ThaiPublica > คอลัมน์ > “มั่นคง” กับ “มั่งคั่ง” ไปด้วยกันได้ดีเพียงใด?

“มั่นคง” กับ “มั่งคั่ง” ไปด้วยกันได้ดีเพียงใด?

29 มกราคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

อีกไม่กี่เดือนก็จะครบสามปีเต็มแล้วนะครับ ที่พวกเราชาวไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารที่อ้างความจำเป็นต้องเข้ามาปลดล็อกความแตกแยก และประกาศเจตนาว่าจะสร้างความปรองดองให้กับสังคม พร้อมๆ ไปกับการปฏิรูปวางรากฐานเพื่อนำไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามที่ท่านประกาศมาตลอด

ก็คงเห็นได้ชัดนะครับ ว่าตลอดมาท่านดูจะเน้นให้ความสำคัญกับคำว่า “มั่นคง” เป็นพิเศษ โดยเฉพาะความมั่นคงในความหมายและความเข้าใจของ “ท่านผู้นำ” ซึ่งก็คงจะคล้ายๆ กับความหมายของผู้นำที่มาจากเผด็จการคนอื่นๆ ในโลก ซึ่งก็คือ มั่นคงในแง่ที่ท่านจะได้ปกครองชี้นำให้ทุกอย่างทุกภาคส่วนในประเทศเป็นไปในทางที่ท่านเห็นว่าดีเห็นว่าเป็นประโยชน์ได้อย่างสะดวก ไม่มีอุปสรรคคัดค้านใดๆ ไม่มีใครแตกแถวออกนอกลู่นอกทาง ไม่มีใครคิดแปลกแยกไปจากที่ท่านเห็นว่าดีเห็นว่างาม (ลองดูพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ สิครับ มั่นคง แปลว่า แน่นหนาและทนทาน ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น) ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับ ที่ถ้าจะทำให้มั่นคงสบายใจได้ ก็หมายถึงต้องเข้าควบคุมทุกอย่าง ติดตามทุกฝีก้าว กำราบไว้ตลอดเวลา ซึ่งทุกอย่างนั้นสะท้อนออกมาในกฎหมายต่างๆ ที่ท่านระดมออกมา (เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)

และพฤติกรรมการบริหารประเทศที่ผ่านมา รวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มุ่งเพิ่มขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ โดยคงจะเข้าใจเอาด้วยความหวังดีว่าถ้ารัฐยิ่งใหญ่ ยิ่งมีบทบาท มีอำนาจมาก ก็จะควบคุมให้ทุกอย่างมั่นคงขึ้นได้ กับที่น่ากลัวมากก็คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ท่านหวังจะให้ทุกคนเข้าแถวทำตามไปตลอด โดยท่านแน่ใจว่าท่านสามารถอ่านอนาคตโลกทะลุไปได้ยาวนานตั้ง 20 ปี (และด้วยความหวังดีอีกแหละ ท่านเลยออกกฎหมายคุมให้แผนของท่านมีความมั่นคงยั่งยืน)

ส่วน “ความมั่งคั่ง” นั้น โลกในทุกวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าจะต้องมาจากนวัตกรรม คือ ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ต้องมาจากความเปลี่ยนแปลง ถ้าใครทำอะไรเหมือนๆ เดิม คิดแบบเดิมๆ ทำเท่าๆ เดิม ก็คงจะมั่งคั่งขึ้นมาไม่ได้ แถมในโลกที่คนอื่นเขาไม่อยู่นิ่งเฉย ในโลกที่การแข่งขันเข้มข้น อยู่แบบเดิมๆ มีแต่จะถดถอยด้วยซ้ำ และที่สำคัญ สังคมที่จะมั่งคั่งได้นั้น ต้องมีระบบที่ยืดหยุ่น (ซึ่งความยืดหยุ่นเป็นภัยต่อความมั่นคงแน่นอนครับ) ต้องเป็นสังคมที่เปิดโอกาสและส่งเสริมให้คนคิดใหม่ ทำใหม่ ให้คนคิดต่าง คิดแหกกฎ ให้คนมีเสรีภาพในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่ระบบที่ควบคุมทุกอย่าง

และโลกก็ได้พิสูจน์แล้วอีกว่า ระบบที่เรียกว่ารวมศูนย์ ระบบที่วางแผนควบคุมเข้มข้น (Centrally Planned) ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยม สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์นั้น เป็นระบบประสิทธิภาพต่ำ ที่ถึงจะนำความมั่นคงมาให้ผู้ปกครอง แต่ไม่เคยนำความมั่งคั่งมาให้ประชาชนส่วนใหญ่ (นอกจากผู้กุมอำนาจหรือเข้าถึงอำนาจ) โลกในปัจจุบันเขาถึงได้เลิกระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์มาเป็นระบบตลาดกันหมดแล้ว พยายามลดรัฐ เลิกให้รัฐทำ ส่งเสริมให้เอกชนแข่งกันมากกว่า เพราะแม้จะเป็นความจริงที่ว่า ความมั่งคั่งจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในระบบที่มี “ความมั่นคง” ในระดับหนึ่ง ในระบบที่มี Social Discipline ที่ดี แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้สอนเราแล้วว่า Social Discipline ที่ดีนั้น แตกต่างจาก Tyrannical Disciplinary มากมายนัก

thaipublica:มั่นคงมั่งคั่ง

ถึงตอนนี้ก็คงพอมองออกแล้วนะครับ ว่า “มั่นคง” กับ “มั่งคั่ง” นั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน และไม่ได้ไปในทางเดียวกันเสมอไป ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่าเราจะเน้นนำ้หนักด้านไหนแค่ไหน และตีความแต่ละอย่างอย่างไร ถ้าตีความ “มั่นคง” เป็นไปอย่างที่ผมว่าข้างต้น (ซึ่งผมแปลเอาเองจากพฤติกรรมว่าท่านกำลังตีความอย่างนั้น ถ้าไม่ใช่ก็ขออภัยด้วยนะครับ) ก็อย่าไปหวังว่าจะเกิดความมั่งคั่งขึ้นมาได้ ยิ่งบอกว่าเราจะเป็นประเทศร่ำรวยใน 15 ปี ซึ่งหมายถึงต้องมีอัตราเติบโตแท้จริงเฉลี่ย 5.5% ทุกปี (อย่างปีนี้หวังจะโต 3.5% ก็ต้องมีชดเชยบางปีโตได้ 7.5%) ขออนุญาตฟันธงเลยว่า ตามแนวที่ทำอยู่นี้ นั่นเป็นเรื่องฝันกลางวันแน่นอน

ลองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์บ้างก็ได้ครับ ว่าตัวอย่างเผด็จการที่มุ่งเน้น “ความมั่นคง” นั้น สร้าง “ความมั่งคั่ง” ให้ชาติได้ขนาดไหน

ตัวอย่างแรก ผมขอยกเอาสเปนยุคท่านจอมพลฟรังโก (Francisco Franco) ที่ฉวยโอกาสจากความวุ่นวายทางการเมืองเข้ายึดอำนาจการปกครอง (แต่ไม่ได้สะดวกโยธินเหมือนประเทศแถวนี้หรอกนะครับ เกิดสงครามการเมืองยืดเยื้อสามปี คนตายไปร่วมครึ่งล้าน) ซึ่งพอคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จในปี 1939 ก็มุ่งเน้นสร้างความ “มั่นคง” โดยอ้างเอาชาตินิยมนำหน้า ต้องการสร้างความปรองดองเป็นปึกแผ่น (ฟังคุ้นๆ นะครับ) ไม่ให้มีการแยกดินแดนแยกประเทศ ซึ่งแน่นอนครับ “ความมั่นคงของประเทศ” ที่ใช้นำนั้น สุดท้ายก็หมายถึงความมั่นคงของตำแหน่งของอำนาจของท่านจอมพลเองเสียมากกว่า

ช่วงแรกของเผด็จการ ฟรังโกพยายามจัดระเบียบสเปนไม่ให้มีคนเห็นต่าง ให้คิดไปทางเดียวกัน ใครเห็นต่างก็ถูกฆ่า ถูกจับ ถูกลงโทษ ถูกปลด ถูกกีดกันกลั่นแกล้ง สารพัดจะ “ถูก” คนหลายแสนคนที่ไม่ยอมอยู่ใต้ระบบเผด็จการอพยพหนีภัยออกนอกประเทศ และส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ หมอ คนมีความรู้ โดยเฉพาะพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลาย ที่ไม่หนีก็จำต้องปิดปากเงียบ เข้าโพรงจำศีล ไม่กล้าหือกล้าวิจารณ์กล้าค้านกล้าตรวจสอบท่านผู้นำและพรรคพวก ซึ่งในด้าน “ความมั่นคง” นั้น ท่านฟรังโกนับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถครองอำนาจเด็ดขาดเหนียวแน่นยาวนาน 36 ปีจนตายคาตำแหน่งผู้นำสูงสุด Caudillo of Spain โดยวางโรดแมปให้เจ้าชาย Juan Carlos ขึ้นครองราชย์สืบต่อ [จริงๆ พ่อของ Juan ก็ยังอยู่นะครับ แต่ฟรังโกไม่เลือกเพราะเห็นว่าหัวก้าวหน้า (liberal) เกินไป]

แต่ลองหันมาดูด้าน “ความมั่งคั่ง” บ้าง ศตวรรษที่ 17-19 เป็นยุคอาณานิคมต่อเนื่องมาจนสงครามโลกครั้งที่ 1 สเปนในตอนนั้นจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่รำ่รวยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง มีอาณานิคมมากมายพอๆ กับอังกฤษ แต่พอเกิดสงครามกลางเมืองช่วง 1936-1939 ก็เหมือนกับทุกๆ ประเทศที่มีสงครามกลางเมืองแหละครับ เศรษฐกิจถดถอยพังพินาศ หดหายไปร่วมหนึ่งในสาม (นี่แหละครับคือเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงกลัวสงครามกลางเมืองนักในช่วงที่ท่านกำนันยึดถนน) พอฟรังโกขึ้นมาก็เน้น “มั่นคง” นำหน้า ใช้ระบบ Autarky คือเป็นเศรษฐกิจแบบปิดที่ควบคุมง่ายดี แถมคนเก่งคนดีหนีหาย ไม่ย้ายประเทศก็ถูกกด เศรษฐกิจเลยฟื้นตัวช้ามาก จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นประเทศกลางๆ มีรายได้ต่อหัวปีละ 26,000 เหรียญ ไม่ถึงครึ่งของสหรัฐ (56,000) และต่ำกว่าอังกฤษ (43,000) เยอะ แถมการว่างงานปาเข้าไป 25%

นี่เป็นตัวอย่างแรกของการที่เผด็จการมุ่งเน้น “มั่นคง” เลยทำให้ความ “มั่งคั่ง” หดหายชะงักงัน วันนี้คนสเปนบ้างก็ยังยกย่องฟรังโกอยู่ (สงสัยพวกเสื้อเหลืองนะครับ) แต่ก็มีไม่น้อยแล้วที่ระบุว่าจอมเผด็จการฟรังโกนี่แหละที่เป็นสาเหตุให้ประเทศชะงักงัน ตามไม่ทันคนอื่นเขา

ตัวอย่างที่สอง ขอยกเอาท่านติโต (Josip Broz Tito) ผู้ที่ปกครอง “ยูโกสลาเวีย” ประเทศที่เพิ่งจะก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1918 และปัจจุบันก็กลายเป็นอดีตแยกออกเป็น 7 ประเทศ (Bosnia&Herzegovina, Croatia, Kosovo, Macedonia, Montenegro, Serbia และ Slovenia) ซึ่งหลังจากท่านติโตขึ้นสู่อำนาจได้ในปี 1945 แล้วปลดยุวกษัตริย์ Peter II ออกจากราชบัลลังก์ แล้วปกครองประเทศด้วยกฎเหล็ก ยาวนาน 35 ปี จนตายคาตำแหน่ง President For Life ไปในปี 1980 นั้น ตลอดเวลาที่ท่านติโตครองอำนาจ นับได้ว่า “ความมั่นคง” นั้นยอดเยี่ยม ชนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ต่างก็ไม่มีหือ เพราะท่านไม่ให้สิทธิมนุษยชนกับเผ่าพันธุ์ไหนเลย แม้พรรคพวกที่เคยร่วมอุดมการณ์ เคยรับใช้ร่วมงาน พอขัดคอขัดใจคิดต่าง ท่านยังเด็ดขาดสั่งลงโทษจับขังมานักต่อนัก (แหะๆ ผมกำลังพูดถึงยูโกฯ อยู่นะครับ)

แต่ในเรื่อง “ความมั่งคั่ง” ทางเศรษฐกิจ ก็อย่างที่เห็นแหละครับ ประเทศที่เคยเป็นยูโกสลาเวีย มาวันนี้เป็นกลุ่มประเทศล้าหลังในยุโรป ทั้งรายได้ ทั้งผลิตภาพ แทบไม่มีการพัฒนาเลยในช่วงของท่านติโต แถมพอท่านตาย ความ “ปรองดอง” จอมปลอมที่ท่านใช้อำนาจกดไว้ก็ระเบิดออกมา แค่สิบปี ก็เกิดแตกแยกรบพุ่งคนตายมากมาย ประเทศแตกเป็นเสี่ยงๆ เศรษฐกิจพังพาบหนักเข้าไปอีก นับว่าหายไปอย่างน้อยสองช่วงอายุคนได้เลยทีเดียว

ตัวท่านติโตนั้น วันหนึ่งในอดีต เคยเป็นที่รักเคารพ ถือว่าเป็น “บิดาแห่งชาติ” เลยทีเดียว เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน “เผด็จการผู้ทรงคุณ” (Benevolent Dictator) ที่หายากกว่าขุดเหมืองเพชร ขนาด Orson Welles ยังเคยระบุว่า ติโตเป็น “the greatest man in the world” เลยทีเดียว มีอนุสาวรีย์ มีการใช้ชื่อติโตเป็นเมือง เป็นถนนหนทาง เป็นสถานที่มากมายทั่วทั้งเจ็ดประเทศ แต่ในวันนี้ มีการเรียกร้องให้รื้อทิ้งทำลายอนุสาวรีย์ต่างๆ เหล่านั้นมากขึ้นทุกที หลายเมืองหลายถนนทยอยกันเปลี่ยนชื่อกลับเป็นของเดิม คนรุ่นหลังไม่น้อยต่างก่นด่าว่าโชคร้ายที่ดันมีผู้นำแบบนี้มายาวนาน แถมอายุยืนอยู่ตั้ง 87 ปี

ความจริง ประวัติศาสตร์การก้าวผิดของท่านผู้นำ โดยเฉพาะพวกที่เอา “ความมั่นคง” นำหน้า แล้วทำให้ประเทศชาติต้องรับทุกข์ การพัฒนาหยุดชะงัก “ความมั่งคั่ง” ถดถอยและมักจะกระจุกตัวอย่างนี้ มีอีกมากมาย อย่างท่านจอมพล เน วิน เพื่อนบ้านใกล้เคียงของเรานี่ก็เหมือนกัน รวมชาติรวบอำนาจมั่นคงได้ยาวนาน แต่ก็ทำให้พม่าที่เคยร่ำรวยกว่าเราตั้งเกือบเท่าตัวเมื่อหกสิบปีก่อน ต้องกลายเป็นชาติล้าหลังมามีรายได้ต่อหัวแค่หนึ่งในหัาของไทยในทุกวันนี้ เหลือแค่ทหารและเหล่าสมัครพรรคพวกเท่านั้นที่ยังมั่งคั่งล้นเหลือ

หรือจะเอาพวกประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายก็เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งรัสเซีย จีน และประเทศหลังม่านเหล็กทั้งหลาย ต่างก็รวบอำนาจภายใต้กฎเหล็กได้มั่นคงยาวนานภายใต้พรรคเดียว ประชาชนต่างดูเหมือนมีระเบียบวินัยปรองดองกันยิ่งนัก แต่ทางด้านความ “มั่งคั่ง” ล้วนแป้กกันถ้วนหน้า จนมาช่วง 1980-1990 ต้องปรับตัวเปิดรับทุนนิยมกันเป็นแถว บางประเทศ เช่น USSR พอไม่มั่งคั่งก็เลยเลิก “ปรองดอง” ความมั่นคงฉาบผิวก็เอาไม่อยู่ ต้องแตกสลายออกกลายเป็นตั้ง 12 ประเทศในที่สุด

มันแทบเป็นทฤษฎีตายตัวเลยนะครับ ว่าถ้าอยากให้ “มั่นคง” ทางการเมืองต้องใช้วิธีรวมศูนย์ ระบบที่เรียกว่า “Centrally Planned” มักจะถูกนำมาใช้ รัฐจึงมักจะขยายทั้งขนาด บทบาท และอำนาจไปทั่ว กฎระเบียบต่างๆ จะถูกออกมามากมาย แผนการณ์ต่างๆ จะถูกวางอย่างละเอียดยิบ กำหนดให้หมดว่าใครควรจะทำอะไร ไม่ให้แตกแถวไปได้ (แล้วตั้งชื่อเพราะๆ ว่า “แผนยุทธศาสตร์ชาติ”) ซึ่งทั้งหมดนั้น ถึงจะทำด้วยความหวังดี ด้วยความตั้งใจบริสุทธิ์เพียงใด สุดท้ายกลับทำร้ายชาติทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจเรื่องความ “มั่งคั่ง” แล้วเมื่อ “มั่งคั่ง” ไม่ได้ ไอ้ที่หวังจะให้ “ยั่งยืน” ยิ่งไม่มีทาง ดังที่เราเห็นตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์

ทึ่เขียนมายืดยาว ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นว่า “การปรองดอง” และ “ความมั่นคง” ไม่มีความสำคัญนะครับ เพียงแต่พยายามชี้ให้เห็นว่า เราต้องมีสติที่จะแยกแยะว่าความปรองดองแบบไหน ความมั่นคงอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ ไม่ตึงไม่หย่อน ไม่หลงทางจนไปทำลาย “ความมั่งคั่ง” และ “ความยั่งยืน” ที่ต่างก็เป็นเป้าหมายสำคัญด้วยเหมือนกัน อนาคตของลูกหลานหลายชั่วอายุคนขึ้นอยู่กับการถ่วงดุลที่เหมาะสมในช่วงนี้แหละครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 29 มกราคม 2560