ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จาก “ส่งออก-ท่องเที่ยว” – สวนทางการจ้างงานภาคเอกชนหันใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน

ธปท. ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จาก “ส่งออก-ท่องเที่ยว” – สวนทางการจ้างงานภาคเอกชนหันใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน

31 ตุลาคม 2017


ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจเดือนกันยายน 2560 ว่า โดยรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว

ในรายละเอียด มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 13.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักการส่งออกทองคำจะขยายตัว 8.9% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในทุกตลาดส่งออกสำคัญและเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราและน้ำตาล 3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ตามการส่งออกโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า 4) ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางล้อและเครื่องยนต์ รวมถึงการส่งออกรถกระบะไปออสเตรเลียและตะวันออกกลางที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน และ 5) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวและยางพารา

“ปัจจัยเสี่ยงหลักของประเทศไทยยังจะมาจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการฟื้นตัวหลักในขณะนี้มาจากภาคส่งออกเป็นหลักที่ฟื้นตัวกลับมามากกว่าคาด นับตั้งแต่ตั้นปีมาภาคส่งออกโต 9% ขณะที่ ธปท. ประเมินไว้ที่ 8% คาดว่าจนถึงสิ้นปีมีความเป็นไปได้ว่าจะสูงกว่าที่คาด แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะอาศัยอำนาจบางอย่างของประธานาธิบดีสั่งการได้ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะเหมือนผลักดันนโยบายไม่ได้  และถ้าจู่ๆ ออกมาก็อาจจะกระทบต่อการค้าโลกรวมถึงไทยได้” ดร.ดอนกล่าว

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 5.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนที่เริ่มมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย และจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่บางส่วนได้เปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 1.1% จากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ลดลง จากการชะลอการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดช่วงวันหยุดยาวจากวันชาติมาเลเซียและเทศกาลฮารีรายอฮัจญีในเดือนก่อนหน้า

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาคารชุด

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้น โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และหมวดสินค้าไม่คงทนตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับรายได้ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังคงไม่เข้มแข็งและทั่วถึง โดยรายได้ในภาคเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว แม้ว่าภาคส่งออกและการลงทุนจะขยายตัว และเมื่อดูจำนวนเวลาจ้างงานในบางอุตสากรรมจะพบว่าค่อนข้างคงที่สวนทางกับการขยายตัวของการส่งออกหรือลงทุน สะท้อนว่าในภาคอุตสาหกรรมบางแห่งอาจจะเริ่มใช้เครื่องจักรหรือระบบ automation ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การบริโภคเอกชนและการส่งออกยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกันทั้งการผลิตหมวดยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการผลิตสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีการชำระเงินทุนเพื่อจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย โดยหากหักผลของฐานสูงออก รายจ่ายประจำจะขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการเบิกจ่ายงบกลุ่มจังหวัดของงบเพิ่มเติมประจำปี 2560

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.86% เร่งขึ้นจาก 0.32% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาอาหารสดที่หดตัวน้อยลง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.53% ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 0.46% สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าที่ลดลงกว่าปกติในเดือนกันยายน ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ 2) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย และ 3) การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารทุน ขณะเดียวกันยังมีการไหลเข้าเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตราสารหนี้ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

ส่งผลให้โดยรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าในไตรมาสที่ 2 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีทั้งในมิติของสินค้าและตลาดส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราสูงส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้น แม้การบริโภคสินค้าในประเทศในภาพรวมยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำแม้จะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกระจุกตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่มีทิศทางฟื้นตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย 1-4% โดย ธปท. คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.2% และจากที่ ธปท. หารือกับกระทรวงการคลัง คาดว่าจะยังคงกรอบเงินเฟ้อเดิมในปี 2561

ดร.ดอนกล่าวว่า สำหรับภาวะน้ำท่วมที่เกิดในหลายจังหวัดคาดว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้นและไม่กระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมอย่างปี 2554 ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมขณะนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะต้องการเร่งเศรษฐกิจให้เติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ แต่จากข้อมูลระยะที่ผ่านมาคิดว่าอาจจะไม่จำเป็นมากนักเทียบกับก่อนหน้านี้