ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 มิ.ย. 2560: “ย้อนรอย ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ และ “กมธ.ยุโรปปรับกูเกิล 2.4 พันล้านยูโร

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 มิ.ย. 2560: “ย้อนรอย ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ และ “กมธ.ยุโรปปรับกูเกิล 2.4 พันล้านยูโร

1 กรกฎาคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 มิ.ย. 2560

  • ย้อนรอย “มือปืนป๊อปคอร์น” จากเหตุปะทะแยกหลักสี่ถึงศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
  • กสทช. ขีดเส้น “เฟซฯ-ยูทูบ” ไม่ลงทะเบียน-ห้ามเอเยนซี่ลงโฆษณา
  • แรงงาน-นายจ้าง “ร่วมหนาว” พ.ร.ก.ต่างด้าว ’60
  • ศาลสั่งฟ้อง “ธาริต-เรืองไกร” แจ้งความเท็จ
  • กมธ.ยุโรปปรับกูเกิล 2.4 พันล้านยูโร ฐานจัดอันดับค้นหาข้อมูลไม่เป็นธรรม
  • ย้อนรอย “มือปืนป๊อปคอร์น” จากเหตุปะทะแยกหลักสี่ถึงศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

    ที่มา: ยูทูบ Matichon TV

    วันที่ 1 ก.พ. 2557 เกิดเหตุการปะทะกันระหว่างคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับกลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดปทุมธานี บริเวณแยกหลักสี่

    เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชื่อสมญา “มือปืนป๊อปคอร์น” ปรากฏขึ้นเป็นที่รู้จักในสังคม โดยหมายถึงชายชุดดำสวมหมวกไอ้โม่งคลุมหน้าคนหนึ่ง ที่ใช้ถุงป๊อปคอร์นสวมคลุมปืนยาวไว้แล้วยิงมาจากทางฝั่งผู้ชุมนุม กปปส.

    มือปืนป๊อปคอร์น
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (https://goo.gl/mYw9Re)

    ต่อมา ได้มีการจับกุมนายวิวัฒน์ หรือท็อป ยอดประสิทธิ์ อายุ 27 ปี ซึ่งตกเผ็นผู้ต้องหาว่าคือชายชุดดำ โดยอัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2557 บรรยายความผิดสรุปว่าวันที่ 1 ก.พ. 2557 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกนำปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาดเข้าไปในพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอที สแควร์ ทำให้น.ส.สมบุญ สักทอง , นายนครินทร์ อุตสาหะ และนายพยนต์ คงปรางค์ ผู้เสียหายที่ 1-3 ได้รับอันตรายสาหัส และนายอะแกว แซ่ลิ้ว เสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดที่แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม.

    ในชั้นพิจารณานั้น จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทหนักสุด และฐานมีอาวุธปืนและพกพาอาวุธปืน จำคุก 6 ปี แต่คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกฐานฆ่าผู้อื่น 33 ปี 4 เดือน และความผิดฐานพกพาอาวุธปืนจำคุก 4 ปี รวมจำคุกจำเลย 37 ปี 4 เดือน

    ต่อมา นายวิวัฒน์ได้ยื่นอุทธรณ์ และวนวันที่วันที่ 27 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า อัยการโจทก์มีพนักงานสอบสวน ได้สืบสวนทราบว่ามีคนร้ายเกี่ยวข้องกับการยิงรวม 21 คน ในจำนวนนี้มีชายชุดดำ คือนายวิวัฒน์ จำเลยคดีนี้รวมอยู่ด้วย ดังที่ปรากฏในภาพนิ่งที่เห็นชายชุดดำ ในสถานที่และเวลาเดียวกับที่เกิดเหตุหลายรูป แต่แม้จะมีเทปภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์ โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงความเกี่ยวข้องหรือนำตัวผู้ถ่ายหรือประจักษ์พยานเบิกความประกอบให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องภาพมาเปรียบเทียบกับจำเลย หลักฐานดังกล่าวจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าภาพจากกล้องวงจรปิดและตัวจำเลยนั้นเป็นคนคนเดียวกัน จึงมีเพียงคำให้การของจำเลยที่ให้การรับสารภาพ ที่ยังมีพิรุธเคลือบแคลงสงสัย พยานหลักฐานโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย แต่ให้คุมขังไว้ระหว่างฎีกา

    กสทช. ขีดเส้น “เฟซฯ-ยูทูบ” ไม่ลงทะเบียน-ห้ามเอเยนซี่ลงโฆษณา

    พ.อ. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://goo.gl/z6Te31)

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า มื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มิ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญบรรดาบริษัทเอเยนซี่โฆษณา เพื่อมาชี้แจงแนวทางการโฆษณาผ่านผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT: Over The Top)

    พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ OTT เปิดเผยว่า การเชิญประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงให้บรรดาบริษัทเอเย่นซี่โฆษณาทราบว่า หากพ้นกำหนดวันที่ 22 ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ กสทช. ได้เปิดให้ผู้ต้องการให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่เข้าเกณฑ์จะต้องลงทะเบียนกับ กสทช. แล้ว ผู้ที่ยังไม่มาลงทะเบียนจะถือว่าเป็นผู้ให้บริการ OTT โดยไม่รับอนุญาต ถือว่าเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

    ดังนั้น หากเอเจนซี่โฆษณาหรือบริษัทเจ้าของงบโฆษณารายใด ยังลงโฆษณากับผู้ให้บริการ OTT ที่ให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ตามความผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ สำนักงาน กสทช. จะเชิญบริษัทที่ใช้งบโฆษณาบนสื่อออนไลน์ที่มีมูลค่ามากที่สุด 50 อันดับแรกเข้ามาชี้แจงแนวทางปฏิบัตินี้ด้วย

    “แนวทางปฏิบัติของ กสทช. นี้มีอำนาจตามกฎหมายให้ดำเนินการได้ ทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ และประมวลกฎหมายอาญาในส่วนของผู้สนับสนุน ผู้ร่วมกระทำความผิด ทั้งยังมีเรื่องของธรรมาภิบาลของบริษัท ซึ่งบริษัทเจ้าของงบโฆษณาเกือบทั้งหมดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การทำผิดกฎหมาย ทำผิดธรรมาภิบาลของบริษัทที่ดีย่อมมีผลกระทบกับบริษัทอย่างแน่นอน รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย หากหลังจาก กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ให้บริการที่ผิดกฎหมายแล้ว พบว่ามีบริษัทใดยังลงโฆษณากับ OTT รายนั้นอยู่ ก็จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์และแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อให้ดำเนินการ”

    ต่อกรณีดังกล่าว เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า Asia Internet Coalition หรือ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT โดยระบุถึงปัญหาด้านความโปร่งใสของระเบียบ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ การนำระเบียบ ข้อบังคับมาใช้จริงท่ามกลางความคลุมเครืออาจทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหาในไทย เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมและฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเป็น Thailand 4.0 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก

    แรงงาน-นายจ้าง “ร่วมหนาว” พ.ร.ก.ต่างด้าว 2560

    วันที่ 23 มิ.ย. 2560 มีการประกาศให้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.ก.ต่างด้าว ’60 มีผลบังคับใช้ โดย พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวเป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. การทำงนของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ส่วนการปรับปรุงนี้นั้นเป็นไปเพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างครอบคลุมทั้งระบบ รวมทั้งมีการเพิ่มโทษต่อนายจ้างที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยจะมีโทษเป็นการปรับนายจ้าง 400,000-800,000 บาทต่อการจ้างคนต่างด้าว 1 คนโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย

    พ.ร.ก. ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อฝั่งนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าว โดยจากรายงานของเว็บไซต์คมชัดลึก นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นพม่า หรือกัมพูชา เริ่มทยอยกลับบ้านของตนเองมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. มีแรงงานพม่าเดินทางกลับบ้านวันละ 2,000 คน ขณะที่กัมพูชา จากเดิมมาทำงานในไทย ประมาณ 4 คันรถ ก็กลายเป็นจำนวนลดน้อยลง แต่เดินทางกลับไปกัมพูชาประมาณ 15 คันรถ หากเกิดภาวะการไหลออกของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิต อุตสาหกรรม และการขาดแคลนแรงงานระดับล่างของประเทศอย่างแน่นอน

    “สิ่งที่แรงงานต่างด้าว และนายจ้างเห็นจาก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว คือ การปรับโทษให้รุนแรงมากขึ้น ตามความเชื่อของรัฐที่มองว่าหากมีบทลงโทษรุนแรง จะทำให้นายจ้างเกรงกลัว แต่ในความเป็นจริงยิ่งส่งผลให้ช่องทางลัด การกระทำที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น เช่น การแอบเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามา การจ่ายส่วย เป็นต้น เพราะเมื่อต้องจ่ายค่าปรับแพงมากขึ้น การจ้างหรือการทำให้มันไม่ถูกต้องเป็นทางออกที่ดี ดังนั้น ตอนนี้เกิดความหวั่นวิตกของนายจ้างแรงงาน และแรงงานต่างด้าวจากการประคอมของภาครัฐที่พูดแต่เรื่องบทลงโทษ อยากให้ทบทวนการออกกฎหมายดังกล่าว การมีบทลงโทษรุนแรงเป็นทางช่วยแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวจริงหรือไม่”

    พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า “พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดี คือ เป็นการวางแผนจัดการระยะยาว มีการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น แต่ตอนนี้ที่ทุกคนล้วนมองแต่ข้อเสีย ฉะนั้น หลังจากนี้ ในกลุ่มของผมจะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้ 1. การออก พ.ร.ก. ฉบับกล่าว มีความจำเป็นที่ต้องประกาศเป็น พ.ร.ก. หรือไม่ 2. บทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น อยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นรอบด้านไม่ใช่ความเห็นจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว 3. เสนอให้มีการยุติกระบวนการในการจับกุมแรงงานต่างด้าวชั่วคราว เพื่อให้นายจ้างและแรงงานได้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ให้รับความคิดเห็นชัดเจน ไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ และ 4. มีมาตรการในการคุ้มครอง เพราะ พ.ร.ก. ดังกล่าว ส่งผลให้นายจ้างหลายคนต้องมีการเลิกจ้างแรงงาน ทำให้ต้องมีแนวทางในการจัดการค่าจ้างคงค้างต่างๆ คาดว่าจะยื่นจดหมายเปิดผนึกได้เร็วๆ นี้”

    ขณะที่ทางฝั่งของนายจ้างนั้น เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก เนื่องจากไม่ได้มีระบบฝ่ายบุคคลแบบบริษัทใหญ่ ทำให้การคัดกรองไม่ละเอียดถี่ถ้วน รัฐบาลควรส่งสัญญาณล่วงหน้าสัก 3 เดือนเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาพาแรงงานไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

    ต่อมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ตัวแทนกฤษฎีกา ก.พ.ร. สมช. กกร. สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม เข้าหารือแก้ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยภาคเอกชนได้ยื่น 4 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ได้แก่ 1. การตั้งศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ 2. ขอให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับเรื่องแรงงานต่างด้าว 3. การจ่ายเงินชดเชย กรณีลูกจ้างเดินทางกลับประเทศหรือหยุดงาน และ 4. การประชาสัมพันธ์ พ.ร.ก. ดังกล่าวให้นายจ้างและลูกจ้างรับทราบ เพราะ พ.ร.ก. ดังกล่าว 145 มาตรา อ่านแล้วเข้าใจยาก ควรต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจง่าย ซึ่งภาครัฐรับได้กับข้อเสนอทั้งหมด ยกเว้นข้อแรก เพราะการเปิดศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยมีอุปสรรค ถ้าทำจะขัดต่อบันทึกความเข้าใจที่ไทยทำไว้ไว้กับเมียนมา ลาว และกัมพูชา และขัดต่อข้อตกลงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ว่าจะแก้ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายของคนต่างด้าว

    นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการรับจดทะเบียนในประเทศจะเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเคยพูดไว้แล้วว่าจะต้องจัดทำระบบการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาให้ถูกต้อง แม้กระทั่งเมียนมาเองก็ไม่สะดวกใจในไทยดำเนินการเช่นนี้ เขายืนกรานว่าจะต้องตรวจสอบอะไรบางอย่างก่อนส่งคนของเขาเข้ามาบ้านเรา

    นายวิษณุกล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นนายกฯ จึงเห็นชอบดังนี้ 1. ไทยยังเคารพในพันธะกรณีที่ตกลงไว้กับประเทศต่างๆ 2. พันธะกรณีสำคัญและต้องดำเนินการต่อคือการต่อต้านการค้ามนุษย์จะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้มาเป็นอุปสรรคแก้ปัญหา 3. เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่ออกเป็น พ.ร.ก. ทำให้นายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน จึงจำเป็นต้องใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน แต่มาตราที่เหลือยังบังคับใช้อยู่

    ศาลสั่งฟ้อง “ธาริต-เรืองไกร” แจ้งความเท็จ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/t2kyNk)

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เช้าวันที่ 28 มิ.ย. 2560 ณ ศาลแขวงดอนเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำ อ.812/2559 ที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ว. กับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ให้พนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาท

    โดยศาลได้มีคำสั่งประทับรับคำฟ้องจำเลยทั้งสอง ในความผิดฐานให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและหมิ่นประมาท ซึ่งศาลนัดพร้อมคู่ความ ในวันที่ 12 ก.ย. นี้ เวลา 09.00 น.

    ทั้งนี้ นายวัชระ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า มูลเหตุของคดีนี้ สืบเนื่องจากนายเรืองไกร อดีต ส.ว. ซึ่งเป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ตนในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่ 1 สมคบกับนายศุภชัย ศรีหล้า ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยจงใจใช้สถานะหรือตำแหน่ง ส.ส. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของนายธาริต โดยเรียกนายธาริต มาให้การเรื่องชายชุดดำในเหตุการณ์ความไม่สงบเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีอำนาจและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้มีมติของ กมธ. อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 266 (1) โดยนายเรืองไกรและนายธาริต ขณะเป็นอธิบดี ดีเอสไอ ก็ได้ไปให้การยืนยันข้อความดังกล่าวต่อเจ้าพนักงาน กกต.

    กมธ.ยุโรปปรับกูเกิล 2.4 พันล้านยูโร ฐานจัดอันดับค้นหาข้อมูลไม่เป็นธรรม

    วันที่ 24 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับกูเกิลเป็นเงิน 2.4 พันล้านยูโร (ราว 9.1 หมื่นล้านบาท) หลังตัดสินว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ใช้อำนาจในฐานะผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลยักษ์ใหญ่ในการจัดอันดับการค้นหาข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม โดยจัดบริการเปรียบเทียบสินค้าที่จ่ายเงินให้กูเกิลไปไว้ที่ตำแหน่งบนสุดในผลการสืบค้นข้อมูลสินค้าทำให้บริษัทคู่แข่งเสียเปรียบ นับเป็นค่าปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งลงโทษบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้า

    นางมาร์เกรธ เวสทาเกอร์ กรรมาธิการด้านการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป ระบุว่า “สิ่งที่กูเกิลทำผิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้าของอียู” พร้อมชี้ว่า กูเกิลปิดโอกาสด้านการแข่งขันของบริษัทคู่แข่งอื่นๆ และสิ่งสำคัญคือกูเกิลปิดกั้นผู้บริโภคในยุโรปจากประโยชน์ที่เกิดจากการแข่งขันทางการค้า การเลือกอย่างแท้จริง และนวัตกรรมต่างๆ

    นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังมีคำสั่งให้กูเกิลยุติการกระทำเช่นนี้ภายใน 90 วัน หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษเพิ่มเติม ซึ่งอาจสูงขึ้นวันละ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 476 ล้านบาท)

    ด้านกูเกิล ระบุว่า จะอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้กูเกิลอ้างว่า เว็บไซต์ขายสินค้า แอมะซอน และอีเบย์ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากกว่า พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาของคณะกรรมาธิการยุโรป