ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สมาคมธนาคารไทย ลุยแผนสร้างสังคม “Financial Literacy” เน้นกลุ่ม Gen Y นำร่อง “เทรนหนี้”

สมาคมธนาคารไทย ลุยแผนสร้างสังคม “Financial Literacy” เน้นกลุ่ม Gen Y นำร่อง “เทรนหนี้”

2 มีนาคม 2017


รายงานโดย ศาสตรกวิน ลภัสรดาเศรษฐ์ นักศึกษาฝึกงาน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 สมาคมธนาคารไทยได้จัดงานแถลงข่าว “พลิกบทบาทสมาคมธนาคารไทย ส่งเสริมคนไทยมีวินัยการเงิน” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 สมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมธนาคารไทยย้ำทิศทางแผน 5 ปี เร่งขับเคลื่อนการให้ความรู้ทางการเงิน ผ่านสาขาเครือข่ายธนาคารพาณิชย์และสื่อดิจิทัล พร้อมเปิดตัวแคมเปญแรก “เทรนหนี้” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาหนี้และมีวินัยทางการเงินมากขึ้น
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 สมาคมธนาคารไทยได้จัดงานแถลงข่าว “พลิกบทบาทสมาคมธนาคารไทย ส่งเสริมคนไทยมีวินัยการเงิน” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 สมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมธนาคารไทยย้ำทิศทางแผน 5 ปี เร่งขับเคลื่อนการให้ความรู้ทางการเงิน ผ่านสาขาเครือข่ายธนาคารพาณิชย์และสื่อดิจิทัล พร้อมเปิดตัวแคมเปญแรก “เทรนหนี้” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาหนี้และมีวินัยทางการเงินมากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สมาคมธนาคารไทย โดยได้ร่วมกันกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมธนาคารมาตั้งแต่ปี 2557 ครอบคลุม 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน National e-Payment ของรัฐบาล 2. การสร้างสังคมทางการเงินด้วยการยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณธนาคาร และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน (Financial Literacy) 3. การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ 4. การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนทุกภาคส่วนโดยมีจุดมุ่งหมายหลักก็คือเราคงยังทำในเรื่องของ SME ให้เป็นมีความแข็งแกร่งขึ้นมาให้ได้ และ 5. การผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เป็นอุปสรรค ล้าสมัย หรือยังไม่มีกฎหมายสนับสนุนเพียงพอ โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นที่จะสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว อันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากความร่วมมือจากธนาคารสมาชิกทั้งหมด

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นด้านการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน (Financial Literacy) ว่าเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งของสมาคมฯ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่มุ่งเน้นสร้างสังคมทางการเงินของประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยคณะทำงานได้มีทิศทางการทำงานที่เน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในเรื่องวินัยทางการเงิน ผ่านการให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการวัดระดับทักษะทางการเงินขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนารวมทั้งสิ้น 30 ประเทศเมื่อปี 2557-2558 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 17 ด้วยคะแนน 12.8 จากคะแนนเต็ม 21 ซึ่งเป็นระดับที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 13.2 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฮ่องกงและประเทศเกาหลีใต้ที่อยู่ในอันดับที่ 5 และ 7 ตามลำดับ และตั้งเป้าจะขึ้นไปใกล้เคียงกับฮ่องกงและเกาหลีใต้

“ณ ปัจจุบันมีโครงการให้ความรู้ทางการเงินมากมาย ที่ส่วนใหญ่ทำเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โจทย์ที่สมาคมฯ มองคือทำอย่างไรที่ประสานความร่วมมือ รวมกิจกรรมทั้งหลายเข้าด้วยกัน แล้วขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสมาคมฯ มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ” นายบุญทักษ์กล่าว

นายบุญทักษ์กล่าวต่อว่า แผนงานที่สมาคมฯ จะดำเนินการประกอบไปด้วยการใช้เครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีอยู่กว่า 7,000 แห่ง เป็นตัวขับเคลื่อนให้เข้าถึงชุมชนในแต่ละภูมิภาค โดยใช้เนื้อหาความรู้ทางการเงินที่หน่วยงานต่างๆ ได้ทำไว้มาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายเพื่อจะสร้างองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน (Standardized Content) แล้วจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อสร้างศูนย์รวมความรู้ทางการเงินทางออนไลน์ ซึ่งสามารถเผยแพร่ไปสู่ทุกภาคส่วนได้ง่ายขึ้น และขยายการรับรู้เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ สมาคมฯ มีบุคลากรที่มีความรู้ในเรื่องการเงินอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมที่จะฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ทางการเงินให้กับชุมชน

“ถ้าจะสร้าง Financial Literacy ให้เป็นระบบทั้งประเทศอย่างยั่งยืนเราก็ใช้ Framework ของ OECD ซึ่งก็เป็น Framework ที่แบงก์ชาติใช้ ดูง่ายๆ ก็มี 3 องค์ประกอบ คือ 1. เรื่องการสร้างทัศนคิ 2. เรื่องความรู้ 3. เรื่องพฤติกรรม ทัศนคติเป็นสิ่งที่จริงๆ ต้องสร้างตั้งแต่วัยเด็ก ให้เด็กรู้จักคุณค่าของเงิน รู้จักการออม ถ้าเป็นไปได้รู้จักการบริจาค เพราะฉะนั้น ควรจะสร้างทัศนคติที่ดีตั้งแต่วัยเด็กนะครับ พอโตขึ้นมาก็ให้ความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องตราสารต่างๆ เพราะถ้าไปสอนเรื่องดอกเบี้ยวัยเด็กก็จะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ทัศนคติที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กที่ซาบซึ้งคุณค่าของเงิน ซาบซึ้งถึงการออมและการบริจาค จะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอด ส่วนอันสุดท้าย เรื่องพฤติกรรม ก็คือ เมื่อวัยที่เริ่มทำงานก็ต้องดูพฤติกรรมว่ามีการออมที่เป็นกิจจะลักษณะต่อเนื่อง เรื่องการกู้ก็เข้าใจถึงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น ผลความสำเร็จของโครงการให้ความรู้ทางการเงินมุ่งหวังไปที่การปรับพฤติกรรมทางการเงินให้ดีขึ้น อันจะทำให้ระดับความรู้ทางการเงินของประเทศไทยขยับสูงขึ้นเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำในเอเชีย” นายบุญทักษ์กล่าว

ด้านนางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยสายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แผนงานดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนในวงกว้าง โดยถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งต้องยกให้เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทย การที่สมาคมฯ เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลงานด้านส่งเสริมความรู้ทางการเงินโดยตรง จึงเป็นสัญญาณที่น่ายินดีและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของสมาคมฯ ที่จะร่วมเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีความรู้และวินัยทางการเงินดีขึ้น

“ในแง่ของ Gen Y เอง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแบงก์ชาติในตอนนี้ เรามองเห็นโอกาสอย่างมากเหมือนกัน เพราะการจะให้เกิดวินัยทางการเงินได้นั้น เราต้องออกไปหาเขา เราต้องสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เพราะ Gen Y จะอยู่บน Digital Platform เยอะมาก นี่จึงเป็นโอกาสอย่างมาก เรานั่งดูตัวเลขแล้งนี่ ถ้าจะให้เราดูแลให้ได้ครบในเวลาใน 3-5 ปี เราออกไปตะลุยสอนนั้นไม่เพียงพออีกแล้ว เราต้องทำมากกว่านั้น” นางสาวนวพรกล่าว

ส่วนนายวีระพล บดีรัฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เผยถึงรายละเอียดงานในระยะแรก คือ โครงการ “เทรนหนี้” โดยเน้นการสร้างความตระหนักของสังคมในประเด็นการบริหารจัดการหนี้ และการมีวินัยในการใช้จ่าย มีสโลแกนสั้นๆ จดจำง่ายว่า “ให้ภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน” เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนของการสร้างทัศนคติที่ดีทางด้านการเงิน เป็นกลยุทธ์ป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบ ทั้งผู้มีรายได้ประจำ ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตลอดจนนักศึกษาจบใหม่ โดยเมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้มีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น โอกาสที่หนี้ที่สร้างใหม่จะกลายเป็นปัญหาในชีวิตหรือครอบครัวลดลงและนำไปสู่การลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของระบบเศรษฐกิจได้ในที่สุด

“ปัญหาหลักที่เราอยากจะแก้นั้น เราบอกว่าคิดจาก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องหนี้ เรื่องที่สองคือเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ ถือเป็นปัญหาหนักทั้งคู่ คำถามต่อมา ถ้าจากโจทย์ 2 เรื่องนี้ แล้วสิ่งสำคัญที่จะทำก่อนเราจะทำอะไร คณะทำงานก็เห็นตรงกันว่าจริงๆ ถ้าเราอยากจะออมให้พอในวัยเกษียณได้ คนที่เป็นหนี้หรือจัดการหนี้ยังไม่ดี ไม่มีทางมีเงินเหลือที่จะออมได้ จึงเป็นที่มาว่า ถ้าอย่างนั้น จุดเริ่มต้นของคณะทำงานที่จะทำเรื่อง Financial Literacy เราจะทำเรื่องหนี้ก่อน ทีนี้ ถ้าเราจะทำเรื่องหนี้ เราจะให้ความรู้เรื่องหนี้ ตกลงปัญหาเรื่องหนี้อยู่ตรงไหน ปัญหาเรื่องหนี้ไม่ได้อยู่ที่การเป็นหนี้นะครับ การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นปัญหา แต่คือการเป็นหนี้ที่จัดการไม่ได้ หรือการเป็นหนี้ที่ไม่พอดี” นายวีระพลกล่าว

นายวีระพลกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ “เทรนหนี้” คำถามคือเทรนอะไร เรากำลังจะมาเทรนให้คนฟังของเรา ให้คนที่เราอยากจะให้ความรู้ เทรนตัวเอง เทรนจิตใจของตัวเอง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเป็นหนี้ แต่อยู่ที่การอยากซื้อ อยากได้ อยากเป็น แล้วทำให้เรามีภาระหนี้เกินกว่าที่จะจัดการได้ ถ้าอย่างนั้นเรามาเทรนจิตใจของตัวเองให้มันแข็งแรง อีกหน่อยเราจะเข้าไปในเว็บไซต์ www.train-nee.com/หน้าแรกของเว็บไซต์เป็นหน้าที่เราจะให้ทุกคนประเมินสุขภาพหนี้ ง่ายมากครับ ใส่ตัวเลขรายได้ต่อเดือน ใส่ตัวเลขภาระผ่อนต่อเดือน แล้วมันจะบอกครับว่าตอนนี้สุขภาพหนี้เราโอเคหรือไม่”

www.train-nee.com
www.train-nee.com