ThaiPublica > เกาะกระแส > เจาะลึก ” 3 Mega-Trends” เปลี่ยนโลกธุรกิจ อะไรคือตัวแปร คาดอีก 5 ปีมาแน่

เจาะลึก ” 3 Mega-Trends” เปลี่ยนโลกธุรกิจ อะไรคือตัวแปร คาดอีก 5 ปีมาแน่

13 ตุลาคม 2016


นางสาววิคตอเรีย ฟอสเตอร์
นางสาววิคตอเรีย ฟอสเตอร์

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ดีแทคร่วมกับ ” Trend Watching.com” จัดงานสัมมนา “Dtac presents Trend Waching Global Trend Seminar 2016” โดยภายในงานช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงเทรนด์ขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก หรือ Mega-Trends ในหัวข้อ “Insight to 2021 Global Mega-Trends for the Next 5 years”

นางสาววิคตอเรีย ฟอสเตอร์ กล่าวถึงเทรนด์ที่จะเกิดในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564 ว่าแบ่งเป็น 3 เรื่อง 1) สถานะของผู้บริโภค (Consumer Status) จากเดิมที่เน้นตัวสินค้าที่จับต้องได้ว่าจะต้องดีกว่า แรงกว่า แพงกว่า หรูหรากว่า หรือเรียกว่าสถานะทางกายภาพไปเป็นสถานะผ่านประสบการณ์ต่างๆที่จะแสดงตัวตนและค่านิยมของตนเองว่าเป็นคนแบบไหน จากการสำรวจพบว่ากว่า 80% ของผู้บริโภคหันมาเลือกจ่ายเพื่อประสบการณ์ที่หรูหรามากกว่าสินค้าหรูหราอย่างที่เคยเป็นมา

“เทรนด์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ เราจะเห็นตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น ธนาคารจะให้รางวัลเพิ่มเติมกับการที่ลูกค้าเปลี่ยนวิถีชีวิตให้แอคทีฟมากขึ้นด้วยสโลแกนว่าสุขภาพคือสินทรัพย์หนึ่งที่ควรลงทุน หรือสายการบินที่ยกห้องสวีทขึ้นมาไว้บนเครื่อง หรือโรงแรมที่แสดงออกว่าเป็นโรงแรมสีเขียวรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น แล้วมันจะเปลี่ยนต่อไปอีกในอนาคตที่จะถึงนี้ด้วย” นางสาววิคตอเรีย กล่าว

2) โลกกำลังเข้าสู่ยุค “หลัง-หลักประชากรศาสตร์ ” คือหลักประชากรศาสตร์ที่ถูกใช้คาดการณ์วิถีชีวิตของผู้บริโภคมาแต่เดิมจะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละคนสามารถแสดงออกถึงตัวตนและค่านิยมของตนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการถูกจับกลุ่มทางประชาศาสตร์อีก เช่นเด็กต้องมีวิถีชีวิตแบบหนึ่ง ผู้สูงอายุจะมีวิถีชีวิตอีกแบบ

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่สนับสนุนเทรนด์ดังกล่าว 4 ประการ ประการแรก การเข้าถึงของผู้บริโภคต่อสินค้าประเภทต่างๆเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าขายข้ามทวีปที่มีมากขึ้น ประการที่สอง การได้รับอนุญาตให้มีความแตกต่างและสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้มากขึ้น เช่น การแต่งตัว การแสดงออก เป็นต้น ประการที่สาม ความสามารถในการชีวิตตามแบบที่ต้องการ โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และประการสุดท้ายคือ ความต้องการแสดงออกถึงตัวตนของผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ในข้อแรก

3) เกิดการปะทุทางดิจิทัล หรือ Digital Disruption ประเด็นหลักที่น่าสนใจกว่าคือถึงเวลาที่เราควรหันกลับมามองการปะทุดังกล่าวในมุมมอง “ความต้องการของผู้บริโภค” มากกว่าที่จะมองผ่านมุมมอง “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” แบบที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมองเห็นโอกาสได้หลากหลายมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เช่น แอพลิเคชั่น Waze ที่จะเตือนนัดท่องเที่ยวในโอลิมปิคเกมไม่ให้ไปยังพื้นที่ของเมือง, Samsung ผลิตแว่นตาเสมือนจริง หรือ Virtual Reality ที่ทำให้พ่อแม่มาเล่นนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังได้เวลาต้องห่างไกลกัน เป็นต้น

นางสาวอะคาเซีย เลอรอย
นางสาวอะคาเซีย เลอรอย

นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายนางสาวอะคาเซีย เลอรอย (Acacia Leroy) ได้พูดถึงแนวโน้มในทวีปเอเชียด้วยหัวข้อ “10 Key Asian Trends: part 1 – Serving the Next Billion and Part 2 -Tech of Tomorrow”

นางสาวอะคาเซีย กล่าวว่าเทรนด์ 5 ข้อแรกว่าอยู่ในประเด็นหลักของการเกิดสังคมเมือง (Urbanization)ในเอเชียที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปว่า 1) วิถีชีวิตแบบไม่หลับไหล (All Hours Access) เป็นผลมาจากทั้งชั่วโมงการทำงานของคนเมืองในเอเชียที่เพิ่มขึ้นและความยืดหยุ่นในเวลาการทำงานที่หลากหลาย จนกลายเป็นเมืองที่มีวิถีชีวิตแบบไม่มีวันหลับไหลและต้องเปิดบริการตลอดเวลา

2) ชีวิตตามความต้องการ (Life on-demand) ที่เกิดจากวัฒนธรรมแบ่งปัน หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้ทุกคนเข้าถึงสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น บริการเช่าเฟอร์นิเจอร์แทนที่จะซื้อ หรือเช่าเสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำและทันสมัยอยู่เสมอ เป็นต้น

3) การหารายได้โดยไม่ต้องลงแรง เนื่องจากสังคมเมืองในเอเชียมีหลายจุดที่ทรัพยากรยังถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าและมีโอกาสที่จะสร้างธุรกิจจากสิ่งเหล่านี้ เช่น ช่วงเวลารถติดในเมือง ปัจจุบันธุรกิจรับโฆษณาบนพื้นที่รถในช่วงเวลาดังกล่าว หรือบริการไปเที่ยวเป็นเพื่อนสำหรับคนที่มีเวลาว่างและไม่มีอะไรทำ เรียกรายได้แบบนี้อีกอย่างว่า Effectless Earning

4) การหดขอบเขตระหว่างประเทศ (Borders Breached) ภายหลังจากที่โลกดิจิทัลได้เชื่อมโยงผู้คนผ่านอินเทอร์เน็ตและโลกเสมือนต่างๆ แต่ในความเป็นจริงประเด็นเรื่องการข้ามแดนยังคงไม่เกิดขึ้นอย่างเสรี ซึ่งสร้างให้เกิดโอกาสมากมายในการทำธุรกิจในอนาคตที่จะลดช่องว่างดังกล่าว เช่น Grab มีบริการโดยสารข้ามประเทศในบางพื้นที่ เป็นต้น

5) รับผิดชอบผู้บริโภค จากการสำรวจพบว่าเทรนด์ความสัมพันธ์ของธุรกิจและผู้บริโภค โดยเฉลี่ยค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับประเดฌนดังกล่าวอย่างมากในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจหากหันมาให้ความรับผิดชอบกับผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในข้อที่ 6-10 นางสาวอะคาเซีย กล่าวว่าจะเป็นเทรนด์ทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก เริ่มต้นจาก

6) โลกที่แอพลิเคชั่นข้อความจะเป็นจักรวาลของทุกอย่าง (Massage Control) เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นจากแอพลิเคชั่นส่งข้อความธรรมดา เริ่มสามารถให้บรืการอื่นๆและให้อำนาจควบคุมทุกขั้นตอนแก่ผู้บริโภค เรียกว่าเป็นจักรวาลที่มีทุกอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองอยู่บนมือผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น We chat มีเปิดให้บริการโอนเงิน แยกบิลค่าใช้จ่าย จ่ายค่าแทกซี่ สั่งซักรีดแบบตามสั่ง รับจ้างทำการบ้าน จองห้องคาราโอเกะ เป็นต้น

7) สร้างโลกเสมือนจริง ((Virtual) Safe Heaven) ช่วยสร้างโลกจำลองที่ไม่มีความเสี่ยง ราคาถูก และย้อนกลับได้ ตัวอย่างเช่น Samsung ออกแบบโลกจำลองให้พ่อแม่และลูกที่อาจจะอยู่ห่างไกลกันได้มาเล่านิทานก่อนนอนและใช้เวลาร่วมกันผ่านโลกจำลองดังกล่าวได้ผ่านแว่นตา VR หรือ สร้างโลกจำลองสำหรับคนเป็นโรคกลัวความสูง ช่วยรักษาโดยไม่ต้องออกไปเผชิญโลกจริงที่อันตรายกว่า

8) สร้างประสบการณ์ใหม่ๆผ่านโลกเสมือนจริง (Virtual Experence Economy) โดยการสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ เช่น pokemon Go ที่นำโลกของเกมมาซ้อนทับกับโลกจริง เป็นต้น

9) สร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ (Human Renewed) โดยอาศัยเทคโนโลยีสมองกลใหม่ๆ (AI) ซึ่งอีกด้านหนึ่งจะสร้างงานรูปแบบใหม่ๆเช่นกัน และทำให้เกิดคำตอบใหม่ๆต่อไปเรื่อยๆ

“ตอนนี้คนกลัวเหมือนกับยุคที่เรามีเครื่องจักรไอน้ำก็กลัวว่าเครื่องจักรไอน้ำจะมาแทนที่งานของคนทุกคน ซึ่งไม่ เราก็มีงานใหม่ หาคำตอบใหม่ๆ ตอนนี้เราได้ AI เราก็จะมีงานใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆจากมันอีก”

10) พลเมืองเน็ต (Internet of Citizen) ที่สามารถหาทางออกของสังคมใหม่ๆได้ดีขึ้น อาศัยความเชื่อมโยงที่ง่ายขึ้นของโลกอินเตอร์เน็ต จากเดิมที่มีเพียงภาครัฐและเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่า 73% ของผู้ตอบคำถามไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาสังคมได้ และ 82% ระบุว่าอยากให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น