“กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกลไกในการป้องกันภาวะน้ำมันขาดแคลน และรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การดำรงชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในการทำประชานิยมกันอย่างสุดโต่ง กำหนดราคาขายปลีกเชื้อเพลิงบางประเภทต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง จนทำให้โครงสร้างการใช้และการผลิตบิดเบือนมาเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทางกระทรวงพลังงาน จึงเสนอรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ระยะที่ 1 เพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน และปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งปล่อยลอยตัวก๊าซหุงต้ม (LPG) ผลการจากเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่เคยติดลบราว -8,000 ล้านบาท ตอน คสช. เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 22 พ.ค. 57 มีฐานะเป็นบวก 39,958 ล้านบาท (ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2560)
ระยะที่ 2 ยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ… เพื่อกำหนดความชัดเจนในการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และปิดตำนานประชานิยม โดยกำหนดกรอบวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินให้ชัดเจน และจำกัดขนาดของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมเงินกู้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดเพดานเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเงินกองทุนฯ ไปใช้นอกวัตถุประสงค์อีก
ส่วนคำถามที่ว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ตามร่างกฎหมายฉบับใหม่มีความแตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เดิมกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการถึง 3 ชุด (ชั้น) คือ
ชุดที่ 1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนพลังงานของประเทศ รวมทั้งกำกับโครงสร้างราคาของพลังงานทุกประเภท
ชุดที่ 2 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ปัจจุบันมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ทำหน้าที่กำหนดอัตราเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
และชุดที่ 3 คณะกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) (สบพน.) ทำหน้าที่ธุรการ บริหารจัดการกระแสเงินสด จัดหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการชดเชยราคาพลังงาน
แต่เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ จึงมีการลดจำนวนคณะกรรมการที่บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2 ชุด คือ กบง. และ สบพน. ให้เข้ามารวมอยู่ในคณะกรรมการใหม่ชุดเดียวที่ชื่อว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (คบน.) ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีหน้าที่เสนอแผนบริหารจัดการน้ำมัน รับผิดชอบงานธุรการของ คบน. และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในภาพรวม
“สาเหตุที่ต้องมีการยุบรวมคณะกรรมการ 2 ชุด เข้ามารวมอยู่ใน คบน. ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน นำนโยบายของ กพช. ลงไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่จำเป็นต้องมี 2 บอร์ด” ดร.ทวารัฐ กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (คบน.) จะมีทั้งหมด 15 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ และมีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน,ปลัดกระทรวงคมนาคม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, อธิบดีกรมการค้าภายใน, อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, อธิบดีกรมบัญชีกลาง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ต้องผ่านกระบวนการสรรหา ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และจะต้องเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ ให้ยุบเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) พร้อมกับโอนทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง รวมทั้งผู้อำนวยการ สบพน. ไปเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ถือว่าเป็นการลาออกจากงาน
สรุปโครงสร้างการบริหารงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คบน. โดยมี กพช. ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่วน สบพน. ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชนจะถูกยกระดับขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ และเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คล้ายๆ กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของ คบน. ดูแลงานทางธุรการและบริหารจัดการกระแสเงินสดให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเบ็ดเสร็จ
ต่อกรณีที่มีนักวิชาการเป็นห่วงเกรงว่ากองทุนน้ำมันฯ ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่จะถูกนักเมืองแทรกแซงการทำงานเหมือนในอดีต ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า “ก็อาจมีความเป็นไปได้แต่ยาก เพราะจะถูกล็อคไว้ด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 5 กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงิน จากกองทุนน้ำมันฯ เอาไว้แค่ 5 ข้อ ใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ไม่ได้ นอกจากนี้ในมาตรา 26 ยังกำหนดขนาดของกองทุนฯ รวมเงินกู้ต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และการเงินกู้ยืมเพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องหรือชดเชยราคาน้ำมัน กู้ได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เงื่อนไขเหล่านี้ได้ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หากการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินตามที่กล่าวมานี้ ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องเสนอผ่านหลายกระบวนการ
ส่วนคำถามที่ว่าหากเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในอนาคต กองทุนฯ มีเงินแค่ 40,000 ล้านบาทจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้นานแค่ไหน ดร.ทวารัฐกล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงวันละเกือบ 100 ล้านลิตร แบ่งเป็นดีเซลวันละ 70 ล้านลิตร เบนซินวันละ 30 ล้านลิตร หากรัฐบาลจำเป็นต้องนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคาลิตรละ 1 บาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้นานถึง 400 วัน นอกจากนี้ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังให้อำนาจสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และที่สำคัญในร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับนี้ได้กำหนดนิยามของคำว่า “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” หมายถึง สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ ผันผวน จนอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือสถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ดังนั้น หากผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำมันไปแล้ว รัฐบาลจะต้องถอย หรือ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด”
ส่วนกรณีที่มีคณะกรรมาธิการ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางท่าน และ NGO บางกลุ่ม เสนอให้ยุบกองทุนน้ำมันฯ นั้น ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า “หากไม่มีความเสี่ยงเรื่องภาวะการขาดแคลนน้ำมัน หรือไม่มีความผันผวนในเรื่องราคาพลังงาน ก็ไม่จำเป็นต้องมีกองทุนฯ ก็ได้ หรือถ้ามีอยู่แล้ว ฐานะเงินกองทุนสุทธิควรเป็น 0 กล่าวคือไม่มีการเก็บเข้าและจ่ายออก แต่การมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ยังมีข้อดี ก็เหมือนซื้อประกันภัย เพราะเราไม่รู้อนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นการมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ถือเป็นการสร้างหลักประกันลดความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เสียหายที่จะสร้างหลักประกัน เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ”(อ่านร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ ที่นี่)