ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้วัดคนเต็มคน ต้องสามารถยกมือไหว้ตัวเองได้ อย่าเป็นโรคดูหมิ่นคนอื่น ต้องมีความกล้า”ทำในสิ่งที่ควรทำ”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้วัดคนเต็มคน ต้องสามารถยกมือไหว้ตัวเองได้ อย่าเป็นโรคดูหมิ่นคนอื่น ต้องมีความกล้า”ทำในสิ่งที่ควรทำ”

28 มิถุนายน 2017


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถา หัวข้อ “พลังแห่งจริยธรรมกับงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ในพิธีมอบรางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” จัดโดยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ประสารกล่าวว่า”ผมขอขอบคุณสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้เกียรติผมมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “พลังแห่งจริยธรรมกับงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งเป็นการขยายความต่อจากท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ได้กล่าวถึง “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนฐานความพอเพียงและความยั่งยืน” และนับเป็นความไว้วางใจอย่างยิ่งที่ให้ผมมาพูดในหัวข้อนี้ เพราะไม่เพียงเป็นเรื่องสำคัญที่มีนัยต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยและสังคม แต่ครอบคลุมถึง “แนวทาง” ที่จะทำให้สังคมสงบสุข และมีสันติได้อย่างแท้จริง ต่อหน้าท่านผู้มีเกียรติที่มีประสบการณ์ และผู้ที่มีผลงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ที่ผมไม่อาจเทียบเคียงได้ในเชิงความเชี่ยวชาญ ผลงาน และประสบการณ์”

สำหรับผม “โจทย์” นี้ถือว่า “ยาก” แต่มีประโยชน์มาก เพราะได้ช่วยขยายมุมมองต่อชีวิตและเปิดมุมมองในมิติความสัมพันธ์ของ “จริยธรรม” กับ “การพัฒนาคน” ให้ลึกซึ้งขึ้น

การร่วมแสดงความเห็นในวันนี้ ผมขอแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก ผมขอหยิบยก “ข้อสังเกต” จาก “ความเป็นไป” ในบริบทรอบตัวเราที่เป็นภาพสะท้อนปัญหาจริยธรรมที่แทรกซึมในวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน

ส่วนต่อมา จะขอกล่าวถึง “จริยธรรม” สำคัญอย่างไร และจะเป็น “พลัง” ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไร?

ส่วนสุดท้าย จะเป็นการตอบคำถามว่า เราจะ “ปลูกฝัง” จริยธรรมเพื่อการ “พัฒนา” ทรัพยากรมนุษย์อย่างไร?

1. “ความเป็นไป” ในบริบทรอบตัวเรา: ภาพสะท้อนปัญหาจริยธรรมที่น่ากังวล

ท่ามกลางกระแสโลกซึ่งพยายามปลูกฝัง “จริยธรรม” เพื่อเป็นรากฐานในการสร้าง “ความสงบและความเป็นธรรม” หรือ Peace and Justice ซึ่งเป็น 1 ใน 17 ข้อของเป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) แต่เมื่อย้อนกลับมาดูบริบทรอบตัวเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้อเท็จจริง” หลายอย่างน่ากังวลใจและแทบจะตรงข้ามกับ “วิสัยทัศน์ร่วม” ของโลก ตัวอย่างเช่น

ในประเด็นสาธารณะ การตีข่าวและแปรกระแส “เปรี้ยว” จาก “ผู้ต้องหา” คดีฆ่าหั่นศพ จนกลายเป็น “ไอดอล” ในสังคมออนไลน์ และนำ “สัญลักษณ์” ต่างๆ มาผลิตเป็น “สินค้า” ที่ซื้อขายในท้องตลาด นับเป็นเรื่อง “หักมุม” ในเชิงจริยธรรมอย่างคาดไม่ถึง

หรือการสำรวจความเห็นคนไทยในเรื่อง “คอร์รัปชัน” พบว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยสามารถยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันได้ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ซึ่งสะท้อนการมองผลประโยชน์ระยะสั้นจนมองข้ามต้นทุนทางสังคมในระยะยาว และ “การยอมรับ” เรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องปกติ มีส่วนซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น ดังดัชนีอันดับความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) ปี 2559 ของไทยไหลลงไปอยู่ที่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ปัจจุบัน อันดับการคอร์รัปชันของไทยเท่ากับฟิลิปปินส์ และแย่กว่าอาร์เจนตินาที่ “ขึ้นชื่อ” เรื่อง “คอร์รัปชัน” ของโลก

ในภาคธุรกิจ การสำรวจอาชญากรรมทางด้านเศรษฐกิจโดยบริษัท PwC ในปี 2559 พบว่า ร้อยละ 39 ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีการตรวจพบทุจริต และประเภทการทุจริตที่พบมากที่สุดคือ “การยักยอกสินทรัพย์” และไทยมีการยักยอกสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 10% และที่อยากจะย้ำคือ สินทรัพย์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นของประชาชนที่ไว้ใจนำเงินมาลงทุนกับบริษัท จึงต้องดูแลด้วยความรับผิดชอบเป็นพิเศษ

ในระดับผู้นำ ที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของประเทศตน เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่แสดงความ “ไม่พอใจ” ต่อประเทศที่เกินดุลการค้า โดยกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่เรื่องการค้ามีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ ราคา รวมถึงรสนิยมผู้บริโภค หรือการประกาศถอนตัวจาก “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่มุ่งลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็น “ปัญหาและอนาคตของโลก” เพราะเห็นว่า การปฏิบัติตามข้อตกลงต้องใช้เงินสนับสนุนสูงมาก และจะทำให้ภาคธุรกิจเสียเปรียบและแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นการสะท้อนวิกฤติอีกมิติหนึ่งของสังคมโลก ที่นอกเหนือจากวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มีการกล่าวถึงกันในวงกว้าง และน่าจะกล่าวได้ว่าเป็น “วิกฤติด้านวิจารณญาณ” ที่เกิดจากการขาดจริยธรรมในการถ่วงดุลความคิด พฤติกรรม และการตัดสินใจ จนเกิด “ความไม่ปกติ” ในทุกระดับของสังคม

คำถามซึ่งเป็นหัวใจของปาฐกถานี้คือ เราจะช่วยกันปลูกฝังและเพิ่มพูน “จริยธรรม” ในสังคมไทยอย่างไร และผมจะค่อยๆ ตอบคำถามที่เกี่ยวเนื่องเป็นลำดับ

2. “จริยธรรม” สำคัญอย่างไร และจะเป็น “พลัง” ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไร

ผมขอเริ่มจากประเด็นแรก จริยธรรมสำคัญอย่างไร

“จริยธรรม” เป็นศัพท์ที่มีการใช้และได้ยินบ่อย ฟังเผินๆ เหมือนจะสามารถเข้าใจได้ง่าย แต่เมื่อศึกษาให้ลึกซึ้งพบว่า ทั้งพระภิกษุและนักปรัชญาได้ให้ความหมายไว้มากมาย ซึ่งในเชิงของ “แก่น” เกือบทุกท่านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า จริยธรรมคือ หลักความประพฤติที่ดีงามในการดำเนินชีวิต แต่รายละเอียดขึ้นกับการผูกความประพฤติที่ดีงามนั้นในเรื่องอะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องความประพฤติของแต่ละบุคคล

“พระพุทธเจ้า” ทรงตรัสไว้ว่า “พระภิกษุทั้งหลายมาจากชาติตระกูลต่างๆ กัน ภูมิหลังต่างๆ กัน เหมือนกับดอกไม้นานาพันธุ์ที่เขานำมาวางบนพื้นกระดาน ถ้าไม่ได้ร้อยไว้ด้วยเส้นด้าย ลมมาก็พัดกระจุยกระจาย แต่ถ้าเอาด้ายร้อยไว้ก็จะคุมกันอยู่ แม้ลมพัดมาก็จะไม่กระจุยกระจาย”

มนุษย์ที่มาจากพื้นฐานชีวิตและจิตใจที่ต่างกันแต่ต้องมาอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ย่อมจำเป็นต้องมี “เส้นด้าย” ที่ร้อยไว้เป็นพื้นฐานให้พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติ

เมื่อ “เส้นด้าย” ในสังคมพระภิกษุคือ พระธรรมวินัย

“เส้นด้าย” ในสังคมมนุษย์คือ จริยธรรม

ดังนั้น เมื่อมุ่งให้ “จริยธรรม” เป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมมีความสงบและสันติ นอกจากจะเป็นหลักความประพฤติที่ดีงามในการดำเนินชีวิตของแต่ละคนแล้ว ผมขออนุญาตเพิ่มมิติของการคำนึงถึงผลดีผลเสียต่อผู้อื่นประหนึ่งผลนั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง เมื่อกรอบนี้เป็นฐานความคิด การพูดและการกระทำของแต่ละคน จริยธรรมจึงจะนำสังคมเข้าสู่ภาวะ “ปกติ”

จริยธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

แม้ในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากหลัก 3 ประการที่เป็นทัศนคติด้านความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเน้นให้การปฏิบัติตามหลักข้างต้นอยู่บนเงื่อนไข 2 ประการ คือ ความรู้ และคุณธรรม ซึ่งคุณธรรมก็คือ “จริยธรรม” นั่นเอง

และจากประวัติของมนุษยชาติจะเห็นว่า การใช้ “ความรู้” นอกกรอบ “จริยธรรม” สามารถสร้างความเสี่ยงภัยต่างๆ มากมาย ตัวอย่างเช่น ในการทำสงคราม ต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อ 2 พี่น้องตระกูลไรท์ (Orville Wright และ Wilbur Wright) ประดิษฐ์เครื่องบินและทำให้มนุษย์ “บิน” ได้ขึ้นมา ขณะนั้นมีการทำนายว่า มนุษย์จะเดินทางได้ไกลขึ้น และสันติสุขจะเกิดขึ้น เนื่องจากจะไม่มีใครกล้าริเริ่มทำสงคราม เพราะจะถูกทำลายล้างได้โดยง่าย แต่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ศตวรรษนี้เองที่เราต้องเผชิญทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี ที่สร้างความสูญเสียรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดจากการประยุกต์สร้าง “ระเบิดติดปีก” ที่เรียกว่า “ขีปนาวุธ” หรือแม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์มาสร้าง “ระเบิดปรมาณู” จนคร่าชีวิตประชาชนเมืองฮิโระชิมะและนะงะซะกิหลายแสนคนในพริบตา

ในภาคการเงิน ตลาดการเงินสมัยใหม่ที่ด้านหนึ่งควรช่วยให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรและเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การใช้ความรู้ทางการเงินที่ไร้ซึ่งจริยธรรมทำให้นำมาซึ่งการเอาเปรียบกันระหว่าง “ผู้รู้” กับ “ผู้ไม่รู้” สะสมกันจนเป็นความเสี่ยงที่ลึกลับจนก่อให้เกิดวิกฤติที่ยากจะตามได้ทัน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจโลก ครั้งล่าสุด

ในภาคธุรกิจ ที่ภาครัฐพยายามสร้างธรรมาภิบาลให้บริษัทจดทะเบียน ซึ่งในอดีตเน้นการออกกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามเป็นด่านแรก แต่การทำเช่นนี้มีต้นทุนทั้งผู้ปฏิบัติ ผู้กำกับและตรวจสอบ ที่สำคัญ ผลสัมฤทธิ์ก็ต่ำเพราะกว่าจะตรวจพบความผิดก็สายเสียแล้ว เรียกว่า “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” จึงสร้างด่านที่สอง คือ แรงจูงใจให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตาม แต่ปรากฏว่า ในหลายโอกาสกลไกตลาดไม่ทำงาน เช่น ผู้บริหารมองผลประโยชน์ใกล้ตัวมากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หรือมองข้ามถ้ามีผู้มาร่วมเฉลี่ยต้นทุนในผลเสียที่เกิดขึ้น จึงต้องมีด่านที่สาม คือ “จริยธรรม” เป็นตัวถ่วงดุลความคิด โดยเฉพาะในกลุ่มคณะกรรมการและผู้บริหารที่เป็น “ต้นทาง” การส่งผ่านนโยบาย เมื่อประกอบกันทั้งสามด่าน ธรรมาภิบาลจึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์

ในระดับบุคคลทั่วไป การมีความรู้แต่ขาดจริยธรรมอาจเกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความไม่ซื่อสัตย์ และความวุ่นวาย จนถึงการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจของระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม ไม่ว่าจะทำงานในอาชีพใดก็ตาม เช่น นักกฎหมาย ถ้ามุ่งตีความตามตัวอักษร (Rule by law) โดยไม่คิดถึงผลต่อผู้อื่นย่อมยากที่จะใช้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง (Rule of law) หรือ นักวิทยาศาสตร์ ถ้ามุ่งคิดค้นอะไรใหม่ๆ เพียงเพื่อผลกำไรในเชิงพาณิชย์มากกว่าประโยชน์โดยส่วนรวมก็สามารถนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวงคนอื่นได้ง่าย

คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรให้ “จริยธรรม” เป็นพลังในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ผมยอมรับว่า ผมเคยมีมุมมองที่แคบ ในช่วงแรกๆ ของชีวิตทำงานจะให้ความสำคัญกับความเก่งด้านวิชาชีพ และคัดเลือกคนจากความเก่ง แต่ประสบการณ์หลายอย่างทำให้ผมให้น้ำหนักกับ “จริยธรรม” มากขึ้น การที่องค์กรจะพัฒนาไปทางดีหรือร้าย ไม่ได้มาจาก “ความเก่ง” เทคนิคหรือความรู้ของคนในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่อง “จริยธรรม” ของทั้งผู้นำและพนักงานในองค์กรด้วย

มองย้อนกลับไปการทำงานที่ผ่านมาก็เห็นว่า ชีวิตการทำงานต้องพบกับความท้าทายด้านจริยธรรมในหลายครั้ง เช่น

ตอนทำงานที่ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ที่ทำงานด้านกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีประเด็นการเสนอผลประโยชน์

  • เพื่อไม่ให้เอาผิด
  • เพื่อให้สามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั้งที่ขาดคุณสมบัติ
  • เพื่อให้จ่ายเงินปันผลได้ทั้งที่มีผลขาดทุนสะสม หรือ

ตอนที่อยู่ภาคเอกชนก็มีกรณีที่พยายามเสนอผลประโยชน์เพื่อหวังให้สนับสนุนการทำธุรกิจ

ขณะที่ ตอนอยู่ที่แบงก์ชาติ ความท้าทายด้านแรงเสียดทานจากภาคการเมือง เช่น

  • ความพยายามนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์
  • แรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญเป็นปกติไม่ว่าจะอยู่หรือทำงานในหน้าที่หรืออาชีพใดก็ตาม

อดีตท่านผู้ใหญ่คนหนึ่งสอนผมให้มองเห็นความสำคัญของ “ชีวิตหลังเกษียณ” สิ่งนี้ช่วยให้เรา “กล้า” ตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องเวลาต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ เพราะเราอยากมีชีวิตที่ภาคภูมิใจหลังเกษียณ

ในการคัดเลือกผู้นำขององค์กร โดยเฉพาะในองค์กรที่สามารถสร้างผลกระทบกับส่วนรวมมาก นอกจากความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการในอาชีพแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ “จริยธรรม” ซึ่งรวมถึงการมีหลักคิดที่รอบคอบ มีความอดทน สามารถควบคุมอารมณ์ในเวลาที่ต้องตัดสินใจบนทางเลือกที่สำคัญ ไม่มี Ego หรือดื้อจนไม่มีเหตุผล

นอกจากนี้ รากฐานของจริยธรรม ผมคิดว่า ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

“การทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ”

โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักให้น้ำหนักเฉพาะส่วนหลัง ก็คือ “ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” เช่น ไม่ทำในสิ่งที่ผิด ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งถือว่า เป็นการครองตนอยู่ในกรอบที่ดีงาม แต่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเรื่อง

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นไม่น้อยกว่ากันคือ “การทำในสิ่งที่ควรทำ” ซึ่งต้องอาศัย “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” (moral courage) เช่น ในหลายเรื่องที่เราเคยคิดว่าถูก ต่อมาเห็นว่าอาจจะไม่ถูกต้อง เราก็ต้องไม่ดื้อเปลี่ยนมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงจะเรียกได้ว่า “ทำในสิ่งที่ควรทำ” ซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เรามีความมั่นคง กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องและสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้

ผู้ที่เป็นแบบอย่างในเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมมีเป็นจำนวนมาก เช่น

ในระดับประเทศ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงดำรงตนตามหลักทศพิธราชธรรม และทรงมุ่งมั่นสร้างประโยชน์สุขแก่พสกนิกรอย่างไม่ย่อท้อ และทรงมีพระเมตตาให้สติกับประชาชนชาวไทยให้มีทัศนคติในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงในภาวะที่เศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าไปทิศทางตรงข้าม

ท่านอาจารย์พุทธทาส ที่กล้าวิจารณ์ระบบการศึกษามาหลายสิบปีแล้วว่า เป็นการศึกษาแบบหมาหางด้วน เพราะไม่เหลียวแลเรื่องการมีชีวิตที่ดีงาม การควบคุมสัญชาตญาณ หากแต่มุ่งสอนเฉพาะวิชาชีพเพียงอย่างเดียว ละเลยวิชาชีวิต

อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อครั้งเป็นผู้พิพากษา กล้าตัดสินให้นักการเมืองที่มาจากทหารเข้าคุกในเรื่องตัดไม้ทำลายป่า หรืออาจารย์ป๋วย ที่ใช้หลักจริยธรรมและความถูกต้อง ต่อสู้กับรัฐบาลทหารสมัยนั้น

ในระดับโลก

กาลิเลโอ ผู้กล้าเสนอสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ในยุคที่ศาสนจักรมีอิทธิพลและปลูกฝังความเชื่อเรื่องโลกแบนให้คนในสังคม กาลิเลโอกล้าท้าทายศาสนจักรทั้งที่เสี่ยงภัย โดยใช้ความรู้เพื่อพิสูจน์ว่าโลกกลม

หรือ ชาลส์ ดาร์วิน ผู้กล้าเสนอ “ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ” (Theory of Natural Selection) ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกขณะนั้นไม่เห็นด้วย

ดังนั้น จริยธรรมและความกล้าหาญทางจริยธรรม จึงเป็นหัวใจของทุกสิ่งที่จะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตัวเองและนำพาสังคมไปสู่ความเป็น “ปกติ” สุขอย่างแท้จริง

3. เราจะ “ปลูกฝัง” จริยธรรมเพื่อการ “พัฒนา” ทรัพยากรมนุษย์อย่างไร?

มาถึงส่วนสุดท้ายที่จะตอบคำถามว่า เราจะช่วยกัน “ปลูกฝัง” หรือ “ส่งเสริม” ให้จริยธรรมมาช่วย “พัฒนา” ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไร? ผมคิดว่าแม้ท้าทาย แต่ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันตามแต่ละบทบาทของเรา ไม่ว่าจะในระดับ ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และในระดับสังคม

ในด้านหนึ่ง จริยธรรมถือว่าเป็นศาสตร์ที่เราจะต้องปลูกฝังหลักประพฤติที่ดีงามให้เด็กทราบ แต่การจะแทรกข้อคิดจริยธรรมให้เด็กรับเอาไปใช้จนเกิดเป็นอุปนิสัยที่พึงประสงค์ นับเป็นงานอีกด้านหนึ่งที่ต้องอาศัยศิลปะอยู่ไม่น้อย คือ ทำอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อหรือเป็นเรื่องไกลตัว ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่วาดเรื่องราวจนเป็นเรื่องสูงส่งเกินกว่าจะทำความเข้าใจ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเนื้อหาที่พอดี และวิธีการถ่ายทอดให้เรื่องราวน่าสนใจ ล้วนต้องมีศิลปะ ซึ่งตัวผมเองไม่มั่นใจว่าทำเรื่องนี้ได้ดี แต่ขอนำข้อสังเกตจากประสบการณ์ชีวิตตัวเองมาเล่าสู่กันฟังเล็กน้อย

ผมเลี้ยงลูก พยายามเตรียมอะไรไว้ให้เขาเยอะ กลัวว่าเขาจะไม่ได้ในสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญ จนรู้สึกว่าเขาแบกแฟ้มอันใหญ่

ขณะที่รุ่นพ่อแม่เราทำงานหนัก ไม่ได้มีเวลาหรือเตรียมอะไรไว้ให้มาก เราถือแค่แฟ้มบางๆ แต่กลับสำคัญที่ให้เราสามารถนำมาประยุกต์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้

จนมาถึงวันนี้ ผมบอกไม่ได้ว่า แฟ้มใหญ่นั้นจะเป็นหลักประกันว่าจะดีกว่าแฟ้มบางๆ

ความท้าทายคือ “แฟ้มบางๆ” ที่เราพูดถึงควรจะบรรจุเรื่องอะไรบ้าง หรือเราควรจะปลูกฝังจริยธรรมแค่ไหนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ เมื่อผมมีโอกาสฟังข้อคิดที่ “ท่านอาจารย์พุทธทาส” กล่าวไว้ถึงหลักจริยธรรม 5 ข้อ ซึ่งผมคิดว่ายังทันสมัย และเป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้กับทุกคนและปลูกฝังจริยธรรมในเด็กได้ จึงขอมาเล่าสู่กันฟังพร้อมสอดแทรกประสบการณ์ตัวเองสักเล็กน้อย

เรื่องแรก รู้จักตัวเอง ในเบื้องแรกมีความจำเป็นที่ต้องอบรมให้เด็กรู้จักตนเอง ให้รู้ว่า ชีวิตมีความหมายอย่างไร มีชีวิตเพื่ออะไร และอะไรคือคุณค่าที่สำคัญของชีวิต

การรู้จักตนเองจะเกิดได้ก็จากการเรียนรู้ “วิชาชีวิต” ที่ต้องเรียนจากประสบการณ์จริง ซึ่งไม่เฉพาะแต่จากที่บ้าน หรือห้องเรียน เท่านั้น

มองย้อนกลับไปสมัยเด็ก การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่ตอนนั้นอาจดูเหมือนเพิ่มภาระ หรือกระทบผลการเรียน แต่สิ่งเหล่านี้หลายอย่างเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น และเข้าใจชีวิตด้วยมุมมองที่รอบด้านมากขึ้น

ช่วงมัธยม มีโอกาสทำค่ายอาสา ทำให้เห็นชีวิตของคนชนบท ที่ต่างจากชีวิตในเมืองกรุง

ช่วงมหาวิทยาลัย มีโอกาสทำกิจกรรมเกี่ยวกับกิจการนิสิต ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ และเห็นโลกในหลายด้าน แต่บางอย่างเมื่อมองย้อนกลับไปก็เห็นถึง “ความไร้เดียงสา” ของตัวเอง

และช่วงทำงาน ประสบการณ์และการได้พบผู้คนหลากหลาย ก็ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

เมื่ออายุเดินทางถึงจุดนี้ ก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “ทางของชีวิต” สุดท้ายอาจจะไม่ได้เป็นเส้นตรง บางอย่างที่ทำ ผลก็ออกมาดี บางอย่างก็ไม่ หลายอย่างก็เฉยๆ แต่ทุกประสบการณ์ช่วยให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาล้วนช่วยให้เราเข้าใจตนเองดีขึ้น และเป็นฐานสำหรับสร้างจริยธรรมในขั้นต้น เพราะการรู้จักตนเองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เรา รู้จัก เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy)

เมื่อรู้จักตัวเองมากขึ้น ก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างชีวิต ธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมอย่างแยกกันไม่ออก และช่วยสร้างทัศนคติการมองโลกอย่างเชื่อมโยงเป็น “องค์รวม” ไม่แยกส่วน เห็นว่า ท้ายที่สุดเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกที่เราอยู่

เรื่องที่สอง เคารพตัวเอง เด็กๆ ควรจะเติบโตขึ้นมา อย่างที่จะสามารถเคารพตัวเองได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เคารพที่ตนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ด้อยกว่าใครในความเป็นมนุษย์

เมื่อรู้จักเคารพตัวเองแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ การรู้จักเคารพผู้อื่น ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น และมีความอ้อนน้อมถ่อมตน (humility)

ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา เคยกล่าวว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นเป็นลักษณะนิสัยที่มีค่าที่สุดที่มนุษย์พึงจะมี เพราะจะทำให้เราเห็นคุณค่าของคนอื่น

ในที่สุดแล้ว ไม่มีใครในโลกแม้สักคนเดียวที่ควรจะถูกดูหมิ่น เพราะคนแต่ละคนมีเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน และ “โรคดูหมิ่นคนอื่น” เป็นต้นตอของปัญหาหลายเรื่องในปัจจุบัน ไม่ว่าสงคราม ความรุนแรง หรือความขัดแย้ง

เรื่องที่สาม เชื่อตัวเอง หรือไว้ใจตัวเอง กล่าวคือ เด็กๆ ควรจะเติบโตขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง เชื่อในศักยภาพของการเป็นมนุษย์ และไว้ใจตัวเองได้ว่าตนมีสมรรถภาพที่จะพัฒนาให้ดีได้ ไม่ว่าจะเกิดมาในสถานะใด สูงหรือต่ำ รวยหรือจน ปกติหรือพิการ

คนที่ไว้ใจตนเองจะเป็นผู้ที่มีกำลังใจ มีพลังชีวิต ขณะที่คนที่ไม่เชื่อมั่นในตนเองก็มักจะโลเล อ่อนแอ ไม่มีระเบียบ และไม่สามารถทำให้ผู้อื่นไว้ใจตนได้

อย่างไรก็ดี แม้ด้านหนึ่งการสามารถไว้ใจตนเองจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ จะต้องสร้างความตระหนักรู้ว่า มุมมองนั้นก็มีหลากหลาย มีได้หลายมุม ไม่เฉพาะมุมของเราอย่างเดียว รวมทั้งต้องไม่ด่วนสรุปว่า ความเห็นของเรานั้นสมบูรณ์ หรือสูงส่งกว่าคนอื่น

ขณะเดียวกัน ก็อย่าปักใจอะไรง่ายๆ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างแยบคายในหลัก “กาลามสูตร” ว่า ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงคุณและโทษ

ไม่ให้เชื่อข้อมูลที่ได้ยินทันที เพียงเพราะเสียงเล่าลือ หรือเพียงเพราะสอดคล้องกับความเห็นของเรา หรือเพียงเพราะท่านผู้พูดนั้นมีความน่าเชื่อถือ

ผมคิดว่าหลักคิดนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่สะพัดได้อย่ารวดเร็ว และบางครั้งยากที่จะบอกว่า ข่าวที่เราได้รับรู้เป็นจริงหรือเท็จ

เรื่องที่สี่ บังคับตัวเอง เด็กๆ ควรจะถูกอบรมให้คุ้นชินกับการฝึกและบังคับตนให้อยู่ในระเบียบ และสามารถบังคับตนได้อย่างเพียงพอจนสามารถบังคับจิต บังคับกาย บังคับวาจา และเด็กๆ ควรถูกอบรมการบังคับตัวเองให้เพียงพอ ให้เขาเห็นว่าผลจากการไม่รู้จักบังคับตัวเองเป็นเช่นไร

อาชญากรรมต่างๆ ล้วนเป็นผลจากการไม่สามารถบังคับตนเอง

ถ้าเราสามารถบังคับตนเองได้ ก็เท่ากับมี “พระธรรม” คุ้มครอง เพราะเราสามารถบังคับตนให้ทำสิ่งต่างๆ อย่างถูกทำนองคลองธรรม อันจะนำมาซึ่งความปลอดภัยและเป็นสุข

หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ว่า “ในกระแสน้ำเชี่ยว ปลาย่อมจะว่ายทวนน้ำ มนุษย์ต้องต่อสู้กับอุปสรรค เหมือนปลาที่ว่ายทวนน้ำ ผู้ที่ปล่อยโชคชะตาไปตามเหตุการณ์ ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว”

ท่าน ติช นัท ฮันห์ พูดถึงความสำคัญของการบังคับใจไว้คล้ายกันว่า “สันติภาพในโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อบุคคลมีสันติในใจเป็นเบื้องต้น” และ การฝึก “สติ” ให้กำกับจิตใจจะเป็นเสมือน “พลังโอบรัดความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ เสมือนแม่โอบกอดลูกน้อย เมื่อฝึกฝนบ่อยขึ้น พลังแห่งสติจะแข็งแรงขึ้น และอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ก็จะเกิดได้ยากขึ้นหรือมีพลังลดน้อยลง”

เรื่องที่ห้า พอใจตัวเอง ตามธรรมดาของปุถุชน นอกจากจะต้องอาศัยปัจจัยสี่แล้วยังต้องการความสุขความพอใจในส่วนลึกของจิตใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ความอิ่มอกอิ่มใจหรือความพอใจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างเป็นปกติ

เด็กๆ ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตมีจุดหมายอย่างไร และตนควรดำเนินชีวิตอย่างไร ถึงจะสามารถพอใจได้ว่า ชีวิตของเรามีอะไรถูกต้องที่พอจะชื่นใจ หรือพอใจว่าตนได้ใช้ “ชีวิตอย่างมีความหมาย”

ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า “พอใจจนถึงขนาดที่จะสามารถยกมือไหว้ตัวเองได้”

เรื่องนี้สำคัญเพราะ ถ้าเราไม่สามารถพบจุดหมายของชีวิต การมีชื่อเสียง ความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือความร่ำรวย ก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์ ดังที่เราเห็นคนที่ร่ำรวยจำนวนไม่น้อยอ้างว้าง เครียดถึงขนาดฆ่าตัวตาย ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ว่าชีวิตอยู่เพื่อสิ่งใด รู้สึกว่าชีวิตเวิ้งว้างว่างเปล่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พึงระวังเช่นกัน คือ เวลาที่เราพอใจในตนเองมากๆ บ่อยครั้งก็มา พร้อมกับความมั่นใจว่า “ฉันถูก” และสำคัญมั่นหมายว่า “คนอื่นผิด”

ความพอใจหรือมั่นใจที่มากเกินไป จนไม่สามารถรับคำวิจารณ์หรือความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจจะเรียกได้ว่า ความมั่นใจประเภทที่ดื้อและอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย

พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้อย่างลึกซึ้งว่า “อัตตานี้ฉลาดมาก เราต้องระมัดระวัง มิให้เราเสียคนไปกับการต่อสู้ แม้จะเพื่อจริยธรรมหรือความถูกต้องก็ตาม”

ก่อนจะจบ ผมขอสรุปอีกครั้งว่า “ความไม่ปกติ” ในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดจริยธรรมในการถ่วงดุลวิจารณญาณในความคิด พฤติกรรม และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นตัวเหนี่ยวรั้งศักยภาพมนุษย์และทำให้สังคมขาดความสงบและสันติ ซึ่งจริยธรรมจะเป็นพลังที่จะช่วยให้มนุษย์แต่ละคนสามารถพัฒนาไปได้เต็มศักยภาพเป็นการเน้นกลับมามองถึงธรรมชาติภายใน จึงจะช่วยส่งเสริมคุณค่าที่มีอยู่ภายในของแต่ละคน จนเป็น “คนที่เต็มคน” ได้ และจะช่วยให้สังคมเป็น “ปกติ” ได้ในที่สุด หมายความว่าการปลูกฝังและเพิ่มพูนจริยธรรมจะยังประโยชน์ให้แก่ตนเองในเบื้องต้นก่อน ส่วนประโยชน์ที่เกิดแก่ส่วนรวมจะตามมาภายหลัง

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” อีกครั้ง ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้คนจากหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น

ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาพุทธเศรษฐศาสตร์

คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ที่ได้ชื่อว่าโรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้

คุณวิชิตพล ผลโภค ผู้ก่อตั้งโครงการ Teach For Thailand ที่ฝึกครูเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

มูลนิธิไทยรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวด้านการศึกษา และจัดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อให้การศึกษากับผู้ด้อยโอกาส
และท่านอื่นๆ ที่ผมไม่ได้เอ่ยนามทั้งที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับรางวัล รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังทุกท่าน ผมขอส่งกำลังใจให้ทุกท่าน เพราะเรื่องที่ท่านทำนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์ โดยเฉพาะการปลูกฝังจริยธรรมให้เกิดขึ้น นับเป็นผู้ที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ จึงเป็น “ปูชนียบุคคล” ที่ควรยกย่อง