ThaiPublica > คนในข่าว > “วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ ตั้งคำถามดังๆทำไมคนจีนย้ายถิ่นสูง คาดในไทยไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

“วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ ตั้งคำถามดังๆทำไมคนจีนย้ายถิ่นสูง คาดในไทยไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

25 พฤษภาคม 2017


ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะด้วยนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของจีนที่ทำให้ชาวจีนจำนวนมากที่เดินทางออกนอกประเทศทั้งในรูปแบบนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ แรงงานอพยพ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการลงหลักปักฐานแทรกซึมทำมาหากิน สร้างถิ่นฐานเป็นชุมชนจีนในต่างแดนอยู่ทั่วทุกมุมโลกเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แอฟริกา รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับประเทศไทยคาดว่า มีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนหลายแสนคน กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครนายก ฯลฯ โดยมีทั้งเดินทางมาท่องเที่ยว มาศึกษาเล่าเรียน และมาทำงานสร้างอาณาจักรธุรกิจอยู่ในเมืองไทย

“ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านจีนศึกษา ให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งก่อนว่าชาวจีนเขาเคลื่อนย้ายแรงงานมาตั้งแต่ยุคโบราณ แต่เหตุผลในยุคสมัยก่อนกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน ในสมัยก่อนเขาไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า เพราะบ้านเมืองจีนสมัยนั้นย่ำแย่ แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าจีนรุ่งเรือง แต่ทำไมเขาต้องเคลื่อนย้ายออกมา ตรงนี้มีการศึกษาพบว่ามีหลายปัจจัย เช่น

1. ประเทศจีนมีข้อจำกัดอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

2. มีข้อจำกัดในเรื่องการทำมาหากิน คือถ้าอยากจะมีรายได้ดีๆ ต้องแข่งกันเองกับคนภายในประเทศ เขาก็เลยคิดว่าถ้ามาต่างประเทศอาจจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งถามว่าจริงไหม ก็จริง แต่เราต้องสังเกตว่าบ้านเมืองที่เขาไป เขาไปประเทศไหน

“จีนมีเกณฑ์อย่างไม่เป็นทางการว่า ถ้าสมัครใจไปเพื่อทำมาหากินในต่างแดน เป้าหมายสูงสุดถ้าเป็นไปได้ เขาอยากจะไปประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ตอนหลังประเทศที่พัฒนาแล้วสร้างข้อจำกัดขึ้นมามาก เพราะเขาหลบหนีเข้าเมือง อย่างเช่น ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น นั่นเป็นระดับสูงสุด ถ้าไปได้ก็อยากจะไป รองลงมาก็เป็นประเทศในแถบบ้านเราคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

3. การเคลื่อนย้ายดังกล่าวจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ กล่าวคือรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนก็ตาม ไปลงทุนที่ต่างประเทศ ต้องการแรงงานจีนไปด้วย อย่างนี้ก็อาจจะมีคนสมัครไป เพราะเวลาไปต่างประเทศค่าแรงสูงกว่าในประเทศ อาจจะมีระบบสวัสดิการซึ่งไม่เหมือนกับภายในประเทศ

“ในสามประเด็นหลักนี้ ผมอยากจะสรุปว่า ทั้งหมดที่มีการเคลื่อนย้ายเพื่อไปประกอบอาชีพยังต่างแดน โดยที่เหตุผลหรือปัจจัยไม่เหมือนกับคนจีนในอดีต คนจีนในอดีตนั้นเจอภัยธรรมชาติบ้าง บ้านเมืองการปกครองของราชวงศ์เสื่อมทรุดบ้าง เขาก็ไม่มีความหวัง แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่”

“ทั้งหมดที่ผมพูดมา ยังไม่รวมเพียงกรณีเดียวที่น่าเป็นห่วงก็คือ การที่เข้าไปยังประเทศต่างๆ โดยคนจีนเหล่านี้พวกเขารวยอยู่แล้ว แต่มาหาพวก (คนในประเทศนั้นๆ) ที่ทำตัวเป็นนอมินีให้เพื่อซื้อบ้านพัก ซื้อคอนโดมิเนียม หรือซื้อที่ดิน ที่บอกว่าน่าเป็นห่วงเพราะว่าในประเทศไทย อย่างจังหวัดนครนายก ที่ดินเป็นของคนจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาจ้างคนไทยมาแต่งงานด้วย 3 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท เขาก็สามารถซื้อที่ดินได้อย่างถูกต้องได้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยคนไหนยินดีรับจ้างเป็นนอมินี”

ดังนั้น เรื่องของการเคลื่อนย้ายอพยพ ผมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือทำมาหากินจริงๆ อีกส่วนหนึ่งก็คือมากว้านซื้อที่ดิน อาจจะอยู่หรือไม่อยู่ อาจจะกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไร ก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดที่เรายังไม่มีข้อมูลอยู่เพียงเรื่องเดียวก็คือ ลึกๆ แล้วเราไม่รู้ว่ารัฐบาลจีนส่งเสริมด้วยหรือเปล่า คือรัฐบาลจีนก็ไม่เคยบอกว่าตัวเองมีนโยบายอย่างนี้

ที่ผมตั้งคำถามอย่างนี้ก็เพราะว่า ถ้ามีคนจีนออกนอกประเทศเพียงหนึ่งคน จะลดต้นทุนในเรื่องสวัสดิการของรัฐสำหรับรัฐบาลจีนต่อหัวต่อปีลงไปเท่าไหร่ แม้ว่าระบบสวัสดิการของจีนเขาดีกว่าไทย เพราะเขาเคยเป็นสังคมนิยม คนจีนในแอฟริกามีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ในลาวไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน มันเป็นจำนวนคนมหาศาล อย่างประเทศไทยผมคิดว่าไม่ต่ำกว่าห้าแสนคน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย

ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ เขาก็ให้ความสนใจอยู่ แต่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน เพราะกรณีคนไทยไปเป็นนอมินี เขาแต่งงานทำถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องการแต่งงานเพื่อให้ได้สิทธิต่างๆ คนไทยก็ยังแต่งงานกับฝรั่ง มันก็เป็นกฎกติกามาช้านาน แต่ของจีนแต่งเพื่อเป็นนอมินี มันต่างกันตรงนี้

“แต่งงานแบบรักจริงหวังแต่งเราไม่ว่า แต่ที่ผมพูดคือกรณีนอมินี เขาแค่แต่งในทางเอกสาร เขาก็ไม่ได้อยู่กับคนไทย

ไทยพับลิก้า: อาจารย์วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไร

ถ้าในทางวิชาการ เราไม่สามารถระบุว่ารัฐบาลจีนจงใจทำอย่างนั้น แต่เรามองประเด็นที่เชื่อมโยงกับนโยบายปัจจุบันกับในอดีตอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ คุณยอมรับหรือไม่ว่าจีนเป็นจักรวรรดิ สำหรับผม ผมคิดว่าใช่ ถ้าเรายอมรับว่าจีนเป็นจักรวรรดิ การสร้างจักรวรรดิของจีนจะไม่เหมือนกับของตะวันตก ที่ใช้กำลังเข้ายึดอย่างสมัยล่าอาณานิคม แต่ของจีนไม่เคยยกทัพไปยึดครองที่ไหน

แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบก็คือ การมีจีนอพยพไป ฉะนั้น ลักษณะอพยพไปมันก่อให้เกิดเรื่องอะไร คือถ้าในอดีตมันไม่ค่อยมีปัญหามากนัก โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะคนจีนกับคนไทยอยู่แบบผสมผสาน จนกระทั่งเราแยกไม่ออกว่าใครเป็นคนไทยแท้หรือจีนแท้

แต่ถ้าในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เขาแยก แล้วประเทศไหนที่มีการแยกอย่างชัดเจนมักจะมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ส่วนของประเทศไทยจะเห็นว่าไม่มี

ที่ผมบอกว่ามันเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลจีนปัจจุบันก็คือ รัฐบาลจีนเมื่อหลายปีมาแล้วบอกว่า ต่อไปนี้ วิธีการที่จีนจะจัดการกับพวกชนกลุ่มน้อยในจีน เช่น พวกทิเบต อุยกูร์ซินเจียง หนึ่งในวิธีที่อ่อนนุ่มที่สุดก็คือ ภาษาทางวิชาการเขาเรียกว่า “ซิโนโฟน” ซิโนที่แปลว่าจีน โฟนที่แปลว่าการใช้ภาษา ให้คนเหล่านี้ถูกกลืนไปโดยการใช้ภาษาจีน ซึ่งภายในประเทศเขาทำ

ในทางวิชาการพบว่า เวลามีจีนอพยพออกนอกประเทศ เขาเป็นอย่างนั้น เราพบว่าคนจีนไม่ว่าในไทยหรือที่ไหนก็แล้วแต่ เขาจะมีชุมชนเฉพาะของเขา แล้วเขาไม่สุงสิงกับคนไทย อาจจะจำเป็นต้องรู้ภาษาไทยเพื่อธุรกิจ เพื่อการงาน แต่ในขณะเดียวกันเขาจะไม่เหมือนคนจีนในอดีตที่อยากจะไปเป็นไทย

อันนี้เป็นเพียงข้อสังเกตว่าเขาจะใช้วิธีนี้ ก็คือใช้ภาษา แต่เรายังไม่พบอย่างชัดเจนในกรณีที่จีนออกไปต่างแดน แต่ภายในประเทศเขาเราเห็น เช่น โรงเรียนในทิเบตหรือซินเจียง เขาค่อยๆ ลดภาษาทิเบตลงแล้วเอาภาษาจีนไปเพิ่ม ก็มีการประท้วงนะ คนทิเบตกับคนซินเจียงก็ประท้วง แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว

ไทยพับลิก้า: รัฐบาลรู้ว่าคนไทยเป็นนอมินี แต่ยังไม่มีการทำอะไร

ครั้งล่าสุดมีหน่วยงานของรัฐมาถามผม คือมันติดปัญหาเรื่องระบบทะเบียนราษฎร์ของไทยกับของจีนมันต่างกัน แต่ในทางเทคนิคผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้ ผมเองก็สนใจ แต่การเข้ามาของจีนในประเทศไทยกับกัมพูชาและลาวต่างกัน

ในลาว จีนไปลงทุน จีนก็ขอเอาแรงงานของตัวเองไปด้วย และแรงงานเขาต้องมีที่พัก อยู่ใกล้ที่ทำงาน แล้วให้คนลาวในพื้นที่ย้ายออก ให้คนจีนมาอยู่แทน หรืออย่างกัมพูชา รัฐบาลสนับสนุนจีน แม้แต่ปัญหาทะเลจีนใต้ก็ตาม กรณีของกัมพูชา คล้ายๆ ลาว ที่เป็นข่าวคือ การไล่ที่เพื่อเปิดการลงทุนให้กับนักลงทุนของจีน

ขณะที่จีนให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า จีนจะไม่เหมือนตะวันตก ให้แล้วให้เลยไม่มีการตรวจสอบ

“การที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และที่ผ่านมาไทยก็ไม่ได้ตามใจจีน ฉะนั้น ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมการเจรจาสร้างทางรถไฟทางคู่ถึงยังไม่เสร็จสักที มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าไทยไปยอมจีน”

“ถ้าเราเกรงใจจีน เราจะเหมือนกับกัมพูชาและลาว ฉะนั้น ในหลายเรื่องเราก็ไม่ได้เกรงใจหรอก บอกได้ว่าความสัมพันธ์ไทยจีนมันปกติเป็นเส้นกราฟตรงๆ ราบๆ คือไม่ได้เลวร้าย แต่ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ถ้ามันจะต้องมีอะไรพิเศษ แล้วให้เราต้องทำอะไรแบบที่กัมพูชาและลาวทำ ผมคิดว่านั่นแหละเป็นปัญหา”

ไทยพับลิก้า: กรณีซื้อเรือดำน้ำล่าสุดสะท้อนความเกรงใจหรือไม่

ไม่เกี่ยว เรื่องเรือดำน้ำมันเป็นปัญหาทางเทคนิค ผมอยากทำความเข้าใจว่า เรื่องเรือดำน้ำ ความจำเป็นต้องมีมันขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละคนมอง บางคนบอกว่าไม่เห็นไปรบกับใคร จะซื้อไปทำไม

ถ้าเราใช้เกณฑ์อย่างนี้ นับสิบปีมานี้เราไม่ได้ทำสงครามกับใครเลย ฉะนั้น รถถังที่เราซื้อมา เราซื้อมาทำไม เราอย่าซื้อดีไหม ถ้าเราใช้เกณฑ์อย่างนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเกณฑ์ที่ไม่น่าจะถูกต้อง

เพราะว่าเวลาเรามองปัญหาความมั่นคง เราต้องแยกกองทัพออกจากตำรวจ ตำรวจเป็นเรื่องความมั่นคงภายใน กองทัพนั้นเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

ฉะนั้น สำหรับผมแล้ว ผมไม่ติดใจที่จะมีเรือดำน้ำ เพราะว่ารัฐไทยเห็นความจำเป็นของเรือดำน้ำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หลัง พ.ศ. 2475 เราก็มีเรือดำน้ำ แต่คนไทยจะคุ้นชินว่าไม่เคยมีเรือดำน้ำ ก็เพราะหลังกบฏแมนฮัตตัน พ.ศ. 2494 ตอนนั้นกองทัพเรือก่อการรัฐประหารแล้วกองทัพบกปราบ ตั้งแต่นั้นมา กองทัพบกเลยแช่แข็งอำนาจของกองทัพเรือ และเรื่องหนึ่งที่แช่แข็งก็คือการยุบกองเรือดำน้ำ

ฉะนั้น คนไทยที่เกิดหลัง 2494 ก็รู้สึกว่ามันไม่มีเรือดำน้ำมาก่อน แต่จริงๆ เคยมี จนถึงปัจจุบันนี้กองทัพไม่ได้ขัดแย้งกันเหมือนสมัยก่อน ก็มาดูว่ามันควรหรือไม่ควร ผมยังไม่ใช้คำว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นนะ

เนื่องจากผมเป็นนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แค่ปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งไทยไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปพิพาทกับจีน ผมยังรู้สึกไม่สบายใจเลย ฉะนั้น ถ้ามีเรือดำน้ำจะดีกว่า เพราะไม่ประมาท

แต่พอมาถึงตอนนี้ ผมจับกระแสเสียงที่คัดค้านไม่ให้มีเรือดำน้ำ มักจะเป็นความระแวงหรือไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมากกว่า สำหรับผมไม่ได้ติดใจว่ามาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ถึงแม้มาจากการเลือกตั้ง ผมก็คิดว่ามันควรมี แต่เมื่อมีแล้ว วิธีการได้มาซึ่งเรือดำน้ำมันโปร่งใสหรือไม่ อันนี้มาถามผม ผมก็ไม่รู้แล้ว เพราะคำครหานี้มันมีมากี่สิบปีแล้ว ตอนที่เรายังไม่ได้ซื้อจากจีน เราซื้อจากยุโรปบ้าง สหรัฐฯ​ บ้าง มันก็มีเรื่องนี้มาตลอด

ฉะนั้นต้องแยกประเด็นให้ออกว่า ควรมีหรือไม่มีก็เรื่องหนึ่ง แต่มีแล้วมันเป็นการคอร์รัปชันหรือไม่คอร์รัปชัน มันพ้นวิสัยผมที่จะมาวิจารณ์เรื่องนี้

แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวว่าเพราะจีนนะ ไม่เกี่ยวเลย คุณจะซื้อจากใครก็ได้ ก่อนหน้านี้ซื้อรถถังจากยูเครนก็โดนด่า มันก็มีคำครหาอย่างนี้มาโดยตลอด พอไปซื้อจากสหรัฐฯ เราก็เป็นลูกกระจ๊อกของสหรัฐฯ อีก คือมันได้หมด เพราะทหารในบ้านเรามีภาพลักษณ์ในเชิงลบมาโดยตลอด ไม่มีใครไว้ใจ

ไทยพับลิก้า: การที่จีนรุกคืบ เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก

กรณีของไทยคือไม่มีใครเฉลียวใจ แล้วทุกคนก็บอกว่าดีๆ แต่ผมไม่เคยบอกว่ามันดี แต่คนไทยเกือบทั้งประเทศบอกว่าดี เขาเข้ามาได้ด้วยข้อตกลงการค้าเสรี จีนไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ไทยจะไปจีนก็ได้ ไปแบบที่เขามาบ้านเรา แต่ถามว่าคนไทยมีใครอยากไปจีนบ้าง ข้อตกลงการค้าเสรีต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) แต่ที่ลักลอบก็อีกเรื่องหนึ่ง

ผมไปสิบสองปันนา ผมก็เห็นคนไทยไปขายลาบส้มตำอยู่ที่นั่นต่อกันเป็นพืดเลย เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร การค้าเสรี ไม่ว่าคุณจะชอบไม่ชอบ ในกฎกติกาของโลกาภิวัตน์ ของสากล เราเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO: World Trade Organization) เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของ WTO ฉะนั้น การที่จีนเต็มใจที่จะมีการค้าเสรี เขาทำเต็มที่เลย แล้วเขาทำสำเร็จด้วย

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เราอย่ากังวลว่าเขามาเฉพาะไทยนะ เขาไปทั่วโลก ของเรายังน้อย คือประเทศที่ด้อยพัฒนาลำบากใจมาก จำเป็นต้องรับจากจีน พอเข้าไปแล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่ว่า แล้วจีนก็ใช้นโยบาย Soft Power เก่งมาก

แต่อย่างที่ผมได้บอก จีนเขาก็ไม่ได้ห้ามคนไทยไม่ให้ไปประเทศเขาถ้าทำอย่างถูกต้อง ที่จริงมีคนไทยไปอยู่เมืองจีนไม่น้อย แต่ว่าไม่ได้มากเท่าที่เขามาอยู่เมืองเราเท่านั้นเอง ฉะนั้น เราจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งว่าไทยจะต้องยอมรับการค้าเสรี เป็นความสำเร็จของตะวันตกที่สามารถทำให้ทุกประเทศต้องประกาศตัวเองอยู่ในรัฐธรรมนูญว่าต้องยอมรับการค้าเสรี

ฉะนั้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เราปฏิเสธไม่ได้ เราต้องอยู่กับการค้าเสรี เมื่อปฏิเสธไม่ได้ แล้วจีนเข้ามาอย่างถูกต้อง ปัญหาของเราก็คือ เราจะมีระบบการบริหารจัดการอย่างไรที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และเราได้ประโยชน์ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมรัฐบาลไทยในห้วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ให้ลงทะเบียนถึงจะทำงานได้ ต้องมีใบอนุญาต แล้วทำไมไม่บริหารจัดการกับแรงงานจีน

แรงงานมี 2 แบบ แรงงานแบบเข้มข้นกับแรงงานที่มีทักษะ ถ้าแรงงานเข้มข้นก็ต้องทำใบอนุญาตทำงาน แต่แรงงานเข้มข้นของจีนแทบจะไม่มีใบอนุญาต นี่แหละคือปัญหา เพราะแรงงานจีนที่เข้ามา ต่อให้ความรู้ต่ำ การศึกษาไม่สูง ก็ยังจัดว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะ ไม่ใช่แรงงานเข้มข้น

ฉะนั้น ปัญหาของประเทศไทยก็คือว่า เราขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ แรงงานเข้มข้นถามว่าเราขาดแคลนไหม เราก็ขาดแคลน เรายังต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันนี้แรงงานเพื่อนบ้านเป็นแรงงานเข้มข้น คุณไปดูตามไซต์ก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน เราต้องการแรงงานที่มีทักษะ จริงๆ แรงงานที่มีทักษะของไทยมี แต่ไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งมันก็ดีกับประเทศ เมื่อแรงงานของจีนเข้ามาแล้ว ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง เราก็ไม่ต้องมากังวลว่าจะมาผิดกฎหมาย แล้วเราสามารถกำกับดูแลได้ในเชิงปริมาณ

ผมทำงานวิจัยของสภาการศึกษา เรื่องการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ซึ่งพบว่าเรามีปัญหามาก ในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) คุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) เป็นรัฐมนตรีศึกษา ไปทำข้อตกลงกับจีน เอาครูอาสาสมัครจากจีนมาประมาณ 5 หมื่นคน มีวาระ 2 ปี ก็เป็นเรื่องที่ดี

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พอครบ 2 ปี ครูอาสาเหล่านี้กลับไปประเทศจีนครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังอยู่ที่ไทยทำงานต่อ ทำงานในบริษัทเอกชนบ้าง สอนภาษาจีนต่อในโรงเรียนบ้าง หรือถูกว่าจ้างให้ไปสอนในโรงเรียนอื่นๆ อีก

คำถามอยู่ที่ว่า การที่ครึ่งหนึ่งยังอยู่ต่อ เป็นเพราะสังคมเศรษฐกิจไทยต้องการ เพราะคุณภาพการเรียนภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของไทย เมื่อจบออกมาแล้วยังไม่สามารถใช้งานได้ หมายความว่า ต้องแก้ที่ตัวเรา คือทำยังไงให้การเรียนการสอนภาษาจีนของเรามีคุณภาพมากขึ้น จบปุ๊บ บริษัทห้างร้านรับไป ถูกใจเลย

แล้วถามว่า อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ ถ้าเกิดเขากลับไปหมด มันก็เกิดปัญหากับภาคธุรกิจไทย ที่ต้องการคนรู้ภาษาจีนแบบที่ใช้ได้เลย มันมี แต่ไม่พอ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของแรงงานทักษะ

“ผมยังไม่รวมตามไซต์งานนะ ประเภทหมู่บ้านจัดสรรตลาดบน ลองไปดูได้ คนที่ขุดดิน แบกหิน ตอกเสาเข็ม เป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน แต่พอโครงของตึกเสร็จแล้ว เป็นแรงงานจีน ทาสี ปูกระเบื้อง เดินสายไฟ ถามว่าคนไทยหายไปไหน เพราะคนไทยไปอยู่ต่างประเทศหมดแล้ว ซึ่งว่ากันไม่ได้ เพราะทุกคนก็อยากมีชีวิตที่ดี เขาได้เงินเดือนสูง แล้วมันก็ดีต่อเศรษฐกิจไทยที่ว่า เขาส่งเงินกลับมา”

ฉะนั้น คำว่าการบริหารจัดการที่ดีของผมอยู่ตรงนี้ คือผมไม่ปฏิเสธการเข้ามาของแรงงานจีน ถ้าเข้ามาและเป็นประโยชน์ แต่วันนี้มันมีข้อจำกัด ภาคธุรกิจก็ไม่รู้จะทำยังไง ตัวเองต้องการและต้องการมากด้วยสำหรับแรงงานทักษะ แต่ที่เห็นๆ คือเป็นแรงงานเถื่อน

ไทยพับลิก้า: ตัวเลขสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มีต่างชาติที่เข้ามาแล้วยังไม่ออกไปมีประมาณ 3-4 แสนคน

นั่นแหละผิดกฎหมาย ที่ผมบอกตอนแรกว่าในบ้านเรามีเป็นแสนคน หรืออาจจะเป็นล้านคนแล้ว เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตม. บอกว่าคนที่เข้ามาแล้วตกค้างไม่กลับไปมีแค่หลักร้อยหลักพัน แต่ตอนนี้เป็นแสน

แต่ต้องเรียนอย่างหนึ่งนะ ที่เป็นแสน ที่ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ ตม. เขาไม่นับเป็นตัวเลขคนที่เข้ามาแต่ไม่ได้ต้องการอยู่ในเมืองไทย แค่อาศัยไทยเป็นฐานเพื่อไปประเทศที่สามก็มี ฉะนั้น หลักแสนที่ว่านี้ เป็นจำนวนที่เราพบว่าสิ้นสุดในประเทศไทย

ดังนั้นเราก็ต้องรู้ด้วยว่า จากไทยแล้วเขาไปต่อไหม ถ้าไม่ไปต่อ เราจะทำยังไง ก็คือสิ่งที่ผมบอกก็คือ พวกนี้จะอยู่ตามไซต์งานก่อสร้าง บางทีทำมาหากินอย่างเปิดเผยนะ แต่อาจจะอยู่แบบผิดกฎหมายก็ได้

แต่มีลักษณะอย่างหนึ่งคือมันเป็นปัญหาวัฒนธรรม ต่อให้คนจีนเข้ามา หรือพม่า ถ้าทำงานระดับล่าง ไม่ใช่ทักษะ ผมก็พบว่าคนจีนกับพม่าขยันกว่าคนไทย แล้วใครต้องการคนไทยล่ะ

“แม้แต่เจ้าของร้านอาหารก็บอกว่า ถ้าเป็นแรงงานไทย สองอาทิตย์แรกพอเบิกเงินปั๊บ สิ่งแรกที่เขาทำก็คือไปซื้อโทรศัพท์ หลังจากนั้นก็ไม่ดูแลลูกค้า ไม่อะไร คุยโทรศัพท์อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นพม่า เขามีเครือข่ายดีมาก ขยัน แต่แรงงานจีนระดับล่าง เขาจะทำงานให้กับพวกเขากันเอง เขาไม่ทำกับคนไทย นี่คือปัญหาทางวัฒนธรรม”

ไทยพับลิก้า: เรื่องแรงงานอพยพที่อยู่ถาวร ต้องแก้ปัญหาอย่างไร

ถ้าเรามองออกไปข้างนอก ไม่มองแต่เฉพาะภายใน คือถ้าเป็นภายในผมบอกแล้วว่า ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ถูกต้องมันก็น่าจะดี แต่ถ้าเรามองออกไปภายนอก อันนี้เราต้องกังวล เพราะผมพูดไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า มีอยู่เพียงเรื่องเดียวที่ผมไม่เข้าใจ คือ มันเป็นนโยบายของจีนลึกๆ ที่ไม่เปิดเผยหรือเปล่า

เพราะเมื่อมองกว้างออกไปแล้ว พบว่ามันไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่จีนมีไปทั่วโลก ซึ่งท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในอาเซียนสิ่งที่เป็นความขัดแย้งก็คือเรื่องทะเลจีนใต้ พอถึงวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าเจรจากันได้ก็ดีหรือถ้าเจรจากันไม่ได้แล้วเกิดความตึงเครียด แล้วจะทำอย่างไร

แต่สิ่งที่ตกลงกับจีนไปแล้วตามกติกาการค้าเสรี ให้มีการค้าขายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ลาวกับพม่า ก็ให้จีนระเบิดเกาะแก่งไปแล้ว ของเราตอนนี้แก่งคอนผีหลง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ ก็ไม่รู้ว่าสำรวจแล้วจะต้องระเบิดไหม ระเบิดได้หรือเปล่า แล้วชาวบ้านแถบนั้นเป็นยังไง

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องหมายคำถามว่า ทำไมจีนต้องการมากขนาดนั้น อย่างแม่น้ำโขง จริงๆ ระดับระวางน้ำหนักเรือไม่เกิน 100 ตัน ก็โอเคแล้ว แต่จีนตอนนี้บรรลุไปแล้ว 300 ตัน เขาต้องการถึง 500 ตัน เขาพูดอย่างเปิดเผยคือเพื่อการค้า แต่ลึกๆ กว่านั้น หากมีความขัดแย้งในอนาคต ใครได้เปรียบในเรื่องความมั่นคง ก็เป็นจีน

ผมก็มีเครื่องหมายคำถามอีกมายมาย เช่น ทำไมเรามีข้อสรุปแล้วมานับสิบๆ ปีแล้วว่าเราไม่ขุดคอคอดกระ แต่ทำไมจีนยังพยายามกระตุ้นให้เราขุดอยู่เรื่อย แต่เวลาจีนแสดงนโยบายต่อประชาคมโลก “One Belt One Road” มันไม่มีคอคอดกระอยู่ในนั้น

ฉะนั้นเขาก็จะบอกว่าเขาไม่เกี่ยว แต่ในทางไม่เป็นทางการ ผมกับคนไทยอีกหลายคนก็จะถูกจีนกระตุ้นให้สนับสนุนรัฐบาลไทยให้ขุด ทั้งที่มีข้อสรุปแล้วว่าการขุดนั้นไม่คุ้มค่า อะไรคือวัตถุประสงค์แฝงของจีน?

ไทยพับลิก้า: อนาคตจะไปถึงการกลืนวัฒนธรรมไหม

คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะจีนมีหลายอย่างที่ไม่สามารถเข้ากันได้กับวัฒนธรรมอื่น ในประวัติศาสตร์โลก การจะเอาวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งของตัวเองไปให้คนอื่นรับไป มันจะมีวิธีของมัน โดยหลักๆ ในอดีตคือใช้กำลังบังคับ

แต่นี่ไม่ใช่ใช้กำลังบังคับ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่งจะรับวัฒนธรรมที่เป็นต่างด้าว มันต้องผ่านระยะเวลาที่ยาวนานมาก เช่น รับมาแล้วรู้สึกว่ามันดี คือหมายความว่าของเดิมของเรา มันไม่คล่องตัวแล้ว ไม่สะดวกแล้ว อะไรหลายๆ อย่าง ฉะนั้นต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ยิ่งเรื่องศาสนาแล้วเรื่องใหญ่เลย

กรณีของจีน ผมคิดว่าอุปสรรคใหญ่ถ้าจะครอบงำมีอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ จีนไม่มีศาสนา นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนจีนกับคนไทยปัจจุบันเข้ากันไม่ได้

ถ้าเป็นคนจีนในอดีตที่เข้ามาในไทย ทำไมจึงเข้ากับคนไทยได้ เพราะคนจีนในอดีตเข้ามาแบบขงจื่อ มาแบบพุทธ เวลาเข้ามาแล้วไหว้พระองค์เดียวกัน คือคุณคิดเหมือนกัน มีอุดมคติ มีอุดมการณ์เหมือนกัน มันก็จบ อยู่ด้วยกันได้

แต่คนจีนปัจจุบันไม่ เป็นคนจีนที่เติบโตในยุคคอมมิวนิสต์ ที่ช่วงหนึ่งสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ศาสนาถูกทำลายลง การนับถือศาสนาเป็นอะไรที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น กิริยามารยาทอะไรต่างๆ ที่เราพบเห็นแล้วเรารู้สึกว่าไม่ใช่มันเป็นอุปสรรค เช่น ที่เห็นจากนักท่องเที่ยวจีน

“คือวัฒนธรรมจีนปัจจุบันเข้ากับวัฒนธรรมไทยไม่ได้ แล้วใครๆ ก็บอกว่าแล้วอาหารล่ะ ผมก็ยังบอกว่าไม่ใช่ อาหารจีนที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอาหารทางใต้ของจีน เพราะว่าคนจีนในอดีตที่เข้ามาในไทยเป็นคนจีนที่มาจากทางใต้ โดยเฉพาะอาหารกวางตุ้ง ซึ่งในโลกบอกว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ แต่อาหารจีนในปัจจุบันที่เข้ามามาจากทั่วทั้งประเทศจีน ซึ่งไม่ใช่ทุกเมนูที่คนไทยจะชอบ ยากมาก มันไม่เหมือนกัน”

ไทยพับลิก้า: นโยบายสี จิ้นผิง บอกว่า กำลังพัฒนาจีนไปสู่การออกนอกประเทศ เกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

คือจีนเป็นประเทศที่วางนโยบายเป็นขั้นเป็นตอน ในช่วงปัจจุบัน เป็นช่วงจังหวะก้าวที่เขาทะลวงไปหมดทั่วโลก แล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่ในความคิดเรื่อง One Belt One Road ชัดเจนในเรื่องการค้า ในเรื่องเศรษฐกิจ

แต่โลจิสติกจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกจะต้องพร้อม ทุกวันนี้ก็ยังไม่ พร้อม แต่ละประเทศมีข้อจำกัดของตัวเอง อย่างไทยตอนนี้เราไม่มีข้อจำกัดเรื่องรถไฟทางคู่ แต่ถ้าจะให้ทำรถไฟความเร็วสูง อันนี้ก็จะต้องมาคิดว่ามันคุ้มไม่คุ้ม จำเป็นไม่จำเป็น เงินในกระเป๋ามีไหม แต่ละประเทศจะมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: แล้วความขัดแย้งกรณีทะเลจีนใต้

ผมสรุปสั้นๆว่า จีนเขาอ้างว่าทะเลจีนใต้ประมาณ 90% เป็นของเขา แต่ว่าประเทศในอาเซียน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อ้างบางส่วนของทะเลจีนใต้

ทีนี้ ข้ออ้างของอาเซียนจะอิงกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เราเรียกว่าอนุสัญญาว่าด้วยกฏหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 ส่วนจีนนั้นเขาอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรื่องมันก็เลยเป็นว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอม แล้วในที่สุดก็นำมาซึ่งความตึงเครียด ความขัดแย้ง

แต่เมื่อปีที่แล้ว อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยคำร้องของฟิลิปปินส์ ปรากฏว่าคำวินิจฉัยนั้นน่าสนใจ เขาวินิจฉัยให้ฟิลิปปินส์ได้ประโยชน์ ฟิลิปปินส์เขายื่นไปเป็นคำถาม 10 กว่าข้อว่าอย่างนี้ใช่ไหม อย่างนี้ได้ไหม ฉะนั้น คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการน่าสนใจ ซึ่งเราสรุปได้ 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรก อนุญาโตตุลาการบอกว่า การที่จีนยกเอาเหตุผลทางประวัติศาสตร์นับพันปี แล้วบอกว่าทะเลจีนใต้เป็นของตัวเอง ยังเป็นหลักฐานที่คลุมเครือ ข้อที่สอง อนุญาโตตุลาการเห็นว่า การที่จีนอ้างว่าได้มีคนไปอาศัยอยู่ในเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ เป็นการอาศัยโดยที่จีนสร้างเกาะเทียม

คือ คำว่าที่ตั้งในทางทะเล ที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้หรือไม่ได้ เขามีนิยาม คำว่าเกาะหรือ Island ถ้าเป็นอันนี้ได้ เพราะมีน้ำจืด แต่อีก 3 อันไม่ได้เลย คือ เป็นประการังหรือเนินทราย (shoal) หินโสโครก (reef) และโขดหิน (rock) เพราะไม่มีน้ำจืด

ประเด็นของอนุญาโตตุลาการคือ หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ไม่ใช่ Island ฉะนั้น การสร้างเกาะเทียมจึงถือว่าผิด ไม่สามารถอ้างได้ว่าเอามนุษย์ไปอยู่ เพราะคุณสร้างเกาะเทียมขึ้นมา เพราะถึงอย่างไรคุณต้องขนน้ำจืดจากแผ่นดินใหญ่ไปส่งให้คนที่อยู่ในเกาะเทียม

ข้อที่สาม อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า การที่จีนสร้างเกาะเทียมนั้น จีนได้ทำลายปะการังซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุมดมสมบูรณ์อย่างย่อยยับและถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ฉะนั้น ที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ เราก็พอมองเห็นเค้าลาง

การที่จีนไม่ยอมรับคำวินิจฉัย ไม่ยอมเข้าร่วมในการต่อสู้อะไรเลย สิ่งที่น่ากังวลในเชิงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือ มันเท่ากับจีนปฏิเสธระเบียบโลก ระเบียบโลกคือกติกาที่เรายอมรับร่วมกัน เพื่อให้โลกมีสันติภาพ

แต่พอมหาอำนาจอย่างจีนปฏิเสธ ก็เลยทำให้ความหวังที่เราจะอยู่กับมหาอำนาจอย่างสบายใจมันสะดุด ฉะนั้น ปัญหาตรงนี้เลยสามารถสรุปได้ว่ามันไม่จบง่ายๆ

ไทยพับลิก้า: แล้วกรณีเกาหลีเหนือ

ส่วนเรื่องเกาหลีเหนือ ล่าสุดผมอ่านข่าวว่าเกาหลีเหนือท้าทายจีน เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับจีน เพราะว่าจีนเหมือนกับอยู่ระหว่างเขาควาย คือข้างหนึ่งยึดเอากติกาโลก เช่น ไม่แพร่อาวุธนิวเคลียร์ จีนก็ต้องเคารพกติกาตรงนี้

แต่อีกข้างหนึ่ง ในแง่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีน จีนทิ้งเกาหลีเหนือไม่ได้ ทิ้งไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะทิ้งเมื่อไหร่ จีนจะเกิดผลกระทบ อันแรกเข้าใจได้ แต่อันที่สองหลายคนอาจไม่เข้าใจ ในเมื่อจีนเป็นมหาอำนาจ แล้วกับแค่เกาหลีเหนือทำไมต้องไปแคร์

เรื่องนี้เป็นความคิดของจีนมานับร้อยนับพันปีแล้วเกี่ยวกับเกาหลี คือจีนเปรียบเกาหลีทั้งเหนือทั้งใต้เป็นริมฝีปาก จีนเหมือนฟัน จีนบอกว่าถ้าริมฝีปากถูกทำลาย ฟันจะไม่ปลอดภัย ฉะนั้น จีนจะปล่อยให้เกาหลีเหนือพังไม่ได้ เพราะถ้าพัง เกาหลีใต้ลุกขึ้นมา แล้วสหรัฐฯ จะเข้ามาในเกาหลีใต้ แล้วกองทัพของสหรัฐฯ ก็จะไปจ่ออยู่ตรงชายแดนจีน

ฉะนั้น การที่มีเกาหลีเหนือเป็นกันชนไว้ จีนจะรู้สึกปลอดภัย ผมถึงบอกว่า สถานการณ์อย่างนี้ จีนอยู่ในหว่างเขาควาย ข้างหนึ่งตัวเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธ อีกข้างหนึ่งก็ละเลยเกาหลีไม่ได้ คือจะปล่อยให้อิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาครอบงำเกาหลีทั้งคาบสมุทร ถ้าผมเป็นจีน ผมก็ไม่สบายใจ

คือ ในอดีตจีนอาจจะอ่อนแอนะ อาจจะคิดอย่างนั้นได้ ทุกวันนี้จีนเข้มแข็งแล้ว ถามว่าเข้มแข็งแล้วเลิกคิดอย่างนี้ได้ไหม เลิกคิดเรื่องริมฝีปากกับฟัน ก็พูดยาก แต่ผมคิดว่าห่างๆ ไว้จะดีกว่า อย่างน้อยก็สบายใจกว่า

ไทยพับลิก้า: มองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจีนอย่างไร

ยุทธศาสตร์ของจีน เขาก็ประกาศเรื่อง “ไชน่าดรีม” (China Dream) เขารอจนถึงครบรอบร้อยปีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนปี 2049 เขาก็บอกว่าเขาจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

กว่าจะถึงปี 2049 จากประวัติศาสตร์จีนสอนให้เรารู้ว่าจีนจะยั่งยืน จะเจริญรุ่งเรืองได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งแล้วมาจากปัจจัยภายในของจีนด้วย นั่นก็คือ จีนจะต้องไม่มีปัญหาคอร์รัปชัน ไม่มีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ปัญหาใหม่ตอนนี้คือปัญหาสิ่งแวดล้อม การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หากเมืองใหญ่ๆ ยังมีมลพิษปกคลุมอยู่ อย่างนี้มันไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ถึงตอนนั้นเราจะเห็นจีนมีพลังงานลม เป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจ เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็เป็นเครื่องหมายคำถามว่าจีนจะทำได้ไหม แต่ที่ผมติดใจมากคือเรื่องคอร์รัปชัน

ไทยพับลิก้า: แต่จีนโชว์ว่าจัดการเรื่องคอร์รัปชันหนักมาก

แต่เขาทำมา 20 ปีแล้วทำไมคอร์รัปชันยังมี สื่อจีนมาสัมภาษณ์ผมเมื่อ 2 ปีก่อน ถามว่าดีไหมที่มีนโยบายปราบคอร์รัปชัน ผมบอกว่าคุณถามอย่างนี้ ผมบอกว่าไม่ดีได้ไหม คือคุณก็ต้องการคำตอบจากผมนั่นแหละว่าดี

ฉะนั้นผมก็ต้องบอกว่าดี แต่ผมมีคำถามว่า ที่รัฐบาลสี จิ้นผิง เอาจริง เราก็เห็นอยู่ มันก็ดีแล้ว แต่ผมสงสัย ผมเคยเห็นผู้นำก่อนหน้าสี จิ้นผิง เขาก็เอาจริงมาตั้ง 20 ปี ทำไมมันยังมี นี่คือเครื่องหมายคำถามว่าทำไม มันเกิดอะไรขึ้น

ก็เพราะคนมันโลภ คอร์รัปชันมันเกิดจากความโลภ ขนาดโทษถึงประหารชีวิตก็ยังคอร์รัปชัน ฉะนั้นคอร์รัปชันของจีนคลาสสิก แต่ของจีนสุดยอดจริงๆ เทียบกับของไทยต้องเอา 100 คูณ