ในช่วงเวลาที่เปราะบางของการเปลี่ยนผ่านประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่นที่เป็น …ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน การเมืองที่ขาดเสถียรภาพ และคุณภาพการศึกษาล้าหลัง ว่ากันว่าภายในก่อนปี 2050 GDP ของประเทศจะอยู่ในลำดับท้ายๆ เหนือเพียงกัมพูชา
คำถามคือ “เราจะไปไหนต่อ” จึงจะก้าวพ้น “กับดักตัวเอง” บนเส้นทางในการพัฒนาประเทศในอนาคต และจะทำอย่างไรให้ไทยสามารถกลับมาพลิกฟื้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่สามารถกลับมาเติบโตอีกครั้ง
“ไทยพับลิก้า” ชวน ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก หนึ่งในทีมที่ทำการศึกษาล่าสุดของธนาคารโลกเกี่ยวกับประเทศไทยในรายงาน “กลับสู่เส้นทาง: ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” ได้วิเคราะห์การพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ มาร่วมมองไปข้างหน้าว่าในภาวะเช่นนี้ “เศรษฐกิจไทยจะไปไหนต่อ?” การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีมาถูกทางหรือไม่ และอะไรคือสิ่งที่ประเทศนี้ต้องทำและอะไรคือสิ่งที่ต้องระวังที่สุด