประโยชน์ที่แต่ละคนต้องรักษาไว้

ตั้งแต่ประโยชน์ตน จนกระทั่งถึงประโยชน์ท่าน (ผู้ถือหุ้น)

ส่วนประโยชน์ประชาชนอาจจะอยู่หลังสุด เพราะความอยู่รอดของสื่อในระยะสั้นนั้น มิได้มาจากยอดขายเหมือนในอดีต สื่อยุคใหม่จึงรู้ร้อนรู้หนาวกับผู้อ่านหรือผู้ชมน้อยลง แต่รู้ใจกลุ่มธุรกิจและคนในรัฐบาลมากขึ้น

คำถามเรื่องรัฐประหารจึงเป็นคำถามที่ต้องรอเวลาพิสูจน์เมื่อสถานการณ์จริงเผชิญหน้าและท้าทายให้ทุกคนต้องตัดสินใจ
เช่นเดียวกับอีกหลายคำถามในโลกแห่งการทำหน้าที่สื่อ

ก่อนวันที่ 6 ตุลา 2519 การเมืองในประเทศทวีความตึงเครียดขึ้น มีข่าวการนำจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร กลับเข้ามาในประเทศ คุณสรรพสิริเล่าไว้ในนิตยสารสารคดีว่า เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ท่าจะไม่ดี จึงเตรียมการตั้งรถเสนอข่าว ยิ่งเมื่อเห็นเหตุการณ์มีทีท่าจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จึงตัดสินใจลงไปจับเรื่องนี้เอง

“เพราะข่าวคือหัวใจและศักดิ์ศรีของสื่อสารมวลชน และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ที่ทุกคนมีสิทธิรู้ความจริง” คุณสรรพสิริกล่าวอมตะวาจาไว้เช่นนั้น

คืนวันที่ 5 ตุลาคม คุณสรรพสิริวางแผนทำข่าว โดยดึงช่างภาพทั้งมือเก่าและใหม่เข้าร่วมทีม พอถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม รถบัญชาการของ “ข่าวล่ามาเร็ว” กับ “ข่าวล่ามาทันที” ก็มาจอดอยู่ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนสายเสียงปืนเริ่มดังมากขึ้น ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เริ่มมีการลากศพออกมาจากธรรมศาสตร์ไปฝั่งสนามหลวง

ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยคที่ถูกรายงานผ่านหน้าจอโทรทัศน์ สะกดผู้ชมทั้งประเทศให้หยุดนิ่ง คุณสรรพสิริได้ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนอย่างกล้าหาญเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในวันนี้ คำถามสำคัญก็คือว่า จะมีโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องไหนที่กล้าตัดรายการที่ออกอากาศอยู่เข้าสู่การรายงานสด เราไม่เคยได้รับความจริงท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองผ่านฟรีทีวีอย่างทันท่วงทีเลยใช่หรือไม่
ความสยดสยองของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงหาใช่เพียงเหตุการณ์ความรุนแรงจากการใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันบนท้องถนนเท่านั้น

หากแต่ความน่าสยดสยองกลับอยู่ที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น ผู้ชมส่วนใหญ่ที่ชมฟรีทีวียังคงนั่งดูละครอยู่อย่างสบายใจ เพราะสถานีโทรทัศน์มิได้ทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างฉับไวเท่ากับเทคโนโลยี 3G ที่เรียกร้อง

ถ้าการเพิกเฉยต่อความรุนแรงคืออาชญากรรม
เราจะเรียกการเพิกเฉยต่อการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของสื่อมวลชนว่าอะไร

สถานีโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อมวลชนในเวลานั้น หรือสถานีโทรทัศน์จะลดบทบาทตัวเองไปเป็นเพียงโรงลิเกธรรมดา ที่ทำหน้าที่เสนอละครและโฆษณาโดยไม่ขาดตกบกพร่อง

ทั้งๆ ที่บนท้องถนนเจิ่งนองไปด้วยเลือด
ท้องฟ้าเต็มไปด้วยควันไฟ
ทะเลกำลังจะเกิดคลื่นใหญ่
และแผ่นดินไหวกำลังเขย่าประเทศ

การตัดสินใจทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีของคุณสรรพสิริในวันนั้น เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนของประเทศไทย และเราแทบจะไม่เคยเห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมเช่นนั้นอีกแล้วในปัจจุบัน เพราะไม่มีใครกล้าเอาวิชาชีพตัวเองไปเดิมพันเช่นนั้นอีก

เราจึงเห็นสื่อมวลชนทำหน้าที่ได้หลายอย่างในปัจจุบัน ตั้งแต่ประชาสงเคราะห์ ประชาสัมพันธ์ กระทั่งประชานิยม ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อที่สื่อมวลชนจะได้มิต้องทำหน้าที่สำคัญ

นั่นคือการรายงานความจริงให้กับประชาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความจริงนั้นสุ่มเสี่ยงต่ออนาคตแห่งวิชาชีพและธุรกิจของตน

ในวันนั้น คุณสรรพสิริรู้ทันทีด้วยประสบการณ์ว่า การรายงานข่าวชิ้นดังกล่าวจะส่งผลสะเทือนต่อหน้าที่การงานโดยตรง และความจริงอันโหดร้ายก็เป็นเช่นนั้น คุณสรรพสิริถูกปลดจากทุกตำแหน่งในสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ถูกอายัดทรัพย์สินทั้งหมด ทำให้ครอบครัวลูกเมียต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง ต้องระเห็จไปทำไร่ในต่างจังหวัด และในที่สุดต้องคำพิพากษาให้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย

นี่คือต้นทุนแห่งความกล้าหาญที่คุณสรรพสิริยอมจ่ายเพื่อรักษาความถูกต้องของวิชาชีพ นี่คือต้นทุนแห่งความกล้าหาญที่คุณสรรพสิริยอมจ่ายเพื่อให้สื่อมวลชนรุ่นหลังยังคงเชิดหน้าชูตาทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างสง่างาม

นี่คือต้นทุนที่คุณสรรพสิริยอมจ่ายเพื่อรักษาความถูกต้องเที่ยงธรรมให้กับประเทศนี้

และถ้าจะมีใครสักคนที่จะยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
ท่านผู้นั้นก็คือ คุณสรรพสิริ วิรยศิริ โดยแท้

แต่ประเทศไทยจะทำได้แค่เพียงยกย่องคุณสรรพสิริเมื่อท่านจากไปกระนั้นหรือ

หรือเรามีภารกิจร่วมกันในการรังสรรค์สังคมที่มากกว่านั้น

การปล่อยให้คนกล้าต้องจ่ายราคาด้วยชีวิต จะยังมีใครคิดกล้าหาญในแผ่นดินนี้

การเชิดชูคนดีโดยดูจากชื่อเสียงและทรัพย์สิน จะยังมีใครแสวงหาสัจธรรมอื่นใดในชีวิต

ถ้าสังคมเข้มแข็ง ประชาชนตื่นตัว ภาคธุรกิจกล้าหาญ ผู้กล้าอย่างคุณสรรพสิริอาจมิต้องเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้เหมือนในอดีต

ถ้าการยืนดูอาชญากรรมอย่างนิ่งเงียบคืออาชญากรรม

เราจะเรียกการปล่อยให้คนกล้าต้องประสบเคราะห์กรรมว่าอย่างไร

นี่คือคำถามใหญ่สำหรับประเทศไทย

ประเทศที่ขาดแคลนผู้กล้า เพราะทุกคนรู้แก่ใจว่า การเป็นผู้กล้านั้นจ่ายแพง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 2-8 พ.ย. 2555