ThaiPublica > เกาะกระแส > สั่งเลิกกิจการ “สหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจ จำกัด”ทำธุรกรรมผิดประเภท -3 สหกรณ์เงินหายกว่า 5 พันล้าน

สั่งเลิกกิจการ “สหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจ จำกัด”ทำธุรกรรมผิดประเภท -3 สหกรณ์เงินหายกว่า 5 พันล้าน

17 พฤษภาคม 2017


นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบสหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจ จำกัด” พบความผิดปกติของการดำเนินงานและสั่งเลิกสหกรณ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 โดยพบว่าสหกรณ์ฯ ลงทุนก่อสร้างบ้านจัดสรรที่จังหวัดมหาสารคามเพื่อขายให้บุคคลภายนอก ซึ่งผิดข้อบังคับสหกรณ์ นายทะเบียนจึงได้สั่งระงับและติดตามว่าจะสามารถจำหน่ายทรัพย์สินมาเพื่อนำเงินมาคืนสหกรณ์อื่นที่นำเงินมาฝากได้หรือไม่

นายพิเชษฐ์กล่าวว่าก่อนหน้านี้ได้เข้าไปตรวจสอบเมือปี 2557 พบว่าสหกรณ์ไม่ได้ทำธุรกรรมกับสมาชิก ซึ่งผิดข้อบังคับสหกรณ์ ด้วยเหตุนี้ทางกรมส่งเสริมฯจึงสั่งให้สหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจหยุดการทำธุรกรรมทั้งหมด ต่อจากนั้นได้สั่งการให้สหกรณ์จำนวน 3 แห่งที่นำเงินมาฝาก เพื่อไปทวงถามเงินฝากคืน แต่ทางสหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจ ไม่คืนเงินให้ สำหรับสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากสหกรณ์เคหสถานนพเก้า ประกอบด้วย

  1. ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย จำกัด วงเงินฝาก 4,485 ล้านบาท
  2. สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัด วงเงินฝาก 915 ล้านบาท
  3. สหกรณ์ออมทรัพย์ ครูนนทบุรี จำกัด วงเงินฝาก 113 ล้านบาท

นอกจากนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แจ้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 และร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เพื่อดำเนินคดีกับคณะกรรมการของสหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจ

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบยังพบว่ากรณีที่ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทยนำเงินมาฝาก 4,485 ล้านบาทนั้น ทางสหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจได้นำที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินฝากของชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย จำนวน 6 แปลง โดยมีการประเมินราคาและซื้อขายกันที่ 6,883.86 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบของกรมส่งเสริมฯ โดยอ้างอิงและเปรียบเทียบราคาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวพบว่า

1) ราคาประเมินราชการของกรมที่ดิน มีมูลค่า 608.83 ล้านบาท
2)ราคาตลาดจากราคาซื้อตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและใบเสร็จของกรมที่ดิน มีมูลค่า 3,806.03 ล้านบาท
3)ราคาตามบัญชี (จากกระดาษทำการ งบทดรองของผู้สอบบัญชี วันที่ 31 มีนาคม 2558) มีมูลค่า 4,072.33 ล้านบาท
4)ราคาตลาดของที่ดินใกล้เคียงที่ประกาศขายมีมูลค่า 1,070.48 ล้านบาท

ทั้งนี้ราคาประเมินทั้ง 4 แห่ง เมื่อเทียบกับราคาที่สหกรณ์เคหสถานนพเก้าร่วมใจประเมินแล้ว แตกต่างกันตั้งแต่ 3,000-6,000 ล้านบาท

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เนื่องจากมีการประเมินราคาที่สูง โดยเป็นการประเมินของบริษัทที่ขึ้นทะเบียนอยู่กับ ก.ล.ต. คาดว่าต้องใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 15 วัน รวมทั้งทางกรมฯ จะมีการประเมินราคาใหม่อย่างละเอียดต่อไปด้วย” นายพิเชษฐ์กล่าว

ขณะที่การดำเนินการกับสหกรณ์ที่นำเงินมากฝากสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจทั้ง 3 แห่ง นายทะเบียนได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ให้คณะกรรมการสหกรณ์ดังกล่าว ฟ้องเรียกร้องเงินคืนจากสหกรณ์นพเก้าฯ ภายใน 15 วัน พร้อมทั้งตรวจสอบหลักประกันว่าเพียงพอกับมูลหนี้ที่มีหรือไม่ หากพบว่าไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการชุดที่ดำเนินการฝากเงินไปยังสหกรณ์เคหสถานนพเก้าฯ ชดใช้คืน และถ้าพบว่าการดำเนินการของคณะกรรมการชุดดังกล่าวส่อไปในทางทุจริต ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป

“ส่วนการฝากเงินระหว่างสหกรณ์อื่น ที่อาจจะนำมาสู่ปัญหาแบบนี้อีก ทางกรมส่งเสริมฯได้ตรวจสอบสหกรณ์ทุกแห่งในระบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 มิถุยายน 2560 นี้” นายพิเชษฐ์กล่าว

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า กรณีปัญหาของสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจไม่กระทบต่อระบบสหกรณ์โดยรวมและสหกรณ์ที่นำเงินมาฝาก จากการตรวจฐานะการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เงินที่นำมาฝากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของสหกรณ์ฯจุฬาแล้วอยู่ที่ประมาณ 0.02%(สหกรณ์จุฬาฯมีสินทรัพย์รวม 40,000 ล้านบาท), สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี เงินที่นำมาฝากมีเทียบกับสินทรัพย์รวมคิดเป็น 0.013% (มีสินทรัพย์รวม 8,260 ล้านบาท) ขณะที่ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย แม้จะมีสัดส่วนเงินที่นำมาฝากประมาณ 60% (มีสินทรัพย์รวม 7,000 ล้านบาท) แต่เมื่อคิดเป็นรายสมาชิกสหกรณ์ต่อสินทรัพย์รวมของสหกรณ์นั้นๆ พบว่ามีสัดส่วนไม่สูงมาก(อนึ่งชุมนุมสหกรณ์ เป็นการรวมตัวของสหกรณ์หลายแห่งมารวมตัวกันเป็นชุมชนุมสหกรณ์ฯ) โดยปัจจุบันมีสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกนำเงินมาฝาก 35 สหกรณ์ วงเงิน 5,740 ล้านบาท และมีสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกถือหุ้น 41 สหกรณ์ วงเงิน 734 ล้านบาท

อนึ่ง ปัจจุบันสหกรณ์นพเก้าฯ มีสมาชิก 404 ราย ทุนเรือนหุ้น 73.66 ล้านบาท โดยมีสมาชิกที่มีทุนเรือหุ้นไม่เกิน 10,000 บาท 375 ราย, ตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท 15 ราย และมากกว่า 1,000,000 บาท 14 ราย ทั้งนี้ จากข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่มีปัญหา มีดังนี้

  1. นายอชิรเดช  กนกโชติชัยวัชร์   ประธานกรรมการ (ปัจจุบันมีทุนเรือนหุ้น 11,301,900 บาท เป็น 1 ใน 14 ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 1 ล้านบาท)
  2. นายเชี่ยวชาญ พิกุล กรรมการ (ปัจจุบันมีทุนเรือนหุ้น 4,001,900 บาท เป็น1 ใน 14 ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 1 ล้านบาท)
  3. นางนลินพรรณ พิกุล กรรมการ
  4. นางพรรณี ผิวอ่อน กรรมการ
  5. นายโชคทวีพัฒน์ พรหมโคตร กรรมการ (ปัจจุบันมีทุนเรือนหุ้น 3,001,900 บาท เป็น 1 ใน 14 ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 1 ล้านบาท)
  6. นายพสธร จุลมกร กรรมการ
  7. น.ส.ศศิธร สุคนธเขต กรรมการ
  8. นายวินัย บุญเกิด กรรมการ (ปัจจุบันมีทุนเรือนหุ้น 4,005,300 บาท เป็น1 ใน 14 ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 1 ล้านบาท)
  9. นายโสฬส เนตรสุข กรรมการ (ปัจจุบันมีทุนเรือนหุ้น 4,005,300 บาท เป็น 1 ใน 14 ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 1 ล้านบาท)
  10. นายชยา เนตรสุข กรรมการ
  11. นางวิลาวรรณ อมาตยกุล กรรมการ
  12. นางกรวรรณ ใจวันดี กรรมการ
  13. นางวิลาวัลย์ จันทร์เปล่ง กรรมการ
  14. นายชัชกร กรรณสูตร กรรมการ
  15. นายวินัย สิงโต กรรมการ