“ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ความจริงมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ มันก็มีช่วงดีบ้าง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ โดนถล่ม แล้วจีนเปิดเผยต่อสหรัฐฯ เองว่ายินดีที่จะทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จนกระทั่ง อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ตาย พอเป้าหมายสูงสุดของสหรัฐฯ สำเร็จแล้ว แม้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายยังไม่สิ้นสุด แต่ผมเริ่มสังเกตท่าทีของสหรัฐฯ ที่บอกว่าจะกลับเข้ามาในทวีปอุษาคเนย์ มันก็เหมือนกับภารกิจหลักจบไประดับหนึ่ง ตอนนี้ขอกลับมาทำภารกิจรองต่อ…”
แม้ว่าองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซ่า) จะตัดสินใจยกเลิกการขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศไปแล้ว
แต่เรื่องนี้ก็ยังมีประเด็นข้างเคียงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีที่คนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งในความพยายาม “ปิดล้อมจีน” ของสหรัฐอเมริกา
ความกังวลนี้ดูจะมีมูลอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนจากแดนมังกรจำนวนมากมาติดตามข่าวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
“จีนจะระแวงสหรัฐฯ จริงหรือไม่” “สหรัฐฯ คิดปิดล้อมจีนหรือเปล่า” หากนำ “คำถาม” เหล่านี้ไปถามกับผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา อย่าง “อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้ “คำตอบ” ว่า 2 พี่เบิ้มของโลกเขากำลังคุมเชิงกันอยู่จริง !
จากปมปัญหาซึ่งมีมาตั้งแต่ศตวรรษก่อน นับแต่เรื่องกบฎนักมวย โยงใยไปถึงสงครามการก่อการร้ายความขัดแย้งในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ และอาจรวมถึงเรื่อง “นาซ่า-อู่ตะเภา” ของไทยด้วย
ขอเชิญชวนไปฟังรายละเอียดจากนักวิชาการรายนี้ในบรรทัดถัดไป อย่ามัวแต่เงยหน้ามอง “อวกาศ” จนลืมหันไปดู “เพื่อนบ้าน” ว่าเขาขยับตัวกันอย่างไร !
ไทยพับลิก้า : นาซ่าขอใช้อู่ตะเภา โยงสหรัฐฯ ปิดล้อมจีน จริงๆ แล้วมันเกี่ยวกันไหมครับ
ผมคิดว่ามันเป็นเหตุบังเอิญ เพราะช่วงไม่กี่ปีนี้ ปัญหาในหมู่เกาะทะเลจีนใต้มันทวีความรุนแรงขึ้นมาอย่างช้าๆ คือมีการปะทะ เผชิญหน้ากัน ระหว่างจีน-เวียดนาม จีน-ฟิลิปปินส์ แล้วมันก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน สหรัฐฯ เป็นคนพูดเองว่า อยากให้ปัญหานี้แก้ไขลุล่วงด้วยดี แล้วบางทีสหรัฐฯ อาจจะเข้าไปเกี่ยวกับปัญหานี้ แม้จะพูดดูดีว่าอยากจะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย แต่จีนก็บอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในภูมิภาคซึ่งสหรัฐฯ ไม่ควรมายุ่งเกี่ยว เรื่องที่ผ่านมาจึงนำไปสู่ความหวาดระแวงระหว่างจีน-สหรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าสหรัฐฯ จะทำอะไรในภูมิภาคนี้ จึงง่ายต่อการถูกตีความ สมมุติว่าไม่มีปัญหาในหมู่เกาะทะเลจีนใต้แล้วนาซ่าจะขอใช้อู่ตะเภาในการวิจัยสภาพภูมิอากาศ หลายๆ คนก็อาจจะไม่คิดอะไรทั้งที่ลึกๆ แล้วสหรัฐฯ อาจจะใช้อะไรมากกว่านั้น
สิ่งที่เป็นปัญหา นาซ่ากับอู่ตะเภาเป็นปัญหาทางเทคนิค เราจะเห็นได้ว่าถ้าเป็นนักวิชาการสายวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่ามันไม่มีอะไรเลย ใช้ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้าทางภูมิอากาศ จริงๆ แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ด้วยพฤติกรรมของสหรัฐฯ ในอดีต พอมาทำอย่างนี้เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะแม้นาซ่าจะเป็นองค์กรด้านพลเรือนก็จริง แต่การศึกษาด้านอวกาศมันเป็นพื้นฐานความรู้หนึ่งซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องทหาร เช่น การส่งจรวดไปสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำก็จะนำไปสู่การพัฒนาเรื่องขีปนาวุธ
สิ่งเหล่านี้ เมื่อรวมกับที่สหรัฐฯ พูดเองว่าจะกลับมา มันก็เลยทำให้ความหวาดระแวง ความวิตกกังวล ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ไทยพับลิก้า : โดยมีเชื้อคือสหรัฐฯประกาศว่าจะกลับมามีบทบาทในภูมิภาคอุษาคเนย์อีก
ใช่ บังเอิญผมเป็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เคยเห็นพฤติกรรมของสหรัฐฯ มามากมาย เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าเรื่องนาซ่ากับอู่ตะเภาจะนำไปสู่การต่อยอดเรื่องอื่นได้หรือไม่
ไทยพับลิก้า : ความหวาดระแวงระหว่างจีน-สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศจะกลับมา หรือมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว
จริงๆ จีน-สหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไม่สู้จะดีตั้งแต่ยุคอาณานิคม เพราะสหรัฐฯ เป็น 1 ใน 8 ชาติที่เข้ามาแล่เนื้อเถือหนังจากจีน หลังจากปราบกบฏนักมวยในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) แต่ผมคิดว่าที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ ถือหางก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมือง กระทั่งก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ หนีไปตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่ไต้หวัน สหรัฐฯ ก็ยังให้การสนับสนุนที่รัฐบาลไต้หวันหลายๆ เรื่อง ที่สำคัญคือฐานะของไต้หวันในองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งตอนนั้นจีนก็กลายเป็นจีนเถื่อน
การไปเยือนจีนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน เพราะตอนนั้นสหรัฐฯ เริ่มจะพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม จึงต้องการให้จีนเป็นตัวช่วย เลยไม่มีทางเลี่ยงในการให้จีนมีที่นั่งในยูเอ็น
แต่แล้วสหรัฐฯ ก็มีอีกเรื่องขึ้นมา โอเค สหรัฐฯ สลัดไต้หวันออก มาสัมพันธ์กับจีนเพราะมันต้องมีจีนเดียว สิ่งที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาคือกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งมีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า สหรัฐฯ ขายอาวุธให้กับไต้หวันได้ ซึ่งไม่ว่าใครที่มีสัมพันธภาพกับไต้หวันแบบจีนก็ต้องคิด จะไม่ให้ระแวงได้ไหม ก็ไม่ได้ หลังจากนั้นมันก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกันตลอด
ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ความจริงมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ มันก็มีช่วงดีบ้าง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ โดนถล่ม แล้วจีนเปิดเผยต่อสหรัฐฯ เองว่ายินดีที่จะทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เราจะเห็นได้ว่าตอนนั้นอะไรก็ โอ้ยดูดีไปหมด จีนที่เคยมีอุปสรรคในการเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ: WTO) เพราะถูกสหรัฐฯ กีดกัน ก็ไม่เป็นอุปสรรคแล้ว สถานการณ์อย่างนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งอะไรรู้ไหม อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ตาย พอเป้าหมายสูงสุดของสหรัฐฯ สำเร็จแล้ว แม้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายยังไม่สิ้นสุด แต่ผมเริ่มสังเกตท่าทีของสหรัฐฯ ที่บอกว่าจะกลับเข้ามาในทวีปอุษาคเนย์ มันก็เหมือนกับภารกิจหลักจบไประดับหนึ่ง ตอนนี้ขอกลับมาทำภารกิจรองต่อ
ไทยพับลิก้า : เหตุที่จีนไปสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ดีหลังเหตุการณ์ 9/11 เพราะต้องการเข้าดับบลิวทีโอหรือมีสาเหตุอื่นอยู่ด้วย
ไม่ใช่แค่ดับบลิวทีโอ คือจีนก็มีปัญหาเรื่องก่อการร้าย เช่น ในมณฑลซินเจียง จีนจึงต้องแสดงให้เห็นว่า แม้สัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะไม่สู้ดี โดยเฉพาะช่วงต้นปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ.2544) ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศแย่มาก มีเครื่องบินเฉี่ยวชนกัน มีการต่อต้านน บ.ฟื้นฟูโครงการขีปนาวุธของสหรัฐฯ ตอนนั้นตึงเครียดมาก แต่พอเกิดเหตุการณ์ 9/11 จีนก็ประกาศว่าแม้สัมพันธ์จะไม่สู้ดี แต่จะแยกเรื่องการก่อการร้ายออกจากกัน แต่จีนไม่คิดว่าจะซ้ำเติมสหรัฐฯ เช่น การสมน้ำหน้า ซึ่งที่จีนทำเช่นนี้ผมไม่รู้หรอกว่าคิดอะไร แต่มันเป็นผลดีในเวลานั้น
ไทยพับลิก้า :หลังจากนั้นสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็เริ่มพัฒนาขึ้น
ผมคิดว่ามันทรงก็ถือว่าดี และตั้งแต่เข้าดับบลิวทีโอ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ค่อนข้างดี แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เช่น การกีดกันทางการค้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่โดยภาพรวมแล้วดี เพิ่งมาแย่หลังจากสหรัฐฯ ประกาศว่าจะกลับเข้ามาในภูมิภาคนี้
ไทยพับลิก้า : เหตุที่สหรัฐฯ ประกาศเช่นนั้นเพราะบทบาทของจีนเริ่มใกล้เข้าสู่การเป็นมหาอำนาจ จนสหรัฐฯ รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบใช่หรือไม่
เรื่องนี้ไม่ว่าจะพูดในมุมไหนก็ถูก เช่น เราจะบอกว่ามันเป็นนิสัยพื้นเพเดิมของสหรัฐฯ มันก็ถูก แต่ถ้าเราจะบอกว่าจีนเปลี่ยนนิสัย มันก็ถูก เพราะแต่ก่อนเวลาที่จีนยังไม่มีมิตรประเทศมากมาย เวลาเข้าหาใครจะใช้ท่าทีอ่อนน้อมสุภาพ แต่หลังจากที่จีนเจริญเติบโตขึ้นมา มีนับร้อยประเทศไปสัมพันธ์ จีนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยสุภาพก็เป็นท่าทีค่อนข้างแข็งกร้าว เมื่อมีประเด็นขัดแย้งกับใครก็ตาม ไม่ว่ากรณีเกาะเซ็นกากุในทะเลจีนตะวันออก หรือกรณีหมู่เกาะทะเลจีนใต้กับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักจีนจากประวัติศาสตร์จีน 3,000 ปี ผมคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเวลาจีนเข้มแข็งเกรียงไกรจะทำอะไรก็ค่อนข้างเด็ดขาด แต่คนที่คุ้นเคยเฉพาะความอ่อนน้อมสุภาพก็จะไม่เข้าใจ ฉะนั้น เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจ แล้วใช้ท่าทีแข็งกร้าว ใครบ้างล่ะจะไม่วิตกกังวล
ไทยพับลิก้า : ความแข็งกร้าวของจีนท้าทายสหรัฐฯ หรือไม่
ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะคิดอย่างไร ถ้าคิดในมิติที่ว่าไม่อยากให้ภูมิภาคนี้เกิดความขัดแย้ง อยากให้ทุกอย่างจบอย่างสันติ สหรัฐฯ ก็คิดได้เลยเข้ามาไง แต่ถ้าคิดในอีกแง่มุม เช่น ทะเลจีนใต้จะเป็นของใครก็ตามตราบใดที่จีนบอกว่าเป็นของจีน แล้วในอนาคต จีนใช้อำนาจที่มีเหนือกว่าทำให้เป็นของจีนจนได้ ปัญหาก็จะยิ่งปะทุ เพราะทะเลจีนใต้ มันเป็นเขตน่านน้ำที่ควรจะเป็นสากลแต่ ถ้าเป็นของจีน ใครจะผ่านก็ต้องมีระบบการขออนุญาต หรือระบบการตรวจสอบยุบยับไปหมด ไม่รวมถึงการเป็นเจ้าของทรัพยากรในน่านน้ำนี้ด้วย สหรัฐฯ ก็อาจจะคิดว่าถ้าจีนได้ครอบครองแล้วภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไรล่ะ ฝ่ายจีนก็มีสิทธิคิดว่านี่เป็นของฉัน มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่เวลาเราคิดว่าเป็นเจ้าของอะไร ก็ย่อมแสดงออกไม่ว่าด้วยท่าทีแข็งกร้าวหรือท่าทีอื่นๆ
ไทยพับลก้า : จีนเชื่อว่าทะเลจีนใต้ทั้งหมดเป็นของเขา
ใช่ จีนจึงต้องแสดง เพราะมันเป็นเรื่องศักดิ์ศรี และเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย ดังนั้นความขัดแย้งมันจึงเกิดขึ้น
ไทยพับลิก้า : ในอาเซียนมีพันธมิตรของสหรัฐฯ และของจีนอยู่กี่ประเทศ มีการประกาศตัวชัดเจนแค่ไหน หรือแต่ละประเทศก็ย้ายข้างกันไปมา
มันเป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ อย่างฟิลิปปินส์ชัดเจนเพราะสหรัฐฯ มีพันธะบางอย่างกับฟิลิปปินส์ แม้ไม่มีปัญหาเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ส่วนเวียดนาม-สหรัฐฯ แม้จะเป็นไม้เบื่อไม้เมา แต่เมื่อสหรัฐฯ เข้ามาเวียดนามก็จะได้ประโยชน์ ทำให้ลืมอดีตอันเลวร้ายได้ไป
ส่วนพันธมิตรของจีนขึ้นอยู่กับนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ที่จีนยังต่างกับสหรัฐฯ อยู่เพราะสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับประเทศทั่วโลกที่เห็นว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของตัวเองหรือยอมให้ตั้งฐานทัพได้ เช่น ญี่ปุ่น แต่จีนเป็นประเทศที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีฐานทัพนอกประเทศจีน ดังนั้น พันธมิตรทางการทหารของจีนจึงไม่เคยเกิดขึ้น
ไทยพับลิก้า : เพราะอะไรจีนถึงประกาศอย่างนั้น
เพราะจีนรู้ว่านั่นคือการคุกคามอธิปไตยของอีกชาติ
ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะตัวเองถูกกระทำมาก่อน
ตอนที่จีนอ่อนแอ ก็ไม่ความสุขที่มีประเทศอื่นเข้ามาตั้งฐานทัพ ฉะนั้น เมื่อเราทุกข์จากสิ่งนี้ ทำไมเราต้องเอาสิ่งนี้ไปไว้กับประเทศอื่น แต่ตอนหลังมีสิ่งที่ผมยังตีความได้ไม่ชัดเจนคือ จีนมีเหมืองน้ำมันอยู่ที่ซูดาน ซึ่งถูกกลุ่มกบฏลอบโจมตีอยู่ตลอด จีนก็เลยส่งกองกำลังติดอาวุธไปที่ซูดาน แม้จะเฉพาะในเหมืองน้ำมัน อย่างนี้ก็เป็นการนำกองกำลังติดอาวุธเข้าไปในต่างประเทศ นี่ไง ผมเลยสงสัยว่าจีนจะมีการกระทำในเชิงนโยบายที่ไม่สามารถใช้นิยามเก่าๆ มานิยามได้อีก
เรื่องแม่น้ำโขงอีก ตอนที่มีคนจีน 13 คนถูกฆ่าตาย จีนก็กดดันประเทศที่เกี่ยวข้องจนพม่ากับลาวยอมให้จีนส่งกองกำลังติดอาวุธเข้ามาตามแม่น้ำโขงได้ มีแต่ไทยซึ่งยังไม่ยอม ซึ่งผมเห็นด้วยนะ
ทั้ง 2 เรื่องนี้ผมพยายามหาคำอธิบายที่พอใจยังไม่ได้
ไทยพับลิก้า : จีนจะทำเหมือนสหรัฐฯ
ผมคิดว่าคนละวิธี และดูค่อนข้างใหม่สำหรับโลกยุคปัจจุบัน เพราะยังไม่พบประเทศไหนเขาทำกัน คือ เป็นวิธีในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กรณี 13 ศพแม่น้ำโขง ถ้าคุณดูแลไม่ได้ ฉันขอดูแลเอง
ไทยพับลิก้า : เหมือนวิธีลูกพี่ใหญ่ปกครองลูกน้อง
ใช่ เหมือนบอกว่าดูแลไม่ดี ฉันเลยต้องเข้ามาดูแลเอง
ไทยพับลิก้า : ปัจจัยความระแวงของจีนต่อสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากมาจากเรื่องประวัติศาสตร์ตั้งแต่เรื่องกบฏนักมวยเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ซึ่งจีนก็ไม่ได้ลืม
ไทยก็ไม่ได้ลืมนะ นโยบายของไทยแต่ก่อน ถ้าใช้คำพูดหยาบๆ คือตามก้นสหรัฐฯ แต่ตอนหลังไทยเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ก็จะมีความคิดต่อสหรัฐฯ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ อะไรดีๆ จะรับมา แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง จะอ่อนไหวมาก แต่คนอีสานน่าจะรู้ดีว่าสหรัฐฯ ไปทำอะไรไว้ในอดีตบ้าง
ไทยพับลิก้า : พี่เบิ้ม 2 คนไม่ถูกกัน ท่าทีของไทยควรจะเป็นอย่างไร
มันจะมีมิติการมองได้หลายอย่าง แต่ผมคิดว่าเบื้องต้น ไม่รู้ว่าเราโชคดีหรือเปล่า คือไทยไม่ได้เป็นคู่กรณีในปัญหาทะเลจีนใต้ แต่เราก็เป็น 1 ในสมาชิกอาเซียน แล้วประเทศคู่กรณีกับจีนทั้ง 4 ประเทศก็เป็นสมาชิกอาเซียน ดังนั้น ปัญหากับจีน อาเซียนจึงต้องหารือร่วมกันก่อนที่จะไปแสดงท่าทีอะไร เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคุณจะเห็นได้ชัดว่าเงื่อนไขสำคัญกลับไปอยู่ที่สหรัฐฯ อาเซียนจะหารืออย่างไรก็ต้องชายตามองสหรัฐฯ พอไปหารือกับจีน ถึงตอนนั้นท่าทีของไทย ลาว กัมพูชา และพม่า จะบอกว่าไม่มีท่าทีอะไร นิ่งเงียบอย่างเดียว ก็คงไม่ได้
ดังนั้น ในกรณีไทย ถ้าเป็นไปได้ควรจะคุยกับอีก 3 ประเทศที่เหลือ ทีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป เวลานี้จีนก็สนิทกับกัมพูชามากๆ รวมถึงลาวก่อนหน้านี้ก็สนิทกับพม่า ทั้ง 3 ประเทศจึงไม่มีใครอยากมีจะปัญหากับจีนแน่ ดังนั้น ไทยกับ 3 ประเทศนั้นควรจะหารือกันก่อน เพื่อกำหนดท่าทีต่อปัญหาเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ รวมถึงท่าทีว่า หากสหรัฐฯ จะกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จะทำอย่างไร
ไทยพับลิก้า : หลังจากเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น นโยบายต่างประเทศของไทยเริ่มเข้าหาทางจีนมากขึ้นหรือไม่
ไทยกับจีนตอนนี้ยังปกติดีอยู่ แล้วยิ่งไทยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ก็เป็นโชคดีของไทยที่ไม่ต้องแสดงจุดยืนอะไรให้เคร่งเครียด ถ้าพูดแบบนักการทูตก็ให้จีนไปคุยกับคู่ขัดแย้งกันไปเลย ว่าไทยไม่เกี่ยว แต่ถ้าจีนบีบให้ไทยแสดงจุดยืนอะไรมันจะไม่ดี มันควรจะอยู่บนความอิสระ แม้กระทั่งไทยไม่พูด ไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่ควรมาบังคับให้ไทยพูด
ไทยพับลิก้า : ลักษณะการปะทะกันระหว่างอำนาจใหม่ที่เริ่มตกต่ำอย่างสหรัฐฯ กับอำนาจเก่าที่อาจจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งอย่างจีนในภูมิภาคอุษาคเนย์ จะเป็นอย่างไรต่อไป
ถ้าสหรัฐฯ ยังยืนยันตามที่ประกาศก็น่ากลัว เพราะเขามาแน่ และตอนนี้สหรัฐฯ ก็คืบหน้ามาเรื่อยๆ เห็นได้จากการส่งเรือรบเข้ามาที่ฟิลิปปินส์ แล้วผมคิดว่าในระยะยาวมันจะเกิดความตึงเครียดถ้าการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ความตึงเครียดจะมีมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับท่าทีของทั้งจีนและสหรัฐฯ
ไทยพับลิก้า : ถ้าสหรัฐฯ จะเข้ามาจริง จีนจะเอาอะไรไปต้านทาน เพราะจุดแข็งอยู่ที่ด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านการทหารยังด้อยกว่ามาก
จีนต้องพยายามรักษาจุดแข็งนั้นไว้ให้ได้ ซึ่งนี่คือโจทย์ข้อใหญ่ของจีน เพราะจีนไม่ได้เผชิญหน้ากับสหรัฐฯ แบบนี้มานานแล้วในแบบที่มีเรื่องการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วตอนนี้โลกก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ด้านหลักจีนจะมีท่าทีอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่าทีของสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ไม่ไปทำอะไรจีนก็คงจะไม่มีปฏิกิริยามาก แต่ถ้ามีการปะทะกัน แล้วสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวสักนิด คราวนั้นอาจเป็นเรื่องใหญ่
ไทยพับลิก้า : จะถึงขั้นจีน-สหรัฐฯ เปิดศึกกันหรือไม่
เอ่อ (หยุดคิด) การจะพูดอย่างนั้นได้ ต้องดูองค์ประกอบเชิงผลประโยชน์หลายอย่าง จีนก็มีผลประโยชน์ในสหรัฐฯ เยอะ สหรัฐฯ ก็ต้องอาศัยจีน ตอนนี้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ เขาถือพันธบัตรไว้เยอะ เหมือนเข้าไปช่วยกอบกู้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้น ถ้าเกิดสงคราม มันจะยิ่งไม่คุ้ม โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ
ไทยพับลิก้า : สถานการณ์จีนเวลานี้จึงเหมือนแค่ตั้งรับอยู่ในบ้าน ปล่อยให้สหรัฐฯ รุกคืบ กินหมากบนกระดานทีละตัว
ขึ้นอยู่กับว่ารุกคืบอย่างไร สมมุติสหรัฐฯ ส่งเรือรบมาอยู่กลางน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ อย่างนี้แย่แล้ว แต่ถ้าส่งเรือรบมาแค่ติดฟิลิปปินส์ อย่างนี้ก็แค่ตึงๆ นิดๆ แต่ไม่ถึงกับปะทะ ทั้งหมดจึงต้องดูทั้งท่าทีของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากจีน
ศึกชิงเกาะ ที่ไม่มีคนอยู่ แต่…
ที่ “อาจารย์วรศักดิ์” เอ่ยถึงหลายครั้งว่า ความขัดแย้งเรื่อง “หมู่เกาะทะเลจีนใต้” ระหว่าง “จีน” กับ “เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย-บรูไน” ที่เป็น “เชื้อ” ซึ่งสหรัฐฯ ใช้ “อ้าง” ในการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
เอ่ยว่า “หมู่เกาะทะเลจีนใต้” หลายคนอาจงงๆ ว่าหมายถึงหมู่เกาะใด? อยู่ตรงไหนในทะเลจีนใต้?
แต่ถ้าเอ่ยว่าเป็นหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อมาบ้าง เพราะทั้งจีนและ 4 ประเทศอาเซียนนั้นต่างก็อ้างสิทธิบนหมู่เกาะ ซึ่งมีจำนวน 45 เกาะ มีพื้นที่เพียง 5 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะขนาดเล็กที่ห่างไกล ไม่มีประชาชนมาตั้งถิ่นฐาน แต่มีการสำรวจพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล
ทำให้ทั้งจีนและ 4 ประเทศอาเซียน แม้กระทั่ง “ไต้หวัน” ส่งกำลังทหารไปประจำการบนหมู่เกาะนั้นๆ เพื่อยืนยันสิทธิในพื้นที่พิพาท
ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดการกระทบกระทั่งอยู่เป็นระยะ ทั้งการซ้อมรบแสดงแสนยานุภาพ การส่งเรือรบลุกน้ำน่านน้ำอีกฝ่าย กระทั่งต้องออกแถลงการณ์โต้กันไปมา
ส่วนความขัดแย้งระหว่าง “จีน –ญี่ปุ่น” ซึ่งรวมถึงไต้หวัน เรื่อง “หมู่เกาะเซ็นโกกุ” (Senkoku Islands) ก็มีสาเหตุเดียวกับหมู่เกาะสแปรตลีย์
นั่นคือแม้จะเป็นหมู่เกาะที่มีจำนวนเพียง 5 เกาะ มีพื้นเพียง 7 ตารางกิโลเมตรและไม่มีประชาชนอาศัยอยู่
…แต่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ !!!