ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ข้อมูลจากปากชาวบ้าน เทียบรายงานความยั่งยืน “บ้านปู” – นักวิชาการชี้ พลังงานไทยล้นเหลือ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ไม่จำเป็น

ข้อมูลจากปากชาวบ้าน เทียบรายงานความยั่งยืน “บ้านปู” – นักวิชาการชี้ พลังงานไทยล้นเหลือ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ไม่จำเป็น

8 มิถุนายน 2016


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา สถาบันวิจัยพลังงาน และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน: การลงทุนพลังงานและธรรมาภิบาลเพื่อการเปลี่ยนแปลง

โดยนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้เปิดเผยผลการวิจัยเพื่อประเมินระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงานใหญ่ที่สุด 10 อันดับในประเทศไทยโดยระบุว่า ปัจจุบัน การผลิตและบริโภคต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน ตาม SDGs (Sustainable Development Goals) และแม้การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทอาจยังไม่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน แต่เมื่อเริ่มดำเนินการแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเลิกทำได้ง่ายๆ

บ้านปู เหมืองถ่านหินอินโด4

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้วัดระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจากการเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบตามกรอบการรายงานสากล (GRI) โดยพบว่าหมวดสิทธิมนุษยชนเป็นหมวดที่ทั้ง 10 บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลน้อยที่สุด ตามด้วยหมวดความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ และหมวดสังคม ส่วนหมวดที่มีการเปิดเผยมากที่สุดคือหมวดองค์กรและนโยบาย

นางสาวสฤณียกตัวอย่างของกลุ่มตัวชี้วัดที่มีการรายงานไม่ครบถ้วน อาทิ การให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีถึง 5 บริษัทที่ไม่เปิดเผยข้อมูล และไม่ปรากฏข้อมูลอีก 3 บริษัท หรือปริมาณการปล่อยน้ำเสีย สถานที่ทิ้งน้ำเสีย พบว่ามี 5 บริษัทที่ไม่เปิดเผยข้อมูล และไม่ปรากฏข้อมูลอีก 2 บริษัท หรือปริมาณน้ำที่สูบขึ้นมาจากแหล่งต่างๆ ไม่เปิดเผยข้อมูล 6 บริษัท มี 1 บริษัทไม่ปรากฏข้อมูล เช่นเดียวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง พบว่าไม่เปิดเผยข้อมูล 6 บริษัท อีก 1 บริษัทไม่ปรากฏข้อมูล

“ประเด็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงาน วิธีการรายงานของบริษัทไทยเท่าที่สังเกต ทุกบริษัทรายงานว่ามีการทำ EIA EHIA ได้ ISO เหล่านี้ไม่ได้การันตีการมีส่วนร่วมของสังคม เราต้องการให้เขาบอกกระบวนการจริงๆ ไม่ใช้อ้างแต่มาตรฐาน ส่วนเรื่องการร้องเรียน กลไกการรับเรื่องร้องเรียน ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาว่าเขาทำอย่างไร ทั้งที่แทบทุกบริษัทบอกไว้ว่ามีการรับเรื่องร้องเรียน” นางสาวสฤณีกล่าว

นอกจากนี้ นางสาวสฤณีได้ระบุปัญหาของการใช้เกณฑ์ GRI ว่า เกณฑ์ดังกล่าวยังเป็นเกณฑ์สมัครใจอยู่ ยังไม่มีข้อบังคับให้ทำ ทำให้บริษัทพลังงานอาจยังไม่กล้าเปิดภาพลบ และในบางบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นว่าโปร่งใส จึงจ้างบริษัทตรวจบัญชีเป็นผู้ตรวจด้วย แต่ก็มีคำถามว่าผู้ตรวจเหล่านั้นได้ลงตรวจในพื้นที่จริงหรือไม่ ประกอบกับในรายงานมีการใช้ภาษาเทคนิคยากแก่การทำความเข้าใจ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลที่เปิดเผยมานั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนบริษัทเล็กๆ มักไม่ทำเพราะค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเป็นผู้ตรวจสอบและให้ความเห็นเพื่อกระตุ้นให้บริษัทปรับปรุงและเปิดเผยข้อมูล

บ้านปู เหมืองถ่านหินอินโด

ต้องยอมรับว่าการจัดทำรายงานความยั่งยืน ตามเกณฑ์ GRI ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอภาพลักษณ์ขององค์กรสู่สายตาประชาชน ดังนั้น สิ่งที่เป็นด้านลบมักจะไม่ปรากฏให้เห็น ภายใต้วงเสวนาย่อยเรื่อง “การลงทุน ความเสี่ยง อนาคตพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงในอีกแง่มุมหนึ่งผ่านคำบอกเล่าของผู้แทนชุมชนหมู่บ้านเคอทาบัวนา หมู่บ้านที่ถูกขนาบด้วยเหมืองถ่านหินที่ประกอบการโดยบริษัท PT Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บนเกาะกาลีมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย

เสียงจากชาวบ้าน: เขาบอกได้รับผลกระทบจากเหมือง

Mr.Ketut Bagia Yasa ผู้แทนชุมชนหมู่บ้านเคอทาบัวนา กล่าวว่า ก่อนหน้าที่เหมืองคิทาดิน (Kitadin) บริษัท PT ITM ได้รับสัมปทานนั้น เป็นการทำเหมืองใต้ดินโดยบริษัทจากไต้หวัน แต่เมื่อเปลี่ยนมือก็เปลี่ยนมาทำในระบบเปิด ซึ่งบริเวณที่สัมปทานเหมืองคิทาดินมีการซ้อนทับกับพื้นที่หมู่บ้านที่มีประชากรอยู่อาศัยกว่า 5,000 คน

เมื่อมองภาพมุมสูง การเริ่มทำถ่านหินจะต้องมีการขุดหน้าดิน เมื่อบริเวณดังกล่าวหมดจึงย้ายที่ ทิ้งเป็นบ่อขนาดใหญ่ไว้โดยไม่ได้ปรับหน้าดินให้คืนสู่สภาพปกติ การทำเหมืองปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์จากทุ่งนากลายเป็นพื้นที่โล่งกว้างเต็มไปด้วยหลุมขนาดใหญ่ ทุกวันนี้สองข้างหมู่บ้านถูกขนาบด้วยเหมืองที่ทำให้วิถีผู้คนเปลี่ยน

“การทำเหมืองเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และธรรมชาติ ส่งผลกระทบทางพื้นที่และกายภาพ สมัยก่อนที่บริเวณนี้เคยเป็นที่นาของชาวบ้าน เมื่อมีเหมืองเข้ามาพื้นที่เหล่านี้หายไป ชาวบ้านก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ และเมื่อทำเหมืองเสร็จก็ไม่มีการฟืนฟูพื้นที่บริเวณเดิมที่เคยทำเหมือง เป็นบ่อใหญ่กลายเป็นทะเลสาบของน้ำสกปรก และทำให้เด็กๆ ชาวบ้านที่ไปเล่นบริเวณดังกล่าวตกบ่อเก่าของเหมืองเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2549 จำนวน 2 คน และอีก 3 คนในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ดังนั้น การไม่ฟื้นฟูเหมืองนั้นถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งของการทำเหมืองถ่านหิน”

Mr.Ketut Bagia Yasa ผู้แทนชุมชนหมู่บ้านเคอทาบัวนา
Mr.Ketut Bagia Yasa ผู้แทนชุมชนหมู่บ้านเคอทาบัวนา
ค่า pH น้ำในบ่ออุปโภคบริโภคของชาวบ้านอยู่ที่ 5.6 (ไม่ทราบข้อกำหนดของอินโดนีเซีย แต่ตามมาตรฐานไทยหลักเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งในทางน้ำชลประทานต่ำสุดอยู่ที่ 6.5)
ค่า pH น้ำในบ่ออุปโภคบริโภคของชาวบ้านอยู่ที่ 5.6 (ไม่ทราบข้อกำหนดของอินโดนีเซีย แต่ตามมาตรฐานไทยหลักเกณฑ์การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งในทางน้ำชลประทานต่ำสุดอยู่ที่ค่า pH 6.5)

ในฤดูฝน น้ำจากทะเลสาบเทียม คลอง และช่องระบายน้ำที่บริษัทฯ สร้างไว้สำหรับระบายของเสียจากการทำเหมืองจะเอ่อล้นและท่วมพื้นที่นาข้าวของชาวบ้าน ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษสู่พืชผล ส่วนฤดูแล้งจากเดิมที่เคยทำการเพาะปลูกได้ ปัจจุบันไม่สามารถทำได้เนื่องจากการขุดเหมืองทำให้ธารน้ำใต้ดินถูกตัด น้ำจึงถูกกักไว้ในเหมืองถ่านหินที่ทิ้งร้าง รวมทั้งต้นน้ำชลประทานของชาวบ้านมาจากบ่อดักตะกอนของเสียทำให้น้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคเกิดการปนเปื้อน

นอกจากนี้ ตามรายงานของกรีนพีซยังระบุว่า ในหมู่บ้านใกล้เคียงหมู่บ้านเคอทาบัวนา ที่ได้รับสัมปทานโดยบริษัท PT Indominco Mandiri ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทบ้านปูในอินโดนีเซีย มีการทำเหมืองในเขตป่าและใกล้แม่น้ำสำคัญ 3 สาย ซึ่งการทำเมืองของบริษัทดังกล่าวมีการทิ้งของเสียลงแม่น้ำอย่างผิดกฎหมาย ประกอบกับมีความพยายามจะย้ายเส้นทางไหลของแม่น้ำเพื่อให้สามารถดำเนินการทำเหมืองบริเวณก้นแม่น้ำได้ ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรและป่าไม้ของอินโดนีเซียได้เพิกถอนใบอนุญาตแก่บริษัทดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 โดยให้เหตุผลว่าส่งผลกระทบต่อวิถีเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้าน

จากปากชาวบ้าน เทียบรายงานความยั่งยืน “บ้านปู”

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานเพื่อการพัฒนาที่ยังยืนของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทฯ เข้าไปมีบทบาทในธุรกิจถ่านหินของประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยปัจจุบันมีบริษัท PT Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM) บริษัทย่อยซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประเทศอินโดนีเซีย ดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินแบบเปิด 6 แห่ง บนเกาะกาลิมันตัน ได้แก่ เหมืองอินโดมินโค (Indominco) เหมืองทรูบาอินโด (Trubaindo) เหมืองโจ-ร่ง (Jorong) เหมืองคิทาดิน-ทันดุง มายัง (Kitadin-Tandung Mayang) เหมืองคิทาดิน-เอ็มบาลุต (Kitadin-Embalut) และเหมืองบารินโต (Bharinto) มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 29 ล้านตัน/ปี และมีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับการขนถ่ายถ่านหินได้ 18 ล้านตัน/ปี

ในรายงานได้ระบุความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าบริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนด และในด้านสิ่งแวดล้อมได้ระบุถึงการดำเนินการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมใน 5 ประการ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การฟื้นฟูสภาพเหมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ 3) คุณภาพอากาศ 4) การจัดการน้ำ และ 5) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่ธุรกิจ

บริษัทได้ระบุถึงการดำเนินด้านชุมชนใน 2 ประการหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาชุมชน และ 2) การมีส่วนร่วมกับชุมชน

ที่มาภาพ : รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
ที่มาภาพ: รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

โดยประเด็นที่การนำเสนอข้อมูลของชาวบ้านและกรีนพีซ กับรายงานของบริษัทบ้านปูไม่ตรงกันนั้น มี 5 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนด

  • ขณะที่รายงานกรีนพีซระบุว่า การทำเหมืองถ่านหินโดยบริษัท PT Indominco Mandiri มีการทิ้งของเสียลงแม่น้ำอย่างผิดกฎหมาย จนบริษัทดังกล่าวถูกเพิกถอนใบอนุญาต ในประเด็นการทำตามกฎหมายและข้อกำหนดนี้ รายงานบ้านปูระบุว่า บริษัทฯ ได้นำข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในแต่ละที่มาพิจารณาในรายละเอียด และนำเนื้อหาของกฎหมายมาใช้ในการ อ้างอิงและประยุกต์ในการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงาน รวมถึงมีการตรวจสอบผลการดำเนินงานทั้งจากภายในและภายนอก ผ่านทางภาครัฐ และการได้รับรองมาตรฐานสากล (ISO, OHSAS)

เรื่องการฟื้นฟูสภาพเหมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ

  • ตามคำบอกเล่าของ Mr.Ketut Bagia Yasa ระบุว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมือง ส่งผลกระทบตามมาทั้งด้านการจัดการน้ำ และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งมีการทำเหมืองเข้าไปในพื้นที่ป่า ขณะที่รายงานบริษัทฯ ยอมรับว่า บางครั้งพื้นที่โครงการฯ อาจจะตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าทางนิเวศ ซึ่งมีการดูแลการใช้ประโยชน์จากที่ดินตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนสิ้นสุดโครงการ และมีการฟื้นฟูสภาพเหมือง และระหว่างดำเนินโครงการได้หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาสูง การเปิดหน้าดินทำเฉพาะในพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น
  • รายงานฯ บริษัทบ้านปู ปี 2558 ระบุว่าธุรกิจถ่านหินของบริษัทฯ มีพื้นที่ครอบครองเพื่อใช้ในการทำเหมืองทั้งสิ้น 103,595 เฮกตาร์ แต่มีพื้นที่รวมที่ถูกใช้ประโยชน์จริงเพื่อการทำเหมืองเพียง 20,604 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน มีพี้นที่ที่บริษัทฯ ได้ทำการฟื้นฟูรวมทั้งสิ้น 10,829 เฮกตาร์ หรือร้อยละ 52.6 ของพื้นที่ใช้ประโยชน์ทั้งหมด โดยพื้นที่ในส่วนที่เหลือ บริษัทฯ ได้สงวนไว้ให้คงสภาพป่าดั้งเดิม ป้องกันการลักลอบตัดไม้
  • รายงานฯ บริษัทบ้านปู มีการตรวจสอบความก้าวหน้า ทบทวนแผนการฟื้นฟูสภาพเหมืองอย่างสม่ำเสมอและรายงานต่อภาครัฐ และมีการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเหมืองที่ปิดไปแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถส่งคืนพื้นที่ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไปเมื่อสิ้นสุดการทำเหมือง
หมู่บ้านเคอตาบัวนาที่ถูกเหมืองถ่านหินขนาบทั้ง 2 ข้าง
หมู่บ้านเคอตาบัวนาที่ถูกเหมืองถ่านหินขนาบทั้ง 2 ข้าง

ด้านการจัดการน้ำ

  • ตามคำบอกเล่าของ Mr.Ketut Bagia Yasa และรายงานกรีนพีซ ระบุว่า การทำเหมืองเปลี่ยนแปลงทางน้ำใต้ดินทำให้น้ำเกิดการปนเปื้อน และการไม่ฝังกลบหลุมจากการทำเหมืองส่งผลให้ในฤดูฝนน้ำท่วมที่นาชาวบ้าน ส่วนฤดูแล้งขาดแคลนน้ำ ขณะที่บริษัทฯ อ้างรายงานการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ (UN World Water Development Report) ว่าพื้นที่ดำเนินธุรกิจของ บริษัทฯ ในประเทศอินโดนีเซียไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ พร้อมระบุว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา ธุรกิจถ่านหินของบริษัทฯ ในประเทศอินโดนีเซียมีปริมาณดินที่ขุดขนและจัดการรวมทั้งสิ้น 247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการป้องกันสภาพน้ำเป็นกรดจะนำดินและหินถมกลับลงในบ่อเหมืองให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดภายหลังเสร็จสิ้นการทำเหมืองในแต่ละพื้นที่
  • รายงานฯ บริษัทบ้านปูระบุว่า มีการสำรวจสภาพทางธรณีวิทยาและคุณสมบัติของดินในพื้นที่ก่อนการทำเหมือง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างแบบจำลองในการประมาณการและจำแนกประเภทดินประเภทต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อที่จะมีการวางแผนการทำเหมืองให้สามารถช่วยป้องกันสภาพน้ำเป็นกรดได้เป็นอย่างดี
  • รายงานฯ บริษัทบ้านปูระบุว่าในกรณีที่น้ำมีค่าความเป็นกรดเกินกว่ามาตรฐานกำหนด จะต้องมีการบำบัดด้วยการเติมปูนขาว (Quicklime) และผ่านการตกตะกอนและปรับสภาพให้ได้ตามมาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำภายนอก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังใช้ระบบบำบัดน้ำด้วยรางหินปูนแบบไร้อากาศ (Successive Alkalinity Producing: SAP) ทดแทนการใช้ปูนขาวบางส่วน

ด้านการพัฒนาชุมชน

  • จากปัญหาด้านการจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แต่ตามรายงานฯ บริษัทบ้านปูระบุว่า การดำเนินการทั้งหมดมีการเตรียมชุมชนในระยะก่อนการทำเหมือง การสร้างความเข้มเเข็งของชุมชนในระหว่างการทำเหมือง และการสร้างความยั่งยืนของชุมชนภายหลังสิ้นสุดการทำเหมือง โดยมีแนวทางการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมอาชีพ อาทิ สอนการทำเกษตรผสมผสานให้กับชาวบ้านบริเวณเหมืองคิทาดิน-เอ็มบาลุต

นอกจากนี้ รายงานปี 2557 และ 2558 ระบุเพิ่มเติมถึงการรับข้อร้องเรียนจากชุมชน โดยตั้งแต่การเปิดข้อมูลในปี 2554 ในปี 2557 เป็นปีแรกที่มีการระบุถึงข้อร้องเรียนด้านผลกระทบคุณภาพอากาศจากเหมืองโจ-ร่ง พร้อมการแก้ไข แต่ในปี 2558 ไม่มีการกล่าวถึงข้อร้องเรียนใดๆ อีก รายงานระบุเพียงว่ามีกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเท่านั้น

“บ้านปู” เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับและมีรางวัลการันตีด้านความยั่งยืนต่างๆ มากมาย ที่ผ่านมามีความพยายามเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตั้งแต่ปี 2554 และพบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นในปี 2558

อนาคตพลังงานในเอเชียะวันออกเฉียงใต้

นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า อุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และยุโรป กำลังล้มละลาย เนื่องจากกระแสโลกเริ่มตื่นตัวถึงผลกระทบจากการใช้ถ่านหิน และบริษัทเงินทุนในประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งสหรัฐ (US Export-Import Bank) ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) ประกาศไม่ให้เงินกู้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ทำให้ฐานการผลิตต่างๆ ย้ายมาอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นโยบายรัฐยังคงให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหินอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก : เอกสารประกอบการบรรยาย โดยนายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้อมูลจาก เอกสารประกอบการบรรยาย โดยนายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ตนเห็นว่าถ่านหินร้อยละ 82 ของปริมาณสำรองที่มีอยู่ไม่ควรถูกขุดมาใช้ หากต้องการรักษาอุณหภูมิของโลกไว้ไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ใช่แค่นี้แต่ผลกระทบสุขภาพเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบอกว่าถ่านหินถูกที่สุดนั้นรวมต้นทุนเรื่องสุขภาพหรือยัง การใช้ถ่านหินจึงนำมาสู่ปัญหาที่เราต้องขบคิดกัน

“แม้มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยจะทำลายสถิติหลายครั้งในปีนี้ ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,619 เมกะวัตต์ น้อยกว่าการพยากรณ์ตามแผนพีดีพี 2015 ตั้งไว้อยู่ที่ 30,218 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าปีนี้อยู่ที่ 40,932 เมกะวัตต์ ก็ยังมากเกินกว่ากำลังผลิตสำรองที่ควรมีถึง 6,870 เมกะวัตต์ คิดเป็น 15% เห็นได้ว่ากำลังการผลิตก็ยังล้นเหลือ” นายเดชรัตกล่าว

ทั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีการใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยต่อเดือน ต้องใช้ถานหิน 1.5 ตันต่อปี หรือ 30 ตันตลอด 20 ปี จะเกิดผลกระทบต่างๆ เช่น จะปล่อยฝุ่นละออก 372 กรัมต่อปี ซึ่งจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 3.2 ตันต่อปี หากไม่อยากให้เกิด ต้องสร้างป่าในเมือง 2.68 ไร่เพื่อดูดซับ นอกจากนี้ ในแต่ละปีจะมีการปล่อยเถ้ารวมกัน 247.29 กิโลกรัมต่อปี รวมตลอด 20 ปี เกิดเถ้าและกากถึง 4.95 ตัน ซึ่งพื้นที่เคราะห์ร้ายจะรับกากถ่านหิน ปัญหาเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกที่สามารถทดแทนได้อยู่แล้ว และศักยภาพเทคโนโลยีประหยัดพลังงานช่วยประหยัดได้มากขึ้น การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป