ThaiPublica > คอลัมน์ > การลงทุนในไทย เพิ่ม หรือ หด กันแน่?

การลงทุนในไทย เพิ่ม หรือ หด กันแน่?

11 พฤษภาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich

ตื่นเช้าวันหยุด ทุกสื่อพาดหัวรายงานการแถลงของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ออกมาประกาศผลงานสามปีของรัฐบาลนี้ เนื้อความทำนองว่า “นโยบายรัฐบาลประยุทธ์เห็นผล การลงทุนสามปีโต 1.7 ล้านล้านบาท” ซึ่งช่างสอดคล้องกับคำสั่งให้ทุกหน่วยงานแถลงผลงานในช่วงสามปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) บริหารประเทศ ว่าทำคุณประโยชน์ให้ประเทศอเนกอนันต์ขนาดไหน …อ่านแต่พาดหัวนี่ดูน่าปลื้มอกปลื้มใจมากเลยครับ

แต่พอไปดูรายละเอียดที่เขาแถลงการณ์กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขการลงทุนจริงที่เกิดจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ในปี 2557 มีการลงทุน 600,000 ล้านบาท ปี 2558 ลดเหลือ 500,000 ล้านบาท พอปี 2559 หดลงอีกมีแค่ 490,000 ล้านบาท และสามเดือนแรกปีนี้มีอีก 80,000 ล้านบาท (ซึ่งถ้าอีกสามไตรมาสยังลงน้อยเท่าๆ นี้จะมีแค่ 320,000 ล้านบาทเท่านั้น) …เห็นแล้วใจแป้วมากๆ เลยครับ

อย่างนี้เขาเรียกว่าหดตัวครับ ไม่ใช่ขยายตัว มันเท่ากับว่า ปี 2558 หดตัว -17% ปี 2559 หดอีก -2% แถมปีนี้ทำท่าจะหดได้มากถึง -35% เลยทีเดียว แถมถ้าไปฟังท่านเลขาธิการฯ แถลงยืนยันว่า ในสามปีนี้จะมีลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ยิ่งน่ากลุ้มใจจนอยากเอาตีนก่ายหน้าผาก เพราะนั่นมันลดลงจากสามปีก่อนถึงกว่าหนึ่งในสามเลยทีเดียว (อีกอย่างหนึ่ง…ที่แถลงนั่นมันสามปีสามเดือนนะครับ ไปเอาผลงานสมัยคุณยิ่งลักษณ์(ชินวัตร)เขามาเกือบห้าเดือน)

ทั้งหมดนั่นเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้เทียบกับรายได้ประชาชาติเลยนะครับ ถ้าเทียบกับ GDP ยิ่งต้องกุมขมับเข้าไปใหญ่ เพราะมันต้องลดมากกว่านี้อีก เนื่องจากขนาดปีแย่ๆ GDP ก็ยังขยายตัวปีละประมาณ 5% ทุกปี (Nominal Rate)

นี่เรียกว่าแถลงปัญหาแล้วครับ ไม่ใช่แถลงผลงาน มันควรจะพาดหัวว่า “BOI ยอมรับว่าการลงทุนไม่กระเตื้อง ยังหดตัวต่อเนื่องตลอดสามปี ถึงแม้ว่ารัฐบาลประยุทธ์จะใช้ความพยายามและทำงานอย่างหนัก แถมยังมีแนวโน้มลดลงอีกในสามปีข้างหน้า”

ผมไม่มีตัวเลขลงทุนจริงผ่าน BOI ในปี 2556 เลยไม่รู้ว่าปี 2557 นั้นหดหรือเปล่า เพราะปกติ BOI ท่านแถลงแต่ตัวเลขคนขอส่งเสริม กับตัวเลขที่อนุมัติ เพิ่งมาแถลงตัวเลขลงทุนจริงในครั้งนี้ ซึ่งผมก็หวังว่าท่านไม่คุ้น เลยบวกตัวเลขผิดหรือรับรายงานผิด ไม่อย่างนั้นแปลว่าเรากำลังเจอปัญหาหนัก และเศรษฐกิจยากที่จะฟื้นไปอีกหลายปี

ที่พอปลอบใจได้หน่อยก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า การลงทุนผ่าน BOI ไม่ใช่การลงทุนภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 20% ก็เลยยังพอมีหวัง (ที่ไม่รู้ว่าลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า) ว่าการลงทุนที่ไม่ขอส่งเสริมจะยังขยายตัว ไม่หดตาม

ยิ่งไปอ่านงานวิจัยเรื่อง “สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการดึงดูดนักลงทุน” ของ “ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER)” แล้วยิ่งเพิ่มกังวล เพราะว่าประเทศไทยอัดฉีดส่งเสริมมากสุดในอาเซียนแล้ว เรามีอัตราภาษี Effective Rate แค่ 7.6% เท่านั้นเอง ขณะที่ฟิลิปปินส์มี 17.9% อินโดนีเซีย 13.9% มาเลเซีย 10.2% และเวียดนาม 9.9% ซึ่งงานวิจัยก็แนะนำว่าการส่งเสริมโดยลดภาษีจะไม่ช่วยอะไรอีก แต่เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น คุณภาพของสถาบัน คุณภาพของกฎระเบียบ ของรัฐบาลมากกว่า (ผมขอแถมเรื่องคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐาน คุณภาพรัฐวิสาหกิจ และคุณภาพคน บวกด้วยระดับการคอร์รัปชันเข้าไปด้วยนะครับ) เพราะฉะนั้น การจะไปโรดโชว์กี่ร้อยเที่ยวก็อาจจะไม่เกิดผล

การลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัย เป็นเครื่องจักร ที่สำคัญที่สุดในการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเศรษฐกิจในระบบปัจจุบัน การส่งออกในระยะยาวจะเพิ่มไม่ได้เลยถ้าไม่มีการลงทุน การบริโภคในประเทศก็เพิ่มยากเพราะถ้าไม่มีการลงทุนคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางก็จะไม่มีรายได้เพิ่มแถมหนี้ครัวเรือนก็ถึงคอหอยแล้ว (คนรวยก็ไปบริโภคของนอกหรือไม่ก็นอกประเทศกันหมด) รัฐลงทุนได้อย่างมากก็ 6-7% ของ GDP แถมถ้าทำต่อเนื่องสักสิบปี หนี้สาธารณะก็คงระเบิด

“ทำไมเอกชนไม่ยอมลงทุน” นี่เป็นคำถามที่ต้องวิเคราะห์ต้องประเมินให้เข้าใจถ่องแท้ ถ้าไปคิดเอาแค่ง่ายๆ ว่า เพราะไม่มั่นใจ หรือไปคิดว่าจะกระตุ้นได้โดยแค่ลดภาษี หรือแค่ให้รัฐลงทุนนำ หรือจะแค่ทำนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)ผมว่ามันจะเสี่ยงเกินไปนะครับ ไว้จะร่ายยาวเรื่องนี้อีกทีนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟชบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 10 พฤษภาคม 2560