ราคาน้ำมันแพงกับเงินเฟ้อสูงเป็นของ “คู่กัน” เพราะน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของ “ต้นทุน” สินค้าและบริการต่างๆ ผู้ประกอบการทั้งหลายจึงผลักภาระไปยังผู้บริโภค ราคาสินค้าจึงถูกปรับพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “ความต้องการ” (ดีมานด์) ของตลาด และ “ปริมาณ” (ซัพพลาย) ของสินค้า
ในปัจจุบัน สถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอิหร่านกับโลกตะวันตก โดยอิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ปัจจุบันหลายประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต อิหร่าน อิรัก กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้งหมด ต่างก็ต้องใช้เส้นทางนี้เพื่อส่งออกน้ำมันดิบไปยังตลาดโลก หรือประมาณ 17 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของการซื้อขายน้ำมันทั่วโลก (อ่านเพิ่มเติม อิหร่านขู่ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” เส้นเลือดใหญ่น้ำมันโลก จุดเปราะบางภูมิศาสตร์การเมือง จะกดดันชาติตะวันตกได้จริงหรือ)
โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกเริ่มขยับสูงแตะ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่เหนือระดับ 32 บาท/ลิตร ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเห็นราคาแตะ 33 บาท/ลิตร และมีโอกาสทะลุ 40 บาท/ลิตร หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทะยานต่อไป อาจเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทำให้เพิ่มสูงขึ้น
แต่จากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงและเงินเฟ้อสูงในรอบนี้ไม่น่ากลัวเท่ากับปี 2551
กล่าวคือ ทุกหน่วยงานประเมินว่า ราคาน้ำมันไม่น่าจะทำลายสถิติปี 2551 ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบพุ่งทะยานไปถึง 147.50 ดอลลาร์/บาร์เรล โดย ธปท. ได้ทดสอบสมมติ กรณีราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปแตะ 140 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็ยังไม่ส่งผลกระทบทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธปท. กำหนดไว้ คือเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-3% และเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่เกิน 4.5% ส่วนราคาน้ำมันและราคาพลังงานอื่นๆ คงต้องจับตาดูนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้ ธปท. คาดว่าจะอยู่ที่ 3.4% สศช. ประมาณการอยู่ในช่วง 3.5-4% และ สศค. คาดว่าจะอยู่ที่ 3.4% โดยทั้ง 3 หน่วยงานมีสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 120 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากประเมินว่า ปัญหาความรุนแรงในตะวันออกกลางน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ดอลลาร์/บาร์เรล จะมีผลทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% และทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.1%
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ดูจะตรงข้ามกับการประเมินตัวเลขของทางการข้างต้น เพราะคนทั้งเมืองพากันบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ของแพง” ทั้งประเทศ
โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ “กรุงเทพโพลล์” เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,203 คน ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 20-22 มี.ค. 2555 เรื่อง “เสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องค่าครองชีพในปัจจุบัน” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 76.1% ระบุว่า ราคาสินค้าในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการครองชีพของตัวเองและครอบครัว โดยมองว่าเป็นเพราะของแพงเกินไป สินค้าขึ้นราคา แต่รายได้เท่าเดิม
ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 3.35% เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากเดือนมกราคมที่ขยายตัว 3.38% และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 2.72% เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจาก 2.75% ในเดือนมกราคม ดูสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนทั่วไป (รายละเอียดดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. 2555 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ)
ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% ต่อปี ด้วยเหตุผลว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ พร้อมกับดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีอยู่ (แถลงการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555)
การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ยิ่งตอกย้ำว่าปัญหาเงินเฟ้อยังไม่รุนแรง แต่ทำไมคนทั้งเมืองบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “แพงทั้งเมือง”
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า กนง. ยึดตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ซึ่งตัวเลขที่มีการจัดเก็บได้มาตรฐาน ส่วนเรื่องความรู้สึกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นอกจากนี้ การดูภาวะเงินเฟ้อต้องดูภาพรวมราคาสินค้าซึ่งมีกว่า 400 ชนิด ที่กระทรวงพาณิชย์สำรวจเพื่อคำนวณดัชนีเงินเฟ้อ ดังนั้น ข้อมูลข้อเท็จจริงจากภาคสนามจากตลาด เราต้องยึดถือข้อมูลราชการ ส่วนสินค้าบางอย่างอาจแพงขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ราคาสินค้าโดยทั่วไป
“เงินเฟ้อกับของแพงมีความหมายไม่ตรงกัน ของแพงคือ ขึ้นไปแล้วถ้าหยุดไม่ขึ้นต่อจึงจะเรียกว่าของแพง แต่ภาวะเงินเฟ้อคือ แพงแล้วยังแพงต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายดูแลเงินเฟ้อต้องดูทั้งดีมานด์ ซัพพลาย ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ต่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ย” นายไพบูลย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อกับความรู้สึกว่าของแพงจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากไม่สามารถบริหารจัดการให้ความรู้สึกนั้นให้หายไป อาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตสูงขึ้น จะยิ่งอุปโภคบริโภค จับจ่ายใช้สอย เพราะกลัวว่าหากไม่ซื้อสินค้าตอนนี้ราคาจะแพงขึ้นอีกในอนาคต กลายเป็นแรงกระตุ้นทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นต่อเนื่อง หรือเกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นมาได้
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. พยายามจัดการประเด็นการคาดการณ์เงินเฟ้อให้ได้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดเงินเฟ้อ จึงต้องบริหารจัดการการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน โดยดำเนินนโยบายการเงินมุ่งให้ความสำคัญต่อเงินเฟ้อ ให้ประชาชนสบายใจว่า ธปท. บริหารจัดการเงินเฟ้อให้อยู่ตามกรอบเป้าหมายได้
ส่วนปัจจัยกดดันเงินเฟ้อปีนี้ ไม่ได้มีเฉพาะราคาน้ำมันและเงินเฟ้อคาดการณ์เท่านั้น แต่ปัจจัยด้านอุปสงค์จากการใช้จ่าย การลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็มีส่วนสำคัญสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเช่นกัน
แต่อุปสงค์ที่หลายฝ่ายจับตามองและเห็นว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศประมาณ 40% ที่จะมีผล 1 เมษายน 2555 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอน เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงที่สุด จึงยากจะคาดการณ์ว่า ผลของนโยบายนี้จะกระทบราคาสินค้าและเงินเฟ้อรุนแรงแค่ไหน
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน หรือ 40% ทั่วประเทศ จะมีผลกระทบทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.3%
นายไพบูลย์ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินให้ข้อสังเกตว่า ต้องติดตามเรื่องค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อราคาสินค้าท้องตลาด เพราะแม้ว่าตลาดจะรับรู้ และปรับราคาสินค้าขึ้นบางส่วนแล้วเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่โอกาสที่จะเกิด “ช็อค” หรือ เหตุการณ์เหนือความคาดหมายก็อาจทำให้ราคาสินค้าในตลาดเพิ่มสูงขึ้น
“การประเมินผลกระทบอัตราเงินเฟ้อไปข้างหน้า เรามองต่ำไปหรือไม่ ก็ต้องตามดูกัน แต่นโยบายการเงินก็มีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะดำเนินการ” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าว
การส่งสัญญาณดังกล่าวสะท้อนว่า ธปท. พร้อมดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ตามเป้าหมาย คือ กรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-3%
ดังนั้น ในครึ่งหลังของปีนี้น่าเป็นช่วงที่ต้องจับตา “เงินเฟ้อ” เพราะน่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องผลกระทบของแรงกดดันเงินเฟ้อปรากฏในช่วงไตรมาส 3 และ 4
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อระดับที่เหมาะสมถือเป็น “มนต์เสน่ห์” ของเศรษฐกิจที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน เพราะเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ แต่หากเงินเฟ้อวิ่งกระฉูด จะกลายเป็น “มนต์ดำ” ทำให้เศรษฐกิจไม่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากต้นทุนสูงเกินไปไม่คุ้มกับการลงทุน
ส่วนเรื่องของแพง แม้จะมองว่าเป็นความรู้สึก แต่หากดูแลไม่ดีก็กระเทือนถึงเสถียรภาพางการเมืองได้เหมือนกัน