ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของโลก โดยมี 5 เทรนด์สำคัญเป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกระแสโลกอนาคต ผู้บริหารยุคเมกะเทรนด์ ต้องผันตัวเองมาเป็นซีอีโอสายพันธุ์ใหม่ (Hybrid) คือสามารถปรับตัวให้ธุรกิจอยู่ได้ทั้งโลกปัจจุบัน-โลกอนาคต มีแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว รองรับความเสี่ยง-ความไม่แน่นอน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงคน เทคโนโลยี ภาระกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาผู้นำองค์กรและผู้บริหารทั้งหลายต้องเข้าใจถึงทิศทางหลักของกระแสโลกในอนาคต หรือ ‘เมกะเทรนด์’ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อเตรียมการรับมือกับความท้าทาย และปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PwC) กล่าวว่า ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ‘เมกะเทรนด์’ ถือเป็นแนวโน้มหลักที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศและแต่ละสังคมในระดับที่แตกต่างกันออกไป แต่ในขณะเดียวกันต้องถือว่าเป็น ‘กระแสร่วม’ ที่โลกกำลังดำเนินไปในอนาคตในทิศทางเดียวกัน
จากผลการศึกษา Five megatrends and possible implications และผลสำรวจซีอีโอล่าสุดของทาง PwC พบว่ามีอยู่ 5 แนวโน้ม ได้แก่
1. ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี (Technological breakthroughs)
แนวโน้มสำคัญประการแรกคือ พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่นอกจากจะรุดหน้าไปเรื่อยๆ แล้วยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แพร่หลายกว้างขวางมากขึ้น ด้วยราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน และยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การพัฒนาสังคมและธุรกิจ นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยียังก่อให้เกิดนวัตกรรมและแนวคิดด้านการประกอบอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อขนาดและรูปแบบของอุตสาหกรรมการผลิตของโลก รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ที่ก่อให้เกิดสินค้าและบริการในด้านต่างๆ
“เมื่อผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ก็ย่อมจะสามารถแชร์ข้อมูล หรือให้ฟีดแบค (feedback) ต่อสินค้าและบริการที่ได้รับได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นผ่านช่องทางสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากไปดูสถิติจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในโลกในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีมากถึง 1.19 พันล้านคน เกือบเท่าจำนวนประชากรของอินเดียทั้งประเทศ” นายศิระกล่าว
นายศิระกล่าวต่อว่า การนำโซเชียลมีเดียมาประยุกต์ใช้จะช่วยย่นระยะทางการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ใกล้กันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความเสี่ยงจากการจารกรรมข้อมูลสารสนเทศ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรแบบเรียลไทม์ (real-time) หากฟีดแบคของสินค้าและบริการเป็นไปในทางลบ ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องมีแผนรองรับความเสี่ยง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าแบบเรียลไทม์เมื่อยามที่เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น
“ผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัลมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน คนเหล่านี้ต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านการใช้อุปกรณ์สื่อสารที่หลากหลาย ต้องการสินค้าและบริการที่ customise ได้ คัดสรรขึ้นมาสำหรับผู้บริโภคเฉพาะราย และต้องการที่จะได้รับการบริการและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร โลกในระยะต่อไปข้างหน้าจะเต็มไปด้วยคนที่เราเรียกว่า ‘ดิจิทัลเนทีฟ’ (Digital Natives) คือพวกที่ต้องเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ และใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการชีวิตประจำวัน และใช้เครื่องมือสื่อสารที่หลากหลาย ซึ่งเรามองว่า การขยายตัวของลูกค้ากลุ่มนี้จะยิ่งเติบโตใน 5-10 ปีข้างหน้า” นายศิระกล่าว
นอกจากนี้ กระแสของการนำกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 ประเภท ได้แก่ Social, Mobility, Analytics และ Cloud Computing ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กรทั่วโลก ส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวและเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
รายงานยังระบุว่า อัตราการใช้อุปกรณ์สื่อสาร สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า คาดว่าจำนวนเครื่องมือสื่อสาร (connected devices) ในโลกจะเพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านเครื่องในปี 2558 โดยมีมากกว่าประชากรโลกซึ่งมีอยู่ 7.2 พันล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 3 เท่าของประชากรในโลกทั้งหมด1
“ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยียังส่งผลกระทบต่อรูปแบบการจ้างงานองค์กรในอนาคต คือมีทั้งผลดีและผลเสีย โดยหากมองในแง่บวก จะทำให้ธุรกิจมีช่องทางที่หลากหลายขึ้นในการเฟ้นหาความสามารถ (talent) ผ่านทางพื้นที่ดิจิทัล (digital platform) ต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการแข่งขันในการเฟ้นหาคนที่ใช่ของนายจ้าง ส่งผลให้เกิด ‘Talent war’ ตามมา นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องปัญหาสมองไหลและค่าแรงที่สูงขึ้นของตลาดประเทศที่มีการเติบโตสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า” นายศิระกล่าว
2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (demographic shifts)
การเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจไปสู่ตลาดเกิดใหม่ (emerging economies) และการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วในอีก 10 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบต่อแรงกดดันในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งรูปแบบและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของบุคคล บรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคม
ผลกระทบหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (aging society) ในขณะที่สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (Working society) กำลังปรับตัวลดลง โดยรายงานของ The United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division คาดว่าสัดส่วนประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเติบโตถึงร้อยละ 21 ในปี 2593 จากปี 2543 ที่เพียงร้อยละ 1022
นายศิระกล่าวว่า แนวโน้มในทางประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่ชราภาพมากขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่อัตราการเกิด (fertility rate) ที่ลดลง ในขณะเดียวกับที่ช่วงอายุของประชากรในสังคมยืดยาวขึ้นสืบเนื่องจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเทคโนโลยีในทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรแรกเกิด ประชากรวัยทำงาน และจำนวนผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไป
ประเทศไทยที่กำลังเคลื่อนตัวสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย โดยหากมองในแง่บวก ระลอกคลื่นของสังคมผู้สูงอายุจะส่งผลให้คนมองหาการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังซื้อในกลุ่มสังคมคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยรายงานได้ระบุว่า การใช้จ่ายของกลุ่มคนชนชั้นกลางทั่วโลก (spending of the global middle class) มีแนวโน้มจะสูงถึง 55.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 จาก 21.3 ล้านล้านในปี 2552 สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก3
“ในทางตรงกันข้าม หากโครงสร้างประชากรศาสตร์เปลี่ยนแปลงสังคมไปเป็นสังคมที่ชราภาพมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐ หากประชากรวัยทำงานมีไม่เพียงพอ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างภาษี หรือแม้กระทั่งสวัสดิการต่างๆ และเมื่อมีประชากรสูงวัยเป็นจำนวนมาก นโยบายทางด้านสาธารณสุขก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อรัฐฯ ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุ และอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ของประเทศโดยรวม” นายศิระกล่าว
3. การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก (shift in economic power)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในระยะเวลาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโลกได้ถูกขับเคลื่อนโดยตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงในกลุ่มที่เรียกว่า E7 ได้แก่ จีน, อินเดีย, บราซิล, รัสเซีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก และตุรกี
นายศิระกล่าวว่า ถึงแม้ทิศทางการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเผชิญกับความอ่อนแอในปีนี้ หลังจากตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อว่าประเทศในกลุ่ม E7 จะเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยหากไปดูอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้ จะพบว่า GDP เพิ่มขึ้นอย่างมากจนมีขนาดใหญ่เกือบสองเท่าของ GDP ในกลุ่ม G7 หรือกลุ่มประเทศมหาอำนาจเดิมซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร และ แคนาดา
“PwC คาดการณ์ว่า ในปี 2593 ประเทศในกลุ่ม E7 จะมี GDP รวมกันสูงถึง 138.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จาก 20.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552) นำหน้า GDP ของกลุ่มประเทศ G7 ที่น่าจะอยู่ราวๆ 69.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ”นายศิระ กล่าว
นายศิระยังมองว่า การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลกมาเป็น ‘บูรพาภิวัฒน์’ จะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และทำให้เกิดคู่แข่งทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะจากฝั่งเอเชีย ทำให้อิทธิพลของผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมบางประเภทในตลาดที่พัฒนาแล้วลดลง เพราะต้องเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ รวมทั้งขาดความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุน หรือดึงดูดพนักงานที่มีทักษะให้เข้าทำงานด้วย รัฐบาลของกลุ่มประเทศเหล่านี้อาจมีความจำเป็นต้องกำหนดกฏระเบียบและนโยบายทางภาษีที่ดึงดูด หรือออกมาตรการกระตุ้นหรือส่งเสริมการลงทุนต่างๆ (incentives) เพื่อรักษาความน่าสนใจของประเทศและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งจากโลกตะวันออกที่มีทั้งแหล่งพลังงาน ท่าเรือ ตลาดการค้าและปริมาณเงินสำรองที่มั่งคั่ง
4. การขยายตัวของชุมชนเมือง (accelerating urbanisation)
เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเชิงประชากรศาสตร์ที่กล่าวไปข้างต้นอีกประการหนึ่งคือ การขยายตัวหรือการเพิ่มปริมาณของสังคมเมือง หรือ urbanization นายศิระกล่าวว่า ตามสถิติขององค์การสหประชาชาติ ในช่วงยุคปี 2493 ประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองมีน้อยกว่าร้อยละ 30 เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่มีมากถึงครึ่ง (หรือร้อยละ 50) และภายในปี 2573 คาดว่าปริมาณของคนเมือง (urban dwellers) ในโลกจะมีมากถึง 4.9 พันล้านคนจาก 3.8 พันล้านคนในปี 2553 โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ภายในปี 2558 จะมีเมืองใหญ่ๆ (megacities) ในโลกถึง 22 แห่งที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน โดยเมืองใหญ่เหล่านี้จะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (developing countries) ถึง 17 แห่ง2 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของรายได้ประชากรของคนในภูมิภาคนี้อันเนื่องมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
นายศิระกล่าวอีกว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพปรับตัวดีขึ้น ผู้คนมีโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น และเมื่อปริมาณของชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น สังคมก็พัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นตามลำดับ
“การขยายตัวของชุมชนเมืองไม่เพียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของวิถีในการดำรงชีวิต ตลอดจนรูปแบบของการจับจ่ายใช้สอย แต่ยังทำให้เกิดความจำเป็นในการสร้างเมกะโปรเจกต์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น การสร้างสนามบิน รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือท่าเรือขนส่งสินค้า รวมถึงระบบการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ และการจ้างงานต่างๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของคนเมือง นอกจากนี้ อัตราการใช้โซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ออนไลน์ก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วย” นายศิระกล่าว
5. การขาดแคลนทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (climate change and resource scarcity)
เมกะเทรนด์ประการสุดท้ายคือการขาดแคลนทรัพยากรและผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังกระทบถึงภาคธุรกิจและสังคมอีกด้วย
มีการคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานในโลกจะเพิ่มถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2573 ในขณะที่ความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำและอาหารจะพุ่งสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และ 35 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ4 ซึ่งเทรนด์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายต่างๆ เช่น จะทำอย่างไรถึงจะสามารถมีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการของสังคมได้ หรือจัดหาแหล่งพลังงานจากที่ไหน ในรูปแบบใด เพื่อรองรับกับการขยายตัวของประชากรโลก ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและมีการรณรงค์ให้เกิดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและกลายเป็นเมกะเทรนด์ที่ทุกประเทศต้องคำนึง เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ปัญหาโลกร้อน ก็จะส่งผลกระทบมากขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกัน
“จากความกังวลในเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร ทำให้ในปัจจุบันหลายๆ องค์กรได้มีการปรับตัวนำ ‘กรีนเทคโนโลยี’ มาใช้ในธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการโรงแรมสีเขียว ซึ่งเป็นโรงแรมที่มุ่งเน้นในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน หรือโครงการกรีนออฟฟิศ ปรับพฤติกรรมสถานประกอบการประหยัดพลังงานนำร่อง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” นายศิระกล่าว
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของโลกโดยมี 5 เมกะเทรนด์สำคัญเป็นตัวขับเคลื่อนดังที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอนว่าย่อมจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งหลาย ที่ไม่เพียงแต่จะต้องปรับตัวให้ทันกระแสโลกอนาคต แต่ยังต้องผันตัวเองมาเป็นผู้บริหารสายพันธุ์ใหม่ (Hybrid) ที่ต้องสามารถปรับตัวให้ธุรกิจอยู่ได้ทั้งในโลกปัจจุบัน-โลกอนาคต มีแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว รองรับความเสี่ยง-ความไม่แน่นอน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงกำลังคน การลงทุนในเทคโนโลยี และพันธกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุ:
1Cisco Internet Business Solutions Group
2The United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division
3Brooking Institute
4National Intelligence Council