ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > โค้งสุดท้าย ธปท. มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่อง ปัจจัยหนุน “ทัวร์จีนกลับมา-อเมริกาฟื้นดันส่งออก”

โค้งสุดท้าย ธปท. มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่อง ปัจจัยหนุน “ทัวร์จีนกลับมา-อเมริกาฟื้นดันส่งออก”

31 ธันวาคม 2016


ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2559 ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.2% โดยเฉพาะปัจจัยภาคท่องเที่ยว ตัวเลขเบื้องต้นของนักท่องเที่ยวจีนจากยอดการขอวีซ่าของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มมากขึ้นในเดือนธันวาคม หลังจากที่ยอดนักท่องเที่ยวจีนในเดือนพฤศจิกายนและเดือนตุลาคม 2559 หดตัวไปที่ -16.2% และ -30% ตามลำดับ

“ตัวเลขที่เห็นคิดว่าผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้นอีก 100,000 คน หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวไป 1.2 ล้านคน จาก 33.6 ล้านคนเป็น 32.4 ล้านคนในสัปดาห์ที่ผ่านมา คิดว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวสักพัก” ดร.ดอน กล่าว

ขณะที่การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2559 กลับมาขยายตัว 10.1% จากระยะเดียวกันปีก่อนหลังจากหดตัว 4.3% ในเดือนก่อน จากปัจจัยชั่วคราว 2 ปัจจัย คือ 1) ฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า 2) ปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรของจีน รวมทั้งมีการส่งออกแท่นขุดเจาะน้ำมันมูลค่าค่อนข้างสูงไปบราซิล

ประกอบกับปัจจัยระยะยาวกว่าอีก 2 ปัจจัย คือ 1) อุปสงค์ต่างประเทศในหลายสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง เช่น แผงวงจรรวม (IC) สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวตามการส่งออกแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปสหรัฐฯ หลังผู้ประกอบการจากจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย เครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวตามการส่งออกเครื่องพิมพ์ไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และชิ้นส่วนคอมเพรสเซอร์ไปจีน  และ 2) สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบซึ่งเคยหดตัวอย่างต่อเนื่องกลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ทั้งราคาและปริมาณ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในหลายหมวดสินค้าเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับภาคการส่งออก

“ส่วนของเดือนธันวาคม 2559 เท่าที่ดูน่าจะเป็นบวกได้ แต่อาจจะไม่เยอะเท่าเดือนพฤศจิกายน แต่จะเป็นบวกต่อไปอีกเรื่อยๆ หรือไม่ ในระยะยาวต้องดูว่าหลายเรื่องที่เกิดขึ้นมีทั้งปัจจัยชั่วคาวด้วย แต่ต่อไปปัญหาต่างๆ จะเป็นเรื่องการเปลี่ยแปลงโครงสร้างการค้าโลก ทำให้การนำเข้าของประเทศคู่ค้าไม่มากแบบในอดีต พวกนี้จะกดดันการขยายตัวของการส่งออก แต่ ณ ตอนนี้ยังยืนอยู่ที่เดิม” ดร.ดอน กล่าว

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 2.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นหลัก โดยการนำเข้าเชื้อเพลิงขยายตัวจากทั้งในด้านปริมาณเนื่องจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน และในด้านราคาที่ขยายตัวตามราคาน้ำมันดิบ สำหรับการนำเข้าโลหะขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตเหล็กแผ่นสำเร็จรูปที่ขยายตัว และการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกของสินค้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวจากผลของฐานที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อเตรียมการลงทุน 4G

การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนัก สะท้อนจากกำลังซื้อของครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมที่ลดลงโดยเฉพาะภาคการค้า ด้านรายได้เกษตรกรยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยในเดือนนี้กลับมาหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการเก็บเกี่ยวไปเดือนหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวตามราคายางพารา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การซื้อรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้จากกำลังซื้อที่ปรับดีขึ้นของเกษตรกรสวนยางพารา และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การออกมาตรการภาครัฐในช่วงท้ายปีอาจจะส่งผลให้ดึงการบริโภคไตรมาสแรกของปี 2560 มาใช้ และต้องติดตามว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% จาก 0.34% ในเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวตาม ต้นทุนโดยรวมที่ทรงตัว และอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากทั้งดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้นและดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การขายสุทธิเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) อย่างไรก็ดี เงินลงทุนโดยตรง จากต่างประเทศไหลเข้าสุทธิจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย

“วิจัยกรุงศรีคาดไทยโตจากภาครัฐ-บริโภคเอกชน-ส่งออก-ท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ รายงานของวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 โต 3.3% ด้วยแรงหนุนจาก 4 ปัจจัย โดยปี 2559 บทบาทของภาครัฐ ท่องเที่ยว และการบริโภค ช่วยหนุนเศรษฐกิจเติบโต เศรษฐกิจไทยในปี 2559 เติบโตในอัตราสูงสุดในรอบ 4 ปี ที่ 3.2% จาก 2.8% ในปี 2558 ปัจจัยหนุนสำคัญมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง ผนวกกับการกระเตื้องขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน โดยบทบาทของภาครัฐมีความต่อเนื่องทั้งด้านการเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ภาวะการเงินในประเทศที่ค่อนข้างผ่อนคลายยังช่วยเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับต่ำที่ 1.5% ตลอดทั้งปี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

ขณะที่ปี 2560 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มสมดุลและกระจายมากขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.3% จาก 3.2% ในปี 2559 โดยมีแรงขับเคลื่อนจาก 4 ด้านสำคัญ ด้านแรกคือ การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับปีก่อน อานิสงส์จากรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังภัยแล้งคลี่คลาย การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกอปรกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ซึ่งเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาระหนี้ครัวเรือนจากโครงการรถคันแรกก็จะทยอยสิ้นสุดลง

สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านที่สอง คือ ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเสริมสภาพคล่องแก่เกษตรกรและ SMEs การจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมที่ประมาณสองแสนล้านบาทเพื่ออัดฉีดเข้าสู่กลุ่มจังหวัดและกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ซึ่งจะเริ่มทยอยก่อสร้างหลังจากหลายโครงการมีการประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ ภาครัฐยังเตรียมแผนโครงการลงทุนในระยะยาว เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนได้ในระดับหนึ่ง

แรงขับเคลื่อนในด้านที่สาม คือ ภาคส่งออกที่อาจพลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย โดยคาดว่าจะเติบโต 1.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคา ประกอบกับการคาดการณ์ปริมาณการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2560 จะเติบโต 3.4% เทียบกับ 3.1% ในปี 2559 และแรงขับเคลื่อนสุดท้ายจะยังคงมาจากภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัว 8-10% ซึ่งจะทำรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายบรรเทาลง นอกจากนี้ การแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และการขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำจะยังมีส่วนช่วยหนุนภาคท่องเที่ยวเช่นกัน โดยภาพรวมแล้วการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสมดุลและกระจายไปยังหลายภาคส่วนมากขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับประเด็นท้าทายและความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญในปี 2560 ได้แก่ การเดินหน้าตามโรดแมปทางการเมืองและการเลือกตั้งช่วงปลายปี ทิศทางนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้า และนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและการเมืองในยูโรโซนซึ่งหลายประเทศจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 นอกจากนี้ การควบคุมความเสี่ยงภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการค้าในเอเชียรวมถึงไทย อย่างไรก็ตาม พื้นฐานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง