ThaiPublica > เกาะกระแส > ทริปดูโรงไฟฟ้าถ่านหิน ญี่ปุ่น (ตอนที่ 1) : ต้นแบบเทคโนโลยี USC ที่จะนำมาใช้ที่กระบี่ – โมเดลการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับโรงงาน

ทริปดูโรงไฟฟ้าถ่านหิน ญี่ปุ่น (ตอนที่ 1) : ต้นแบบเทคโนโลยี USC ที่จะนำมาใช้ที่กระบี่ – โมเดลการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับโรงงาน

26 กุมภาพันธ์ 2017


รับฟังการบรรยาย การดูงานโรงไฟฟ้ามัตสึอูระ ของบริษัท J-Power
รับฟังการบรรยาย การดูงานโรงไฟฟ้ามัตสึอูระ ของบริษัท J-Power

ทริปเดินทางดูโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ของกระทรวงพลังงาน ที่นำคณะสื่อมวลชนไปดูงานในครั้งนี้(19-23 กุมภาพันธ์ 2560) ได้รับการพูดถึงพร้อมกับมีหลายคำถามตามมาในจังหวะที่มีการชุมนุมคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และมีการนำตัวผู้ชุมนุมไปปรับทัศนคติก่อนมีการเจรจาและปล่อยตัวในที่สุด

“ไทยพับลิก้า” เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญให้ไปดูงานในครั้งนี้ ได้รับแจ้งเมื่อต้นเดือนมกราคม 2560 ว่าจะนำคณะสื่อมวลชนประมาณกว่า 10 องค์กร ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี และสื่อออนไลน์ ไปดูงาน เนื่องจากกระแส “ไม่เอาถ่านหิน” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่จังหวัดกระบี่เท่านั้น แต่เป็น “ประเทศไทย” ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การเดินทางในครั้งนี้ หลายคนอาจจะได้เห็นกำหนดการที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียกันบ้างแล้ว หลายคนถามเสียงดังๆ ว่าทำไมไปดูงานที่ญี่ปุ่น ไม่ไปดูงานที่ประเทศจีน รวมทั้งอีกหลายคำถาม

ในฐานะที่เป็นสื่อ ตามปกติมีโอกาสได้ร่วมทริปไปกับองค์กรต่างๆ มาพอสมควร เห็นได้ว่าไม่ใช่ทริปที่พาสื่อไปเที่ยวแล้วใส่โปรแกรมเหมือนไปดูงาน ครั้งนี้หัวหน้าทริปที่นำโดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นการดูงานตามกำหนดการที่วางไว้ โดยมีเป้าหมายที่โรงไฟฟ้ามัตสึอูระ ของ J-Power, Kitakyushu Next Generation Energy Park เมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Eco-Town) ที่มีการจัดการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์หายนะของภูเขาไฟอุนเซ็น

วัตถุประสงค์การดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่เพื่อให้เห็นของจริงที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างที่จังหวัดกระบี่ ว่าโรงงานกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และสภาพแวดล้อมโดยรวมของชุมชนบริเวณรอบโรงงานเป็นอย่างไร ประกอบกับเทคโนโลยี่ที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าที่กระบี่ คือเทคโนโลยี USC: Ultra Super Critical ซึ่งโรงไฟฟ้า J-Power ใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน คือทำงานด้วยอุณหภูมิเเละความดันที่สูงกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่า เเละใช้เชื้อเพลิงน้อยลง กล่าวคือ ใช้ถ่านหินน้อยลงทำให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า โรงไฟฟ้าเเบบเดิม

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 เวลาตี 1 ออกเดินทางจากไทย หลังจากเดินทางถึงญี่ปุ่นในวันแรกก็เดินทางโดยรถบัส ไปถึงยังโรงแรมที่พักในตอนเย็น เพื่อเตรียมตัวไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตสึอุระ ของ J-Power ในวันรุ่งขึ้น ที่เมืองมัตสึอูระ โชคไม่ดีที่ระหว่างดูงานฝนตก ทำให้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยนัก โดยเฉพาะภาพมุมสูงจากบนอาคารเพื่อให้เห็นภาพการขนถ่ายหินจากเรือมากองไว้บริเวณโรงงานในลักษณะกองแบบเปิด ซึ่งไม่ได้เก็บเป็นระบบปิดแบบที่จังหวัดกระบี่

thaipublica-ดูงานโรงไฟฟ้า1

กองถ่านหินหลังลำเลียงขึ้นจากเรือ
กองถ่านหินหลังลำเลียงขึ้นจากเรือ

จากการฟังบรรยายของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ J-Power ได้เล่าประวัติโรงงานว่าริเริ่มว่าจะก่อสร้างตั้งแต่ปี 1981 และเริ่มทำการก่อสร้างในปี 1986 แต่ทำการผลิตไฟฟ้าได้ในปี 1990 จนถึงปัจจุบันโรงไฟฟ้าผลิตมากว่า 25 ปีแล้ว แต่กว่าจะสร้างได้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง เนื่องจากโรงงานไฟฟ้า J-Power อยู่ติดทะเล

เจ้าหน้าที่ผู้บรรยายเล่าว่า “แน่นอน ในช่วงแรกก่อนที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริเวณอ่าวตรงนี้เป็นที่หาปลา ชาวประมงเขากังวลว่าจะทำให้ทะเลสกปรก หาปลาไม่ได้ ในช่วงแรกยอมรับว่ามีความยากในการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ กับสมาคมชาวประมงที่อยู่ในอำเภอมัตสึอูระ แต่โรงงานได้รับความช่วยเหลือจากส่วนกลางที่มาช่วยสื่อสารและอธิบายในทุกประเด็น รวมทั้งนโยบายและเงื่อนไขสัญญาต่างๆ มีการพูดคุยกับสมาคมประมง อธิบายเรื่องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโรงงาน และมาตรฐานต่างๆ ว่าไม่กระทบต่อทะเลและชุมชนอย่างไรบ้าง แต่กว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 1 ในปี 1986 โดยคณะกรรมการระดับชาติต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวเมืองที่นี่และคณะกรรมการจังหวัดนางาซากิด้วย ”

เจ้าหน้าที่บรรยายต่อว่า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่น โรงงานได้ทำสัญญากับชุมชนในเรื่องมาตรฐานและตัวชี้วัดตามมาตรฐานต่างๆ พร้อมการเปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัดต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนได้รับทราบ หรือหากมีกรณีฉุกเฉินก็ต้องรีบแจ้งชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้าที่นี่ ประชาชนไม่มีการย้ายถิ่นออกไปที่อื่นแต่อย่างใด

ต่อคำถามว่ามีคนต่อต้านมากน้อยแค่ไหน เจ้าหน้าที่เล่าว่า “มีคนไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้มีการประท้วง แต่ด้วยสัญญาที่โรงงานทำกับหน่วยงานในพื้นที่ เป็นข้อตกลงเรื่องมาตรฐานต่างๆ หากทำไม่ได้จะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง รวมทั้งการชดเชยให้ชาวประมง เนื่องจากบริเวณ 1 กิโลเมตร รอบๆ โรงงานไม่สามารถจับปลาได้ เพราะมีเรือเข้าออกเพื่อขนถ่ายถ่านหิน ซึ่งโรงไฟฟ้าได้ชดเชยรายได้จากการที่หาปลาในบริเวณดังกล่าวไม่ได้ทุกปี รวมทั้งโรงงานให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆของชุมชน และในหนึ่งปีจะต้องพาชุมชนเข้าเยี่ยมชมโรงงาน”

นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน J-Power ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,000 เมกะวัตต์แล้ว บริเวณเมืองมัติสึอูระยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน คิวชู อิเลคทริค พาวเวอร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกันด้วย

มัตสึอูระเป็นเมืองเกษตรกรรม ชุมชนที่อาศัยรอบโรงไฟฟ้ามัตสึอุระ มีประมาณ 20,000 คน มีอาชีพประมงชายฝั่งและปลูกข้าวขั้นบันได ที่นี่มีตลาดปลาขนาดใหญ่อันดับ 8 ของญี่ปุ่น จับได้ปีละประมาณ 8-9 หมื่นตัน โดยเฉพาะปลาซาบะ ขณะเดียวกันใกล้กับโรงไฟฟ้ามีการเลี้ยงปลาซาบะในกระชัง ซึ่งปลาซาบะเมืองมัตสึอูระมีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่น ประกอบกับการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าลงสู่ทะเลที่ผ่านระบบการบำบัด มีอุณหภูมิที่สูงกว่าน้ำทะเลเล็กน้อย ทำให้ปลาชอบมาอาศัย จึงไม่กระทบต่ออาชีพชาวประมงมัตสึอูระ

โรงไฟฟ้ามัตสึอูระใช้ระบบการกองเก็บถ่านหินในที่โล่ง แต่โรงไฟฟ้ากระบี่เป็นระบบกองเก็บไว้ในอาคารปิด โดยขี้เถ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้ามัตสึอูระนำไปใช้ถมทะเล ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่กระบี่เอาไปทิ้งในบ่อฝังกลบ เพราะคนในชุมชนยังไม่มั่นใจในขี้เถ้าของถ่านหินเหมือนที่เมืองมัตสึอูระ นอกจากนี้เมื่อนำถ่านหินไปผลิตไฟฟ้า ยังได้ขี้เถ้าลอย(Fly Ash) มีบริษัทซีเมนต์ในฮ่องกงและเกาหลีใต้รับซื้อไปผสมกับซีเมนต์ทำวัสดุก่อสร้าง โดยส่งเรือมารับถึงที่J-Power

สำหรับโรงไฟฟ้า J-Power นำเข้าถ่านหินบิทูมินัสและซับบิทูมินัส จากประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ใช้เรือขนาด 130,000 ตัน ขนถ่านหินมาท่าเทียบเรือที่โรงไฟฟ้าครั้งละ 2 ลำ แต่ไม่ได้มาทุกวัน โดยรอบลานกองจะมีกำแพงกันลมสูง 18 เมตร ส่วนถ่านหินที่เทกองสูง 16 เมตร และฉีดน้ำพรมป้องกันการฟุ้ง

อนึ่ง สำหรับถ่านหินที่เทกองในลานที่เปิดโล่งนั้น สิ่งที่มักจะเป็นปัญหาคือฝุ่นจากถ่านหินที่ฟุ้งกระจายและเป็นปัญหากับชุมชน อย่างกรณีของไทยที่ท่าเรือนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีการขนถ่ายถ่านหินจำนวนมากที่สุดของประเทศ เพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ แม้มีการร้องเรียนแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

จากการดูงานและพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ามัตสึอูระในระยะทาง 1 กิโลเมตร ไม่ปรากฏการฟุ้งกระจายของฝุ่นดำจากถ่านหิน ด้วยลักษณะอากาศ ประกอบกับมาตรการป้องกันตามมาตรฐาน เช่น การปลูกต้นไม้เป็นกำแพงป้องกัน การสร้างกำแพงกันลม การพ่นน้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย จึงไม่มีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนในเรื่องนี้ และพื้นที่โดยรอบพบว่ามีพื้นที่เพาะปลูก มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชุมชนรอบๆ โรงงาน

ในประเด็นนี้ นายอารีพงศ์ ได้ถามผู้บริหารโรงไฟฟ้าว่ามีประชาชนที่เป็นโรคทางเดินหายใจหรือโรคที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรหรือไม่ ได้คำตอบว่าไม่มี

กองถ่านหินที่มองเห็นจากเนินอีกด้านของโรงไฟฟ้า
กองถ่านหินที่มองเห็นจากเนินอีกด้านของโรงไฟฟ้า
บ้านเรือนที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะ 1 เมตร
บ้านเรือนที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะ 1 กิโลเมตร
บ้านเรือนที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะ 1 เมตร
บ้านเรือนที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะ 1 กิโลเมตร
บ้านเรือนที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะ 1 เมตร
บ้านเรือนที่อยู่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยะ 1 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม จากการบรรยายของเจ้าหน้าที่่J-Power ชี้ว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยระบบ USC ซึ่งเป็นสเปกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จะนำมามาใช้ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่นั้น ปัจจุบันโรงงานที่ 1 ใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า 2.25 ล้านตันต่อปี ส่วนโรงที่ 2 ด้วยเทคโนโลยี USC ที่ทันสมัยมากของญี่ปุ่น ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าน้อยลงเหลือ 2.2 ล้านตันต่อปี ช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ 50,000 ตันต่อปี และปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์น้อยกว่ามาตรฐานลงไปอีก

“เทคโนโลยี USC จุดที่ดีคือใช้ถ่านหินน้อยกว่าเทคโนโลยีแบบเก่า ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนมอนออกไซด์ต่ำกว่าเทคโนโลยีเก่าประมาณ 10-20% ส่วนเรื่องการบำบัด การกำจัดมวลสารทั้งหมดไม่ให้ออกจากโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพสูงป้องกันได้เกือบ 100 %”

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ณ ตลาดปลามัตสึอูระ
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ณ ตลาดปลามัตสึอูระ

นายอารีพงศ์กล่าวถึงการมาดูโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตสึอุระ ที่เกาะคิวชู อยู่ห่างจากฟุกุโอกะ 4 ชั่วโมง ว่า เพื่อมาดูระบบเทคโนโลยี USC ที่ใหม่ล่าสุด ซึ่งจะนำมาใช้ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ รวมทั้งมาดูเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟ้ากับชุมชนว่าเขาอยู่ร่วมกันอย่างไร จากสภาพแวดล้อมของเมืองที่สะอาด มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก โดยมีข้อตกลงระหว่างบริษัทกับชุมชนในการรักษามาตรฐานตามมาตรฐานสากล จะเห็นได้ว่าบริเวณใกล้เคียงนี้มีตลาดปลาที่ใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ก่อนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า มีการทำความเข้าใจกับสมาคมประมงจนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าได้ และประเด็นที่ห่วงมากสุดเรื่องสุขภาพของชุมชน เช่น ในเรื่องโรคทางเดินหายใจ ทางโรงไฟฟ้ายืนยันชัดเจนว่าไม่มี โดยโรงไฟฟ้าโรงที่หนึ่งผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 1990 และโรงที่สองในปี 1997 และติดกันกับโรงไฟฟ้า J-Power คือโรงไฟฟ้าคิวชู อิเลคทริค พาวเวอร์ ทำให้บริเวณนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 3-4 เท่าของโรงไฟฟ้าที่กระบี่ แต่ประชาชนอยู่ร่วมกันโรงไฟฟ้าได้

thaipublica-ตลาดปลามัตสึอูระ

บริเวณตลาดปลามัตสึอูระ
บริเวณตลาดปลามัตสึอูระ

“วันนี้เทคโนโลยีถ่านหินได้เปลี่ยนแปลงไปจากภาพเก่าๆ ที่เคยเห็น และเทคโนโลยี USC นี้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทั้งธนาคารโลก เอดีบี พร้อมจะให้เงินกู้สำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีประเภทนี้”

นายอารีพงศ์กล่าวต่อว่า”โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่เป็นการลงทุนที่แพงมาก มาตรฐานที่เราลงทุนที่กระบี่จริงมากกว่าที่เราเห็นที่ J-Power ที่เรามาดูงาน เพราะตั้งแต่เรือมาถึงโรงไฟฟ้าจะเป็นระบบปิดในการลำเลียงขึ้นจากเรือเข้าโรงไฟฟ้า เป็นการลงทุนที่เพิ่มจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะทางอากาศและทัศนียภาพ ซึ่งโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ได้อยู่ติดชายทะเล อยู่ลึกเข้าไป จะมองไม่เห็น ทัศนียภาพในเรื่องการท่องเที่ยวจะไม่ถูกกระทบ ส่วนอากาศและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้รับผลกระทบ เราใช้เทคโนโลยี USC แต่ผู้ก่อสร้างคือจีนที่ประมูลได้ และก่อนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า ทางกฟผ. จะทำสัญญาเรื่องมาตรฐานต่างๆ และเครื่องชี้วัดในทุกพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้า”

นอกจากนี้โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เทคโนโลยี่สะอาด (Clean Coal Technology)จะมีเครื่องกำจัดมลสารต่างๆทั้งหมดก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ มลสารเหล่านี้ได้เเก่ ฝุ่น ฝุ่นละเอียด ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เเละ ออกไซด์ของไนโตรเจน นอกจากนั้นยังจับไอปรอทอีกด้วย

นี่คือการดูงาน 1 วัน ที่เมืองมัตสึอูระ

ติดตามตอนที่ 2 : ดูงาน Kitakyushu Next Generation Energy Park เมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Eco-Town)