จากคนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อขอความเป็นธรรมมากว่า 12 ปี ของ “อังคณา นีละไพจิตร” ให้กับสามี “สมชาย นีละไพจิตร” อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 กำลังจะเป็นคดีที่หายไป
การยืนหยัดเพื่อความจริงที่เธอต้องต่อสู้ท่ามกลางความเจ็บปวด อังคณาต้องทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ นักการเมือง ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับคดีการหายตัวไปของ “สมชาย นีละไพจิตร” เป็น 100 ฉบับ ทั้งไปพบ ไปดักพบ ไปขอเข้าพบผู้มีอำนาจ ที่มีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชน กว่า 12 ปีแล้ว เธอยังต้องทำซ้ำๆ เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป
แม้วันนี้เธอออกมายืนอยู่แถวหน้าของการเรียกร้องจนนำมาสู่การร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย และวันนี้เธอเป็นกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นตัวแทนอื่นๆ เพื่อทวงถามความเป็น “มนุษย์” ที่ทุกคนพึงมีให้กันและกัน
ความคืบหน้าล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งหนังสือแจ้งผลการดำเนินคดีนี้กับอังคณาว่า เห็นควรงดการสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากไม่ปรากฏผู้กระทำความผิด แต่เธอและลูกๆ ก็ยืนยันจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป แม้จะรู้ว่า ในท้ายที่สุด อาจไม่มีคำตอบใดๆก็ตาม
“ถ้าถามถึงคดีสมชายในแง่ความเป็นปัจเจก ก็อยากจะบอกเลยว่า จนสุดท้ายในชีวิตเราอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็พูดกับลูกเสมอว่า อย่างน้อยในชีวิตเราเอง เราอาจจะไม่ได้เห็นความยุติธรรม แต่ก็เชื่อมั่นว่าในรุ่นลูกรุ่นหลานเรา ยังมีโอกาสที่จะได้คืนความเป็นธรรม”
“ความเป็นธรรมไม่ไช่หมายความว่าเอาใครสักคนมาประหารชีวิต แต่มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง เพื่อให้หลักประกันในการที่จะคุ้มครองกับคนว่า เรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” อังคณากล่าวกับ “ไทยพับลิก้า”
เชื่อในความจริง ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
อังคณาเล่าถึงการต่อสู้ในคดีทนายสมชายว่า เธอต่อสู้คดีนี้ในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีอำนาจ ด้วยความเชื่อใน “ความจริง” เชื่อในการที่ไม่ได้ทำผิด และจะต้องไม่ถูกกระทำแบบนี้
“เราเชื่อแบบนั้นจริงๆ ว่า คนที่ทำผิดจะต้องรับผิดชอบ แล้วสังคมก็ต้องไม่ปล่อยให้คนที่เป็นเหยื่อต้องอยู่ลำพัง สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เราพยายามบอกกับสังคม แล้ววันนี้ก็ดีใจว่าเรื่องคนหายไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแล้ว แต่เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องเข้ามาช่วยกันทั้งหมด”
ทว่า เส้นทางการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่าย อังคณาบอกว่า กว่าจะมาอยู่ตรงนี้ได้ เธอผ่านเหตุการณ์มามากมาย และต้องใช้เวลา จากคนที่ไม่มีใครรู้จัก พูดอะไรก็ไม่มีใครฟัง เรื่องการคุกคามแทบไม่ต้องพูดถึง
“มันเหนื่อยมากเลย ที่เราพูดกันว่าการเข้าถึงความยุติธรรมต้องสะดวกรวดเร็วเป็นธรรม มันไม่ใช่ ไม่จริงเลย แต่เรายังโชคดีที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไปนั่นไปนี่สะดวก ถามว่าคนที่อยู่ในป่า กะเหรี่ยง เข้ามาทีไม่เสียตังค์เหรอ ก็ต้องพักค้าง ค่ารถอย่างเดียวเท่าไหร่ ความปลอดภัยมีมั้ย มันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ฟรีหรอกค่ะ ฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมมันต้องทบทวน”
อังคณาเล่าย้อนเหตุการณ์ว่า ตั้งแต่สามีหายไป เธอยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็น 100 ครั้ง พบนายกรัฐมนตรีมาแทบทุกสมัย พบรัฐมนตรียุติธรรมมาแล้วหลายคน ส่งหนังสือไปเป็น 100 ฉบับ บางทีไม่ยอมให้พบ ต้องไปดักตรงทางเดินก็มี ดักเพื่อที่จะบอก จะยื่นหนังสือ เพื่อที่จะบอกว่าเรามา เรามีปัญหา ไม่ได้อยากจะมาด่าประจานใคร
8 เดือนในศาล ก็ไปนั่งฟังทุกวันไม่เคยขาดเพราะเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่อง มีครั้งหนึ่งในห้องพิจารณาคดี ตำรวจมากันเต็ม ประจักษ์พยานเป็นผู้หญิงคนเดียว อายุไม่มาก 20 ปีกว่าๆ ทำงานโรงงาน มาศาลคนเดียว เบิกความไปร้องไห้ไป แล้วไม่กล้าหันไปมองหน้าจำเลยที่เป็นตำรวจ
พอทนายจำเลยบอกว่า ให้พยานชี้ตัวตำรวจที่พยานเห็นว่าเป็นคนผลักขึ้นรถ ปรากฏว่าเด็กผู้หญิงไม่กล้าหันไปมอง ถามว่าวันนั้น (พยานผู้หญิงมาให้การในศาล) มีการคุ้มครองพยานมั้ย ไม่มี นั่งรถเมล์มาศาลคนเดียว แล้วเบิกความตั้งแต่เช้าถึงเย็น ปากเดียว ทนายซักยิบๆๆ เลย
แต่ตอนที่ให้การในชั้นสอบสวน เขา (พยานผู้หญิง) ชี้รูปแล้วบอกว่าใช่คนนี้ เพราะมีลักษณะแปลกกว่าคนอื่น เขาจำได้ แต่พออยู่ในศาล ทนายพยายามที่จะบอกว่าให้ชี้ ปรากฏว่าไม่กล้าชี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีได้ขึ้นสู่ศาล อังคณาเผยว่า ส่วนตัวก็รู้สึกดีใจ แล้วมักจะบอกไปถึงผู้เสียหายอื่นๆ ว่า การที่คดีถูกนำขึ้นสู่ศาลมันเป็นประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดเป็นการเปิดเผยความจริง เพราะฉะนั้น รัฐเองต้องให้ความสำคัญในการที่จะให้ทุกคดีสามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล
“คดีสมชายทำให้เรารู้เลยว่า คดีนี้ใครเป็นคนไปซื้อน้ำมัน ซื้อที่ปั๊มไหน เสร็จแล้วสัญญาณโทรศัพท์ไปจบตรงไหน อย่างน้อยที่สุดเรารู้ความจริง เรารู้ว่ามีใครกี่คนบ้างที่ตาม ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ในวันที่ 12 มีนาคม เราไม่มีหลักฐานหรอก แต่มันเหมือนการเปิดเผยความจริงให้เรารู้”
“ฉะนั้น เรื่องของการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจึงมีความสำคัญกับผู้เสียหายหรือเหยื่อทุกคน ขอให้รัฐให้ความสำคัญ อย่าอ้างแต่คำว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ งดการสอบสวน ถามว่าในฐานะชาวบ้านธรรมดาจะมีสิทธิ์ จะมีอำนาจหน้าที่ที่จะไปหาพยานหลักฐานมาจากไหน ไม่มีหรอก แต่เจ้าหน้าที่นั่นแหละที่มีหน้าที่ที่จะต้องทำ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจมากมาย ปลอมตัวเป็นสายลับไปสืบก็ทำได้ งบประมาณก็เยอะแยะ งบลับก็ใช้ได้ แต่ถามว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่มีอยู่ได้ครบถ้วนในการที่จะคลี่คลายคดีหรือไม่ ตรงนี้ต้องฝากไปถาม” อังคณา กล่าว
จะยุติการบังคับสูญหาย ต้องเอาหัวใจมาคุยกัน
เช่นเดียวกับการไปเจอนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง อังคณาบอกว่า เธอไปเพียงเพื่อย้ำเตือนว่าท่านมีอำนาจ มีหน้าที่ในการที่จะต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน
ปลัดกระทรวงเปลี่ยนมาไม่รู้กี่คน ก็ไปพบตลอด เพื่อที่จะย้ำเตือน เพื่อที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบลืมว่าตัวเองมีหน้าที่ที่จะต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน นายกฯ ก็เจอทั้งคุณอภิสิทธ์ (เวชชาชีวะ) นายกฯ สุรยุทธ์ (จุลานนท์) และคุณทักษิณ (ชินวัตร)
“คุณทักษิณเคยเชิญไปคุยส่วนตัว ได้คุยกัน คุยโดยที่ไม่ได้เป็นข่าว แล้วเราก็รู้สึกดีนะที่ได้คุยกันในหลายเรื่อง ถึงแม้ว่าสิ่งที่คุณทักษิณเคยพูดว่า คุณสมชายทะเลาะกับเมียแล้วหนีไป แต่ตอนหลังคุณทักษิณก็บอกว่ารู้สึกเสียใจ เพราะว่าไม่รู้ ได้รับรายงานตามนั้น ก็พูดไปตามนั้น แต่ก็รู้สึกเสียใจ เราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยที่สุดเรามีหนทางได้สื่อสารกัน ก็คือเอาหัวใจมาคุยกันดีกว่า”
ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ไม่ได้พบ เคยถามคนใกล้ชิดคุณยิ่งลักษณ์ว่าเราอยากไปคุยกับคุณยิ่งลักษณ์ ไม่รู้คุณยิ่งลักษณ์อยากคุยกับเราหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่า คุณยิ่งลักษณ์อาจยังไม่พร้อมหรือเปล่า ก็เลยไม่ได้ไปคุย แต่ว่าก็ดูเหมือนคุณยิ่งลักษณ์ก็มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือครอบครัวโดยการเยียวยา
“คือเงินมันเป็นส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลของการจ่ายเงินคือ เชื่อว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วก็มีบันทึกเป็นเอกสารด้วยว่า ที่ให้การเยียวยาเพราะเชื่อว่าเป็นการบังคับสูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ”
“ตรงนี้แหละที่มีความหมาย คือมันเป็นความจริงที่ทุกคนรู้ แต่ทุกคนพยายามอ้างว่าไม่มีหลักฐาน ไม่มีศพ ไม่มีคนที่บอกว่าฉันเห็น ไม่มีคลิปวีดีโอ”
“ถ้าเราใช้ปาก ใช้ลิ้น พยายามที่จะหาอะไรมาเป็นวัตถุที่จะบอก มันไม่มีหรอก แต่ถ้าเราเอาหัวใจมาคุยกัน น่าจะทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ แล้วก็ยังคงเป็นมิตรกัน สามารถที่จะหาแนวทางคุ้มครอง ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้”
มากกว่าการเยียวยาคือ “ความยุติธรรม-ความรับผิดชอบของรัฐ”
อังคณาขยายความเรื่องการเยียวยาบุคคลสูญหายในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า ได้มีมติเยียวยาครอบครัวสมชาย 7.5 ล้านบาท เนื่องจากช่วงนั้นเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ เรื่องสีเสื้อ จึงมีการเยียวยาในกรุงเทพฯ และให้มีการเยียวยาบุคคลสูญหายในภาคใต้ด้วย ประมาณ 35 ครัวเรือน จากก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่เคยมีประวัติศาสตร์การเยียวยาบุคคลสูญหายมาก่อนเพราะไม่ยอมรับว่ามีการบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
“ดังนั้น กรณีสมชายจึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ พี่ก็เป็นหนึ่งในกรรมการ มีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เรื่องสมชายก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กรรมการเห็นว่าจะเยียวยา เรียกว่าเป็นการบังคับสูญหายซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ”
แต่ว่าการเยียวยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ผู้เสียหาย ครอบครัว จะต้องเซ็นยินยอมว่าไม่ติดใจที่จะเอาผิดดำเนินการทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป แต่ในส่วนของสมชาย เราก็ผ่านมาเยอะแล้ว แล้วคดีก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ก็บอกกับรัฐมนตรียุติธรรมในฐานะประธานในที่ประชุมว่า กรณีสมชายเราผ่านมาไกลแล้ว เงินไม่ได้มีความหมายกับเราแล้ว ลูกๆ ทุกคนก็โตมีงานทำ หรือที่ยังเรียนอยู่เขาก็สามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าหากว่าให้เงินแล้วจะต้องให้เรายุติในการที่จะค้นหาความจริง เราก็ขอปฏิเสธที่จะไม่รับ
พอพูดเสร็จก็เดินออกไปนอกห้องประชุม เนื่องจากว่าเราเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ก็ให้คณะกรรมการได้ถกแถลงกัน ปรากฏว่าสักประมาณ 10 นาที ก็มีเจ้าหน้าที่ไปเชิญมาในห้องประชุม แล้วประธานในที่ประชุมก็บอกว่า
“ที่ประชุมมีมติให้เยียวยาครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร โดยไม่ตัดสิทธิ์ในการที่จะดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา ก็เลยกลายเป็นว่าทุกกรณีทั้งตากใบ กรือเซะ ทั้งหมดเลย มีการเยียวยาภาคใต้ ก็มีมาตรฐานเดียวกัน”
ถามว่าวันนี้เงินเอาไปทำอะไร ก็เก็บไว้เฉยๆ ยังไม่ได้ทำอะไร คือเรามาจากคนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะเอาเงินไปทำอะไร ทุกวันนี้ก็กินข้าววันละมื้อ สองมื้อ ข้าวทัพพีนึงก็อิ่มแล้ว
“แต่สิ่งที่เราอยากได้มากกว่าก็คือความยุติธรรม ความยุติธรรมไม่ได้หมายความว่าอยากจะให้เอาใครสักคนมาประหารชีวิต ไม่ใช่ แต่เราอยากได้ความรับผิดชอบของรัฐ ในเมื่อรัฐเป็นผู้กระทำผิด รัฐต้องบอกว่ารัฐจะรับผิดชอบยังไง”
อังคณากล่าวต่อว่า การรับผิดชอบไม่ใช่แค่การจ่ายเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงต้องมีหลักประกันที่สำคัญว่า ต่อไปจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหา เช่น การให้มีกฎหมายเพื่อที่จะคุ้มครอง ซึ่งวันนี้กระทรวงยุติธรรมเองก็ทำร่างกฎหมายอยู่
แต่ถามว่าร่างกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมทำวันนี้เพียงพอหรือเปล่า พอไปดูแล้ว พอผ่านกฤษฎีกาออกมา ก็มีหลายเรื่องที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ เรื่องสิทธิที่จะเข้าถึงความจริงของเหยื่อไม่ชัดเจน
เช่น นิยามคำว่าผู้เสียหาย ในร่างแรกของกระทรวงยุติธรรมเขียนนิยามไว้เลยว่า ผู้เสียหายหมายถึงครอบครัว หมายถึงภรรยา บุตร ผู้สืบสันดาน หรือผู้มีส่วนได้เสีย ตัดทิ้งหมดเลย แล้วเอาไปเสียบไว้ในมาตรา 10 อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ชัด ต้องเขียนให้ชัด เพราะถ้าหากเขียนไม่ชัด ก็จะต้องไปตีความอีก แล้วก็มีหลายเรื่องที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะทราบความจริง เรื่องนี้สำคัญมาก
คำถามถึงดีเอสไอ ความจริงที่ไม่ต้องมีเอกสารหลักฐาน
อังคณาเล่าว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่ไปคุยกับดีเอสไอ เขาก็เล่าให้เราฟังหมดทุกขั้นตอน พอกลับมาบ้าน ลูกๆ ก็ถาม เราก็เล่าให้ลูกฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เด็กๆ ก็ร้องไห้ แต่เราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยที่สุดเขารู้ความจริงแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อ ไม่อย่างนั้นชีวิตมันอยู่กับความไม่แน่นอน
เรื่องทั้งหมด เราเองเป็นคนขอ เพราะเราก็บอกว่าเราอยากจะรู้ความจริง เราอยากจะรู้ความจริงว่าตายยังไง แล้วเรื่องนี้ไม่สามารถทำเป็นเอกสารใดๆ ได้ทั้งสิ้น พี่ถึงได้พูดแต่ต้นว่า เราอย่ามาหาเอกสาร เราอย่ามาหาวัตถุพยาน เราเอาหัวใจมาคุยกันดีกว่ามั้ย
“ทุกคนก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเอาหัวใจมาคุยกัน แล้วเรามาหาทางออกว่าจะรับผิดชอบกรณีการบังคับสูญหายได้ยังไง เราจะมีหนทางใดในการที่จะดูแลผู้เสียหาย เราจะมีหนทางใดที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำการอะไรที่มันอหังการแบบนี้อีก”
ส่วนกรณีล่าสุด ที่ดีเอสไอส่งหนังสืองดการสอบสวนในคดีสมชาย อังคณาบอกว่า เธอเองก็งงเหมือนกัน จึงไปยื่นหนังสือคัดค้านว่าเรื่องนี้ไม่มีอายุความ เพราะฉะนั้นดีเอสไอไม่สามารถที่จะงดได้ จะต้องให้มันคงไปอย่างนั้น
ประการที่สอง ก็บอกดีเอสไอว่า การที่ดีเอสไอบอกว่าได้ทำเต็มที่แล้ว ไปหากระดูก ไปงมแม่น้ำหา ไปหาหลักฐานในแม่น้ำ ก็บอกว่า ท่านอธิบดี (พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง) ก็รู้อยู่ว่ากรณีนี้มันไม่เหลืออะไรแล้ว
อังคณาเผยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของดีเอสไอเองเคยเล่าให้ครอบครัวฟังว่า หลังจากที่สมชายถูกเอาตัวขึ้นรถแล้ว เอาไปที่ไหน เอาไปซ้อมทรมาน เสียชีวิตอย่างไร ศพถูกเอาไปทำลายที่ไหน คือทุกคนก็รู้อยู่ว่ามันไม่มีทางที่จะพบอะไร
ในเมื่อรู้อยู่ว่าไม่มีทางที่จะพบกระดูก แล้วถามว่าไปงมเพื่ออะไร ทางครอบครัวก็พูดมาตลอดว่าการจะไปงม ไปงมเพื่ออะไร มันไม่ใช่ว่ารู้อยู่ว่ามันไม่เหลืออะไรแล้ว แล้วแม่น้ำแม่กลองก็เป็นที่ที่ประชาชนใช้เป็นที่ลอยอังคาร เพราะฉะนั้นไปดูก็เศษกระดูกเต็มไปหมดเลย
“คือสิ่งซึ่งอยากจะสื่อไปวันนี้ ที่อยากจะบอกก็คือว่า ถ้าเราใช้ลิ้น ใช้ปาก ในการที่จะพูด เราแก้ปัญหาไม่ได้ แต่บางทีเราต้องหัวใจมาพูด เราต้องเอาหัวใจมาคุยกัน ถ้าเราต้องการที่จะยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทยจริง เหมือนอย่างที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญามาโดยตลอด เอาหัวใจมาคุยกัน”
“เพราะจริงๆ แล้วทุกคนก็รู้ ผบ.ตร. ก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีทุกสมัยที่ผ่านมาก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเราใช้แค่ปาก ใช้ลิ้น แล้วบอกว่ามันต้องมีหลักฐานที่มันเป็นภาพถ่าย เป็นศพ เป็นอะไรเนี่ย ทุกคนรู้ มันหาไม่ได้หรอก มันไม่มี”
“แล้วอีกอย่าง คนที่เกี่ยวข้องก็น่าที่จะยังมีตำแหน่งหน้าที่ เพราะฉะนั้น วันนี้ไม่มีใครกล้าที่จะขึ้นมาบอก กล้าที่จะเปิดเผยความจริง แต่ถ้าเอาหัวใจมาคุยกัน แล้วต้องการที่จะยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทยจริง ต้องใช้ใจ”
วัฒนธรรม “คนผิดไม่ต้องรับโทษ”
อังคณามองว่า สาเหตุที่ไม่นำความจริงมาคุยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมผู้ที่กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าผู้กระทำผิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
เธอตั้งคำถามว่า มีกี่กรณีที่เมื่อรัฐกระทำผิดแล้วรับโทษ แม้แต่คดีสมชายเองก็มีคำพูดที่ว่าทำเพื่อชาติ แต่เราไม่รู้เลยว่าการกระทำบางอย่างที่เป็นการละเมิดกฎหมาย แล้วอ้างว่าทำเพื่อชาติ จริงๆ แล้วทำเพื่อชาติจริงหรือไม่
แล้วเรื่องของสิทธิที่จะทราบความจริงมันเป็นสิทธิของเหยื่อ ของครอบครัว เป็นสิทธิที่รับรองโดยสากลโดยสหประชาชาติ สิทธิที่จะทราบความจริงจะเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะเยียวยาเหยื่อและครอบครัวด้วย
“ฉะนั้น เรื่องของการบังคับสูญหาย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความเป็นปัจเจก มันไม่ใช่แค่โศกนาฏกรรมส่วนตัว แต่เป็นปัญหาของสังคม เป็นปัญหาของชุมชน ของสังคม แล้วส่งผลกระทบ เคยมีคนบอกว่า คนหายไปคนเดียวกลัวกันไปทั้งชุมชน”
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วมันก็มีมานานแล้วในสังคมไทย แต่ปัญหาคือ เจ้าหน้าที่บางคนก็จะใช้วิธีการนี้ในการที่จะกำจัดคนที่เห็นต่าง เพราะคิดว่าไม่มีพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การกระทำผิด ดังนั้น ในเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด ก็มักจะใช้วิธีการนี้”
อังคณายังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีฆ่าแล้วเอาไปอำพรางในประเทศไทย หากผู้ทำผิดไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ สุดท้ายหาผู้ทำผิดเจอทั้งนั้น แต่ถ้าผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนของรัฐ หรือรัฐรู้เห็นเป็นใจ ยังไงก็หาไม่เจอ
ลองคิดดูว่า กรณีสมชาย ผู้ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องในการกระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น เมื่อตำรวจเองเป็นผู้ที่ทำสำนวนคดี ทำสำนวนส่งศาล แล้วในสำนวนเรามั่นใจได้ยังไง ผู้เสียหาย ครอบครัว จะมั่นใจได้ยังไงว่าสำนวนนั้นมีความหนักแน่นพอ
ถ้าจำกันได้ คดีสมชาย สมัยคุณทักษิณ รัฐบาลบอกเลยว่ามีพยานหลักฐานแน่นอน ผบ.ตร. สมัยนั้นยืนยันว่ามีหลักฐานหนักแน่นในการเอาผิด แต่พอขึ้นไปในศาล เราเองก็ตกใจ เพราะว่าในฐานะของผู้เสียหาย เราไม่สามารถที่จะเข้าไปรู้ในข้อมูลพยานหลักฐานได้เลย
พอไปถึงศาล พยานหลักฐานที่เปิดเผยในศาล ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย แล้วที่เราพบ พวงมาลัยที่ขับ พบดีเอ็นเอของคุณสมชาย พบดีเอ็นเอของทนายฝึกหัดที่ช่วยขับรถให้ในบางครั้ง แต่ไม่พบดีเอ็นเอของคนที่ขับรถจากบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากและเอารถไปจอดไว้ที่หมอชิต คนที่เอารถไปไม่มีดีเอ็นเอ อะไรแบบนี้
หรือการพบเส้นผมในรถประมาณ 20 เส้น เอา 20 เส้นมาตรวจเปรียบเทียบกับเส้นผมของครอบครัว ลูก ภรรยา และทนายฝึกหัด แล้วก็เส้นผมของสมชายเองที่ได้จากที่บ้าน ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณจำนวนหนึ่งที่บอกไม่ได้ว่าเป็นเส้นผมใคร
แต่ในขณะเดียวกันในสำนวนคดีก็บอกว่า จำเลยทั้ง 5 คน ปฏิเสธที่จะถอนผม ถอนขน และเก็บดีเอ็นเอ ถามว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า ผมที่เหลือที่ยังตรวจไม่ได้เป็นของผู้กระทำผิดหรือเปล่า
มีการไปเก็บเส้นผมในบ้านของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการไปเก็บตามพื้นบ้าน ในขณะที่พยานที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า คนที่ขับรถออกไปมีลักษณะคล้ายจำเลยที่ 2 เราก็ถามว่าในเมื่อพยานบอกว่าคนที่ขับรถออกไปคล้ายจำเลยที่ 2 แล้วทำไมจึงไปเก็บเส้นผมที่บ้านจำเลยที่ 1
แล้วการไปเก็บเส้นผมบ้านจำเลยที่ 1 เก็บผมในบ้าน ใครต่อใครเดินเข้าเดินออกทั้งวัน เราจะไปรู้ได้ไง ถ้าหากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ให้ถอนผม ทำไมไม่ไปเอาเส้นผมจากหวี จากหมวก จากที่นอน ซึ่งมันอาจจะสมเหตุสมผลมากกว่า
“คือพอไปที่ศาลเราก็รู้สึกว่า สิ่งที่ทางรัฐบาล ทางตำรวจ บอกว่ามีหลักฐานหนักแน่น จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย”
หรือแม้จำเลยจะอ้างว่าการถอนผม ถอนขน มันเป็นการทรมาน แต่ถามว่าแล้วกรณีที่ผู้กระทำผิดอย่างอื่น ผู้กระทำผิดคนอื่น คุณทั้งถอนผม ถอนขน ขูดกระพุ้งแก้มไปตรวจดีเอ็นเอ ทำสารพัด เพราะชาวบ้านไม่รู้สิทธิ์
“ถามว่าพยายามจะเก็บดีเอ็นเอทางอื่นได้มั้ย เชื่อมั้ยว่า ทราบมาว่าในระหว่างการสอบปากคำ ตำรวจทั้ง 5 คน ไม่ยอมดื่มน้ำ ไม่ยอมอะไรเลย มันเลยทำให้เห็นว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดแล้วรู้กฎหมาย รู้แนวทางการสอบสวน มันยากมากเลยที่จะเอาผิดกับคนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้จะรู้แนวทางหมด ผิดกับกรณีชาวบ้านธรรมดา ให้เข้าเครื่องจับเท็จชาวบ้านก็เข้า ให้ถอนผม ถอนขน เจาะเลือด ชาวบ้านก็ยอมหมด”
อังคณาเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการเลือกปฏิบัติ เป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม ระหว่างผู้รู้กฎหมายกับผู้ไม่รู้ และผู้ที่ไม่มีอำนาจ
“ถ้าพูดถึงชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธเลย อยู่ในการควบคุม ชาวบ้านจะถูกโน้มน้าวให้รับสารภาพ ต้องแสดงความบริสุทธิ์ ให้เก็บดีเอ็นเอ ให้เข้าเครื่องจับเท็จยังมีเลย ทั้งๆ ที่เครื่องจับเท็จไม่สามารถเป็นพยานในศาลได้ แต่สุดท้ายถูกทำสารพัดทุกวิธีการ แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ คุณปฏิเสธมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ให้การใดๆ ทั้งสิ้น และไปให้การเฉพาะในศาลเท่านั้น”
“แล้วตรงนี้มันเป็นขั้นต้น มันเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมไทย แล้วถ้าหากว่าต้นทางยังไม่สามารถสร้างหลักประกันในความเท่าเทียมของการเข้าถึงความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคนได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร” อังคณากล่าว
หวังรัฐผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย
อังคณาคาดหวังว่า ในอนาคต หาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหายผ่าน คดีสมชายก็จะต้องเป็นคดีที่เอามาพิจารณาใหม่ ซึ่งขณะนี้ทราบว่ากฎหมายร่างเสร็จแล้ว น่าจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประมาณต้นปี 2560
กระนั้นก็ตาม ใน สนช. มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก ก็ได้แต่เรียกร้องว่า เวลาเข้าไปในขั้นตอนของ สนช. ให้มีการตั้งกรรมการวิสามัญ แล้วจะต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานเรื่องทรมานและบังคับสูญหายเข้าเป็นกรรมาธิการด้วย
อังคณาอธิบายว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่การให้สัตยาบันต้องมีกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องกับอนุสัญญา ซึ่งประสบการณ์ทั่วโลกที่เขามาร่างเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศก็คือ
“เขาไม่ได้ใส่ใจว่ามีศพหรือไม่มีศพ แต่คนที่เอาตัวคนคนหนึ่งไป คนที่มีคนเห็นว่าอยู่กับคนหายเป็นคนสุดท้าย คนนั้นมีหน้าที่ต้องเอากลับมาคืน ต้องเอาคนคนนั้นมา หน้าที่ในการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของคนที่เอาตัวไป”
แต่ตอนนี้ระบบของไทยมันเป็นระบบกล่าวหา เราต้องพิสูจน์ว่าพวกนี้แหละเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ว่าในระบบใหม่ คนที่เอาตัวไป ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเอาไปแล้วเขาอยู่ที่ไหน ไม่ได้ทำให้หายไปจริง ซึ่งจะถือว่าเป็นคุณูปการ
“ดังนั้น สิ่งที่พยายามจะเรียกร้องก็คือ กฎหมายที่จะออกมาจะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญา แล้วต้องสามารถที่จะให้ความคุ้มครอง ป้องกัน และยุติการบังคับการสูญหายได้จริง ซึ่งมีความหมายมาก เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”
แต่หากยังไม่มีกฎหมาย อังคณาแนะนำว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกคือต้องมั่นใจในการที่จะไปต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ต้องยืนยันว่าสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน เป็นศักดิ์ศรี หากเราถอย คนที่ถูกกระทำ คนหาย คนที่ถูกอุ้มหาย ก็จะถูกป้ายสีให้กลายเป็นคนผิด แทนที่จะมีการหาตัวผู้กระทำผิด
“เพราะฉะนั้น ลำดับแรกเลย เราต้องยืนยันว่าเรามีสิทธิ์ในการที่จะเข้าถึงความยุติธรรม แล้วรัฐเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับฟังเสียงทุกเสียง ต้องพยายามใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทั้งหมดในการที่จะอำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่บอกว่ากฎหมายไม่มี ไม่มีพยาน ไม่มีหลักฐาน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น อีกหน่อยทุกคนก็หายได้”
คุณแม่หัวใจแกร่ง
ตลอดการต่อสู้กว่า 10 ปีที่ผ่านมา อังคณายอมรับว่าเธอเหนื่อยมาก และในฐานะแม่ของลูก เธอเป็นห่วงลูกมาก กลัววิถีชีวิตของลูกจะเปลี่ยนไป แต่สุดท้ายอังคณาและลูกๆ ทั้ง 5 คน ก็ฟันฝ่าฝันร้ายมาด้วยความอดทนและเข้มแข็ง
“12 ปี 9 เดือน มันนานมาก แล้วมันก็อยู่กับชีวิตเรา ถ้าถามว่าความเสียหายทางจิตใจเป็นยังไง มันประเมินไม่ได้หรอก คุณไม่มีทางรู้เลยว่าเรานอนฝันร้ายกี่คืน คุณไม่มีวันรู้เลยว่าเวลาที่เราอยู่คนเดียวเราทำอะไร เรามีความสุขเหมือนคนอื่นมั้ย”
“บางคนก็บอกว่าเราไม่กลัว แต่จริงๆ แล้วมันคงก้าวข้ามความกลัวหรือไม่กลัวไปแล้ว แต่สิ่งซึ่งเรารู้สึกก็คือ เรื่องนี้มันกระทบกระเทือนจิตใจ มันบอกไม่ได้ว่ามันมากแค่ไหน มันประเมินยากมาก”
“ช่วงปีต้นๆ ถามว่าเวลาเราเห็นลูกแอบไปซุกตัวร้องไห้ในมุมใดมุมนึงของบ้านแล้วเรารู้สึกไหม คือ ลูกจะไม่กล้าร้องไห้ให้เราเห็น แต่เราแอบได้ยิน เราแอบเห็น แล้วเรารู้สึกว่าความเสียหายทางจิตใจมันมากมายมหาศาล”
ผู้เป็นแม่เล่าว่า ช่วงที่สามีหายไปใหม่ๆ ก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม รับส่งลูกทุกวัน ไม่เคยขาดเรียน ใช้เวลาส่วนอยู่กับลูก จนกระทั่งครบปี ก็เริ่มตั้งคำถามกับลูกว่าตกลงเราจะยังไง เพราะช่วงนั้นมีคนแปลกหน้ามาเตือนให้ระวังตัว
แม้แต่ญาติใกล้ชิดยังบอกให้ว่าระวังตัว มีคนเขาเป็นห่วง พอถามว่าใคร ก็ไม่มีใครบอก เพียงแต่บอกว่าให้ระวังตัวแล้วกัน ผู้ใหญ่เขาเตือนมา อย่าพูดมาก ญาติซึ่งเป็นญาติสนิทหลายคนก็เริ่มห่างออกไป คือเรารู้สึกได้ถึงความกลัวของคนรอบข้างหลังจากนั้นก็นั่งคุยกับลูก 5 คน เล่าให้ลูกฟังว่า มีคนที่เสนออยากจะช่วยเหลือครอบครัว เช่น ถ้าลูกอยากจะไปเรียนต่างประเทศก็ยินดีสนับสนุน เราอาจจะรับความช่วยเหลือ แล้วมีชีวิตของเราไป ก็น่าจะเป็นชีวิตที่สุขสบายดี
หรือเราคิดว่าเราจะต้องหาความเป็นธรรมให้พ่อ ซึ่งเราก็อาจจะมีชีวิตอีกแบบหนึ่งนะ ชีวิตความเป็นส่วนตัวเราอาจจะหายไปเลยก็ได้ อีกหน่อยชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนไป เราต้องแลก ก็นั่งคุยกันนาน
“ลูกๆ ทุกคนก็บอกว่า พ่อทำเพื่อคนอื่นมาเยอะ คือเราเป็นมุสลิม เราก็เชื่อว่าวันหนึ่งเราต้องกลับคืนสู่พระเจ้า แล้วเราก็จะต้องได้พบกัน แล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้าถึงวันนั้น เราจะมองหน้าพ่อได้ยังไง ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เรารับค่าตอบแทนแล้วมีชีวิตที่สุขสบาย โดยที่เราไม่ได้หาความเป็นธรรมให้พ่อ”
“พอทุกคนเห็นด้วยกับแบบนี้ ก็เลยเริ่มที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป เริ่มจากการที่เรามาอ่านหนังสือเยอะมาก เพราะว่าประเทศไทยเราไม่เคยมีคดีการบังคับสูญหาย หาหนังสือต่างประเทศมาอ่านบ้าง หาเพื่อนที่มีความรู้ ศึกษาแนวทาง”
นอกจากนั้น ช่วงหลังเกิดเหตุใหม่ๆ สังเกตว่า คนถูกอุ้มหายจะถูกทำให้กลายเป็นคนผิด อย่างกรณีสมชายมีชื่อเรียกขานเลยว่าเป็นทนายโจร ตำรวจเรียกทนายโจร กรณีบิลลี่ (นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน) ก็ถูกระบุว่าไปลักน้ำผึ้งในป่า
ทุกคนถูกทำให้กลายเป็นคนผิด เหมือนกับเพื่อเป็นความชอบธรรมว่า ถึงจะหายก็หายไป แล้วลองนึกดูว่าลูกๆ ออกไปโรงเรียนทุกวัน เดินผ่านร้านหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวตัวโตเลย อุ้มทนายโจร ข่าวทีวี ข่าววิทยุ ลูกก็พยายามที่จะไม่เป็นภาระกับเรา
“แต่สิ่งที่พูดกับลูกก็คือ การที่สังคมหรือสื่อเชื่อตามที่เจ้าหน้าที่บอก เป็นเพราะว่าเขาไม่รู้จักพ่อ แล้วเขาก็จะไม่มีวันรู้จักพ่อ เพราะวันนี้พ่อไม่อยู่แล้ว แต่ทุกคนจะต้องรู้จักพ่อผ่านตัวของเราเอง ผ่านพวกเราทุกคน ดังนั้น เราจึงต้องเป็นผู้ที่จะสื่อสารให้คนรู้ว่าพ่อคือใคร ผ่านการกระทำของพวกเรา”
“พยายามที่จะบอกลูกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ลูกก็จะต้องเป็นคนที่จะทำประโยชน์แก่สังคม ต้องไม่ให้เหตุการณ์นี้มาทำให้ลูกเป็นคนที่ต่อต้านสังคม หรือต่อต้านรัฐ หรือรู้สึกว่ามันเป็นความไม่เป็นธรรม แล้วหลบหายไปจากสังคม แต่เราต้องมีที่ยืน”
นอกจากด้านจิตใจแล้ว ปฏิเสธิไม่ได้ว่า การหายไปของทนายสมชาย ยังส่งผลกระทบเรื่องความเป็นอยู่ของครวครัว อังคณาเล่าว่า ตอนที่คุณสมชายยังอยู่ เขาว่าความโดยใช้เงินส่วนตัว ไม่เคยมีใครสนับสนุน ไม่ได้มีแหล่งทุนที่ให้ทุนทำงาน
ใช้เงินส่วนตัวในการเดินทางไปเหนือ ไปใต้ ไปว่าความ ก็เคยถามเขาว่า แบบนี้เราจะทำไปได้แค่ไหน ถ้าคดีมันมากขึ้น เขาก็บอกว่าที่จริงการเป็นทนายความมันไม่ต้องใช้เงินทุน มันใช้วิชาความรู้ แค่เพียงมีค่ารถ ค่าเดินทาง ถ้าเป็นคดีในกรุงเทพฯ ก็มีค่าน้ำมันมันรถ กลางวันก็กินข้าวจานละ 20 บาท ถ้าต้องไปต่างจังหวัด ก็เดินทางไปเช้าเย็นกลับ
“ถามว่าครอบครัวกระทบมั้ย ต้องยอมรับความจริงว่าครอบครัวก็กระทบ คือตัวเองก็พยายามที่จะหาอะไรที่จะเป็นรายได้ ครอบครัวเราวางแผนมาก มีสมุดบัญชีธนาคาร 4-5 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นเฉพาะค่าเทอมลูก พอเรามีเงิน ก็เอาเข้าบัญชีนี้ก่อน อย่างน้อยที่สุดต้องมีหลักประกันว่าลูกต้องมีเงินเรียนหนังสือ”
“อันที่สอง เป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่ากับข้าว นอกจากนั้นก็จะเป็นบัญชีเงินเก็บ เงินออม ซึ่งเวลาเรามีรายได้ อย่างน้อยต้องเก็บก่อน 5% 10% ที่จะเป็นเงินออม แล้วก็เตรียมเผื่อไว้ค่าเทอมลูกปีละ 2 เทอม นอกจากนั้นเป็นค่าอาหารที่สามารถปรับได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปกินข้าวนอกบ้าน ไม่ชินกับการกินข้าวนอกบ้าน จะกินนานๆ ที เรามีวินัยมาก” นี่คือความเป็นอยู่ของครอบครัว
กำลังใจครอบครัวและสังคม
แต่ถึงกระนั้น กำลังใจที่ทำให้เธอเดินหน้าสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไปก็คือลูกๆ นั่นเอง รวมถึงเพื่อนร่วมสังคม “อย่างแรกคือครอบครัว แล้วก็เพื่อนร่วมสังคม”
“ทุกวันนี้บางทีนั่งรถเมล์ กระเป๋ารถก็ไม่เก็บตังค์ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าก็มีคนรู้จักขอถ่ายรูป สวัสดีทักทาย คือเรารู้สึกว่าเรามีมิตร ตรงนี้ถือว่ามันเป็นกำลังใจที่เราไม่ได้ซื้อหา ไม่ได้เรียกร้อง เป็นมิตรภาพที่สังคมมอบให้ แล้วมันมีคุณค่ามาก“
ขณะเดียวกัน หลังจากกรณีสมชาย อังคณาบอกว่า แม้จะมีคนหายอีก แต่ก็ลดลงไปมาก ก็รู้สึกดีใจว่าพอมาถึงตอนบิลลี่หาย รู้สึกว่าสังคมไทยไม่ยอม ทุกคนออกมา สื่อออกมาช่วยกัน เราถึงรู้สึกว่าสังคมไทยเปลี่ยนไป มันไม่เหมือนตอนเรา
ตอนเรามันเหมือนเราสู้คนเดียวจริงๆ ในขณะที่สื่อเองก็ยังพูดว่าเป็นทนายโจร แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าพอมีใครสักคนหาย ไม่ว่าจะเป็นบิลลี่หรือพ่อเด่น (นายเด่น คำแหล้ แกนนำต่อสู้สิทธิในที่ดินทำกิน ชุมชนบ้านโคกยาว จังหวัดชัยภูมิ) เมื่อต้นปี 2559
“เรารู้สึกว่า ทุกคนลงมามะรุมมะตุ้มช่วยกัน แม้จะเป็นคนเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก เราก็เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลง”
“สรุปเหตุการณ์และคดีหายตัวไป ทนายสมชาย นีละไพจิตร”
12 มีนาคม 2547 สมชายได้หายตัวไปอย่างลึกลับบนถนนรามคำแหง อังคณาเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือว่า สมชายออกจากบ้านพักตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2547 และขาดการติดต่อกับทางบ้าน เกรงว่าจะเกิดเหตุร้าย ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวน
7 เมษายน 2547 พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม 5 นายต่อศาลอาญา ได้แก่ พ.ต.ต. เงิน ทองสุข, พ.ต.ท. สินชัย นิ่งปุญญกำพงษ์, พ.ต.ท. ชัดชัย เลี่ยมสงวน, จ.ส.ต. ชัยแวง พาด้วง, และ ส.ต.อ. รันดร สิทธิเขต โดยพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 5 นาย ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี
29 ตุลาคม 2547 สภาทนายความมีหนังสือถึงดีเอสไอ ขอให้พิจารณารับโอนสำนวนคดีที่นายสมชายถูกประทุษร้ายและสูญหายเป็นคดีพิเศษ และมีหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ถึงนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีการหายสาบสูญของสมชาย ซึ่งพลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา
12 มกราคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ต. เงิน ทองสุก ในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนจำเลยอีก 4 นาย ศาลยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
11 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลย 5 คน และไม่อนุญาตให้อังคณาและบุตรเป็นโจทก์ร่วม ศาลอ้างว่าไม่เป็นที่ชัดเจนว่านายสมชายเสียชีวิตแล้วหรือไม่
17 พฤษภาคม 2555 ศาลจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่ง พ.ต.ต. เงิน เป็นบุคคลสาบสูญ ตามคำร้องของทนายความและครอบครัวของ โดยมีข้อมูลว่า ได้หายสาบสูญในช่วงวันที่ 19 กันยายน 2551 จากเหตุการณ์คันกั้นน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม 2557 ศาลฎีกาไม่รับหลักฐานบันทึกการใช้โทรศัพท์ที่ครอบครัวนีละไพจิตรยื่นเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์และเจ้าหน้าที่จากผู้ให้บริการมาให้ข้อมูลต่อศาล
25 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้นางอังคณาและบุตรเป็นโจทก์ร่วมอีกเช่นกัน ด้วย เหตุผลเดิม
29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกามีคำพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 นาย เพราะมีหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอ และไม่อนุญาตให้ครอบครัวนีละไพจิตรเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี
12 ตุลาคม 2559 อังคณาโพสต์ภาพหนังสือแจ้งผลการดำเนินคดีจากสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดีเอสไอ เห็นควรงดการสอบสวน เนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด
13 ตุลาคม 2559 พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ แถลงชี้แจงยุติสอบสวนคดีทนายสมชาย
3 พฤศจิกายน 2559 อังคณาเข้าพบ พ.ต.อ. ไพสิฐ เพื่อขอคัดค้านการยุติการสอบสวนคดี ขณะที่ดีเอสไอออกเอกสารชี้แจงอย่างเป็นทางการถึงคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย
หมายเหตุ: สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารวบรวม