ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. จับตา “ตลาดแรงงาน-สถานการณ์น้ำแล้ง-โควิดระบาดในต่างประเทศ” กระทบเศรษฐกิจฟื้น

ธปท. จับตา “ตลาดแรงงาน-สถานการณ์น้ำแล้ง-โควิดระบาดในต่างประเทศ” กระทบเศรษฐกิจฟื้น

30 พฤศจิกายน 2020


นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ในภาวะหดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวที่หดตัว หลังจากปัจจัยชั่วคราวบางตัวหมดลงทั้งวันหยุดยาวและผลของมาตรการเปิดเมืองที่หมดลงแล้ว และอีกส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวลดลงในเกือบทุกหมวด ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่สูงในปีก่อนจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม

“ราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นตัวและมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายจากภาครัฐ ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อที่ปรับดีขึ้น” นางสาวชญาวดีกล่าว

การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวมากขึ้น ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนการลงทุนหมวดก่อ สร้างกลับมาหดตัวเล็กน้อยตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง สอดคล้องกับกิจกรรมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ส่งออกเริ่มมีทิศทางฟื้น การผลิตหดตัวลดลง

ในเดือนตุลาคม การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 19,282 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 5% โดยหดตัวสูงขึ้นขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงของช่วงเดียวกันปีก่อน แต่สินค้าบางตัวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว

ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมที่มีผลของฐานต่ำ จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งปีก่อน

ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 16,111 ล้านดอลลาร์ หดตัว 12.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่นับรวมทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัว 9.9% ซึ่งหดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน สอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศที่หดตัว

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย แม้เดือนนี้ภาครัฐ เริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษเดินทางเข้าไทยก็ตาม แต่ยังมีจำนวนน้อยอยู่

สำหรับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปรับลดลงเล็กน้อยมีจำนวน 985 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 3,170 ล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

ห่วงเงินบาทแข็งเร็วเกาะติดความเคลื่อนไหว

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ธปท. ติดตามดูแลค่าเงินบาทตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทิศทางเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังค่อนข้างผันผวน และยิ่งมีข่าวพัฒนาวัคซีนต้านโควิด ทำให้เงินต่างชาติไหลกลับเข้ามาอีก หลังจากที่มีการไหลออกไปก่อนหน้านี้ โดยในเดือนพฤศจิกายน ค่าเงินบาทแข็งเร็วมาก 2.9% ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง

ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ 2563 ธปท. จะจัดบรรยายสรุป (media briefing) แก่สื่อมวลชน เพื่อทำความเข้าใจมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนโครงการ F/X ecosystem ที่ ธปท. ดำเนินการ ไม่ได้เป็นการแถลงข่าวออกมาตรการใหม่

ส่วนหนึ่งของมาตรการบางส่วนเป็นเรื่องที่ทำไปแล้ว โดยแพกเกจนี้จะดูทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะต้องยอมรับว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากปัจจัยระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนของไทยด้วย

“มาตรการที่จะบรรยายสรุปเป็นส่วนหนึ่งในแพกเกจใหญ่ หลังจากที่เพิ่งออกมาตรการไปเมื่อครั้งก่อน ซึ่ง ธปท. จะเล่าให้ฟังว่า ไตรมาสนี้เรามีแผนจะทำอะไรบ้างที่อยู่ในไปป์ไลน์โครงสร้างระบบนิเวศน์ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และจะเล่าให้ฟังว่าการแข็งค่าของเงินบาทและความผันผวนไม่ได้เกิดจากปัจจัยระยะสั้น แต่เกิดจากโครงสร้างของไทยเอง ซึ่งเราต้องแก้ไขให้ครบองค์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต้องแก้ไปด้วยกันให้ผู้ประกอบการสู้ทนต่อการแข็งค่าของเงินบาทได้มากขึ้น“ นางสาวชญาวดีกล่าว

สำหรับเงินร้อนต่างชาติที่ไหลเข้าเก็งกำไรในไทยนั้น นางสาวชญาวดีกล่าวว่า เงินร้อนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในไทยมีเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไหลออก ซึ่งก็เป็นไปตามความต้องการหาผลตอบแทนที่ดีในตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 มาตรการเปิดเสรีการนำเงินออกนอกประเทศ จะช่วยให้เห็นการเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น

จับตาตลาดแรงงานเปราะบาง-น้ำแล้ง-โควิด

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม หลังจากที่เห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเดือนตุลาคมแล้ว ได้แก่
1) ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวตลาดแรงงาน แม้ตลาดแรงงานมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวันเริ่มกลับมาดีขึ้นแล้ว และดัชนีชั่วโมงทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ลดลงต่อเนื่อง จากการมีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่งมากขึ้น

นอกจากนี้รายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตรที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ยกเว้นกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระที่ยังขาดข้อมูลในการประเมิน ผลจากตลาดแรงงานที่ดีขึ้น ได้สนับสนุนการบริโภคเดือนตุลาคมให้ฟื้นตัวและคาดว่าจะต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตามอัตราว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2.1% จาก 1.8% ในเดือนก่อน แม้คนนอกระบบแรงงานที่เดิมไม่ตั้งใจหางาน ได้กลับมาหางานทำ แต่ยังไม่มีงานทำ นับเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองพอสมควร

“ตลาดแรงงานในภาพรวมแม้ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง” นางสาวชญาวดีกล่าว

2) สถานการณ์น้ำแล้งและผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีฝนตกซุกในบางพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งอาจกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังและรายได้เกษตรกรในปีหน้า

3) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่

“เศรษฐกิจในไตรมาส 4 อาจไม่ขยายตัวเหมือนไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงเพิ่งเปิดเมือง ทุกอย่างจึงกลับมาเปิดและทำให้ตัวเลขสูงขึ้น แต่ไตรมาส 4 ยังมีมาตรการรัฐที่กระตุ้นบริโภคที่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นยังฟื้นตัวไปได้” นางสาวชญาวดีกล่าว

ในระยะข้างหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังจากที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องปรับตัวรับภาวะแวดล้อมใหม่หลังโควิด ประกอบกับนโยบายของประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่มีนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เน้นพหุภาคี ซึ่งอาจส่งผลกระทบได้ ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรออกมาตรการเพิ่มเติม