ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ยูเอ็น ชี้วิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

ยูเอ็น ชี้วิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

25 มิถุนายน 2020


รายงานยูเอ็น ชี้ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย สำเร็จขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบาย ณ ปัจจุบัน ขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ

กรุงเทพฯ วันที่ 25 มิถุนายน 2563: รายงานเบื้องต้นของสหประชาชาติชี้กระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อประเทศไทย ระบุว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หญิงจะสูงถึงร้อยละ 4.5 ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 สำหรับทั้งปี 2563 ซึ่งในระหว่างปี การว่างงานจะเพิ่มสูงกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรง ผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการระบาดของไวรัส นอกเหนือจากที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง

รายงาน ILO Brief เรื่อง COVID-19 employment and labour market impact in Thailand ระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยมีทั้งทางตรงจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และทางอ้อมจากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดในห่วงโซ่อุปทานและในภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีผลรุนแรง โดยมีสัญญานการขาดตอนของตลาดแรงงานในไตรมาสแรกปี 2563 ในประเทศและคาดว่าจะยิ่งรุนแรงขึ้นและกว้างขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้า

ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะประสบกับการหดตัวของเศรษฐกิจอันเป็นผลจากวิกฤติโควิด-19 นั้น มีการจ้างแรงงาน 21 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคนในปี 2562 ผลกระทบต่อแรงงานในภาคธุรกิจที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่นั้นจะอยู่ในรูปของการลดชั่วโมงทำงาน ลดค่าจ้าง หรือตกงาน ทั้งนี้คาดว่าแรงงาน 6.6-7.5 ล้านคนในไทยจะเผชิญกับภาวะดังกล่าว

จำนวนชั่วโมงทำงานได้ลดลงแล้วราว 6% ในไตรมาสแรก ซึ่งเทียบเท่ากับพนักงานประจำตกงานถึง 2.2 ล้านคน (คำนวณจากชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์) และคาดว่าชั่วโมงทำงานจะลดลงอีกในไตรมาสสองราว 10% ซึ่งเทียบเท่าพนักงานทำงานเต็มเวลา 4 ล้านคน

รายงานคาดว่าอย่างน้อย 2 ใน 3 ของแรงงาน 7.5 ล้านคนที่ต้องหยุดงานช่วงโควิดระบาดยังคงมีงานทำอยู่ แต่ชั่วโมงทำงานและค่าจ้างลดลง ส่งผลให้จำนวนมากตกอยู่ในกลุ่มแรงงานที่ยากจน ทำงานได้เงินแทบไม่พอใช้ หรือ working poverty โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 คาดว่ามีแรงงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นราว 2.5 ล้านคน จากการประเมินในรายงานฉบับเดือนมกราคม (จากสมมติฐานว่า 2 ใน 3 ของ 7.5 ล้านคนยังมีงานทำและในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งยากที่จะมีรายได้เกินกว่าเส้นแบ่งความยากจน 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน)

รายงานคาดว่า แรงงาน 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรงงานที่ยากจนสุดซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน แรงงานที่ยากจนปานกลางรายได้ 1.90-3.20 ดอลลาร์ต่อวัน แรงงานที่อาจจะยากจนมีรายได้ 3.20-5.50 ดอลลาร์ต่อวัน จะเพิ่มขึ้นจาก 4.6% เป็น 6.8% และสัดส่วนแรงงานของทั้ง 3 กลุ่มรวมกันในการจ้างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 4.7% เป็น 11.2% ในปีนี้

การเพิ่มขึ้นของแรงงานยากจน คือ ผลกระทบหลักจากการระบาดของไวรัสต่อตลาดแรงงานของไทย เพราะปริมาณงานลดลง วัดจากชั่วโมงทำงานที่น้อยลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง การที่แรงงานนอกระบบขาดรายได้จะทำให้แรงงานจำนวนมากตกอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน

ความมั่นคงของการมีงานทำวัดจากสัญญาจ้างและเงินเดือนที่มีการจ่ายตามปกติ เป็นประเด็นสำคัญในตลาดแรงงานไทยมานาน เพราะมีคนจำนวนน้อยได้ประโยชน์ ในปี 2562 การจ้างาน 47.7% คิดเป็นแรงงานจำนวน 18 ล้านคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ถือว่ามีความเปราะบาง แม้ส่วนหนึ่งจะได้รับค่าจ้าง แต่มักเป็นค่าจ้างรายวันหรือรายชั่วโมง และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าวันต่อไปจะมีงานจ้างหรือไม่

ไทยมีแรงงานรายวันหรือรายชั่วโมงราว 6.1 ล้านคนในปี 2562 และ 35,000 คนเป็นแรงงานรายสัปดาห์ ซึ่งสัดส่วนแรงงานกลุ่มนี้มีราว 16.3% ของการจ้างงานรวม

แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงทางรายได้และอยู่นอกระบบสวัสดิการสังคม โดยใน 10 กลุ่มอาชีพที่สัดส่วนแรงงานรายวันและแรงงานรายชั่วโมงสูง พบว่ามีแรงงานไม่มีงานทำราว 0.5 ล้านคนในไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับไตรมาสแรกปี 2562

ในปี 2562 การจ้างงานนอกระบบมีสัดส่วน 54.3% รวมจำนวน 20 ล้านคน โดยแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและสวัสดิการที่ทำงาน เช่น การลาป่วย

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 อาจกระทบต่อความพยายามของประเทศไทย ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งผลลบต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเกือบครึ่งของตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบเท่าๆ กัน แต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ” นางซับบระวาลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะบรรเทาลงได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่ส่งผลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหประชาชาติยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่

รายงานของสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงการดำเนินนโยบายที่รวดเร็วของรัฐบาล เพื่อสะกัดกั้นและลดผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ นั้น ยังคงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการปรับมาตรการต่างๆ ในแผนเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย

รายงานได้นำเสนอว่า การใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นมาตรการที่ส่งผลมากที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตามด้วยการมอบเงินสนับสนุนโดยตรงให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด และการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ สภาพคล่อง การลดภาษี และการเลื่อนชำระภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ตลอดจนการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการสำรวจและวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น ดังนั้น สศช. จึงสนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติในฐานะหุ้นส่วนในการประเมินผลในครั้งนี้ ผลของการศึกษาจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกมาตรการและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุด

“โควิดส่งผลหนักที่สุดต่อประชาชนกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด และยิ่งเน้นย้ำความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ กลุ่ม LGBTI และสมาชิกชาติพันธุ์ต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงต่อการว่างงาน เพราะบางส่วนอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่กระทบหนักที่สุด เช่น การท่องเที่ยว” นายเมแยร์กล่าว

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะที่แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งของภาคแรงงาน ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม และไม่สามารถได้รับสิทธิ์ต่างๆ ในสถานที่ทำงาน เช่น เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าจ้าง การลากิจ หรือลาป่วย ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ต้องการมาตรการเยียวยาที่ตรงเป้าหมาย”

นายโทมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ครอบครัวที่มีความเปราะบางต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงการฟื้นตัว

“ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ การให้ความช่วยเหลือโดยตรงกับครอบครัวกลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับการช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น นโยบายที่ออกมาควรมีมาตรการที่เล็งผลระยะยาว เพื่อเสริมสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม โดยไม่มีใครต้องคอยกังวลว่าสิ้นเดือนจะพอกินหรือไม่”

นายดาวินกล่าวต่อว่า “ควรมีการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพยากรมนุษย์เพื่อยกระดับทักษะแรงงาน โดยเริ่มจากเยาวชน ซึ่งสิ่งนี้จะปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเผยแพร่ผลการศึกษาเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมของวิกฤติโควิด-19 ที่มีต่อความยากจน อาหารและภาวะโภชนาการ สุขภาพ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และการป้องกันความรุนแรงและการละเมิด

อนึ่ง การประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นการศึกษาที่ได้รับการมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติประเทศไทยซึ่งนำโดย ยูเอ็นดีพี และยูนิเซฟ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานในส่วนนี้จัดทำขึ้นโดย Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิดต่ออุตสาหกรรมต่างๆ และได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อประเทศไทย โดยองค์การสหประชาชาติประเทศไทย ซึ่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ได้มีการเผยแพร่รายงาน 2 ฉบับ ได้แก่ การประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรม โดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อการจ้างงานและภาคแรงงาน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งหมดนี้ สามารถสืบค้นได้ที่ https://www.un.or.th/publications/