ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > โครงการต้นแบบ “เรือนจำพิเศษธนบุรี” ขับเคลื่อนด้วยข้อกำหนดแมนเดลา “คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”กับผู้ต้องขัง

โครงการต้นแบบ “เรือนจำพิเศษธนบุรี” ขับเคลื่อนด้วยข้อกำหนดแมนเดลา “คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”กับผู้ต้องขัง

31 กรกฎาคม 2017


เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม กรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรม ร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ประกาศขับเคลื่อนการนำข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำของค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สู่การปฏิบัติเต็มรูปแบบแห่งแรกในโลก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นวันเนลสัน แมนเดลา 18 กรกฎาคม

ด้วยประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ต้องขังเพิ่มมากกว่า 286,000 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ต้องขังในปี2551) ขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 245,000 คน ส่งผลต่อการบริหารจัดการ โดยกรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานปลายน้ำในกระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการเรือนจำให้ได้มาตราฐานมาโดยตลอด ล่าสุดได้ริเริ่มขับเคลื่อนนำข้อกำหนดแมนเดลาซึ่งเป็นมาตรฐานโลกมาปรับใช้อย่างเป็นทางการเป็นโครงการนำร่อง

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 TIJ ได้จัดงานสัมมนา “คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก ปัญหาจุกอกกระบวนการยุติธรรมไทย” (Diversion of Cases and Offenders)โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าจากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยยังประสบกับปัญหาคดีล้นศาล นักโทษล้นคุก ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยมุ่งเน้นใช้มาตรการทางอาญาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งที่ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางอาญา และเห็นได้ว่า การพิจารณาตัดสินคดีส่วนใหญ่เน้นที่ “การขังคุก” ซึ่งประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การพิจารณาโทษด้วยวิธีการเช่นนี้ มิได้ทำให้จำนวนผู้กระทำผิดลดลง แต่กลับพบว่ามีผู้กระทำผิดหลายรายกลับมากระทำผิดซ้ำอีก กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุด

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้นนายวิทยา สุริยะวงค์ (ปัจจุบันรองปลัดกระทรวงยุติธรรม)เคยกล่าวไว้ว่าด้วยบทบาทกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดำเนินการตามคำพิพากษา คนที่มาอยู่ในเรือนจำ เป็นคนที่เขาไม่ได้อยากมาอยู่ เมื่อมาแล้วเราก็ต้องดูแลเขา ซึ่งมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ การเพิ่มขึ้นแยกเป็นสองประเภท ผู้ต้องขังที่เป็นคดีอาชญากรรมโดยสภาพ เพิ่มขึ้นตามสภาพสังคมและประชากรที่แปรผันไป และที่มากผิดปกติคือผู้ต้องขังคดีตามนโยบาย คือคดียาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ด้วยกฏหมายและนโยบายทำให้ผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนคน จากเมื่อก่อนนักโทษส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตอนนี้ร้อยละ 70 เป็นคดียาเสพติด มากเกินกว่าที่เรือนจำรองรับได้

“ที่ผิดคือนโยบายจะแก้อย่างไร ทุกคนทำตามกฏหมายหมด นักโทษที่เป็นอาชกรโดยสภาพมีประมาณ 120,000-150,000 คน แต่ด้วยปัญหาเชิงนโยบาย ที่เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ทุกคนทำตามหน้าที่ ไม่มีใครผิด ก็ต้องมาแก้ปัญหาเชิงนโยบายว่าจะแก้อย่างไร”

“คนล้นคุกผลกระทบตั้งแต่ที่นอน ห้องสุขา ห้องเยี่ยมญาติ โรงฝึกงาน สถานที่ออกกำลัง สถานที่ฝึกระเบียบ/แถว โรงอาหาร ตู้ล็อกเกอร์ หากเปรียบเทียบว่าบ้านที่เราเตรียมไว้รองรับผู้ต้องขัง 100 คน แต่มีคนมาอยู่ 150 คน บางที่ 300 คน ที่หนักคือผู้ต้องขังหญิง จากเดิมร้อยละ 5 พอมีนโยบายยาเสพติด ทำให้ผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4 หมื่นคน หรือประมาณกว่าร้อยละ 10 เพิ่มเป็น 3 เท่า ทำให้ผู้หญิงลำบากกว่าผู้ชาย สถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป เพราะกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่รับคุมขังคนตามคำสั่ง สิ่งที่กระทบคือสังคมต้องจ่ายเงินเพิ่ม ใช้เงินงบประมาณมากขึ้น คนที่มาอยู่ เขาไม่ได้อยากมาอยู่ เมื่อเราจับเขามาอยู่ เราก็ต้องดูแลเขา ให้สวัสดิการ อาหารปัจจัยสี่ การรักษาพยาบาล รวมทั้งโปรแกรมต่างๆ เช่น โรงงานฝึกอาชีพก็ต้องปรับมาเป็นที่นอน กระทบการฝึกงาน ทำให้ในแง่การสร้างผลิตภาพคนไม่ได้ เอาที่ไปขังคนเฉยๆ”

“เรือนจำเป็นสถาบันคอยดูแลคนที่สังคมไม่อยากให้อยู่ด้วยชั่วเวลาหนึ่ง แต่เราไม่สามารถเอาทุกคนออกไปอยู่ในเรือนจำทั้งหมด คนที่อยู่ในเรือนจำเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่กระทำผิดที่เกิดขึ้นในสังคม แต่จริงๆผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ยังอยู่ในสังคม แต่เราเอาเขามาอยู่กับเรา ไม่ใช่อยู่ตลอดไป เข้ามาอยู่เรือนจำแล้ว ไม่ใช่ ได้ตั๋วฟรีตลอดชีวิต วันหนึ่งเขาต้องกลับไป กลไกที่อยู่ข้างนอกต้องสนับสนุน โอบอุ้มดูแล ต้องมีมาตรการสร้างกลไกในการคืนคนดีสู่สังคมต่อไป มาตรการจำคุกถามว่าจำเป็นไหม จำเป็นต้องมีต่อไป เพราะไม่มีสถานไหนที่จะรับควบคุมคนที่สังคมไม่ต้องการ แต่ต้องคัดคนที่จำเป็นต้องอยู่ คนไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่อื่น หรือต้องหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการลงโทษในรูปแบบอื่นๆด้วย”(ดูเพิ่มเติม ทำไมคนล้นคุก)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าด้านหนึ่งกรมราชทัณฑ์จะต้องแบกรับภาระความแออัดของเรือนจำที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งของการดูแลผู้ต้องขังในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ นโยบายเรือนจำนำร่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานจึงเกิดขึ้น เรือนจำพิเศษธนบุรีจึงเป็นโครงการเรือนจำต้นแบบ ด้วยมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเท่าเทียม เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ภายในเรือนจำยังมีกิจกรรมที่ให้ผู้ต้องขังได้ลงมือทำ ทั้งนี้เพื่อเอื้อต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ และช่วยลดปัญหาการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก

ขณะเดียวกันยึดหลักการพื้นฐาน 5 ประการสำคัญของข้อกำหนดแมนเดลา คือ

    1. ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
    2. ห้ามทรมมานหรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ
    3. ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ
    4. วัตถุประสงค์ของเรือนจำ คือ การคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำความผิดซ้ำ
    5. ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการต่างๆ ในเรือนจำ และผู้เข้ามาเยี่ยมจะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันTIJ กล่าวว่า TIJ ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการขับเคลื่อนข้อกำหนดแมนเดลาสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในโลก โดยมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบาย และช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำพิเศษธนบุรี ผลักดันการสร้างเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลาให้เป็นจริง

“โครงการนำร่องเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลาเป็นโครงการที่เกิดขึ้นต่อจากโครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพหรือ Bangkok Rules (ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตราการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา และผลักดันเข้าเป็นข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ระหว่างปี 2558-2559 มีเรือนจำและทัณฑสถานที่ผ่านการประเมินให้เป็นเรือนจำต้นแบบแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม” ดร.กิตติพงษ์กล่าว(ดูเพิ่มเติม)

เรือนจำต้นแบบ เรือนจำพิเศษธนบุรี สภาพคล้ายบ้าน ผู้ต้องที่อยู่ในเรือนจำล้วนเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ๆ 1 ครอบครัว ที่แต่ละวันทุกคนจะต้องออกไปปฏิบัติภารกิจในทุกๆ วัน และพอตกเย็นทุกคนก็กลับเข้าบ้าน อาบน้ำ กินข้าว และเข้านอนพร้อมกัน อย่างภาพ(ภาพด้านล่าง)ที่สามารถจะบอกถึงความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุข หรือมีอิสระในการใช้ชีวิต

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำพิเศษธนบุรีถูกเลือกให้เป็นเรือนจำนำร่อง เพราะมีความพร้อมหลายประการ หากสามารถยกระดับมาตรฐานการจัดการได้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในการขยายการปฏิบัติตามข้อกำหนดแมนเดลาไปยังเรือนจำและทัณฑ์สถานอื่นๆ

ภายใต้แนวทางข้อกำหนดแมนเดลา กรมราชทัณฑ์ได้ยกระดับการปฏิบัติงานด้วยแผนการบริหารโทษ(Sentence Plan)ทั้งระบบมาก่อนแล้ว ตั้งแต่การจำแนกลักษณะผู้ต้องขังให้มีความเหมาะสม การควบคุมผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบและมีมนุษยธรรม การพัฒนาพฤตินิสัย โดยอาศัยการบูรณาการข้อมูลพฤติการณ์ของผู้ต้องขัง และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยกรมราชทัณฑ์ได้ก่อสร้างศูนย์เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยภายในเรือนจำและทัณฑ์สถานเปิดจำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ และได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการของศูนย์เตรียมความพร้อมดังกล่าว

ด้านนายยศพนต์ สุธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในประเทศไทย ได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ข้อกำหนดแมนเดลลาเป็นข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจากข้อกำหนดขั้นต่ำของสหประชาชาติในบางเรื่อง เช่น เรื่องการรักษาพยาบาลของผู้ต้องการจัดหาอาหาร การใช้เครื่องพันธนาการ และการดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย

นี่คือสภาพเรือนจำพิเศษธนบุรีในวันที่พาผู้สื่อข่าวเข้าเยี่ยมชม

ผู้ต้องขังได้รับการฝึกให้ทำอาหารหลากหลายเพื่อสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เช่น การทำปาท่องโก๋ ฯลฯ
การวาดภาพสีน้ำ เป็นกิจกรรมหนึ่งในการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ
การฝึกให้เป็นช่างสิบหมู่
ห้องสมุดพร้อมปัญญา
โรงครัวสำหรับให้ผู้ต้องขังทำอาหาร
กิจกรรมให้ผู้ต้องขังนั่งสมาธิ
เรือนนอนของผู้ต้องขัง