ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ร.10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับ 20 – นายกฯ ชี้ยังระบุวันเลือกตั้งไม่ได้

ร.10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับ 20 – นายกฯ ชี้ยังระบุวันเลือกตั้งไม่ได้

6 เมษายน 2017


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เวลา 15.00 น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ลงวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของไทย ซึ่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะมีพระราชพิธีหรือไม่แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

โดยพิธีพระราชทางรัฐธรรมนูญมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีพระราชพิธีมาแล้ว 4 ครั้ง ภายหลังพระราชพิธีครั้งสุดท้ายในปี 2511 ก็ไม่ได้มีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญกว่า 40 ปี

ขั้นตอนของพระราชพิธีได้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในหมายกำหนดการ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความว่า

… สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

เวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุีลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แก่นายกรัฐมนตรี

เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

จบแล้ว ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพวงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัดและวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง

ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ หรือสายสะพายสูงสุด

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ภายหลังพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในเวลา 20.00 น.โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ถือเป็นฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง 16 ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ 30 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้คือ

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557) ซึ่งใช้มาประมาณสองปีเศษเป็นอันสิ้นสุดลง
2. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับ คสช. และ สนช.จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
3. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มสิทธิและหน้าที่ให้กับประชาชน เช่นกันกับรัฐก็มีหน้าที่เพิ่มขึ้น
4. รัฐบาลมีภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำ คือการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กันคือการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ การดำเนินการทั้ง 2 ภารกิจนี้จะต้องมีกฎหมายมารองรับ เพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวิธีดำเนินการ และขั้นตอนต่าง ๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเร็ววันนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงถายหลังพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการบริหารประทศในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายของการบริหารประเทศระยะที่ 2 ว่า หลังจากการประกาศใช้นัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้แก่

  • การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน แต่ละฉบับจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา/ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน/ หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ 1 เดือน
  • ต่อจากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน
  • เมื่อประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับแรกเฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง อันประกอบด้วยการสมัครรับเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 5 เดือนนับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ

“รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดแจ้งว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรกคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่น ๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริงไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวันเวลาชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายจะเป็นดังที่เรียนมานี้ และไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้รัฐบาลใหม่ และสิ้นสุดการทำงานลง อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลาระยะสามตามโรดแมปต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โดยหลังจากนี้รัฐบาล และ คสช.จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้วยังคงมีผลใช้บังคับและ อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณประชาชน และขอให้ทุกฝ่ายปรองดอง รักษาบรรยากาศให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ รวมไปถึงเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่

คลิกเพื่ออ่านคำแถลงฉบับเต็ม