ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัว รอส่งผ่านการบริโภค-ลงทุนเอกชน แจง “ว่างงาน” ทรงตัว แม้สูงสุดในรอบ 7 ปี เงินเฟ้อลดต่อเนื่อง ผลฐานสูง

ธปท. ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัว รอส่งผ่านการบริโภค-ลงทุนเอกชน แจง “ว่างงาน” ทรงตัว แม้สูงสุดในรอบ 7 ปี เงินเฟ้อลดต่อเนื่อง ผลฐานสูง

31 พฤษภาคม 2017


นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกยังขยายตัวที่ 5.9% ทั้งด้านราคาและปริมาณในหลายหมวดสินค้า ที่เติบโตได้ดีคือสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สอดคล้องกับภูมิภาคเอเชียที่เติบโตคล้ายกัน แสดงให้เห็นกำลังซื้อจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้ค่อนข้างดี

“คำถามที่อาจจะสงสัยว่าทำไมการผลิตภาคอุตสาหกรรมจึงยังหดตัวอยู่ที่ประมาณ 1.7% คำตอบคงคล้ายๆ เดือนก่อน ส่วนหนึ่งอยู่ในช่วงระบายสินค้าคงคลังจึงอาจจะยังไม่เห็นผลต่อภาคการผลิตมาก โดยเฉพาะตามการผลิตหมวดยานยนต์จะเห็นว่ายังติดลบอยู่ เพียงแต่ว่ามีทิศทางที่ปรับตัวขึ้น หากดูการเติบโตเดือนต่อเดือนจะเริ่มเป็นบวก ส่วนการผลิตที่ยังดีต่อเนื่องคือสินค้าแผงวงจร IC สะท้อนภาพว่าการส่งออกจะพอไปได้ สอดรับกับอุปสงค์ของต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีที่ 7% ในหลายกลุ่มนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ยุโรป อาเซียน ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนอาจจะแผ่วลงไปบ้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้เร่งตัวเข้ามา ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวยังไปได้ด้วยดีสอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.6% โดยเฉพาะจากหมวดบริการเป็นสำคัญตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่สินค้าไม่คงทนยังคงทรงตัว ส่วนสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีในกลุ่มของรถจักรยานยนต์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากรายได้ของภาคเกษตรกรรมขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวในหลายสินค้า ทั้งด้านปริมาณและราคา ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงมาบ้างส่วนหนึ่งเกิดจากภาระในช่วงเปิดเทอมที่มากขึ้นและเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน ซึ่งอาจจะมาช้าตามที่คาดการณ์ไว้ โดยการหดตัวส่วนใหญ่เกิดจากภาคก่อสร้างในธุรกิจบริการและขนส่งที่ได้เร่งลงทุนไปก่อนหน้านี้ ขณะที่การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงพอไปได้ สอดคล้องไปกับการนำเข้าสินค้าทุนและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับดีขึ้น สำหรับด้านการระดมทุนยังมีแนวโน้มค่อนข้างดีและคิดว่ายังเดินต่อไปได้

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนทั้งของภาครัฐและรัฐวิสหากิจ หดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมา สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเช่นเดียวกัน โดยเป็นผลจากฐานที่สูง ซึ่งสืบเนื่องมากจากมาตรการส่งเสริมตำบล แต่ภาพรวมยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ เนื่องจากภัยแล้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ฐานราคาค่อนข้างสูง รวมไปถึงปีนี้มีผลผลิตออกมาค่อนข้างมากเป็นแรงกดดันด้านราคาและมีแนวโน้มที่จะชะลอลงได้อีกในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้คาดการณ์ไว้ระดับนี้อยู่แล้วและไม่ต้องแปลกใจ โดยคิดว่าจะทยอยสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลยังอยู่ที่ระดับ 1.2% ทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออก แต่ในอนาคต หากมีการนำเข้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้น คาดว่าจะสมดุลกันมากขึ้น สำหรับบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายค่อนข้างสมดุล

“เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง ส่งออกขยายตัวในหลายหมวดสินค้า มีการกระจายในหลายตลาด การท่องเที่ยวขยายตัวดีสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะหมวดบริการ การลงทุนภาคเอกชนยังทรงๆ ในเดือนนี้ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เพราะยังระบายสินค้าคงคลัง และการใช้จ่ายภาครัฐแม้หดตัวแต่ยังมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพ เงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสด ว่างงานก็ทรงตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล”

“ถาม-ตอบ” แจงว่างงาน 1.2% ยังทรงตัว – เงินเฟ้อลด เป็นปัจจัยชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวถามว่าอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นถึง 1.2% สูงสุดในรอบ 7 ปีจะส่งสัญญาณบางอย่างต่อเศรษฐกิจหรือไม่ นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ว่างงานหากดูตัวรวมยังทรงตัวที่ 1.2% แต่ว่าอาจจะมีการย้ายไปย้ายมาระหว่างภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร แต่โดยรวมคิดว่ายังอยู่ในระดับทรงๆ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะมีผลต่อการส่งออกหรือไม่นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวดีในช่วงที่ผ่านมา หลักๆ มาจากกำลังซื้อของต่างประเทศ ส่วนค่าเงินเป็นตัวแปรทางการเงินมันมีขึ้นมีลง แต่ว่าการส่งออกหลักๆ มาจากอุปสงค์ต่างประเทศ แล้วจริงๆ หากดูความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาตามหลักการคงไม่ได้มีเฉพาะค่าเงินบาทเท่านั้น แต่ต้องเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง ดูเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การส่งออกที่ฟื้นตัวและภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว แต่มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางเพิ่มขึ้นและจะใช้เวลาแค่ไหนถึงจะกลับมาผลิต นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ในการผลิตที่ดีขึ้นจะมีกลุ่มแผงวงจร IC ที่ยังเป็นบวกอยู่ ซึ่งสอดรับกับการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วน ขณะที่การผลิตที่เห็นว่าหดตัวอยู่หลักๆ จะเป็นพวกกลุ่มยานยนต์ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากการระบายสินค้าคงคลังด้วย แต่ถ้าดูทิศทางต่อจะเห็นภาพที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้น ถ้าระบายออกไปช่วงหนึ่ง ต่อไปเมื่อมีอุปสงค์เข้ามาก็จะเริ่มผลิตมากขึ้น ส่วนถามว่านานแค่ไหน เท่าที่ดูสินค้าคลังก็ลงมาบ้างแล้ว แต่ไม่สามารถฟันธงว่าเดือนไหนได้ แต่มีทิศทางเดือนต่อเดือนที่เป็นบวกมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การบริโภคที่ดีขึ้นในเดือนเมษายนเป็นการฟื้นตัวจริงหรือมีผลมาจากเทศกาลสงกรานต์ นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่าก็ยังถือว่าทรงตัวไม่ถึงกับหดตัวอย่างมากนักและคงต้องแบ่งกลุ่ม หากเป็นสินค้ากึ่งคงทนอย่างเสื้อผ้าคงอาจจะยังไม่ซื้อกันมากนัก กลุ่มนี้จะหดตัว แต่สินค้าจำเป็นทั่วไปยังคงค่อนข้างทรงตัว ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 0% แต่ที่ไปกับภาคท่องเที่ยวคือการบริโภคในภาคบริการที่จะเห็นการเติบโต ส่วนหนึ่งอาจจะมีวันหยุดในเดือนเมษายนด้วย สุดท้ายในกลุ่มของสินค้าคงทน หากจำได้ ในไตรมาส 1 จะมีการเร่งซื้อรถยนต์และคงไม่ซื้อเพิ่มอีก แต่เดือนเมษายนจะมีปัจจัยจากรถจักรยานยนต์ที่ออกรถรุ่นใหม่ แต่ภาพรวมก็มีการเร่งซื้อไปบ้างแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเศรษฐกิจจะยังมีโมเมนตัมไปยังไตรมาส 2 หรือไม่และค่าเงินที่แข็งค่าจะเป็นอุปสรรคหรือไม่นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ภาพไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ คิดว่าบางส่วนน่าจะมีโมเมนตัมต่อไปได้ แต่ว่าจะขยายตัวมากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่า ขอไม่ตอบ แต่คิดว่าแรงส่งน่าจะพอไปได้อยู่บ้าง เพราะตัวเลขการส่งออกออกมาดีและไปด้วยกันกับหลายประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชีย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปจากผลผลิตที่ดีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามกระแสของ Internet of Thing รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และบางส่วนอาจจะส่งผลมายังการบริโภคและการผลิตบ้าง คงต้องติดตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่า รายได้เกษตรที่ดีขึ้นได้ส่งผ่านมายังการบริโภคหรือยังและแนวโน้มจะเป็นอย่างไร นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า เห็นสินค้าคงทนขยายตัวค่อนข้างดี ปีที่ผ่านมาเกษตรกรเผชิญกับภัยแล้ง แต่ปีนี้รายได้ดีขึ้น เกษตรกรบางกลุ่มที่ไม่มีหนี้อาจจะเริ่มบบริโภคมากขึ้น กลุ่มที่ยังมีหนี้อาจจะยังชะลออยู่ แต่รายได้ที่ดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนการบริโภค ส่วนเรื่องระดับของหนี้ยังเป็นผลจากในอดีต แต่ภาครัฐก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาและต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม การเติบโตของหนี้ครัวเรือนเห็นว่าชะลอตัวลง ก็ให้ภาพที่ค่อยๆ ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วการส่งออกจะสามารถส่งผ่านมายังภาพรวมทั้งการผลิตและบริโภคได้หรือไม่ นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขเครื่องชี้การผลิตยังหดตัว แต่หากดูเดือนต่อเดือนจะเห็นสัญญาณดีขึ้น ในเรื่องของการบริโภคเช่นกัน จะเห็นว่าเดือนนี้ค่อยๆ ปรับดีขึ้น คงต้องใช้เวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคการผลิตที่หดตัวจะทำให้การจ้างงานมีปัญหาหรือไม่ เรื่องชั่วโมงการทำงานที่ลดลงก่อนหน้านี้ นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า หากดูรายได้นอกภาคเกษตรอาจจะไม่ดีขึ้นมากเหมือนเกษตรกร แต่ปกติจะไม่ค่อยผันผวนเท่าภาคเกษตรและยังทรงตัวอยู่ ไม่ได้ทรุดหนัก คงต้องใช้เวลาติดตามเหมือนกัน ส่วนหนึ่งประชาชนอาจจะระวังการใช้จ่ายด้วยในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้สัญญาณการส่งออกและบริโภคจะดีขึ้น แต่เงินเฟ้อที่ปรับลดลงอยู่เป็นผลจากฐานสูงอย่างเดียวหรือไม่ และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีจริงหรือไม่ นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า เป็นเรื่องด้านอุปทานเป็นหลัก จากราคาอาหารสดที่ปีที่ผ่านมาเจอปัญหาภัยแล้งจนฐานราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ปีนี้มีผลผลิตค่อนข้างมาก และคิดว่ายังคงเป็นในช่วงสั้นๆ และผลของฐานคงค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งหลัง ส่วนปัจจัยอื่นไม่ได้มีประเด็นมากนัก เช่น เงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังทรงๆ เพราะอุปสงค์ในประเทศก็ดี แต่ไม่ได้ดีเท่าส่งออก ส่วนการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจคงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นมากเป็นผลจากการส่งออกและคงต้องใช้เวลาการส่งผ่านไปยังการผลิตและภาคอื่นๆ ต่อไป อย่างรายได้นอกภาคเกษตรที่ยังทรงๆ แรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศจึงยังทรงตัวอยู่และผลของฐานที่สูงก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า 7 เดือนที่เหลือจะมีปัจจัยเสี่ยงหรือหนุนอย่างไรบ้าง นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักจะเป็นเรื่องของบรรยากาศทางการค้าโลกว่าจะมีการกีดกันทางการค้าหรือไม่ แต่ถ้าการส่งออกไปได้ก็น่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศเหมือนไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยการส่งออกจะค่อยกระจายออกไปยังการบริโภค การลงทุนของเอกชน ซึ่งมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ปัจจัยเสี่ยงหลักจะมาจากต่างประเทศ