ต่อกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกหนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับ ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สั่งการกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียก เงินภาษีที่คืนให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ไปแล้ว กลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน หลังจากที่ประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยกรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลงความเห็นว่าการนำสินค้าส่งไปใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ถือว่าอยู่ในราชอาณาจักรไทย ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ไม่ใช่การส่งออก
ทั้งนี้ทางสตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยข้าราชการ กรณีตอบข้อหารือบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ก่อนหน้านี้ว่าการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากท่าเรือบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง ไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 60 ไมล์ทะเลขึ้นไป ถือเป็นการส่งออก ทำให้บริษัทเชฟรอนฯ ขอยกเว้นภาษีกับกรมสรรพสามิตกว่า 3,000 ล้านบาท
ล่าสุด นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0503/15688 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ส่งถึงกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด แจ้งแนวทางปฏิบัติในการผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่บริษัท เชฟรอนฯ มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ขอความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับขายและส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเลจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่กรมศุลกากรเคยกำหนดไว้จนกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นทางกฎหมายตามรายละเอียดที่เคยแจ้งไปก่อนหน้านี้
กรมศุลกากรขอเรียนว่า กรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ประชุมร่วมกันตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วมีมติร่วมกันว่า การขนส่งของระหว่างชายฝั่งในราชอาณาจักรและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมที่ตั้งอยู่นอกทะเลอาณาเขตจะพิจารณาจากของที่จะมีการขนส่งเป็นหลัก หากเป็นของเพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณดังกล่าวเป็นราชอาณาจักรไทยภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมต่อการปฏิบัติพิธีการศุลกากร จึงขอให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ดำเนินการตามมติดังกล่าวไปก่อน หากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในกรณีดังกล่าวประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าวว่า จากการที่กรมศุลกากรทำหนังสือแจ้งบริษัทเชฟรอนฯ ให้ปรับเปลี่ยนพิธีการศุลกากรในขนส่งน้ำมัน จากรูปแบบการนำเข้า-ส่งออก กลับมาใช้รูปแบบของการค้าชายฝั่ง ทำให้ด่านศุลกากรมาบตาพุดไม่สามารถออกใบขนสินค้าขาออก (ส่งออก) ให้บริษัทเชฟรอนฯ ใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอยกเว้นภาษีน้ำมันกับกรมสรรพสามิตได้ บริษัทเชฟรอนฯ จึงต้องซื้อน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ในราคาซื้อ-ขายภายในประเทศ (รวมค่าภาษีสรรพสามิต, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีมหาดไทย และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง)
ส่วนกรณี สตง. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเงินค่าภาษีคืน รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือตอบข้อหารือแก่บริษัทเชฟรอนฯ ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัยนั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าวว่า ขณะนี้กรมศุลกากรยังไม่ได้รับคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ได้รับแจ้งจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอย่างไม่เป็นทางการว่าที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงการคลังพบประเด็นใหม่ และกำลังรวบรวมประเด็นข้อสงสัยทั้งหมดส่งให้นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง
(อ่านเพิ่มเติม กรมศุลกากรจับเรือ”เชฟรอน สผ.” ลักลอบนำเข้าน้ำมันดีเซล 2 ล้านลิตร)